xs
xsm
sm
md
lg

๑๕ พฤศจิกา เลือกตั้งครั้งแรกใช้แบบทางอ้อม! ราษฎรเลือกผู้แทนตำบลไปเลือกผู้แทนจังหวัด!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งครั้งแรก
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ ได้มีการเลือกตั้งครั้งแรกขึ้นในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๓๗๖ โดยใช้การเลือกตั้งที่เรียกว่าทางอ้อม ให้ราษฎรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้นก่อนตำบลละ ๑ คน ให้คณะกรรมการอำเภอเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง จากนั้นจึงให้ผู้แทนตำบลเหล่านี้ไปเลือกผู้แทนจังหวัดอีกทีหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้อัตราประชาการ ๒๐๐,๐๐๐ คนมีผู้แทนได้ ๑ คน ตอนนั้นประเทศไทยมี ๗๐ จังหวัดมีผู้แทนได้ ๗๘ คนคือจังหวัดเชียงใหม่ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา มีผู้แทนได้ ๒ คน จังหวัดพระนครและอุบลราชธานีมีผู้แทนได้จังหวัดละ ๓ คน นอกนั้นมีผู้แทนจังหวัดละ ๑ คน

ในระหว่างมีการเลือกตั้งผู้แทนตำบลในวันที่ ๑ ตุลาคม-๑๕ พฤศจิกายน ได้เกิด “กบฏวรเดช” ซึ่งมีการต่อสู้กันอย่างรุนแรงตั้งแต่วันที่ ในสมรภูมิตั้งแต่สถานีรถไฟบางเขน หลักสี่ ไปจนถึงปากช่องโคราช ถึงขั้นใช้ปืนใหญ่ถล่มกัน มีคนตายจำนวนมาก แต่การเลือกตั้งก็ดำเนินไปได้เรียบร้อย

ขณะนั้นประเทศไทยยังมีจำนวนประชากรไม่ถึง ๑๘ ล้านคน มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งได้ ๔,๒๗๘,๒๓๑ คน มีผู้มาใช้สิทธิ์ ๑,๗๗๓,๕๓๒ คน เป็นอัตราร้อยละ ๔๑.๔๕ จังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิ์มากที่สุดคือจังหวัดเพชรบุรี ร้อยละ ๗๘,๘๒ จังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิ์น้อยที่สุดคือแม่ฮ่องสอน ร้อยละ ๑๗.๗๑

ผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งในครั้งนี้ มีบทบาททางการเมืองต่อไปยาวที่น่ากล่าวถึง ก็คือ

พลโท พระยาเทพหัสดิน ส.ส.จังหวัดพระนคร อดีตแม่ทัพทหารอาสาของไทยที่ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อกลับมาได้ลาออกไปเป็นข้าราชการพลเรือน ในตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์และราชบุรีก่อนมาลงเลือกตั้ง และเป็นรองประธานสภาชุดแรกนี้ ต่อมาถูกจับในข้อหากบฏในการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามในรัฐบาล พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับลดโทษในฐานมีคุณงามความดีมาก่อน เหลือจำคุกตลอดชีวิต

เมื่อกลับจากงานพระราชสงครามแล้ว ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ แต่โปรดให้โอนย้ายไปเป็นข้าราชการพลเรือนในราชทินนาม พระยาเทพหัสดิน ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์และราชบุรี

จึงลดหย่อนโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต เช่นเดียวกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และได้พ้นโทษออกมาสู่วงการเมืองอีก ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และได้รับพระราชทานยศพลเอก

นายเลียง ไชยการ ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี จากอาชีพครู และเข้าเรียนต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อได้เป็น ส.ส.แล้ว ต่อมาได้รับเลือกตั้งอีกหลายสมัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากจะเป็น ส.ส.ขวัญใจชาวอุบลฯแล้ว ยังจูงนางอรพิน ไชยกาล ภรรยา อดีตครูใหญ่ มาเป็น ส.ส.หญิงคนแรกของประเทศไทยด้วย นายเลียง ไชยกาล เป็นเจ้าของกระทู้ประวัติศาสตร์ ในญัตติ “เซ็งลี้ที่ทรัพย์สิน” ทำให้พระยาพหลพลพยุหเสนาผู้เป็นที่ยอมรับกันว่า
“ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” ต้องลาออกเพราะคนรอบข้างเป็นพิษ

นายทองอินทร์ภูริพัฒน์ ส.ส.ขวัญใจชาวอุบลราชธานีเช่นกัน ลงสมัครเลือกตั้งได้ทุกครั้ง อดีตครูที่เรียนกฎหมายทางไปรษณีย์จนสอบได้เนติบัณฑิต เป็นนายอำเภอในภาคอีสานมาหลายอำเภอ ก่อนลาออกมาลงสมัครรับเลือกตั้ง เขาเป็นดาวสภาที่อยู่ในฝ่ายปรีดี พนมยงค์ จนมาเป็น ๑ ใน ๔ อดีตรัฐมนตรีที่ถูกสังหารในยุคทมิฬครองเมือง

นายทออยู่ พุฒพัฒน์ ส.ส.ธนบุรี มาจากอาชีพครูเช่นกัน และเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ งานแรกของการเป็นสส.ก็เสนอสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ต้องใช้เวลาถึง ๒๐ ปีจนมาสำเร็จในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม และยังเป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างถวายชีวิต เป็นคนแรกที่เปิด “เวทีไฮด์ปาร์ก” สภาประชาชนกลางสนามหลวง และตกเป็นผู้ต้องหากบฏในชื่อ “กบฏอดข้าว” เพราะอดข้าวประท้วงรัฐบาลจอมพล ป. จนถึง พ.ศ.๒๕๐๐ ที่มีงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เห็นว่าไม่สามารถเป็นอรหันต์ทางการเมืองได้สำเร็จแล้ว จึงวางมือไปอุปสมบถ ฉันอาหารวันละมื้อตลอดชีวิต

ในการเลือกตั้งครั้งแรกนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสภาเดียว แต่มีส.ส. ๒ ประเภท คือ ส.ส.ประเภทหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง กับ ส.ส.ประเภท ๒ มาจากการแต่งตั้งให้มีจำนวนเท่ากัน รวมเป็น ๑๕๖ คน ซึ่ง ส.ส.ประเภท ๒ นี้ส่วนใหญ่ก็มาจากสมาชิกคณะราษฎร รวมกับอดีตข้าราชการผู้มีประสบการทางบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งขุนนางของฝ่ายอำนาจเก่า

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการเลือกตั้งมา ๒๘ ครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เห็นความสง่างามน่าศรัทธาในรัฐสภาไทย มีแต่ความอลเวงวุ่นวายจนน่าเป็นห่วงอนาคตของชาติ กล่าวกันว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่เป็นการปกครองที่ดีที่สุดในขณะนี้ และประชาธิปไตยยังมีหลายรูปแบบที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ อย่างประชาธิปไตยของอังกฤษ ของอเมริกา และของจีน ก็ต่างกัน น่าจะมีประชาธิปไตยแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากกว่าแบบที่ใช้อยู่ในขณะนี้ก็เป็นได้ โดยเฉพาะวิธีการเลือกตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น