สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับดีแทค จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "พัฒนานักสื่อสารข้อมูลเชิงลึก" แก่สื่อมวลชนแบบเต็มรูปแบบครั้งแรกของไทย หวังสร้างความแตกต่าง ยกระดับสื่อมวลชนมืออาชีพ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนานักสื่อสารข้อมูลเชิงลึก (Data Journalism Workshop)” ที่ศูนย์ฝึกอบรมดีแทค อาคารจามจุรีสแควร์ ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 25-27 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีสื่อมวลชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมอบรม 25 คน จากจำนวนผู้สมัครเกือบ 100 คน
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดการอบรมว่า เทรนด์ของสื่อมวลชนในการเป็นนักข่าวข้อมูลเชิงลึก (Data Journalism) กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก สื่อมวลชนหลายประเทศพัฒนาสื่อมวลชนให้สามารถทำข่าวโดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น บางประเทศทำงานแบบ Data Journalism จนเรื่องปกติ เพราะการทำข่าวเชิงข้อมูลสามารถตอบคำถามบางเรื่องได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่สำหรับสื่อมวลชนไทยถือว่ายังเป็นเรื่องใหม่ ก็ต้องได้รับการพัฒนาเช่นกัน แต่ปัญหาคือ เรื่องของความรู้ เทคนิค การใช้เครื่องมือ ซอฟแวร์ เป็นอุปสรรคในการทำงาน ดังนั้นการอบรมครั้งนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนไทยได้เรียนรู้และทดลองทำข่าวเชิงข้อมูล
“การอบรมครั้งนี้เป็นการอบรม Data Journalism แบบเต็มรูปแบบครั้งแรกของประเทศไทย ที่ไม่ใช่แค่การบรรยายวันเดียวจบ แต่เป็นการเรียนรู้ และลงมือทำจริงเป็นการยกระดับเพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างสื่อมวลชนมืออาชีพกับคนที่อยากเป็นสื่อมวลชนที่เปิดแฟนเพจเสนอเรื่องดราม่าทั่วไป และในอนาคตหากจะสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไปจะต้องเกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่ายสื่อมวลชน Data Journalism ทั้งในประเทศกับต่างประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน” นายชวรงค์ กล่าว
ด้านนางอรอุมา วัฒนะสุข ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวถึงเหตุผลในการสนับสนุนโครงการนี้ว่า สำหรับดีแทค คิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) คือโอกาสในการทำงานเสมอ ซึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้เกิดข้อมูล (DATA) ที่ช่วยให้สื่อมวลชนมีโอกาสในการนำข้อมูลมาใช้ได้มากขึ้น โดยการนำข้อมูลมาร้อยเรียงและนำเสนอแบบ Visualization ที่หลากหลายทำให้ผู้เสพข่าวมีความเข้าใจข้อมูลง่ายขึ้น ซึ่งนักสื่อสารยุคใหม่ควรเรียนรู้และนำไปปรับใช้ ดังนั้น ดีแทคจึงให้การสนับสนุนพร้อมกับร่วมจัดทำหลักสูตรกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จนเกิดหลักสูตรนี้ขึ้นมา และเชื่อว่าหากครั้งนี้สำเร็จด้วยดีอาจจะมีการอบรมครั้งต่อไปตามมา
สำหรับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว มี น.ส.พรรณี อมรวิพุธพนิช อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าทีม โดยมีวิทยากรมาให้ความรู้กับสื่อมวลชน ประกอบด้วย อ.เอกพล เธียรถาวร หัวหน้าแขนงวิชาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้ทำดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับ Data Journalism และ อ.ภัทราวดี ธีเลอร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนท์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่บรรยายหลักคิดพื้นฐานและกระบวนการทำงานของ Data Journalism หัวข้อ แรงบันดาลใจกรณีศึกษา Panama Papers จาก น.ส.ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง ผู้สื่อข่าวอิสระ สมาชิกเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ)
นายไกลก้อง ไวทยการ หนึ่งในผู้ที่ผลักดันเรื่อง Open Government และ Open data ในประเทศไทย ต่อด้วยเทคนิคการดึงความหมายจากข้อมูล จาก ผศ.ดร.วรภัทร ไพรีเกรง ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคข้อมูล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติให้สนุกด้วยคอมพิวเตอร์ จาก นายจรัล งามวิโรจน์เจริญ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ข้อมูลบริษัท เซอร์ทิส จำกัด, “สำรวจข้อมูลภาครัฐยุค 4.0” จาก อ.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และการบรรยายหัวข้อ “ถอดรหัส ‘หวย...ใครรวย?’ ด้วย Data Science จาก ดร.ภูริพันธุ์ รุจิขจร ภาควิชาสถิติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทบุญมีแล็บ เป็นต้น