xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 5 ผลงาน Data Journalism ในไทย ชี้ "ภาครัฐหวาดระแวง" อุปสรรคเข้าถึงข้อมูล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เปิด 5 ผลงาน Data Journalism ในไทย พบอุปสรรคการทำงาน ภาครัฐหวาดระแวง ขอข้อมูลแล้วไม่ให้ ส่วนการตรวจสอบทุจริตมีกฎหมายปิดปากไม่ให้เปิดเผยข้อมูลระหว่างพิจารณา ไม่งั้นติดคุกทั้งจำทั้งปรับ นายกสมาคมฯ ชี้ข้อมูลคือขุมทรัพย์ แต่ยังต้องอธิบายให้คนไทยเข้าใจคุณค่า และกระตุ้นให้เห็นความสำคัญ

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ศูนย์ฝึกอบรมดีแทค อาคารจามจุรีสแควร์ ถนนพระราม 4 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย (TDJ) จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ "เปิดผล 5 กลุ่มดาต้าเชิงลึก อยากเปลี่ยนไทยดีกว่าเดิม" หลังจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “การพัฒนานักสื่อสารข้อมูลเชิงลึก” กับผู้สื่อข่าวหลายสำนักที่สนใจ และร่วมงานกับนักพัฒนาระบบสร้างสรรค์ผลงานมานานถึง 9 เดือน โดยมีการนำเสนอผลงาน 5 หัวข้อ ได้แก่ เปิดขุมทรัพย์ 7 แสนล้าน...รอยรั่วงบประมาณท้องถิ่น, ความสัมพันธ์ดาต้า 30 ปี... “แหล่งเก็บน้ำ”กับ“อุณหภูมิแปรปรวน”ทั่วไทย, วิเคราะห์ข้อมูล “ภาวะสมองเสื่อม ขาดความเข้าใจ ขาดแพทย์ วิกฤติชาติ”, เจาะตัวเลขปัญหา “คนล้นคุก” และ “นักโทษติดซ้ำ” และ ต้นไม้ใหญ่ ใครอนุรักษ์? ร่วมปักหมุดข้อมูลต้นไม้ใหญ่ เพื่อ “กม. คุ้มครองมรดกสีเขียว” โดยผลงานทั้ง 5 ทีม ขณะนี้เผยแพร่ในเว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย www.tja.or.th

นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ริเริ่มโครงการอบรมนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึก (Thailand Data Journalism) ขึ้น โดยยืนอยู่บนพื้นฐานการสื่อสารข้อมูลสาธารณะในเชิงลึก ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนและผู้คนในสังคม ทุกวันนี้มีข้อมูลที่รอการสื่อสารมหาศาล ข้อมูลขนาดใหญ่และเติบโตมากมายขณะนี้ เราไม่สามารถนิยามให้นักข่าวสื่อสารข้อมูลเหล่านั้นเพียงกลุ่มเดียวได้ จึงได้จัดทำโครงการที่เป็นการรวมตัวระหว่างนักข่าว กับโปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาระบบ (Developer) และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูลบิ๊กดาต้า (Big Data) ช่วยกันนำเทคโนโลยีไปเชื่อมกับข้อมูล เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ต่อไปนี้สังคมไทยจะมีทางเลือกที่ไม่ต้องรับข้อมูลตอบโต้กันแบบข่าวปิงปองอีกต่อไป เพราะได้รับฟังข้อมูลอีกด้านที่เป็นประโยชน์และสร้างทางเลือกให้กับสังคมไทยอย่างแท้จริง

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค หนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการ กล่าวว่า ดาต้าเป็นความเชื่อของดีแทคที่มองว่าเป็นความท้าทาย และเปิดโอกาสให้เราเกิดช่องทางใหม่ๆ ในการสื่อสาร เชื่อว่าข้อมูลยิ่งมีเยอะ ยิ่งล้ำค่า ความท้าทายในวันนี้คือ จำนวนข้อมูลมหาศาล จะนำไปใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งดีแทคพยายามฟอร์มทีมให้รับมือและใช้งานข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด พนักงานทุกคนจะต้องเรียนวิทยาการข้อมูล (Data Science) เพื่อต่อยอดความรู้ด้านข้อมูลขึ้นไปในระดับ Expert ได้ ส่วนภายนอกก็ให้การสนับสนุนสมาคมนักข่าวฯ ในการจัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อนำดาต้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในสังคมด้วย

- "ภาครัฐหวาดระแวง-กฎหมายปิดปาก" อุปสรรคเข้าถึงข้อมูล

ส่วนในการเสวนาหัวข้อ "การใช้โอเพ่นดาต้าสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย" นายสราวุฒิ ศรีเพ็ชรสัย ผู้สื่อข่าว นสพ.ข่าวสด ที่ร่วมทำผลงานเรื่อง "เจาะตัวเลขปัญหาคนล้นคุก และนักโทษติดซ้ำ" กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้เก็บข้อมูลดีกว่าหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เพราะเก็บข้อมูลวันต่อวัน เป็นรายเดือนและรายปี ในรูปแบบไฟล์ PDF แต่การขอข้อมูลโดยทำหนังสือไป แม้อีกฝ่ายยินดีให้ข้อมูล แต่สุดท้ายเมื่อขอข้อมูลเชิงลึกย้อนกลับไป 10 ปี ทำให้ถูกมองว่านำไปใช้ในแง่ลบหรือไม่ และไม่มั่นใจในสิ่งที่เราจะทำ เมื่อทำหนังสือไปขอข้อมูลครั้งที่ 2 ผู้รับผิดชอบข้อมูลมองว่าข้อมูลที่ให้ไปมันลึกเกินไป กลับเปลี่ยนใจไม่ให้ข้อมูล สุดท้ายใช้เพียงแค่ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์

น.ส.ชนิกานต์ กาญจนสาลี สื่อมวลชนอิสระ ที่ร่วมทำผลงานเรื่อง "ขุมทรัพย์ 6 แสนล้าน และรอยรั่วงบประมาณท้องถิ่น!?" กล่าวว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับนักพัฒนาระบบ (Developer) คือ มีระบบเวิร์คโฟลว์ (Workflow) เป็นขั้นตอน แต่เมื่อได้โครงเรื่อง (Storyline) และรวบรวมข้อมูลโดยไฟล์ Excel เพื่อค้นหาว่ามีอะไรที่สามารถเล่าเรื่องได้ก่อน กลับพบว่าไม่มีเรื่องที่จะสามารถเล่าได้ ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บางแห่ง งบประมาณระบุเป็น 0 บาท

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ สไตล์การทำข่าวการเมืองยังต้องเพย์เซฟ (Play Safe) เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องขึ้นมาภายหลัง อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ไม่มีอะไรที่นักข่าวทำไม่ได้ ไม่เข้าใจอะไรก็ถามนักพัฒนาระบบ จะค่อยๆ อธิบายภาษาของเขาทีละขั้นเพื่อให้เราแลกเปลี่ยนเสมอ แม้เว็บไซต์ภาษีไปไหนจะมีข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ปีงบประมาณ 2561 แต่พบว่าจาก อปท. ทั้งหมด 7,852 แห่ง พบว่าบางแห่งชื่อซ้ำกัน บางตำบลก็ซ้ำกัน ถ้านำข้อมูลไปจัดระเบียบ (Cleansing) จะเกิดค่าที่เรียกว่าเอาท์ไลน์เออร์ (Outlier) หรือเกิดตัวเลขคลาดเคลื่อน

เมื่อหาข้อมูล อปท. ที่เคยถูกร้องเรียนและตรวจสอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบ พบว่าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. แจ้งว่า มีกฎหมายฉบับใหม่ที่ออกมาเมื่อปี 2561 ไม่ให้เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ผู้ที่ให้ข้อมูลมีโทษทั้งจำและปรับ สมัยก่อนมีข่าวเรื่องการทุจริตที่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบบ่อย เดี๋ยวนี้องค์กรอิสระไม่มี นอกจากนี้ เมื่อหาข้อมูลรายได้-รายจ่าย พบว่าหาข้อมูลไม่ได้จากหน่วยงานราชการ เพราะไม่เปิดเผยข้อมูล ต้องใช้ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังแทน

นายณัฐวุฒิ อดุลยานุโกศล อาสาสมัครนักพัฒนาระบบ ที่ร่วมทำผลงานเรื่อง "ประเทศไทยพร้อมหรือยัง? ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม เพิ่มจำนวนต่อเนื่อง ขาดความเข้าใจ ขาดแพทย์ วิกฤตชาติ" กล่าวว่า สิ่งที่ไม่มีข้อมูลก็คือ จำนวนผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมในประเทศไทย เพราะมีเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ทั้งที่ต่างประเทศ เก็บข้อมูลผู้ป่วยทั้งประเทศมา 40 ปีที่แล้ว และนำมาวิจัยเพื่อช่วยผู้อื่นได้เยอะ นอกจากนี้พบว่ายังขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง ได้แก่ อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ ประสาทวิทยา และจิตเวชศาสตร์ ที่บางจังหวัดอาจไม่มีแพทย์ที่สามารถวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมประจำอยู่เลย

- นายกสมาคมนักข่าวฯ ชี้ "ข้อมูลคือขุมทรัพย์"

นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ยากในขณะนี้ คือ จะอธิบายให้คนไทยรู้ว่าดาต้าที่ผ่านการรวบรวม และมีการประมวลผลนั้นเป็นขุมทรัพย์ คนไทยส่วนหนึ่งค่อนข้างเข้าใจคุณค่าว่า บิตคอยน์แลกเป็นเงินได้ หรือการเก็บข้อมูลจากการปลูกต้นไม้แล้วตัวเลขแปลงเป็นเงินได้ แต่การเข้าใจว่าดาต้าเป็นขุมทรัพย์ ยังเป็นสิ่งที่ต้องผ่านการอธิบาย และต้องช่วยกันเผยแพร่ให้มาก

"ที่มีการพูดว่าตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 นั้น 4.0 หรือเปล่า ที่บอกว่า ราชการไทยมีการบูรณาการข้อมูล สิ่งที่สะท้อนออกมาบูรณาการไหม ที่บอกว่ากฎหมายข้อมูลข่าวสารซึ่งมีตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ให้มีสำนักงานข้อมูลข่าวสารของรัฐ จนถึงขณะนี้ 22 ปี ข้อมูลข่าวสารเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือยัง ยังไม่สำคัญเท่าและเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของผู้บริหาร" นายมงคล กล่าว

นายมงคล กล่าวว่า ถ้าไปดูประเทศจีนที่เจริญรุ่งเรือง ส่วนหนึ่งนอกจากเปลี่ยนระบอบเศรษฐกิจแล้ว คือการรวบรวมดาต้า เป็นบิ๊กดาต้า แล้วประมวลนำไปใช้จริง ทำให้การวางแผนกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนชนบท การเปลี่ยนรายได้ของประชากรออกมาเป็นรูปธรรมจริงๆ คือขุมทรัพย์ที่ประเทศไทยหรือโลกอนาคตอาจจะวัดค่าความร่ำรวยเพียงแค่ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ เงินคงคลังไม่พอ ต้องวัดค่าความร่ำรวยของดาต้า และบิ๊กดาต้า ถึงจะบอกว่าอนาคตเป็นอย่างไร ดาต้าคือเครื่องมือไม่ว่าจะอยู่ในมือของใครก็ตาม ถ้าใช้ในทางที่ดีก็เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่เราต้องเรียนรู้

"ที่ฝันเฟื่องกันอยู่ในขณะนี้ว่า จะวางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีข้างหน้า ถ้าเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่มีฐานดาต้าที่เก็บมาจากอดีต ชี้ไม่ได้ว่าทิศทางอนาคต 5 ปี 10 ปี 20 ปี อะไรคือปัญหาที่รออยู่ข้างหน้าที่จะต้องแก้ไข เรามองแค่จุดเล็กๆ จากผลงานทั้ง 5 กลุ่มไปลองควานหาข้อมูล ซึ่งปกติคนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลยากกว่านักข่าว เพราะนักข่าวยังมีชื่อคำว่านักข่าวไปเข้าถึงแหล่งข้อมูล ยังได้มาด้วยความยากลำบาก ต้องช่วยกันกระตุ้นให้ประเทศชาติเห็นความสำคัญของดาต้าอันเป็นขุมทรัพย์สำคัญในอนาคต" นายมงคล กล่าว

ดร.พรรณี อมรวิพุธพนิช หัวหน้าทีมวิทยากรหลักสูตร Data Journalism สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จุดประสงค์ของพวกเราคืออาสาสมัคร อยากเปลี่ยนประเทศไทยให้ดีกว่าเดิม พยายามที่จะใช้ดาต้าซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่า ด้วยความร่วมมือของผู้สื่อข่าวที่เป็นนักสื่อสารอยากเล่าเรื่อง กับนักพัฒนาระบบ (Developer) ที่มีข้อมูลนำมาเล่าเรื่อง กลายมาเป็นนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกที่เผยแพร่ข้อมูลออกสู่สังคม

อ่านประกอบ : ทำข่าวเชิงข้อมูลในไทยยังยาก 'ข้อมูลเปิด' กระจัดกระจาย ภาครัฐมีแต่ไฟล์ PDF ยากประมวลผล

ครั้งแรกของไทย! สมาคมนักข่าวฯ จัดเวิร์คชอป "Data Journalism" แบบเต็มรูปแบบแก่สื่อมวลชน


กำลังโหลดความคิดเห็น