xs
xsm
sm
md
lg

สุวรรณภูมิ คือแผ่นดินที่เกลื่อนไปด้วยทอง! ไทยกลายเป็นประเทศผู้ส่งทองออกนอกแล้ว!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค



อาณาบริเวณที่ตั้งของประเทศไทยนี้ แต่โบราณมาเรียกกันว่า “สุวรรณภูมิ” หมายถึงแผ่นดินที่เกลื่อนไปด้วยทองคำ ในสมัยกรุงกรุงสุโขทัยได้สร้างพระพุทธรูปด้วยทองคำหลายองค์ ซึ่งยุคต่อมาถูกโบกปูนฉาบซ่อนไว้และมาพบกันในยุคนี้ เช่นพระพุทธรูปทองคำที่วัดไตรมิตร หล่อด้วยทองคำหนักถึง ๕ ตัน จนกินเนสบุ๊คต้องบันทึกว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำใหญ่ที่สุดในโลก และไม่ได้พบเพียงองค์เดียว พบหลายองค์แล้ว ที่ยังไม่ถูกพบก็คงมี

ทองคำที่นำมาหลอมพระพุทธรูปเหล่านี้ คงไม่ได้นำมาจากต่างประเทศ แต่ทว่าขุดได้ในประเทศไทยเราเอง และขุดได้มากถึงขนาดนั้น

ส่วนในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวตะวันตที่เจริญก้าวหน้าด้วยสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่สุดในยุค แต่พอมาเห็นปราสาทราชวังของสยาม ต่างตะลึงในความวิจิตรตระการตาที่อร่ามไปด้วยทอง และนำความตื่นตาตื่นใจกลับไปเขียนเล่าให้เพื่อนร่วมทวีปฟัง พิมพ์เป็นหนังสือออกเผยแพร่ในยุโรปหลายต่อหลายเล่ม
โยส เซาเต็น ผู้จัดการบริษัทการค้าของฮอลันดา ซึ่งมาประจำการอยู่ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมและสมัยพระเจ้าปราสาททอง รวมเวลา ๘ ปี ได้เขียนไว้ใน “จดหมายเหตุโยส เซาเตน” เมื่อ พ.ศ.๒๑๗๙ ว่า

“...พระนครศรีอยุธยานี้จึงเป็นนครที่โอ่อ่า เต็มไปด้วยโบสถ์วิหารซึ่งมีจำนวนมากกว่า ๓๐๐ และก่อสร้างขึ้นอย่างวิจิตรพิสดารที่สุด โบสถ์วิหารเหล่านี้มีปรางค์เจดีย์และรูปปั้นรูปหล่ออย่างมากมาย ใช้ทองฉาบอยู่ภายนอกสีเหลืองอร่ามทั่วไปหมด เป็นพระมหานครที่สร้างอยู่ข้างฝั่งแม่น้ำ โดยมีผังเมืองวางไว้อย่างเป็นระเบียบ จึงเป็นนครที่สวยงามมาก ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม มีประชาชนหนาแน่น และเต็มไปด้วยสินค้าสิ่งของจำเป็นแก่ชีวิตนำเข้ามาขายจากนานาประเทศ เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ ยังไม่มีพระมหากษัตริย์องค์ใดในแถบนี้ของโลกที่จะมีเมืองหลวงใหญ่โตมโหฬารวิจิตรพิสดารและสมบูรณ์พูนสุข เหมือนกับพระมหากษัตริย์ ณ ราชอาณาจักรนี้...”

บันทึกรายวันของ บาทหลวงเดอชัวซีย์ หนึ่งในคณะราชทูตเชอวาเลียร์ เดอ โชมอง ก็ได้ยืนยันความงดงามของกรุงศรีอยุธยาไว้ใน “จดหมายเหตุรายวัน การเดินทางไปสู่ประเทศสยาม” ว่า

“...เมื่อออกไปกลางแจ้ง ใครๆก็คงจะต้องเห็นช่อฟ้าหลังคาโบสถ์และยอดพระเจดีย์ซึ่งปิดทองถึง ๓ ชั้น มีอยู่ดารดาษทั่วไปดูออกสะพรั่งพราวตา ข้าพเจ้าไม่ทราบแน่ว่าข้าพเจ้าจะทำให้ท่านนึกเห็นสิ่งงามๆเหล่านี้ไปด้วยหรือไม่ ขอจงเชื่อเถิดว่า ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นสิ่งใดที่จะสวยงามยิ่งไปกว่านี้...”

ในจดหมายเหตุของนายแพทย์ เอนเยลเบิร์ต แกมเฟอร์ ชาวเยอรมันซึ่งเข้ามากับคณะทูตฮอลันดาในสมัยพระเพทราชา กล่าวไว้ใน “ไทยในจดหมายเหตุของแกมเฟอร์” ว่า

“...ในกรุงมีโบสถ์วิหารอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง มีบริเวณพอสมกับถนนและเต็มไปด้วยสถูปเจดีย์ปิดทองขนาดต่างๆ ความใหญ่โตไม่เท่าโบสถ์ของเรา แต่ความงามภายนอกนั้นยิ่งกว่ามากนัก เพราะมีช่อชั้นหลังคางอนซ้อนสลับกันเป็นอันมาก...ในบรรดาชาติผิวคล้ำแห่งเอเชียทั้งหลาย สยามเป็นราชอาณาจักรอันเกรียงไกรยิ่งใหญ่ที่สุด และราชสำนักนั้นเล่าก็วิจิตรมโหฬารหาที่เสมอเหมือนมิได้...”

ส่วนจดหมายเหตุของ นิโกลาส์ แชรแวส ซึ่งร่วมคณะราชทูตฝรั่งเศสของ เชอวาเลียร์ เดอ โชมอง เข้ามาในปี ๒๒๒๘ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ใน “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” ว่า

“...พระที่นั่งองค์ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ที่ลานชั้นในสุดเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ ทองคำที่ประดิษฐ์ประดับไว้ให้รุ่งระยับ...” 

ในจดหมายชองบาทหลวง มองเซนเยอร์ เดอ โดลลิแยร์ ที่มีไปถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๒๙๒ กล่าวว่า

“...ได้มีคนไปพบบ่อทองคำซึ่งมีทองคำอยู่บนพื้นดินใกล้กับเมืองกุย ซึ่งเปนหัวเมืองขึ้นแก่ไทย อยู่ทางทิศตะวันตกอ่าวสยาม ทองคำที่พบคราวนี้มีมากและเป็นทองเนื้อดีด้วย ทองที่ร่อนมาได้ในคราวแรกนั้น พระเจ้ากรุงสยามได้เอาไปหล่อเป็นรูปพระพุทธบาท ทำรูปเหมือนกับพระพุทธบาทจำลองที่สลักในก้อนศิลา ห่างจากกรุงศรีอยุธยาไม่เท่าไรนัก แล้วพระเจ้ากรุงสยามได้โปรดให้เอาทองคำนั้นทำเป็นดอกบัวดอกใหญ่ สำหรับประดับพระพุทธบาทในเวลาแห่...”

ลาลูแบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และอยู่เมืองไทยถึง ๓ เดือน ๖ วัน ได้เขียนไว้ในหนังสือจดหมายเหตุของเขาเกี่ยวกับเหมืองแร่ในเมืองสยามไว้ว่า

“ไม่มีประเทศใดจะมีชื่อเสียงในความสมบูรณ์ทางแร่มากกว่าชาวสยาม ดังจะเห็นได้จากพระพุทธรูปและเครื่องโลหะหล่อจำนวนมหาศาล และเช่นเดียวกัน เขา (ชาวสยาม) สกัดทองคำได้จำนวนมาก ซึ่งมิใช่จะใช้ประดับพระพุทธรูปที่มีอยู่จำนวนมากมายเหลือคณานับเท่านั้น อาคารสถานที่ เช่น ฝาพนังห้อง เพดาน และหลังคาโบสถ์ ยังดาดทองอีกด้วย บ่อแร่เก่าพบกันอยู่ทุกวัน แล้วยังมีซากเตาถลุงจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าถูกทอดทิ้งไปเพราะสงครามกับพม่านานมาแล้ว...”

ลาลูแบร์ยังได้บันทึกไว้ว่า ในการพระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตฝรั่งเศสชุดก่อนว่า นอกจานอาหารจะเป็นทองคำหลายใบแล้ว “สำหรับผลไม้ที่เสิร์ฟ มีบางถาดทำด้วยทองคำ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดให้ทำขึ้นเพื่อต้อนรับนี้ โดยเฉพาะสำหรับ มร.เดอ โชมองค์”

จากบันทึกของชาวต่างประเทศที่ตื่นตะลึงในความเหลืองอร่ามของทองคำ โลหะที่มีราคามากที่สุดในโลก ที่ดาษอยู่ทั่วเมืองไทย ซึ่งในยุคนั้นเราไม่ได้ฟุ่มเฟือยถึงกับซื้อทองคำจากต่างประเทศมาประดับเมือง แต่ใช้สิ่งที่เรามีอยู่ตามธรรมชาติใน “แผ่นดินทอง” ของเรา ทั้งยังส่งไปต่างประเทศด้วย

มีเอกสารระบุว่า ในปี ๒๒๘๓ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ส่งทองที่ขุดได้จากบ้านป่ารอน อำเภอบางสะพาน ไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ถึง ๔๖ หีบ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ทรงแนะนำให้ราชทูตไทยนำผู้เชี่ยวชาญการขุดทองของฝรั่งเศสไปช่วยด้วย

นอกจากนี้ ทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระสุพรรณบัฏ ซึ่งเป็นพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงมีไปถึงกษัตริย์เมืองอื่นนั้น ก็ยังเขียนไปบนแผ่นทองแทนกระดาษ ตลอดจนเครื่องใช้ในราชสำนักก็นิยมทำด้วยทอง แม้แต่ชาวบ้านตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่ก็นิยมประดับทองกันเหลืองอร่าม หลายคนยังนิยมเอาทองมาทำเป็นฟันเทียมด้วย แสดงว่าเรามีทองเหลือเฟือ

มิสเตอร์เกรแฮม ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๕ และที่ ๖ ได้กล่าวถึงแหล่งทองในสมัยรัตนโกสินทร์ไว้ว่า

“ทองคำในทราย มีอยู่เกือบจะทุกลำธารในประเทศสยาม”

ปัจจุบัน มีการยืนยันแล้วว่า ในประเทศไทยมีแหล่งทองคำถึง ๗๖ แห่ง ใน ๓๑ จังหวัด มีแร่ทองคำประมาณ ๗๐๐ ตัน หากสกัดเป็นทองคำบริสุทธิ์แล้วจะม่มูลค่าประมาณ ๙ แสนถึง ๑ ล้านล้านบาท

นอกจากที่มีชาวบ้านร่อนหาทองกันมานานแล้ว การทำเหมืองทองได้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่บ้านบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี เมืองปราจีนบุรี ซึ่งพบครั้งแรกในปี ๒๔๑๔ โดยเจ้าเมืองปราจีนได้ทำเหมืองด้วยการขุดเจาะเป็นหลุมอุโมงค์ลึกลงไปในดิน ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯให้ พระปรีชากลการ ผู้สำเร็จวิศวกรจากสก๊อตแลนด์ไปทำเหมืองทองที่นั่น พระปรีชากลการเบิกเงินหลวงไปลงทุนครั้งนี้ถึง ๑๕,๕๐๐ ชั่ง หรือ ๑,๒๔๐,๐๐๐ บาท แต่ส่งทองมาได้เพียง ๑๑๑ ชั่ง ซึ่งต่ำกว่าที่คาดหมายกันมาก แต่ตัวเองกลับใช้ชีวิตหรูหราในสังคมของฝรั่ง จนได้แต่งงานกับลูกสาวกงสุลอักฤษ ทั้งยังทำตัวไม่เหมาะสมกับพระเจ้าอยู่หัว และทารุณคนงานที่ใช้ให้ดำน้ำไปตัดตอ แต่ใช้ถ่อค้ำไว้ไม่ให้โผล่ จนจมน้ำตายไป ๒ คน ในที่สุดพระปรีชากลการที่ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นเจ้าเมืองปราจีนด้วยก็ถูกตัดสินประหารชีวิต

หลังการตายของพระปรีชากลการ เหมืองทองกบิลทร์บุรีก็ยังดำเนินการต่อ แต่สินแร่ลดน้อยลงจึงหยุดกิจการ จนในปี ๒๔๙๓ กรมโลหกิจได้ฟื้นฟูเหมืองทองแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ และขุดได้อีก ๕๕ กิโลกรัม จนถึงปี ๒๕๐๐ จึงเลิกดำเนินการ ขณะนี้เหมืองแร่ทองคำแห่งแรกของไทยที่นี่ เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ทองคำ
แหล่งทองคำที่โด่งดังในสมัยก่อนอีกแห่งก็คือ เหมืองทองคำที่บ้านโต๊ะโมะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ที่พบทองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลทที่ ๕ เช่นกัน ในป่าของเทือเขาสุไหง-โกลก ห่างจากชายแดนมาเลเซียราว ๘๐๐ เมตร ชาวบ้านได้ร่อนทองได้จากสายน้ำของลำธารที่ไหลงมาจากเขา ทำให้ผู้คนแห่เข้าไปหาทองกันเป็นจำนวนมาก และได้ทองคนละ ๑-๒ สลึงต่อวัน

ในปี ๒๔๗๓ เมื่อบริษัทของชาวอังกฤษมได้รับสัมปทานขุดทองที่โต๊ะโม๊ะ และเปิดการทำเหมืองด้วยเครื่องจักร แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงเลิกราไป ในปี ๒๔๗๕ บริษัทฝรั่งเศสเข้ามาสำรวจพบว่าลึกลงไปในดินมีทองอยู่มาก จึงขอสัมปทานจากรัฐบาลเป็นเวลาถึง ๒๐ ปี บริษัทนี้ใช้คนงานในการขุดถึง ๑,๐๐๐ คน และมีข่าวว่าเกิดเหมืองถล่มครั้งหนึ่งมีคนตายไป ๑๐๐ กว่าคน จนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ บริษัทนี้ก็พากันกลับบ้านหมด ขุดทองได้ถึง ๒,๐๐๐ กิโลกรัม ยังไม่นับที่แอบใส่ช้างขนไปขายที่มาเลเซีย และใส่เรือส่งไปฝรั่งเศส

แหล่งทองที่มีชื่อเสียงอีกแห่ง และขุดกันมาแต่โบราณกาล ทั้งยังเป็นทองคำเนื้อบริสุทธิ์ไม่มีแร่ธาตุอื่นเจือปน ขุดขึ้นมาจากดินได้เป็นก้อนโดยไม่ต้องนำไปถลุงก่อน เรียกกันว่า ทองนพคุณ หรือทองเนื้อเก้า แหล่งทองแห่งนี้ก็คือบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นทองที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชส่งไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ทั้งยังบันทึกไว้ว่า ใน พ.ศ.๒๒๘๙ ผู้รั้งเมืองกุยบุรีได้ส่งทองหนัก ๓ ตำลึงไปถวายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงทรงเกณฑ์คนจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ คนให้ร่อนทองที่บางสะพาน ได้ทองคำหนักถึง ๕๔ กิโลกรัม ทรงนำทองนี้ไปแผ่เป็นแผ่นหุ้มยอดมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี

ชาวบ้านได้ร่อนทองที่บางสะพานนี้ตลอดมาจนจำนวนทองที่หาได้ลดลงอย่างมาก ใน พ.ศ.๒๕๔๘ เกิดฝนตกหนักที่บางสะพาน น้ำป่าได้พัดพาทองมาติดอยู่ตามซอกหิน ทำให้มีการขุดร่อนทองกันอย่างมโหฬารอีกครั้ง จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดูการขุดทองในปัจจุบัน

นอกจากแหล่งทองที่มีชื่อเสียงมาแต่โบราณทั้ง ๓ แห่งนี้แล้ว ปัจจุบันยังมีการสำรวจพบอีก ๗๖ แห่ง ใน ๓๑ จังหวัด และ ๔-๕ แห่งมีปริมาณทองมากพอที่จะทำเหมืองทองคำได้ และมีผู้ได้รับสัมปทานบัตรให้ขุด อย่างเหมืองที่มีเรื่องโด่งดังอยู่ในเวลานี้คือ เหมืองของบริษัทอัคราฯ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งส่งไปถลุงที่ต่างประเทศ ขายในรูปแบบทองแท่งในตลาดโลก

ในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยได้กลายเป็นผู้ส่งออกทองคำอีกประเทศหนึ่ง แม้ยังมีจำนวนน้อย แต่ก็เพิ่มขึ้นทุกปี อย่างใน พ.ศ. ๒๕๕๔ มีตัวเลขว่าเราส่งออกทองคำรวม ๒,๘๖๐,๒๑๙ กรัม มีมูลค่า ๔,๔๒๕.๔ ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวใน พ.ศ.๒๕๕๕ ผลิตได้ ๔,๘๙๕,๐๒๑ กรัม มูลค่า ๘,๑๑๙.๙ ล้านบาท
ทองคำจึงเป็นความหวังอีกอย่างหนึ่งของประเทศนอกจากน้ำมัน
กำลังโหลดความคิดเห็น