บอร์ดบางกอกโพสต์ย้าย “อุเมส ปานเดย์” พ้น บก.นสพ.บางกอกโพสต์ เจ้าตัวเผยเพราะลดโทนวิจารณ์รัฐบาลไม่ได้ ด้านผู้บริหารอีกคนโต้กลับ การทำงานมีปัญหาตลอด ถามกลับพาดหัวเลือกตั้งมาเลย์ โยงถึงไทยเป็นธรรมหรือไม่ ทั้งที่จะเชิญ “ประยุทธ์” ร่วมงาน 72 ปี ยืนยันไม่ใช่ทหารแทรกแซง
รายงานข่าวแจ้งว่า นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทฯ มีมติให้นายศูนย์รัฐ บุณยมณี เป็นรักษาการบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ แล้วย้ายนายอุเมส ปานเดย์ ไปเป็นผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) สายงานธุรกิจหนังสือพิมพ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา
ต่อมา นายอุเมส ปานเดย์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว อำลาเพื่อนร่วมงานเกือบ 60 คนในกองบรรณาธิการ ระบุว่า เขาไม่ยอมปฏิบัติตามคำขอร้องที่ให้ลดโทนการนำเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเหตุให้ถูกปลดจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่จะหมดสัญญาจ้างให้เป็นบรรณาธิการ 2 ปี ในอีก 60 วันข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ในเฟซบุ๊ก “จุลสาร ราชดำเนิน” สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า จากการสอบถามนาย ณ กาฬ เลาหะวิไลย รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.บางกอก โพสต์ เปิดเผยว่า นายอุเมสไม่ได้ถูกปลด เพียงแต่ถูกย้ายให้มาเป็นผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ เนื่องจากปัญหาการบริหารงานในตำแหน่งบรรณาธิการ ไม่เกี่ยวข้องกับการถูกขอให้ลดโทนการตรวจสอบรัฐบาลทหารแต่อย่างใด
นาย ณ กาฬยอมรับว่า เขาเป็นคนขอให้บอร์ดเครือบางกอกโพสต์ปลดนายอุเมสตั้งแต่ปลายปี 2560 หลังพบการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไม่ถูกต้อง มีปัญหาในการทำงานมาโดยตลอด ทั้งเสนอโครงการที่รับปากว่าจะทำได้ แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ ถูกขอให้ลดต้นทุน เช่น เลิกบางเซกชันในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ แต่ก็ไม่ยอม และอ้างว่าจะหารายได้เพิ่มเข้ามาแทน แต่คนส่วนใหญ่ในบอร์ดกลับเห็นว่าควรจะให้โอกาส เพราะนายอุเมสเองก็จะหมดสัญญาจ้าง 2 ปี ในเดือนกรกฎาคมนี้อยู่แล้ว ที่สำคัญในเวลานั้นยังหาคนมาแทนไม่ได้
สิ่งที่เป็นฟางเส้นสุดท้าย คือ หน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 11 พ.ค. ที่รายงานผลการเลือกตั้งของประเทศมาเลเซีย แล้วพาดพิงมาถึงไทย นาย ณ กาฬ ถามว่า การโยงสองเหตุการณ์เข้าหากันเป็นธรรมหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างที่เครือบางกอกโพสต์จะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ มาร่วมงานครบรอบ 72 ปีของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
แต่เมื่อมีการแจ้งเรื่องนี้ต่ออุเมสในที่ประชุมบอร์ดก็มีการแสดงท่าทางไม่สมควรออกมา จนไม่น่าจะร่วมงานกันต่อไปได้ จึงเห็นว่าในเมื่อจะหมดสัญญาจ้างอยู่แล้วก็ให้เปลี่ยนไปเป็นผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ เครือบางกอกโพสต์ โดยระหว่างนี้จะให้คนอื่นรักษาการบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ไปก่อน จนกว่าการสรรหาคนที่เหมาะสมจะสิ้นสุด
“ไม่ใช่เรื่องทหารแทรกแซง หรือให้งดโจมตีทหาร เรื่องนี้ผมมีพยานมากมาย ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่อยากพูด แต่ในเมื่อคุณพูดมาก่อน เราจึงต้องออกมาพูดบ้าง” นาย ณ กาฬ กล่าวกับจุลสารราชดำเนิน
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา พาดหัวข่าวว่า KL Poll 'a lesson' to NCPO (เลือกตั้งมาเลเซีย บทเรียน คสช.) กรณีที่นนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด วัย 92 ปี และกลุ่มฝ่ายค้านในนาม "พันธมิตรแห่งความหวัง" เอาชนะนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีคนก่อน โดยสัมภาษณ์บรรดานักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
อาทิ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ. ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รวมไปถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
สำหรับนายอุเมส ปานเดย์ ปัจจุบันอายุ 45 ปี จบการศึกษาปริญญาตรี การเงิน มหาวิทยาลัยเบนท์เลย์ รัฐแมสซาชูเสต สหรัฐอเมริกา ร่วมงานกับเครือบางกอกโพสต์เมื่อปี 2548 ในตำแหน่งบรรณาธิการเซ็กชั่น เอเชีย โฟกัส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กระทั่ง เดือนสิงหาคม 2559 เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ รวมระยะเวลาที่ร่วมงานกับเครือบางกอกโพสต์ 13 ปี