xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัย! สาวเผลอเหยียบกิ้งกือสีเทาจนทำให้เป็นแผล คาดมีอาการแพ้สารจากตัวกิ้งกือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สาวโพสต์เตือนภัย หลังเผลอเหยียบกิ้งกือสีเทา จนรู้สึกแสบๆ ร้อนๆ กระทั่งมาดูที่เท้าปรากฏว่ามีแผล จึงอยากจะโพสต์เตือนให้ระมัดระวังสำหรับคนที่แพ้สารจากกิ้งกือ

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Noey Nichapat Chokprasit” ได้โพสต์รูปภาพเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตนเองจึงได้ออกมาโพสต์เตือนภัย สำหรับกิ้งกือสีเทา หรืออีกชื่อคือ กิ้งกือป่า ที่ตนได้เผลอเหยียบและคิดว่าคงไม่เป็นอะไรมาก จนกระทั่งขณะที่ตนกำลังจะไปโรงเรียนรู้สึกแสบๆ ร้อนๆ พอมาถึงโรงเรียนตนไปเปิดถุงเท้าดู ปรากฏว่า มีแผลที่เท้าคล้ายรอยไหม้ ตนจึงอยากจะเตือนโพสต์ให้ระวังกิ้งกือชนิดดังกล่าวนี้ด้วย

ด้านผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า “เตือนจ้า ระวังกิ้งกือกันด้วยนะตัวสีเทา นี่เดินแล้วมองไม่เห็นดันไปเหยียบ เหยียบด้วยถุงเท้า ตอนแรกก็คิดว่าไม่เป็นอะไรหรอกมั้งช่างมันเถอะ พอขึ้นรถกำลังจะมาโรงเรียนแสบๆ ร้อนๆ ที่เท้าก็ไม่คิดว่าจะเป็นเพราะเหยียบกิ้งกือ พอมาถึงโรงเรียนบอกเพื่อนว่าเหยียบกิ้งกือแล้วแสบๆ ร้อนๆ เพื่อนบอกให้เปิดถุงเท้าแล้ว ก็นั้นแหละเป็นอย่างที่เห็นเลย พอเห็นแล้วขนลุกตลอดเวลาเลย ระวังกันด้วย”

ทั้งนี้ โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากชาวโซเชียลจนมียอดแชร์แล้วกว่า 5,300 ครั้ง พร้อมกับมีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นเตือนภัยกับคนที่รักเป็นจำนวนมากอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม “กิ้งกือ” เป็นสัตว์มีขามากที่สุดในบรรดาสัตว์บก ไม่มีกระดูกสันหลัง ในโลกนี้มีมากถึง 10,000 ชนิด (สปีชีส์) สำหรับในประเทศไทยสำรวจพบอยู่ประมาณ 100 ชนิด โดยมักอาศัยอยู่ทั่วไปในดิน ใต้ก้อนหิน ใต้ซากใบไม้ทับถม ตามขอนไม้ผุ และในถ้ำ กิ้งกือสามารถปล่อยสารพิษออกจากบริเวณรอยต่อของปล้อง สารพิษมีฤทธิ์ทำให้ปวด แสบ คันได้ อาจมีสารจำพวก Cyanides (ไซยาไนด์) อยู่ได้แต่น้อยมาก และสารนี้ไม่สามารถซึมผ่านผิวหนัง ต้องกินหรือสูดดมเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรพิษจากกิ้งกือนั้นไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์มากนัก นอกเสียจากมีอาการแพ้




กำลังโหลดความคิดเห็น