หมอผิวหนังเตือน “กิ้งกือ” ไม่กัด แต่มีพิษ ชี้บางสายพันธุ์มีต่อมพิษตลอด 2 ข้างลำตัว ฉีดสารพิษได้ไกล มีฤทธิ์ทำผิวหนังไหม้ หากเข้าตาจะเกิดการระคายเคืองได้
วันนี้ (6 ก.ค.) นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน อาจพบเห็นกิ้งกือในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่อยู่อาศัย สวนสาธารณะ จึงขอให้คำแนะนำแก่ประชาชน ว่า กิ้งกือไม่ใช่สัตว์อันตราย ไม่กัด แต่มีพิษหากสัมผัสถูกตัว สารพิษของกิ้งกือจะถูกปล่อยออกมาจากบริเวณข้างลำตัว มีฤทธิ์ฆ่า สัตว์เล็กๆ เช่น มด แมลง และหากคนสัมผัสจะทำให้เกิดการอักเสบเป็นผื่นแดง หรือทำให้ตาระคายเคืองในกรณีถูกพิษกิ้งกือเข้าตา
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า กิ้งกือบางสายพันธุ์เท่านั้นที่จะมีต่อมพิษอยู่ตลอดสองข้างลำตัวสามารถฉีดสารพิษพุ่งออกไปได้ไกล สารพิษมีลักษณะเป็นของเหลวใสไม่มีสี ประกอบด้วยสารกลุ่มไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ฟีนอล (Phenol) กลุ่มเบนโซควินิน และไฮโดรควิโนน (Benzoquinones/hydroquinones) มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังไหม้ แผลไหม้ มีอาการปวด 2-3 วัน รวมทั้งการระคายเคืองร่วมด้วย ทั้งนี้ หากถูกพิษของกิ้งกือให้ล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด ทายาแก้อักเสบ โดยทั่วไปอาการมักจะหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบ ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดและรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการอักเสบของตาที่อาจเพิ่มมากขึ้น