กรมควบคุมมลพิษ รายงานคุณภาพอากาศใน กทม. พบปริมาณฝุ่นละออง (พีเอ็ม10) พื้นที่ริมถนนกาญจนาภิเษก บางขุนเทียน มีค่าสูงอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แนะผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ หลีกเลี่ยงกิจกรรมในพื้นที่ หรือสวมหน้ากาก ปฏิบัติตามคำแนะนำเจ้าหน้าที่ พบ 7 วันย้อนหลังค่าฝุ่นอยู่ในระดับส่งผลต่อสุขภาพถึง 3 วัน
วันนี้ (24 ม.ค.) เมื่อเวลา 17.00 น. เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานสภาพอากาศกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ว่า คุณภาพอากาศบริเวณริมถนนกาญจนาภิเษก, เขตบางขุนเทียน, กรุงเทพฯ จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ริมถนนกาญจนาภิเษก, เขตบางขุนเทียน, กรุงเทพฯ พบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่า 134 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ข้อแนะนำด้านสุขภาพ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุม หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากาก หรือใช้ผ้าปิดจมูก ประชาชนทั่วไปขอให้ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามข้อแนะนำจากภาคราชการ และหากเกิดอาการเจ็บป่วยควรปรึกษาแพทย์
ทั้งนี้ ยังมีรายงานสภาพอากาศกรุงเทพมหานครย้อนหลัง 7 วัน พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อวันที่ 19 ม.ค. ซึ่งมีค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) อยู่ที่ 132 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และวันที่ 22 ม.ค. มีค่า PM10 สูงถึง 161 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนวันที่ 18, 20, 21 และ 23 ม.ค. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง มีค่า PM10 อยู่ที่ 102, 105, 115 และ 105 ตามลำดับ
ด้าน นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า สถานการณ์มลพิษทางอากาศ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วันที่ 24 มกราคม 2561 ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ (ค่ามาตรฐาน 50 มคก./ลบม.) ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ณ 12.00 น. วันที่ 24 มกราคม 2561 อยู่ในช่วง 54 - 85 มคก./ลบ.ม. สูงสุดที่ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี สมุทรปราการ 59 - 71 มคก./ลบ.ม. และ สมุทรสาคร 114 มคก./ลบ.ม. สำหรับผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM10 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐาน 120 มคก./ลบม.) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลักของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ การจราจร รองลงมาคือ อุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ประกอบกับเกิดสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ปรากฏการณ์นี้จะพบเป็นบางวันในช่วงฤดูหนาว ถึงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับ PM 2.5 สูงขึ้นผิดปกติในช่วงนี้
นางสุณี กล่าว่า จากข่าวที่แชร์ในเว็บเพจต่างๆ ซึ่งเป็นรูปจากเว็บไซต์ http://aqicn.org/ ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เว็บไซต์ดังกล่าวใช้ค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมง เทียบกับดัชนีคุณภาพอากาศของ U.S. EPA ซึ่งต้องใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในการเทียบ จึงทำให้การรายงานดัชนีคุณภาพอากาศของเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ในช่วงสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) ข้อเท็จจริง หากใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะอยู่ในเกณฑ์สีส้ม (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) อย่างไรก็ตามมีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ระบบทางหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร และขอความร่วมมือเจ้าของยานพาหนะดูแล รักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีและไม่ปล่อยควันดำ และถ้าเป็นได้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนก็จะช่วยสถานการณ์และลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ได้