พบหนุ่มวัย 29 ปี รอดชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ “ราชเทวีอพาร์ทอพาร์ทเม้นท์” เพราะกำลังเล่นเกม ROV กับเพื่อน ก่อนได้ยินเสียงเหมือนประกายไฟดังจากนอกห้อง ก่อนพบประกายไฟที่ห้องควบคุมไฟ แจ้ง รปภ. ก่อนเรียกเพื่อนและผู้ที่อยู่ในอาคารออกมาได้
จากกรณีสะเทือนขวัญ เหตุเพลิงไหม้ราชเทวีอพาร์ทเม้นท์ ที่พักอาศัยสูง 14 ชั้น ในซอยเพชรบุรี 18 แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กทม. เมื่อคืนวันที่ 3 เม.ย. ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บกว่า 60 คน
พบว่าหนึ่งในผู้รอดชีวิตรอดมาได้เพราะขณะเกิดเหตุกำลังเล่นเกม ROV เกมออนไลน์ยอดฮิตอยู่ภายในห้องพัก
นายวรุต พูลผล อายุ 29 ปี เจ้าของห้องพักชั้น 4 ระบุว่า ได้อาศัยที่อพาร์ตเมนต์แห่งนี้มานาน 4 ปีแล้ว ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ วันเกิดเหตุตนเล่นเกม ROV ซึ่งเป็นเกมออนไลน์กับเพื่อนที่อยู่ในอพาร์ตเมนต์เดียวกัน โดยได้เปิดไมโครโฟนในเกมคุยกับเพื่อน
เวลาประมาณ 02.00 น. จู่ๆ ได้ยินเสียงเหมือนประกายไฟดังอยู่ที่ตรงข้ามห้อง พอไปออกไปดูพบว่ามีประกายไฟเกิดขึ้นที่ห้องควบคุมไฟ จึงเดินลงไปข้างล่างเพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ รปภ.ให้ทราบ พอแจ้ง รปภ.เสร็จ เดินกลับขึ้นไปที่ห้องพบว่าตามทางเดินห้องมีควันไฟจำนวนมาก จึงแจ้งกับเพื่อนที่เล่นเกมด้วยกันผ่านไมโครโฟนในเกมว่า "มีไฟไหม้" เพื่อนจึงออกจากห้อง พบกลุ่มควันอยู่ตามทางเดินจำนวนมาก
จากนั้น นายวรุตและเพื่อนจึงรีบเก็บของมีค่าออกมา และตะโกนบอกทุกคนในบริเวณนั้นให้หนีออกมา หลังจากหนีมาได้ก็รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นผู้คนคนวิ่งหนีตายจากเพลิงไหม้ด้วยวิธีการต่างๆ เห็นแล้วก็หดหู่ใจ
นับเป็นความโชคดีของหนุ่มรายนี้ที่ได้ยินเสียงผิดปกติในอาคาร กระทั่งออกมาสังเกตจนพบต้นตอ จึงได้เรียกเพื่อนออกมา และทำให้เขารอดชีวิต แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่มีใครคาดคิดและไม่มีใครอยากให้เกิดก็ตาม
ปัจจุบันขีดความสามารถของรถดับเพลิงในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะรถกระเช้า รองรับตึกสูงได้ 90 เมตร เทียบเท่าอาคารสูง 30 ชั้น แต่หากที่ตั้งอาคารอยู่ในซอยแคบ รถกระเช้าเข้าไม่ถึงก็เป็นการยาก
ขณะที่อาคารสูงในระยะหลังๆ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม โรงแรมหรู และอาคารสำนักงาน พบว่ามีความพยายามก่อสร้างในระดับที่สูงกว่า 30-40 ชั้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย
คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารสูง เรียบเรียงจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แนะนำดังต่อไปนี้
1. เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ผู้ประสบภัยควรทำตามแผนหนีไฟฉุกเฉินและรีบออกจากตัวตึกทันที
2. ให้อพยพลงสู่ด้านล่างอาคาร ผู้ที่อยู่บนชั้นสูงๆ ไม่ควรหนีขึ้นไปบนดาดฟ้าหรือหลังคา เพราะไม่รู้ว่าเฮลิคอปเตอร์จะมาช่วยได้เมื่อไหร่ หรือมาแล้วก็ไม่สามารถทนความร้อนได้
3. ไม่ควรอยู่ในลิฟต์ขณะไฟไหม้ เพราะมีควันไฟ และอาจลิฟท์ค้างที่ชั้นเกิดเพลิงไหม้
4. ถ้าอยู่ในห้อง พยายามปิดประตู เพื่อกันไม่ให้ควันเข้ามาภายใน และใช้โทรศัพท์ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อบอกตำแหน่งของตนเอง
5. ขณะรอเจ้าหน้าที่่ช่วยเหลือ ให้พยายามทำสัญลักษณ์ให้ผู้อื่นทราบตำแหน่งที่ตนเองอยู่ ไม่แนะนำให้ทุบกระจก เพราะเจ้าหน้าที่จะได้รับบาดเจ็บ หรือสายดับเพลิงขาด แต่หากเป็นกระจก แบบเปิดได้สามารถเปิดเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์ แต่หากมีควันลอยเข้ามาให้ปิดทันที
6. แนะนำให้อยู่ในชั้นเดิม หรือชั้นที่ต่ำกว่าชั้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้จะปลอดภัยกว่า
7. การกระโดดออกจากหน้าต่างเพื่อหนีไฟไหม้ หากอยู่สูงกว่าชั้น 2 จะเกิดอันตรายแก่ผู้ประสบภัย
8. สำหรับผู้พิการ อาคารสูงจำเป็นต้องสร้างพื้นที่หลบภัยในแต่ละชั้น เพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าไปหลบระหว่างรอเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ