xs
xsm
sm
md
lg

แตกต่าง! “อุทยานแห่งชาติ” เข้าไปเที่ยวได้ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” ห้ามเข้าไปเที่ยวตามใจชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มาดูความแตกต่างระหว่าง “อุทยานแห่งชาติ” กับ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” จำไว้ว่าไม่มีใครเข้าไปเที่ยวได้ตามใจชอบ ต้องทำเรื่องเข้ามาเร็วสุด 5 วันทำการ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในคดี “เปรมชัย อิตาเลียนไทย” ลักลอบตั้งแคมป์ล่าสัตว์ป่าจนเป็นคดีดัง

การจับกุม นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 4 คน เข้าไปลักลอบตั้งแคมป์และล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกก็คือ ความแตกต่างระหว่าง “อุทยานแห่งชาติ” ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม กับ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” ที่ปกติคนทั่วไปจะไม่สามารถเข้าไปได้หากไม่ได้รับอนุญาต

อุทยานแห่งชาติ

ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ระบุว่า “อุทยานแห่งชาติ” หมายถึง ที่ดินซึ่งรวมทั้งพื้นที่ดินทั่วไป ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และชายฝั่งที่ได้รับการกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ลักษณะที่ดินดังกล่าว เป็นที่มีสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจ และมิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ของบุคคลใด ที่มิใช่ทบวงการเมือง ทั้งนี้ การกำหนดดังกล่าว ก็เพื่อให้คงอยู่ในสภาพเดิม เพื่อสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์ แก่การศึกษา และความรื่นรมย์ของประชาชนสืบไป ปัจจุบันประเทศไทยมีอุทยานแห่งชาติทั้งหมด 130 แห่ง แห่งล่าสุดคือที่อุทยานแห่งชาติขุนสถาน ในพื้นที่ จ.น่าน และ จ.อุตรดิตถ์

การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าไปได้ แล้วแต่สถานที่ โดยอาจต้องเสียค่าธรรมเนียมเข้าชม บางแห่งมีช่วงเวลาเปิดให้เข้าชมตามที่กำหนด เช่น อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย เปิดให้เข้าชมในช่วงเดือนตุลาคม ถึงพฤษภาคม และปิดอุทยานฯ เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ ในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงกันยายนของทุกปี แต่ถ้าต้องการค้างคืน ต้องทำการจองที่พัก พื้นที่กางเต็นท์ กับสำนักอุทยานแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันมีระบบจองผ่านช่องทางออนไลน์ หรือหากต้องการทำกิจกรรมนันทนาการ ค่ายพัก ห้องประชุม หรือ ถ่ายทำภาพยนตร์ในอุทยานแห่งชาติ ก็ต้องขออนุญาตกับสำนักอุทยานแห่งชาติเช่นกัน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ระบุว่า “เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า” หมายถึง พื้นที่ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย เพื่อว่าสัตว์ป่าในพื้นที่ดังกล่าวจะได้มีโอกาสสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้มากขึ้น ทำให้สัตว์ป่าบางส่วนได้มีโอกาสกระจายจำนวนออกไปในท้องที่แหล่งอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับเขตรักษาพันธุ์ - สัตว์ป่า

การกำหนดให้มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สืบเนื่องมาจากการที่สัตว์ป่าจะสามารถดำรงชีพและสืบเชื้อสายต่อไปได้ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร แหล่งหลบภัย ป่าไม้เป็นแหล่งกำเนิดปัจจัยดังกล่าว ซึ่งดูยิ่งจะเพิ่มความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งต่อสัตว์ป่า เมื่อป่าไม้ถูกทำลายลงสัตว์ป่าก็ต้องต่อสู้กันเพื่อแก่งแย่งแหล่งน้ำ แหล่งอาหารที่มีจำกัด ทำให้สัตว์ป่ามีสุขภาพอ่อนแอและล้มตายไปมาก

ขณะเดียวกับมนุษย์มีการพัฒนาอาวุธปืนและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สำหรับการล่าสัตว์ป่าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เหล่านี้เป็นสาเหตุให้สัตว์ป่าถูกทำลายไปได้โดยง่าย ทำให้สัตว์ป่าบางชนิดปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว จนบางชนิดเกือบสูญพันธุ์ หรือบางชนิดก็ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพยายามสงวนและรักษาป่าไม้ไว้ เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ในรูปแบบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

การพิจารณาเลือกพื้นที่เพื่อการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในการพิจารณาเลือกพื้นที่เพื่อการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อาศัยหลักการที่สำคัญ ในการพิจารณาดังนี้ 1. เป็นบริเวณที่มีสัตว์ป่าชุกชุมและมีสัตว์ป่าชนิดที่หาได้ยาก หรือกำลังจะสูญพันธุ์อาศัยอยู่ 2. เป็นบริเวณที่มีแหล่งน้ำแหล่งอาหารและที่หลบภัยของสัตว์ป่าเพียงพอ 3. เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่อยู่ห่างไกลจากชุมชนพอสมควร 4. มีสภาพป่าหลายลักษณะอยู่ในผืนเดียวกัน เป็นต้นว่ามีทั้งป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้า ฯลฯ ซึ่งจะทำให้มีความหลากหลายทางพืชและสัตว์ป่าสูง 5. จะต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใด

ปัจจุบันประเทศไทยมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประมาณ 60 แห่ง การขออนุญาตเข้าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องยื่นหนังสือขออนุญาต ตามแบบฟอร์มที่กำหนด ให้ถึงเจ้าหน้าที่ ก่อน 5 วันทำการ (ไม่รวมวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดราชการ) ไปที่ฝ่ายอนุญาตและเงินรายได้ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ โดยเสียค่าธรรมเนียม ยกเว้นสถานศึกษา ต้องให้อธิการบดีลงนามขอยกเว้นค่าบริการ หรือหน่วยงานราชการ ต้องให้ผู้อำนวยการลงนาม



กำลังโหลดความคิดเห็น