ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว (ช.ส.ท.) นำสมาชิกฯ สำรวจการท่องเที่ยว “เที่ยวแพร่ วันธรรมดา” และร่วมงานเลี้ยงต้อนรับซึมซับวัฒนธรรมเมืองแพร่ ในธีมงาน “ใส่ผ้าเมือง นุ่งซิ่น กินโตกมะเก่า” แต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง และรับประทานอาหารเย็นแบบขันโตกตามวิถีของคนแพร่ พร้อมรับชมการแสดงพื้นเมือง ณ วัดจอมสวรรค์ จังหวัดแพร่ โดย การท่องเที่ยวแห่งแระเทศไทย (ททท.) สำนักงาน จ.แพร่ และประชาชนชาวแพร่
เมื่อวันที่ 28-30 มีนาคม ที่ผ่านมา ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว (ช.ส.ท.) นำสมาชิกจำนวน 26 คน สำรวจการท่องเที่ยว “เที่ยวแพร่ วันธรรมดา” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรองต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย ตามวัตถุประสงค์ของชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว (ช.ส.ท.) ซึ่งแผนงานหลักๆ คืองานโครงการเฉลิมพระเกียรติและเทิดพระเกียรติพระบรมราชวงศ์ และส่งเสริมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่เคยมีใครรู้จักหรือรู้จักแต่ไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์
เพราะจังหวัดหนึ่งไม่ได้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นแลนด์มาร์คเพียงแค่นั้น แต่ยังมีสถานที่ที่มีคุณค่าโดยจุดที่เน้นหลักคือ วัฒนธรรม และ วิถีไทย นอกเหนือจากเรื่องศาสนาเรื่องท่องเที่ยวตามธรรมชาติ การท่องเที่ยวตามโบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาในปีนี้เป็นปีที่ 34 เและมีชิ้นงานเป็นต้นแบบให้คนเดินตามเพิ่มคุณค่าทางการท่องเที่ยวในประเทศในพื้นที่นั้นๆ มากมาย และร่วมงานเลี้ยงต้อนรับในธีมงาน “ใส่ผ้าเมือง นุ่งซิ่น กินโตกมะเก่า” ตามวิถีของคนเมืองแพร่
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า จังหวัดแพร่ และ ททท.สำนักงานแพร่ ได้ร่วมกันจัดงานต้อนรับชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งได้นำสื่อมวลชนในสาขาต่างๆ มาเยี่ยมเยือนเมืองแพร่ เป็นการนำเสนอจังหวัดแพร่ว่ามีของดีอะไรบ้าง ซึ่งในเบื้องต้นจากการได้พูดคุยกับทางชมรมฯ จะมาจัดกิจกรรมสำคัญในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งทางเรามีความพร้อมในเรื่องความเป็นเมืองรอง ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรมที่จะนำเสนอในรูปแบบต่างๆ
“จังหวัดแพร่เองถือว่าเป็นเมืองโบราณที่มีอายุนับพันปี มีพระธาตุที่มีอายุ 1,000 ปี กว่า 10 แห่ง เป็นแหล่งวัฒนธรรมที่มีความเก่าแก่และมีเรื่องของมรดกทางวัฒนธรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศิลปะ เรื่องของคัมภีร์โบราณ ที่ “วัดสูงเม่น” ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นคัมภีร์โบราณที่จารกว่า 200 ปี ความเป็นมาของ “เมฆ” ซึ่ง “เมฆ” ก็คือกำแพงเมืองโบราณซึ่งถือว่าเป็นกำแพงเมืองโบราณที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย”
นอกจากนั้นยังมีศิลปะวัฒนธรรมซึ่งมีอยู่หลากหลายรายการ สิ่งเหล่านี้จะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สามารนำมารวบรวมเป็นเรื่องราว ซึ่งทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดได้รวบรวมเรื่องราวทั้งหมดผูกเรื่องร้อยเรื่องมาเป็นสิ่งที่จะนำเสนอการท่องเที่ยว ในส่วนของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งจังหวัดแพร่เองมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย
“นอกจากเรื่องของศิลปะวัฒนธรรมแล้ว ก็จะมีเรื่องอาหารการกินเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาลิ้มลอง อย่างเช่น ลาบเมืองแพร่ ขนมเส้นน้ำย้อย และยังมีสินค้าที่มีแบรนด์ของความเป็นแพร่ เช่น เสื้อหม้อห้อม ผ้าซิ่นทองที่สวยงามและมีประวัติความเป็นมาเป็นผ้าซิ่นโบราณ ผลิตภัณฑ์ไม้สักที่มีชื่อเสียงที่ขึ้นชื่อว่าถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ไม้สักก็ต้องมาที่จังหวัดแพร่
ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็รวมกันเป็นวิถีแพร่ที่เรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยเรื่องราวเหมาะสำหรับการมาศึกษา และมาท่องเที่ยวแบบเชิงลึกมารับรู้ศิลปะวัฒนธรรม มาซึมซับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะได้คุณค่าของความเป็นไทยครับ” นายพงศ์รัตน์ กล่าว
ด้าน นางสาวเอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานแพร่ เผยว่า “การช็อปปิ้งผ้าของบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็น ผ้าตีนจก เราก็เลยจัดกิจกรรม “ใส่ผ้าเมือง นุ่งซิ่น กินโตกมะเก่า” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเรื่องผ้าทอ ภูมิปัญญาเรื่องอาหาร มาจัดขันโตกให้เพื่อเป็นการต้อนรับนักท่องเที่ยว ก็จะได้รับทั้งการเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยว มาชิมอาหารอร่อย มาช้อปสินค้าผลิตภัณฑ์ของจังหวัดแพร่ ก็จะเป็นเรื่องของการบูรณาการการร่วมมือระหว่างชุมชนกับวัด ซึ่งชุมชนเองมีความยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวจัดกิจกรรมพื้นเมือง ซึ่งอยากให้นักท่องเที่ยวมาลองชมความงดงามของเมืองแพร่ ในวัดจอมสวรรค์แห่งนี้ มาชิมโตกอร่อยๆ ที่จัดขึ้นโดยป้าๆ ที่มีจิตศรัทธาที่อยากจะทำอาหารอร่อยต้อนรับนักท่องเที่ยวค่ะ”
นางวรางคนา สุเมธวัน ประธานชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว (ช.ส.ท.) กล่าวว่า ปีนี้ ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองต่อการท่องเที่ยวของไทย และในทุกปีเราจะจัดงานเฉลิมพระเกีรติและเทิดพระเกียรติพระบรมราชวงศ์์ ปีนี้เราเลือกจังหวัดแพร่สำหรับเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้
“ความงดงามความมีเสน่ห์ของจังหวัดแพร่ที่นอกเหนือจากท่านผู้ว่าและ ผอ.ททท. สำนักงานแพร่ ได้กล่าวถึงแล้ว สิ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้เอ่ยถึงคือความงดงามของวิถีชีวิตในเรื่องราวทางวรรณคดี “เรื่องลิลิตพระลอ” ซึ่งมีความงดงามมาก ชมรมจะนำนักท่องเที่ยวหรือคณะผู้สูงอายุเข้ามาตามรอยวรรณคดี “เรื่องลิลิตพระลอ” ที่จังหวัดแพร่ในเดือนสิงหาคม นอกจากนั้นแล้วก็เชื่อว่ามนต์เสน่ห์ของจังหวัดแพร่นั้น เราจะสามารถสืบสานให้เกิดความขลังความประทับใจแก่ผู้ที่อ่านได้ และติดตามข่าวสารของชมรมสื่อมวลชนฯ และพี่น้องคนไทยทั่วๆ ไปด้วยค่ะ”
สำหรับจังหวัดแพร่ที่จัดว่าเป็นหนึ่งในเมืองรองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย อาธิ “วัดพระธาตุช่อแฮ” พระอารามหลวง อารามเก่าแก่คู่จังหวัดแพร่มาช้านาน “บ้านทุ่งโฮ้ง” สินค้าหม้อห้อมเมืองแพร่ที่มีชื่อเสียงทั้งเครื่องแต่งกายและสินค้าอื่นๆ ตลอดเส้นทางหม้อห้อม นับเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผ้าหม้อห้อมที่ใหญ่ที่สุดใน จ.แพร่
“พิพิธภัณฑ์บ้านเทพ” แหล่งรวบรวมของโบราณอายุนับร้อยปี “วัดจอมสวรรค์” ชมสถาปัตยกรรมพม่าหลังคาซ้อนลดหลั่นเป็นชั้นประดับลวดลายฉลุฝีมือการตกแต่งวิจิตรบรรจง “สถานีรถไฟบ้านปิน” สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ชมสถาปัตกรรมอาคารสถานีรถไฟสไตล์บาวาเรียน เฟรมเฮาส์ฝีมือช่างเยอรมัน “วัดศรีดอนคำ” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดห้วยอ้อ” เป็นพระธาตุเก่าแก่ขนาดใหญ่ และโบราณวัตถุสูงค่าในพิพิธภัณฑ์พระเจ้าพร้าโต้ เคาะระฆังลูกระเบิดเพื่อความมี ชื่อเสียง ที่มาของตำนานเมืองแพร่แห่ระเบิด
นอกจากนั้นยังมี “โฮงซึงหลวง” แหล่งอนุรักษ์เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของ อ.ลอง จำหน่ายเครื่องดนตรีคุณภาพ แหล่งอนุรักษ์ ผ้าพื้นเมืองกะเหรี่ยง “พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ” สถานที่จัดแสดงผ้าโบราณ อายุกว่า 200 ปี ของชาวล้านนาจำนวนมาก “วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี” ศูนย์รวมยอดพุทธศิลป์และจำลองงานศิลปชั้นยอดของล้่านนาจากหลายแหล่งในประเทศไทย วัดที่สวยงามที่สุดติดอัน 1 ใน 10 วัดของไทย
“คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ คุ้มของเจ้าพิริยะเทพวงศ์” ภายในจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ ข้าวของเครื่องใช้ของเจ้านายในสมัยนั้น “คุ้มวงศ์บุรี” หรือ บ้านวงศ์บุรี อาคารสีชมพูโดดเด่น อายุกว่า 100 ปี และ “วัดสูงเม่น” อ.สูงเม่น แหล่งรวบรวมคัมภีร์ใบลานมากที่สุดในประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทยส่วนท้องถิ่น ผู้สนใจสามารถร่วมถวายผ้าห่อคัมภีร์ เพื่อความเจริญรุ่งเรือง เหล่านี้เป็นต้น
สอบถามรายละเอียดแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ หรือสอบถามข้อมูลการเดินทางและการท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ได้ที่ ททท. สำนักงานแพร่โทรศัพท์ 0 5452 1127
เรื่อง / ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม