อดีต รมว.คลัง โต้โรงกลั่น อ้างสารพัดต้องขายน้ำมันให้คนไทยแพงกว่าส่งออก ฟังไม่ขึ้น ยันต้นทุนกลั่นของไทยสูงกว่าสิงคโปร์ไม่จริง ไม่มีอุตสาหกรรมอื่นในไทยตั้งราคาขายบวกค่าขนส่งเทียมเหมือนน้ำมัน ส่วนข้ออ้างตั้งราคาส่งออกต่ำเป็นผลดีต่อผู้บริโภคก็ไม่จริง เพราะคนไทยไม่มีสิทธิ์ซื้อราคาส่งออก จับโกหกซ้ำน้ำมันส่งออกไม่ใช่น้ำมันตกเกรด ย้ำการตั้งราคาน้ำมันในประเทศเทียบราคาสิงคโปร์บวกค่าขนส่งเทียม ไม่เป็นธรรม จี้กระทรวงพลังงานชี้แจง
เมื่อคืนวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala และโพสต์ข้อความในหัวข้อ "โรงกลั่นชี้แจงเหตุผลทำไมราคาน้ำมันขายคนไทยต้องแพง-แต่ไม่ถูกต้อง!" โดยระบุว่า CEO Thaioil และ IRPC ให้สัมภาษณ์ในสกู๊ปข่าวเศรษฐกิจ รายการข่าวค่ำ อสมท ออกอากาศเมื่อวันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2561 คำชี้แจงของทั้งสองคน เป็นการยอมรับชัดเจนว่าโรงกลั่นส่งออกในราคาต่ำกว่าขายคนไทย แต่พยายามชี้แจงเหตุผลความจำเป็น ซึ่งผมว่าเป็นเหตุผลที่ไม่ถูกต้อง ดังนี้
ประเด็น “โรงกลั่นสิงคโปร์แต่ละแห่งมีกำลังกลั่นสูงกว่าไทย ต้นทุนของไทยจึงสูงกว่า” (ดูรูปที่ 1)
ผมโต้แย้ง : การสร้างโรงกลั่นแต่ละโรงย่อมต้องวางแผนให้มีกำลังกลั่นเกินกว่าระดับ minimum optimal capacity
ซึ่งเมื่อเกินระดับนั้นแล้ว (ดังเช่นโรงกลั่นในไทย) ต้นทุนกลั่นต่อหน่วยสำหรับโรงขนาด 1-2 แสนบาร์เรลต่อวัน ถึงแม้จะสูงกว่าโรงขนาด 4 แสนบาร์เรลต่อวัน (โรงกลั่นในสิงคโปร์) แต่ก็เพียงเล็กน้อยมาก แทบจะไม่ต่างกัน แต่ในทางกลับกัน ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนผู้บริหารไทยนั้นต่ำกว่าสิงคโปร์มากมาย
คำชี้แจงข้อนี้จึงไม่สามารถอ้างต้นทุนส่วนที่ผันแปรตามกำลังกลั่น เป็นข้ออ้างเพื่อบวกค่าขนส่งเทียมได้
ประเด็น “โรงกลั่นสิงคโปร์ไม่ต้องสำรองน้ำมัน แต่โรงกลั่นไทยต้องสำรอง” (ดูรูปที่ 1)
ผมโต้แย้ง : น้ำมันที่สำรองยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงกลั่น ไม่ใช่ถูกรัฐยึดไป ต้นทุนค่าใช้จ่ายจึงมีเพียง 2 ส่วน คือ หนึ่ง ค่าบำรุงรักษาถังเก็บน้ำมัน ซึ่งแต่ละปีไม่มากนัก และ สอง ค่าดอกเบี้ย ซึ่งโรงกลั่นสามารถกู้ได้ในระดับต่ำกว่าธุรกิจทั่วไป
นอกจากนี้ เนื่องจากสิงคโปร์กลั่นน้ำมันมากกว่าไทย (1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และใช้ภายในประเทศน้อย ส่วนใหญ่ส่งออกไปประเทศอื่นในเอเซีย ดังนั้น ในฐานะผู้ขายหลักที่ต้องเผื่อเวลาสำหรับขนส่ง โรงกลั่นสิงคโปร์ย่อมจะต้องมีการเก็บสต๊อกทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปเตรียมไว้ เพื่อรองรับออเดอร์ฉุกเฉินอยู่แล้ว
กรณีจะอ้างต้นทุนการสำรองน้ำมันเป็นเหตุผลในการบวกค่าขนส่งเทียม จึงไม่ถูกต้อง
ประเด็น “ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็ตั้งราคาขายแข่งกับการนำเข้าแทบทั้งนั้น ซึ่งการบวกค่าขนส่งเทียมเพื่อเปรียบเทียบกับราคานำเข้า จึงไม่ต่างจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่”
ผมโต้แย้ง : ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ตั้งราคาขายแข่งกับการนำเข้านั้น ผู้ผลิตในประเทศไม่มีอำนาจผูกขาด ดังที่มีอยู่ในธุรกิจกลั่นน้ำมัน และสำหรับภาคอุตสาหกรรมอื่นที่แข่งขันกับการนำเข้า รัฐบาลก็ไม่ได้ช่วยเหลือกำหนดสูตรราคาโดยสมมติว่ามีการนำเข้า
ดังนั้น การอ้างการแข่งขันกับการนำเข้าเป็นข้ออ้าง เพื่อบวกค่าขนส่ง ประกันภัย ฯลฯ ทั้งที่ไม่มีการขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปมาจากสิงคโปร์จริงๆ จึงไม่ถูกต้อง
ประเด็น “การตั้งราคาส่งออกต่ำกว่าราคาขายในประเทศเป็นผลดีต่อผู้บริโภคไทย เพราะโรงกลั่นจะได้แข่งขันกันขายในประเทศ”
ผมโต้แย้ง : การตั้งราคาส่งออกต่ำกว่าราคาขายในประเทศ จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคไทยได้ ก็ต่อเมื่อผู้บริโภคไทยมีโอกาสซื้อในราคาตลาดส่งออกด้วย แต่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากรัฐไปกำหนดว่า โรงกลั่นจะขายคนไทยในราคานำเข้า ในการขายผู้บริโภคไทยจึงไม่เกิดการแข่งขันกันดังที่กล่าวอ้าง
ดังนั้น การอ้างว่าราคาส่งออกที่ต่ำกว่าราคาขายในประเทศ จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคไทย จึงไม่เป็นเหตุเป็นผล
ประเด็น “สาเหตุที่ราคาส่งออกต่ำกว่าขายในประเทศเพราะส่งออกน้ำมันตกเกรด ส่วนที่ขายในไทยแพงกว่าเพราะปรับเป็นมาตรฐานยูโร 4”
ผมโต้แย้ง : ผมเคยพบข้อมูลว่าความแตกต่างระหว่างมาตรฐานยูโรแต่ละขั้น สะท้อนอยู่ในต้นทุนการกลั่นเพียงประมาณ 10-15 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น จึงไม่สามารถอธิบายราคาเบนซินส่งออกไปอินโดจีนที่ต่ำกว่าราคาขายคนไทยลิตรละเกือบ 1 บาทได้ (ดูรูปที่ 2)
และถ้าดูราคาส่งออกไปสิงคโปร์ (เส้นสีแดง) จะพบว่าต่ำกว่าราคาขายคนไทยถึงลิตรละ 2-3.50 บาท รวมทั้งสิงคโปร์มีมาตรฐานสูง จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่น้ำมันขายไปยังประเทศสิงคโปร์จะเป็นน้ำมันตกเกรด
ถ้าฟังคำพูดของคนขับรถขนส่งน้ำมันไปประเทศเพื่อนบ้านในคลิปในโพสต์ก่อนหน้า เขาพูดว่า ดีเซลที่ส่งออกคุณภาพสูงกว่าที่ขายในประเทศด้วยซ้ำ เพราะเป็นดีเซลล้วนๆ ที่ยังไม่มีการผสมใดๆ
ดังนั้น การอ้างข้อแตกต่างทางคุณภาพ (โดยไม่เปิดเผยข้อมูลการส่งออกน้ำมันของแต่ละเกรด) จึงไม่น่าเชื่อถือ และไม่สามารถอธิบายเหตุผลที่โรงกลั่นตั้งราคาส่งออกต่ำกว่าราคาที่ขายคนไทย
ซึ่งแท้จริงแล้วน่าจะเป็นเพราะโรงกลั่นไม่สามารถนำราคาที่ขายคนไทยไปขายประเทศสิงคโปร์ได้ เพราะเขาจะไม่ซื้อ
อนึ่ง เนื่องจากการขยายกำลังกลั่นในไทยนั้น เป็นการขยายเพื่อส่งออก ดังนั้น น้ำมันที่ส่งออกส่วนใหญ่จึงย่อมเป็นน้ำมันตามเกรดที่ตลาดผู้ซื้อกำหนด และย่อมไม่ใช่ 'เศษน้ำมัน' หรือน้ำมันตกเกรด
หลักฐานที่แสดงถึงนโยบายการขยายโรงกลั่นเพื่อส่งออก ปรากฏในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2550 สมัยรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ (ดูรูปที่ 3, 4) ระบุว่า
“เนื่องจากกำลังการกลั่นของประเทศในปี 2532 ไม่เพียงพอที่จะรองรับการใช้น้ำมันที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงได้ออกประกาศเชิญชวนลงทุนสร้างโรงกลั่นปิโตรเลียมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2532 เพื่อให้ประเทศมีกำลังการกลั่นใกล้เคียงกับความต้องการใช้น้ำมัน
แต่เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ได้กําหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกน้ํามันสําเร็จรูป คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2533 จึงเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ... ให้เปลี่ยนนโยบายจากการกำหนดให้ประเทศมีกําลังกลั่นใกล้เคียงความต้องการ เป็นให้มีกําลังการกลั่นมากกว่าความต้องการ”
เป็นอันว่า การขยายโรงกลั่นเป็นเพื่อการส่งออก กำหนดมาตั้งแต่ปี 2532 ปรากฏว่า 10 ปีต่อมา ในปี 2542 กพช. พบว่ากำลังกลั่นมีเกินความต้องการในประเทศมาก และส่งออกในราคาต่ำกว่าขายภายในประเทศ กพช. จึงมีมติให้ ปตท. ไปเจรจากับโรงกลั่นให้ลดราคาขายในประเทศลงมาเท่ากับราคาส่งออก (export parity) (ดูรูปที่ 5, 6) แต่ก็ไม่มีการลดราคาตามมติดังกล่าวจนถึงทุกวันนี้
จึงทำให้ประชาชนตั้งคำถามได้ว่า บุคคลที่ทำหน้าที่เลขานุการ กพช. ที่มีมติในปี 2542 ให้ปรับลดราคาขายในประเทศ และต่อมาในปี 2550 เมื่อเป็นประธาน กพช. ก็รับทราบนโยบายการขยายกำลังกลั่นเพื่อส่งออกอีกครั้งหนึ่ง และมีอำนาจในฐานะรัฐมนตรีพลังงาน แต่ทำไมจึงไม่มีการแก้ไขสูตรราคาขายคนไทยให้เป็นธรรมในปี 2550?
ประเด็น “โรงกลั่นไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมการลงทุน”
ผมโต้แย้ง : ข่าวในกรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า บริษัท ไทยออยล์ ที่จะขยายกำลังผลิตจาก 1.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนนั้น จะมีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุน (ดูรูปที่ 7) และกฎระเบียบการส่งเสริมการลงทุน ข้อ 6.3 ก็ระบุถึงกิจการโรงกลั่นน้ำมัน (ดูรูปที่ 8, 9)
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ผมไม่ติดใจ ถ้าไม่ให้ส่งเสริม ก็ดีแล้ว แต่ถ้าให้ ก็ควรยกเลิก เพราะเงินที่รัฐบาลต้องใช้ดูแลชาวบ้านรอบโรงกลั่น และแก้ปัญหามลภาวะน้ำมันรั่วในทะเล ไม่ควรจะเป็นภาระประชาชน จึงไม่ควรให้โรงกลั่นได้รับยกเว้นภาษีใดๆ
ประเด็น “ราคาขายปลีกน้ำมันไทยต่ำกว่าสิงคโปร์ แม้สูตรโรงกลั่นจะสูงกว่า”
ผมโต้แย้ง : การเปรียบเทียบราคาขายปลีกระหว่างประเทศนั้น ไม่ค่อยเกิดประโยชน์มากนัก เพราะแต่ละประเทศกำหนดอัตราภาษีแตกต่างกัน
ทั้งนี้ ประเด็นที่ถกเถียงกันนั้น ไม่ใช่ราคาขายปลีก แต่เป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยใช้สูตรหน้าโรงกลั่นไทย ด้วยราคานำเข้า ทำให้ราคาที่สูงเกินไป หรือไม่? และเป็นสิ่งที่ควรปรับแก้ไขลดลงได้เป็นสิ่งแรกเพราะไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน ใช่หรือไม่?
นอกจากนี้ สิงคโปร์เป็นเกาะเล็กนิดเดียว จึงใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อบีบบังคับไม่ให้คนใช้รถยนต์ เช่น ก่อนซื้อรถต้องแสดงที่จอดรถให้ทางการ มีการเก็บเงินพิเศษสำหรับรถที่ขับเข้าพื้นที่ชั้นใน ดังนั้น การที่สิงคโปร์ตั้งราคาขายปลีกสูงกว่าไทย จึงเป็นเหตุผลเฉพาะตัว
คำชี้แจงข้อนี้จึงไม่สามารถอ้างราคาขายปลีกสิงคโปร์ที่แพงกว่าไทย เป็นข้ออ้างเพื่อบวกค่าขนส่งเทียมได้
ทั้งนี้ ผมขอย้ำว่า กระทรวงพลังงาน/หน่วยงานที่กำกับดูแลโครงสร้างราคาน้ำมันที่ขายภายในประเทศ จะต้องตอบคำถามประชาชนว่า - ทำไมยอมให้มีการบวกค่าขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ ค่าสูญเสียระหว่างขนส่ง และค่าประกันภัยเข้าไปในราคาขาย อันเป็นค่าใช้จ่ายเทียม ทั้งที่การกลั่นกระทำในประเทศไทย?
ท่านนายกฯ ก็รู้ในประเด็นนี้มาก่อน มิใช่หรือ?
รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันก็รู้ มิใช่หรือ?
รัฐบาลนี้จึงมีหน้าที่ต้องชี้แจงว่า นโยบายพลังงานของท่าน เห็นถึงความจำเป็นในกรณีนี้ ของโรงกลั่น หรือของประชาชนกันแน่?
และผมขอคำตอบที่ตรงประเด็น จากรัฐบาล!
“และขอร้องว่า ท่านไม่ต้องส่งคนจากโรงกลั่น/ผู้ผลิต/ผู้ค้าส่ง-ค้าปลีก หรือผู้ซึ่งได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้ ออกมาชี้แจงที่มาของผลประโยชน์ของตัวเอง แบบอ้อมไป อ้อมมา ซึ่งประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร” นายธีระชัย ระบุตอนท้าย