นักวิชาการ ม.มหาสารคาม ซัดพวกคนในเมืองชี้นิ้วโยนบาปให้ชาวบ้านเก็บ“เห็ดเผาะ”เป็นแพะปัญหาไฟป่า เห็นเห็ดเผาะสีดำคล้ำก็มโนเองว่าเผาป่าเพื่อเก็บมา ทั้งที่ความจริงเห็ดชนิดนี้จะออกมากตามที่ใบไม้ทับถมเยอะและมีดินเย็น ชาวบ้านไม่เคยเผาป่าหาเห็ดเผาะ
จากกรณีที่มีคนบางกลุ่มออกมารณรงค์ให้เลิกการกินเห็ดถอบ หรือเห็ดเผาะ เพื่อลดปัญหาการเผาป่าและฝุ่นควันนั้น ล่าสุดวันนี้(8 เม.ย.) เมื่อเวลา 9.45 น. นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Chainarong Setthachua” ว่า “อย่าโยนบาปให้แพะ บ่อยครั้งที่เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อม พวกคนเมืองก็จะชี้นิ้วไปที่ชาวบ้าน คนยากคนจนทันทีว่าเป็นต้นเหตุ เช่นเดียวกับการเกิดไฟป่าในปีนี้ที่ชี้นิ้วว่าชาวบ้านเผาป่าเพื่อหาเห็ด ถึงขั้นโพสต์แบนเห็ดถอบหรือที่อีสานเรียกว่าเห็ดเผาะ และเรียกว่าเห็ดนรก อย่าเก็บ เช่าซื้อ อย่าขาย อย่ากิน
“ผมไม่รู้ว่าทัศนะแบบนี้มาจากไหน หรือว่าอาจเห็นว่าเห็ดถอบสีคล้ำๆ ดำๆ เหมือนถูกไฟไหม้หรือเปล่า เลยจินตนาการว่าชาวบ้านเผาป่าเพื่อหาเห็ดถอบ
“จากที่ผมลงสนาม ชาวบ้านที่ชัยภูมิบอกกับผมว่าชาวบ้านไม่เผาป่าเพื่อหาเห็ดหรอกครับ เพราะการเผาป่าจะทำให้ใบไม้ที่เป็นแหล่งเพาะเห็ดเมื่อฝนมาถูกทำลาย และเห็ดจะไม่โต ชาวบ้านจึงชอบป่าที่มีใบไม้ทับถมมากกว่า
“ส่วนที่กล่าวหาว่าเผาป่าเพื่อให้หาเห็ดได้ง่ายขึ้น ผมก็ไม่รู้ว่าเอามาจากไหน เพราะชาวบ้านที่เก็บเห็ดเขามีความรู้ท้องถิ่นว่าฤดูไหน ที่ไหน มีเห็ดอะไร ชาวบ้านบางที่เช่นที่ป่าแม่ยม จ.แพร่ มีความรู้เรื่องเห็ดที่ลึกซึ้งมาก รู้ว่าหากลมพัดมาแบบไหน จะมีเห็ดลมออก และก็รู้ด้วยว่าเห็ดลมจะเกิดตรงไหน เดินไปก็เก็บได้ทันทีไม่มีพลาด
“กรณีเห็ดถอบก็เช่นกัน ชาวบ้านหลายที่ในภาคอีสานและภาคเหนือระบุว่าหากปีไหนมีลูกเห็บตกมาก เห็ดถอบจะออกมากเพราะพื้นดินจะเย็น หากไม่มีลูกเห็บตก เห็ดถอบก็จะออกน้อย ความรู้นี้สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน
“การชี้นิ้วด่าชาวบ้านว่าเป็นสาเหตุไฟป่าจากการอธิบายโดยหยิบยกวิถีชีวิตแต่ผิวเผินมันง่ายมากครับ และยากที่ชาวบ้านจะตอบโต้เพราะชาวบ้านไม่ได้มีสื่อ หรือพูดได้แต่เสียงไม่ดัง
“ขณะเดียวกัน ปัญหาไฟป่าก็ไม่ค่อยถูกพิจารณาในมิติเศรษฐกิจการเมือง เช่น การเผาเอางบ การเผากลั่นแกล้ง การเผาจากนโยบายการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอ้อยและข้าวโพด และการเผาที่เป็นปัญหาข้ามพรมแดน เช่น ทุนจีนเผาป่าเพื่อปลูกล้วยหอมในลาว หรือทุนไทยข้ามแดนไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดในพม่าเพื่อส่งออกไปจีน
“มันมักง่ายและหยาบคายมากครับที่ชี้นิ้วด่าชาวบ้าน แต่ไม่แตะต้องตอใหญ่เช่นรัฐและทุน”นายไชยณรงค์ระบุ