ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ2560 ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระทางการเมืองครั้งอีกครั้ง หลังจากหลายพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน พร้อมใจเสนอ ญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ของสภาฯ คาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้
ท่ามกลางความกังวลว่าจะเกิดชนวนความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่หรือไม่เพราะเกิดจากความต้องการของนักการเมืองในการเข้าสู่อำนาจ...
สวนทางกับความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องเป็นอันดับแรกเพราะสภาพความเป็นจริง กิจการและค้าขายเจ๊ง คนตกงาน ครอบครัว กำลังจะอดตาย...
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว "อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวข้อ แก้รัฐธรรมนูญเพื่ออะไร?" แสดงความเห็นว่า เริ่มมีคำถามจากสื่อมวลชน และเพื่อนนักการเมือง เรื่องพรรคภูมิใจไทย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มากขึ้นเรื่อยๆ
ตอนหาเสียงเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทย บอกว่า ไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญ เท่านั้น แต่ เราสนับสนุน และผลักดันให้แก้กฎหมายทุกฉบับ ที่เป็นปัญหาอุปสรรค ต่อการทำมาหากิน การทำธุรกิจ การประกอบอาชีพของประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย
พรรคภูมิใจไทย ทำงานโดยมีเป้าหมาย “เพื่อปากท้องประชาชน”
เรามีความมั่นใจว่า ถ้าประชาชนมีอยู่มีกินอย่างมีความสุข ปัญหาของประเทศไทย จะลดลงไปมากกว่า 70%
ทุกวันนี้ คนที่บ่นว่าแย่ แย่ เกือบร้อยทั้งร้อย จะบ่นว่าเศรษฐกิจแย่ น้อยคนเหลือเกินที่จะบอกว่าการเมืองแย่
เพราะฉนั้น แนวคิด แนวทาง เป้าหมายของพรรคภูมิใจไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคภูมิใจไทย เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเพียง 2 ประการ คือ
1.ประเทศไทย เป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียว จะแบ่งแยกมิได้ และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
2.รัฐธรรมนูญ ต้องมีเป้าหมายเพื่อปากท้องประชาชน เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน
เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มอำนาจต่างๆ ให้นักการเมือง ให้ส่วนราชการ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งทางตรง ทางอ้อม ไม่ใช่แนวทาง และ เป้าหมายของเรา
เพราะฉะนั้น พรรคใด ใคร และ องค์กรไหน ที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ขอให้มาคุยกันว่า ท่านมีแนวทางแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร
มีแนวทาง ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุข และเป็นแนวทางที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างไร
ประเด็นที่พรรคภูมิใจไทย จะแก้ไข ทั้ง รัฐธรรมนูญ และกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง มีแนวทาง และเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น
รัฐต้องไม่ทำธุรกิจแข่งขันกับภาคเอกชน ถ้าจะแข่งต้องแข่งบนพื้นฐาน กติกาที่เท่าเทียมกัน ต้องไม่แข่งโดยใช้สิทธิพิเศษ เพราะเป็นการทำลายศักยภาพของภาคเอกชน ในระยะยาว
รัฐต้องสนับสนุน ส่งเสริมเอกชน ให้มีความสะดวก สบาย คล่องตัว ในการประกอบธุรกิจ ต้องแก้กฎหมาย กฎระเบียบ และวิธีการต่างๆ ลดเวลาการรอคอย ลดค่าธรรมเนียม ค่าขออนุญาต ค่าจัดทำใบอนุญาต ต่ำที่สุด ทั้งเวลา และค่าธรรมเนียมที่รัฐจัดเก็บ คือความเสี่ยง และ ต้นทุนที่สำคัญในการประกอบธุรกิจ การออกใบอนุญาต การขออนุมัติจากรัฐ มีเท่าที่จำเป็น และให้น้อยที่สุด
รัฐต้องยกเลิกการประกอบธุรกิจผูกขาดรายเดียว และเปิดให้มีการแข่งขัน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการที่ดีที่สุด ในราคาที่เป็นธรรม
รัฐต้องสนับสนุนแหล่งทุนให้เอกชน และ ประชาชน อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง เป็นธรรม โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุน น้อยกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่
รัฐต้องป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดและครอบงำตลาด โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ จนทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย อยู่ไม่ได้ หมดหนทางประกอบอาชีพ และ ไม่มีช่องทางทำมาหากิน
รัฐต้องส่งเสริมธุรกิจของคนไทย ให้มีความเข้มแข็ง แข่งขันกับต่างชาติได้ คุ้มครองสิทธิคนไทย ทั้งในฐานะผู้ผลิต แรงงาน และ ผู้บริโภค ตามแนวทาง Thailand First หรือ คนไทยต้องมาก่อน
รัฐต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน ในฐานะผู้บริโภค และต้องจัดสวัสดิการสังคมที่ดีให้แก่ประชาชน อย่างทั่วถึง (ไม่ต้องมาก เหมือนในต่างประเทศ ขอเพียงแค่ที่ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เคยเขียนไว้เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน ในบทความ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ก็พอแล้ว)
เรื่องการเมือง ใครอยากทำ ทำไป
เรื่องปากท้องประชาชน เราอยากทำ ขอให้เราได้ทำ
ใครมีแนวทางตรงกับเรา เรายินดีที่จะร่วมกันทำงาน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายเดียวกัน
"ไม่เติมฟืนเข้ากองไฟ ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี คือ แนวทาง และเป้าหมายของพรรคภูมิใจไทย" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แสดงจุดยืนทิ้งท้าย