xs
xsm
sm
md
lg

"สุชาติ"ไม่รับปธ.แก้รธน.แนะใช้คนนอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"สุชาติ" ปัดข่าวรับเป็นประธาน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ย้ำไม่เคยรับปากหรือปฏิเสธ เผยงานในตำแหน่งรองปธ.สภาฯ ก็ล้นมืออยู่แล้ว ชี้ประธานฯ ควรควรเป็น "คนนอก" จะเหมาะสมกว่า ด้าน"สุเทพ"บอก ยังไม่เห็นข้อบกพร่องรธน.ที่ถึงกับต้องแก้ไข ชี้คุณสมบัติประธาน ต้องเป็นกลาง "ส.ว.สมเจตน์" ยันไม่ร่วมวงนั่ง กมธ. ปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนฯ

วานนี้ (10 พ.ย.) นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ได้ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่า ตนเองรับที่จะนั่งประธานกมธ.วิสามัญ ศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ยังไม่มีการตอบรับ หรือปฏิเสธใดๆทั้งสิ้น และขอยืนยันว่า ไม่ได้สนใจที่จะเข้ามาเป็นประธาน กมธ.ชุดนี้ เพราะด้วยภาระหน้าที่ ในฐานะรองประธานสภาฯ ก็มีค่อนข้างมากอยู่แล้ว ทั้งในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯ ที่ต้องควบคุมและศึกษาวาระประชุมโดยตลอด แล้วยังมีภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายจาก นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ที่ให้ตนกำกับดูแลในเรื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอที) ของสภาฯ ที่ต้องเร่งรัดดำเนินการส่วนต่างๆ ของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ให้มีความพร้อมสมบูรณ์โดยเร็ว และยังมีในส่วนของห้องประชุมสุริยัน ที่เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ด้วย

"ยอมรับว่าก่อนหน้านี้มีการทาบทามจากทางพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ได้แจ้งกลับไปถึงภาระหน้าที่ของรองประธานสภาฯ ที่ค่อนข้างหนักอยู่แล้วในขณะนี้ หากจะไปทำหน้าที่ประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่เป็นเรื่องสำคัญ และมีรายละเอียดมาก อาจทำได้ไม่เต็มที่ จึงเห็นว่ายังมีบุคคลอื่นที่เหมาะสมอีกมาก" นายสุชาติ ระบุ

ส่วนกระแสข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐเตรียมเสนอบุคคลชื่อย่อ “ส.”เข้ามาเป็นประธาน กมธ. ว่า คงไม่ได้หมายถึงตน เพราะชื่อของตนเป็นที่เปิดเผยอยู่แล้ว ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่า ผู้ที่จะเข้ามาประธาน กมธ.ชุดนี้ ควรจะเป็นคนนอกเพื่อหลีกเลี่ยงในเรื่องของข้อครหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือใบสั่งทางการเมือง ดังนั้น รายชื่อที่ทางพรรคประชาธิปัตย์เสนอขึ้นมา อย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ก็ถือว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่ยอมรับ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ที่ล่าสุดออกมาร่วมให้ความเห็นเกี่ยวกับการตั้ง กมธ.ชุดนี้ ก็มีความเหมาะสมเช่นกัน

ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงการส่งบุคคลของพรรค ที่จะมานั่งกมธ.ชุดนี้ว่า พรรคจะวางตัวนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค เป็นตัวหลักแน่นอน ส่วนตนเองนั้น ขณะนี้มีภารกิจใน กมธ.วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯอยู่แล้ว ดังนั้น การทำงานจากตอนนี้ถึงสิ้นปี คงจะมีเวลาออกไปทำเรื่อง

การแก้ไขรธน.น้อยลง เพราะเวลาส่วนใหญ่จะอยู่ในคณะกมธ.งบประมาณฯ

"เทือก"ระบุยังไม่จำเป็นต้องแก้รธน.

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า จุดยืนของตน ยังชัดเจนว่าสนับสนุน รธน.ฉบับนี้ เพราะเป็นผู้รณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรธน. และเป็น 1 ใน 16 ล้านคน ที่ลงประชามติ รับร่างรธน. ซึ่งส่วนตัวยังมองไม่เห็นความบกพร่องของรธน. แต่เห็นถึงความบกพร่องของคนมากกว่า และยังคงศรัทธาในหลักการของรธน. เพราะเป็นคุณเป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้ ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า ประเด็นที่มาและอำนาจหน้าที่ของส.ว. เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยนั้น อย่ามองเพียงแค่ส.ว.ชุดปัจจุบัน เพราะเป็นข้อยกเว้นช่วง 5 ปีแรกในรธน. แต่ในหลักการบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับส.ว.เขาเขียนไว้ดีแล้ว

ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค เป็นประธานกมธ.นั้น ตนไม่ขอแสดงความเห็น เพราะเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งส่วนตัวไม่ได้ขัดข้อง หากใครจะมาเป็นประธานกมธ. แต่ควรจะต้องมีความเป็นกลาง ไม่สนับสนุน หรือคัดค้านรธน. มาตั้งแต่ต้น อย่างตนเอง ก็ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะเป็นคนสนับ สนุนรธน.ฉบับบนี้แบบสุดลิ่มทิ่มประตู

อย่างไรก็ตาม ที่ตนพูดเช่นนี้ก็อย่าเอาตนไปชนกับ นายอภิสิทธิ์ ที่คัดค้านรธน.ฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น ซึ่งตนเพียงแต่เห็นว่าหากเราได้คนที่มีความเป็นกลาง ก็จะได้มุมมองในการแก้ไขที่กว้างพอ ที่จะรับฟังความเห็นของคนอื่นได้มากขึ้น

ส่วนกรณีที่มีชื่อ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อยู่ในสัดส่วนคนนอกด้วยนั้น ก็อย่าหวั่นไหวกับข่าว เชื่อว่าหลังจากนี้ จะยังคงปรากฏชื่ออีกหลายบุคคล

สว.ปัดร่วมวงแก้รัฐธรรมนุญ

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. ปฏิเสธการเข้าร่วมเป็น กมธ.ชุดนี้ตามที่มีกระแสข่าวออกมา เนื่องจากยังไม่เห็นประเด็น หรือความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรธน. ส่วนส.ว.คนอื่นจะตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่นั้น เป็นดุลยพินิจของ ส.ว.แต่ละคน ทั้งนี้หากการเข้าร่วมของ ส.ว.จะเกิดขึ้นจริง อาจต้องพิจารณาถึง ระเบียบ และข้อบังคับสำหรับการทำงานด้วย

"ผมมองว่าเรื่องนี้ ส.ว.ไม่ควรเข้าไปร่วม เพราะเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร และที่ผมปฏิเสธ ไม่ใช่เพราะรังเกียจการทำงานร่วมกับ ส.ส. แต่การทำงานของแต่ละสภาฯ ควรแยกออกจากกัน เรื่องนี้ส.ส.ต้องการแก้ไข ควรให้สภาฯเป็นผู้พิจารณา" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

ส่วนที่กลไกการแก้ไขรธน. ที่กำหนดให้ ส.ว.มีส่วนร่วมนั้น หากสภาฯ มีแนวทางและข้อเสนอใด สามารถนำมาอภิปรายให้ส.ว.พิจาณา หรือเข้าใจได้ โดยส.ว.ไม่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการที่เตรียมจะพิจารณา

สำหรับประเด็นที่สภาฯ จะนำไปสู่การแก้ไขรธน.นั้น ควรให้ทุกฝ่ายยอมรับ ส่วนตัวเห็นว่า ต้องชี้ให้สังคมเห็นว่า การแก้ไขรธน. จะทำให้สังคมได้ประโยชน์อย่างไร หรือแก้ไขในประเด็นใด เพื่อขจัดปัญหา รวมถึงแก้ไขแล้วมีผลดีอย่างไรต่อขบวนการประชาธิปไตย หากสภาฯตอบโจทย์ดังกล่าวได้ ตนเชื่อว่าสังคมจะให้การยอมรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น