xs
xsm
sm
md
lg

ROV ครองแชมป์เกมออนไลน์ยอดนิยม ผงะ “นักศึกษา” ใช้จ่ายตั้ง 8 พัน-เล่นเกมวันละ 20 ชม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผย “อาร์โอวี” ครองแชมป์เกมออนไลน์ยอดนิยม พบเวลาเล่นเกมเกินกว่าที่แพทย์แนะนำ “นักศึกษา” หนักสุด ใช้เวลา 20 ชั่วโมง ใช้จ่ายไปถึง 8 พัน วัยรุ่นจ่ายหนักไม่แพ้กัน 7 พัน แต่กลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุจ่ายน้อย แต่ยังเกินกว่าที่แพทย์แนะนำ

วันนี้ (17 พ.ค.) สำนักวิจัยซูเปอร์โพล มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดผลวิจัยตลาด วิจัยผู้บริโภค ตลาดเกมออนไลน์ จำนวนทั้งสิ้น 500 กลุ่มตัวอย่าง สำรวจช่วงวันที่ 5-17 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยพบว่า เกมออนไลน์ยอดฮิต ยอดนิยม ได้แก่ อาร์โอวี (ROV) 63.8% รองลงมา คือ เกมพียูบีจี (PUBG) 12.8%, ส่วนอันดับสาม เกมฟรีไฟร์ (FREE FIRE) และเฮย์เดย์ (HayDay) 3.4% เท่ากัน อันดับ 4 เกมคาบาล (Cabal) 2.7% อันดับ 5 เกมแคนดี้ครัช (Candy Crush) 2% และคุกกี้รัน (Cookie Run) 2% ส่วนเกมอื่นๆ ร้อยละ 9.9% เช่น ฟีฟ่า 3, โปค ซากา, แร็กนาร็อก, เซเว่นไนท์, ด็อทเอ 2, ไลน์เพลย์, แฮร์รี พอตเตอร์, โอเวอร์วอตซ์, ออดิชัน, มายคราฟต์ เป็นต้น

ส่วนเวลาเล่นเกมเฉลี่ยต่อวัน พบว่าส่วนใหญ่อยู่ที่ 3.09 ชั่วโมงต่อวัน (ชาย 3.11 ชั่วโมง และหญิง 3.07 ชั่วโมง) ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะใช้เวลาเล่นเกมออนไลน์เฉลี่ยเกินกว่าที่ทางการแพทย์กำหนด ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มเด็กวัยรุ่น ใช้เวลาเล่นเกมออนไลน์อยู่ที่ 3.55 ชั่วโมงต่อวัน และสูงสุดที่ 18 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนกลุ่มวัยนักศึกษา ใช้เวลาเล่นเกมออนไลน์อยู่ที่ 3.15 ชั่วโมงต่อวัน สูงสุดอยู่ที่ 20 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนคนวัยทำงาน ใช้เวลาเล่นเกมออนไลน์อยู่ที่ 2.16 ชั่วโมงต่อวัน สูงสุดอยู่ที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนคนสูงวัย ใช้เวลาเล่นเกมออนไลน์อยู่ที่ 3.38 ชั่วโมงต่อวัน สูงสุดอยู่ที่ 5 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือว่ายังเกินเวลาที่ทางการแพทย์แนะนำ

สำหรับวงเงินที่จ่ายไปกับการเล่นเกมออนไลน์ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า เฉลี่ยอยู่ที่ 899.52 บาท ผู้ชายใช้จ่ายมากกว่าผู้หญิง โดยพบว่าผู้ชายใช้จ่ายไป 1,130.94 บาท ผู้หญิงใช้จ่ายไป 579.62 บาท ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มวัยรุ่น ใช้จ่ายไป 1,089.43 บาท สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาท กลุ่มวัยนักศึกษา ใช้จ่ายไป 976.19 บาท สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาท ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะยังหาเงินไม่ได้ เพราะไม่ได้ทำงาน ต้องใช้เงินจากพ่อแม่ ส่วนกลุ่มวัยทำงาน ใช้จ่ายไป 653.48 บาท สูงสุดที่ประมาณ 3,000 บาท และกลุ่มคนสูงอายุ ใช้จ่ายไป 799.67 บาท สูงสุดที่ประมาณ 1,000 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น