"ในปีหน้าผมเชื่อว่าจะมีหลายงานที่ล้มลม และหายไปเยอะ และจากการศึกษาข้อมูลนักวิ่ง เทรนด์การวิ่งไม่ได้เน้นความเร็ว แต่เน้นคอนเทนต์เป็นตัวสำคัญ" ฐิติ ยะกุล ประธานคณะทำงานมาตรฐานงานวิ่งประเทศไทย เผยถึงเทรนด์การวิ่งที่เปลี่ยนไป เดิมเป้าหมายอยู่ที่เส้นชัย หรือสถิติหน้าเส้นชัย แต่ระยะหลังๆ มีสัญญาณบางอย่างที่ทำให้เหตุผลในการเข้าร่วมแข่งขันเปลี่ยนไป คือ เวลาถึงเส้นชัยช้าลง นักวิ่งจำนวนไม่น้อยเน้นการท่องเที่ยวมากขึ้น และอายุไม่ใช่ประเด็นสำหรับนักวิ่ง
สิ่งเหล่านี้สามารถอธิบายได้ว่า นักวิ่งในปัจจุบันจะเน้นเรื่องจิตใจมากกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการแข่งขัน พูดง่ายๆ คือ "เน้นประสบการณ์ที่ดี มากกว่าสถิติหน้าเส้นชัย" ทำให้วงการวิ่งต้องปรับตัว พร้อมๆ กับสร้างมาตรฐานการวิ่งโดยคำนึงถึง "ความปลอดภัย" และ "ความเท่าเทียม" เนื่องจากปัจจุบันมีงานวิ่งผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ในขณะเดียวกันก็พบดราม่าสั่นสะเทือนวงการวิ่งอยู่หลายครั้งเช่นกัน
ดังนั้น เพื่อให้วงการวิ่งในไทยอยู่รอดอย่างยั่งยืน เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานพัฒนาแนวทางและมาตรฐานการจัดการวิ่ง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทยจัดเสวนา "มาตรฐานการจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อสุขภาพ" โดยมี ฐิติ ยะกุล เป็นหนึ่งในคณะทำงาน และทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ ดารานักวิ่ง มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางและมาตรฐานการจัดงานวิ่งของต่างประเทศ และให้คำแนะนำแก่แกนนำผู้จัดงานวิ่งทั่วประเทศ รวมไปถึงหน่วยงาน องค์กรต่างๆ เพื่อวางมาตรฐานสำหรับประเทศไทยในการจัดงานวิ่งอย่างยั่งยืน
ฐิติ ยะกุล ประธานคณะทำงานมาตรฐานงานวิ่งประเทศไทย
"ฐิติ" พยายามชี้ให้เห็นว่า วงการวิ่งค่อยๆ ตกลง พร้อมๆ กับเทรนด์การวิ่งที่เปลี่ยนไป ซึ่งเขาเชื่องานวิ่งในปีหน้า หรือปีถัดๆ ไป งานวิ่งจะอยู่รอดได้ ผู้จัดต้องให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องนี้ นั่นก็คือ การทำการตลาด และการจัดการต้องดี
"ยกตัวอย่างจอมบึงมาราธอน เป็นที่ชัดเจนว่า เป็นงานวิ่งของชาวบ้าน หลายปีก่อนมีคนพยายามพาจอมบึงไปสู่อินเตอร์ฯ ผมบอกไม่ใช่ อย่าออกจากหมู่บ้านเป็นอันขาด ออกเมื่อไรคุณตายทันที คุณไม่มีทุน สินทรัพย์อย่างเดียวที่จอมบึงมีคือคน คือชาวบ้าน นี่คือคอนเทนต์ คนที่มาวิ่งไม่อยากเห็นจอมบึงอินเตอร์เนชั่นแนล พวกเขาอยากเห็นชาวบ้าน อยากเห็นพระพรมน้ำมนต์ อยากเห็นความเป็นธรรม อยากวิ่งชมความธรรมดาของหมู่บ้านแห่งนี้
ขณะที่บางงานอย่างตะนาวศรีเทรล เป็นงานวิ่งที่ขายความยาก ไม่ใช่ว่าไล่นักวิ่ง แต่บอกให้รู้เลยว่ามันยาก หรือที่เขาประทับช้างเทรล ถูกวางให้เป็นสนามเทรลสำหรับนักวิ่งเทรลหน้าใหม่ ถือว่าเป็นการชักชวนเพื่อนนักวิ่งถนน รวมถึงนักวิ่งหน้าใหม่ให้ลองหันมาวิ่งเทรลกันบ้าง ดังนั้นจึงเป็นที่มาของชื่อ 'เทรลอนุบาล' เป็นปฐมบทของการวิ่งเทรล ซึ่งประสบผลสำเร็จเกิดคาด
นี่คือตัวอย่างที่กำลังจะบอกว่า การขายคอนเทนต์อะไรก็ตาม ไม่ว่าจะยาก หรือง่าย ต้องรู้ว่ากำลังคุยกำลังใคร นักวิ่งมี 16 ล้านคน เราต้องการนักวิ่ง 5,000 คน จะเอาทั้ง 16 ล้านคนมาสมัครงานเรา ผมว่ามันไม่ใช่ ก่อนเปิดรับสมัครเราอาจจะคุยกับคนล้านคน หลังรับสมัครแล้วเหลือคุยกับคนแค่ระดับพันคนเท่านั้น ผมเชื่อว่าการตลาดจะมีบทบาทค่อนข้างสูงในปีหน้า จะทำให้งานวิ่งยั่งยืนหรือไม่ ขานี้คือขาที่สำคัญ"
ส่วนอีกขาคือ เรื่องของการจัดการ "ฐิติ" บอกว่า การประเมินความเสี่ยงก่อนการแข่งขันจริง ช่วยให้งานวิ่งมีความน่าเชื่อถือ และยั่งยืนในอนาคต
"เราไม่รู้หรอกว่านักวิ่งจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ถ้าจะให้คนอื่นวิ่ง เราต้องวิ่งก่อน วิ่งในเวลาจริง วิ่งแล้วเจออะไร เหนื่อยอย่างไร หนักอย่างไร เส้นทางเป็นอย่างไร วางเท้าได้หรือไม่ แสงสว่างพอหรือไม่ ไม่พอจัดการอย่างไร มีหมามั้ย พระอาทิตย์ขึ้นทางไหน แยงตานักวิ่งหรือไม่ จุดเสี่ยงมีมั้ย ผ่านหน้าโรงพยาบาลหรือเปล่า ผ่านทางรถไฟหรือไม่ ที่กั้นจะตกลงมาตอนนักวิ่งทำเวลาหรือเปล่า
นอกจากนั้นยังต้องดูผลกระทบกับชุมชนด้วย เช่น มีคนเดือดร้อนเท่าไร ถ้ากัก 1 นาทีให้นักวิ่ง รถจะมาเท่าไร หางยาวเท่าไร ถ้ารู้ตรงนี้ก็จะสามารถตอบตำรวจได้ หรือชุมชนเอง งานวิ่งปิดทางบิณฑบาตรของพระตอนเช้าหรือไม่ เวลานั้นชาวบ้านออกไปเลี้ยงวัวหรือยัง เป็นต้น"
ด้าน ทนงศักดิ์ ดารานักวิ่ง และพิธีกรประจำงานวิ่ง เสริมเรื่องการประเมินความเสี่ยงเพื่อการจัดการงานวิ่งที่ปลอยภัย และเท่าเทียม โดยให้แนวทางง่ายๆ ในกรณีเจอปัญหาที่ต้องแก้ให้ทันเวลา
"ถ้าทางข้างหน้าเป็นหลุม เป็นบ่อแล้วเราสร้างไม่ทัน ต้องลาดยางใหม่หรือเปล่า ไม่ต้องนะครับ วิธีแก้คือทำป้ายบอกให้เขาได้รับทราบว่าทางข้างหน้าเป็นอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจัดการ แม้จะเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ผมมองว่า เสียตอนแรกดีกว่าเกิดอุบัติเหตุแล้วต้องมานั่งเสียทีหลัง ซึ่งนอกจากเสียชื่อแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งทำให้วงการวิ่งที่ค่อยๆ ล้มลงเรื่อยๆ มันยิ่งตกลงไปอีก"
สุดท้าย ความปลอดภัยทางการแพทย์คืออีกหนึ่งหัวใจสำคัญ ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่า งานวิ่งไม่ใช่วิ่งเพื่อสุขภาพ แต่นักวิ่งมีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บ หรือเกิดเหตุไม่คาดคิดได้
"บางครั้งงานนั้นเป็นงานครั้งแรกในชีวิตใครบางคน หรือบางคนเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แล้วมาวิ่งเพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่าง หรือบางคนวิ่งเพื่อทำสถิติ เราในฐานะผู้จัดต้องเตรียมทุกอย่างเพื่อความปลอดภัย อย่าได้อ้างว่าเป็นงานวิ่งเพื่อสุขภาพแล้วจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น" ฐิติบอก เช่นเดียวกับทนงศักดิ์ที่ปิดท้ายโดยเน้นย้ำว่า งานวิ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และความเท่าเทียม
"บางคนบอกว่าในงานมีรถกู้ภัย มีรถพยาบาล แต่ในรถพยาบาลคันนั้นมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตพร้อมหรือไม่ เรื่องนี้ผู้จัดงานต้องรู้เพื่อจะได้แจ้งให้นักวิ่งได้ทราบ เช่น มีรถกู้ภัยอยู่ 3 คัน ไม่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตนะ มาวิ่งต้องระวังด้วย ตรงนี้ผมมองว่าเป็นความแฟร์ หรือความเท่าเทียมที่ต้องบอกกับนักกีฬา อยากให้มองว่านักวิ่งคือญาติพี่น้องของเรา คือเพื่อนสนิทของเรา เมื่อเกิดเหตุเราจะดูแลพวกเขาอย่างไร แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุไว้ก่อน"
ทั้งนี้ คณะทำงานพัฒนาแนวทางและมาตรฐานการจัดการวิ่งได้จัดทำ "ข้อปฏิบัติที่ดีในการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนน" ซึ่งได้จากการสังเคราะห์องค์ความรู้จากแหล่งต่างๆ และกลั่นกรองนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คู่มือการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนนของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Assocoiation of Athletics Federations : IAAF) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่ดูแลกฎ กติกาด้านกรีฑา (รวมถึงการวิ่งประเภทถนน) และยังเป็นผู้จัดระดับคุณภาพของการจัดการแข่งขันวิ่งถนนในระดับโลก ดาวน์โหลดได้ที่ resource.thaihealth.or.th