เผยอุปสรรคในการทำข่าววารสารศาสตร์เชิงข้อมูลในไทย พบการเข้าถึงข้อมูลจากภาครัฐยังติดขัด ยากในการขอข้อมูล แม้จะมีกฎหมายรองรับ อีกทั้งข้อมูลเปิดกระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบ แถมบางหน่วยงานจัดเก็บไฟล์ไม่เอื้อต่อการใช้วิเคราะห์ข้อมูล โดยเฉพาะไฟล์ PDF ต้องเสียเวลาแปลงเพื่อประมวลผล หวั่นคลาดเคลื่อน
ในการจัดเวทีรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานของแต่ละกลุ่มจากโครงการค่ายวารสารศาสตร์ข้อมูลเชิงลึก (Data Journalist Camp Thailand) ซึ่งจัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย (TDJ) ณ ศูนย์ฝึกอบรมดีแทค อาคารจามจุรีสแควร์ ชั้น 34 ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ละกลุ่มที่นำเสนอผลงาน 5 หัวข้อ ประกอบด้วย สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ภัยแล้ง การเมือง และ ผู้ต้องขัง ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการทำข่าววารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Data Journalism) ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลจากภาครัฐ ที่ยังติดขัดและมีความยากในกระบวนการขอข้อมูล ส่วนการใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ก็อาจต้องใช้เวลากว่าจะได้รับข้อมูล
อีกด้านหนึ่ง รูปแบบการจัดเก็บข้อมูลภาครัฐที่ยังกระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบครบถ้วน ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนมาใช้ข้อมูลจากแหล่งอื่น หรือใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยดึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาร่วมประกอบการนำเสนอ ขณะที่ข้อมูลเปิด (Open Data) ของบางหน่วยงานที่เผยแพร่ ก็ยังจัดเก็บในรูปแบบที่ไม่อำนวยต่อการนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ประเมินผล เช่น บางหน่วยงานจัดเก็บเป็นไฟล์พีดีเอฟ (PDF) แต่การนำไปใช้เพื่อประเมินผล อย่างน้อยจะต้องใช้ไฟล์ตาราง (Spreadsheet) เช่น เอ็กซ์เซล (Excel) ทำให้ข้อมูลที่ได้มาต้องนำมาแปลง โดยต้องเพิ่มขั้นตอน ซึ่งเกรงว่าอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้
นายภัทรวัต ช่อไม้ หนึ่งในสมาชิกซึ่งเป็นนักพัฒนาระบบ (Developer) ที่ทำผลงานร่วมกับผู้สื่อข่าวในหัวข้อการเมือง กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำข่าวแบบ Data Journalism ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักข่าวและนักพัฒนาระบบ หากนักข่าวสามารถเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมบางอย่างในเบื้องต้น ที่ใช้งานไม่ยากนัก ก็อาจช่วยให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้นักข่าวสามารถมองหาประเด็นที่ต้องการจากข้อมูลที่มีได้ง่ายขึ้นด้วย
ดร.พรรณี อมรวิพุธพนิช หัวหน้าทีมวิทยากรหลักสูตร Data Journalism สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากนี้แต่ละกลุ่มจะกลับไปตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เพื่อให้เกิดความถูกต้อง รวมทั้งนำประเด็นที่ได้ไปสอบถาม ตรวจสอบกับแหล่งข่าว และสัมภาษณ์บุลคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประกอบการนำเสนอให้ครบถ้วน รอบด้าน พร้อมทั้งนัดนำเสนอผลงานครั้งสุดท้ายในวันที่ 28 ก.ย.นี้ ก่อนเตรียมเผยแพร่ผลงานและข้อมูล เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถนำไปใช้ได้ต่อไป
นางอรอุมา วัฒนะสุข ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า การทำพีอาร์ของดีแทคจะเปลี่ยนไป เราจะไม่ทำการตลาดแบบเก่าแบบสร้างความสัมพันธ์กับสื่อ (Media Relationship) ที่ต้องถือกระเช้าเดินเข้าไปสวัสดีสื่อแล้ว คนทำการตลาดจะมาเพ้อเรื่องแบรนด์อย่างเดียวไม่ได้แล้ว คนทำงานพีอาร์หรือทำงานการตลาดของดีแทคจะต้องรู้และมีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องการพัฒนาข้อมูล และกระบวนการทางความคิด (Mindset) เกี่ยวกับข้อมูล ต่อไปเวลาเราจะคัดคนเข้ามาทำงานในทุกๆ ด้านของดีแทค จะต้องถูกสัมภาษณ์และทดสอบในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังให้ความสนใจกับข้อมูล ดีแทคกำลังให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Privacy) เพราะดีแทคมีข้อมูลของลูกค้าทั้งหมด ตั้งแต่การโทร จนถึงการเข้าชมเว็บไซต์ แต่ดีแทคก็มีระบบความเป็นส่วนตัว และทีมในการดูแลและป้องกันข้อมูลของลูกค้าอย่างแน่นหนา โดยได้ว่าจ้างมืออาชีพเพื่อป้องกันข้อมูลของลูกค้า ซึ่งบริษัทฯ มองว่า ข้อมูลและความลับของลูกค้าถือเป็นสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ของลูกค้าแบบหนึ่ง ที่ใครก็จะมาละเมิดไม่ได้ จึงขยายการทำงานกับภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กรในเรื่องนี้ รวมถึงการทำงานร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยด้วย