xs
xsm
sm
md
lg

แนะ “หนังดี” ที่ทหารต้องดู ! ยึดถือสายบังคับบัญชาแต่เมินความชอบธรรม สะท้อน “อัปยศไม่ใช่เกียรติยศ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ธาม” นักวิชาการด้านสื่อ แนะนำหนังเรื่อง “A few good men” ให้ทหารทุกคนต้องดู หลังเด็กตายแล้วช่วยกันปกปิด รวมถึงทหารชั้นผู้ใหญ่ให้สัมภาษณ์เพ้อเจ้อไม่ต่างจากนักการเมือง สะท้อน “ความอัปยศของกองทัพ” ชี้ เกียรติยศของทหารมิใช่ความแกร่งกล้ายึดถือสายบังคับบัญชา ทว่าคือ “ความกล้าหาญต่อมโนสำนึกแห่งความถูกต้องชอบธรรมที่จะปกป้องผู้อ่อนแอกว่า”

วานนี้ (25 พ.ย.) นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีที่ นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ เมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่เสียชีวิต โดยยกภาพยนตร์เรื่อง “A few good men (1992)” ให้ทหารทุกคนต้องดู มีรายละเอียดว่า ... อัปยศ หรือ เกียรติยศ?

สิ่งที่เราและควรตั้งคำถามมากที่สุดในวันนี้ อะไรคือสิ่งที่ กองทัพหรือนายทหาร เรียกว่า “เกียรติยศ” (honor) อ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในกองทัพวันนี้ สะท้อนความ “วิปริต” ของความเข้าใจผิดเรื่องเกียรติยศในกองทัพมาก เกี่ยวกับความมีเกียรติ หรือ ลูกผู้ชาย

หลายครั้งแล้วที่มีนักศึกษา นักเรียน ที่เข้าเรียนในกองทัพ ในโรงเรียนนายร้อย แล้วมีข่าวการเสียชีวิตออกมา แลก็กลายเป็นเรื่องปกปิด แก้ตัว แก้ต่าง ไปจนกระทั่ง “คำสัมภาษณ์อันเลื่อนเปื้อนของผู้ใหญ่ในสังคม” ที่สะเพร่าและสะท้อนความไม่รู้จักยั้งคิด

บ่อยครั้งที่เรามักเห็นการออกมาให้สัมภาษณ์ของบรรดานายทหารใหญ่ๆ ที่ออกมาปฏิเสธ กลบเกลื่อน ซ่อนเร้นปริศนาและความมีเงื่อนงำของสาเหตุการเสียชีวิต เหล่านี้ คือ ความ “อัปยศของกองทัพทหาร”

ผมสงสัยอย่างมาก ว่า อะไรคือสิ่งที่ทหารเรียกว่า “เกียรติยศ” ซึ่งกองทัพให้คุณค่าเสมือนว่าเป็นทรัพย์สินทางใจอันสูงสุด “ความแข็งแกร่ง กล้าหาญ ระเบียบวินัย พวกพ้อง อาวุโส ฯลฯ” เหล่านี้เป็น “มายาคติบังตา” ความเป็นทหาร ที่ทำให้โรงเรียนฝึกทหารเป็นโรงผลิตคนที่แข็งแกร่ง มีระเบียบวินัย แต่อาจห่างไกลจากคำว่า “สุภาพบุรุษ”

“ความเป็นสุภาพบุรุษ” กับ “นายทหารผู้ทรงเกียรติ” นั้น มิใช่สิ่งเดียวกัน และ เกียรติ กับ เกียรติยศ ก็แตกต่างกันด้วย หากทหารไม่มีสิ่งนี้ ก็เป็นแต่เพียง “คนที่ใช้กำลัง หรือ บ้าอำนาจ” เท่านั้น (เช่นการรัฐประหาร หรือ ข่มคนอื่นโดยให้ยินยอมต่ออำนาจ)

ผมคิดถึงหนังเก่าเรื่องหนึ่ง “A few good men (1992)” ของ ร็อบ ไรเนอร์ หนังที่เล่าเรื่องการฝึกรบหน่วยซีล ที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูง ครูฝึก และเพื่อนรุ่นพี่ทหาร ใช้ “ความคิด/วัฒนธรรมฝึกคนให้แข็งแกร่งเช่นทหารเป็นเครื่องมือที่หักลำโค่นคร่าชีวิตเพื่อนทหารด้วยกัน”

“ซีล” หรือ “นาวิกโยธิน” ขึ้นชื่อว่าเป็นหน่วยที่มีระเบียบ และความเข้มงวดต่อหน่วยและความอึดทนทรหดมากที่สุด กระนั้น ก็ยังมี “ความบ้าคลั่งการใช้ความรุนแรงในการลงโทษเพื่อนร่วมรุ่นที่อ่อนแอและเป็นตัวถ่วง/ตัวตลกอีกด้วย”

หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องทนายจำเลยฝ่ายสืบสวนที่ต้องสืบหา “ฆาตกรตัวจริงในกองทัพ” ที่กลายเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยระดับสูง ผู้สนับสนุนทางอ้อมให้ใช้ “รหัสแดง” (red code) นอกวิธีแบบแผนการฝึกที่ทำให้ “นายทหารผู้อ่อนแอถูกกำจัดออกด้วยความเชื่อว่า การรังแกนายทหารนอกคอกคือหนทางที่ถูกต้อง”

ผมคิดว่า “นี่เป็นหนังที่นายกรัฐมนตรีควรแนะนำให้นายทหารในกองทัพทุกๆ คนต้องดู (นอกจาก ซีรี่ย์เกาหลีรักชาตินั้นแล้ว)”

เกียรติยศของทหารมิใช่ความแกร่งกล้ายึดถือสายบังคับบัญชา ทว่าคือ “ความกล้าหาญต่อมโนสำนึกแห่งความถูกต้องชอบธรรมที่จะปกป้องผู้อ่อนแอกว่าตน”

หนังเรื่องนี้ชี้ให้เห็น “อำนาจที่แท้จริงของนายทหารและกองทัพ” พร้อมกันนั้น ก็ตั้งคำถามเชิงโครงสร้างที่สำคัญ ต่อ “บทบาทหน้าที่ที่แท้จริงของทหาร” และ “สิ่งที่เรียกว่าคำสั่งของผู้บังคับบัญชา”

ผมอยากให้คนเป็นทหารดู ยิ่งเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูง ยิ่งต้องดู แล้วจะเห็นว่า “จุดจบของการใช้อำนาจอย่างบ้าคลั่งเพื่อควบคุมผู้อ่อนแอนั้นมีจุดจบเช่นไร?”
โดยเฉพาะในยามที่กองทัพถูกตั้งคำถามเชิงคุณค่าต่อการมี การเป็น การทำหน้าที่ทหาร

ไม่อยากทำให้หมดสนุก แต่ยืนยันความสนุกจากหนังแนวทนายความสืบสวน เรื่องนี้สนุกมากจริงๆ โดยเฉพาะบทบาทของดารานำชาย “ทอม ครูซ” ที่เล่นได้อย่างมีมิตินายทหารเกียรติยศ

“คนดีจริง บ่อยครั้งเอาชนะคนร้ายเหี้ยมได้เสียอยู่หมัด” และ “บ่อยครั้งเช่นกันที่คนเหี้ยมๆ ก็ทำเอาคนดีๆเกือบตายหรือตายไปหลายคน”

จะเป็นประโยช์สำหรับกองทัพไทยในเวลานี้มากเลยนะครับ ในยามที่มีข่าวไม่ดีเรื่องการใช้อำนาจความรุนแรงในกองทัพที่ผิด

“นายทหารวันนี้ ดูจะเป็นนักการเมืองเลื่อนเปื้อนเพ้อเจ้อไปเรื่อยๆ” รัฐบาลไทยภายใต้การนำของทหาร ก็ดูจะเป็นรัฐบาลนักการเมืองมากกว่าสุภาพบุรษเกียรติยศ
พวกพ้อง ตระบัตย์สัตย์ บ้าอำนาจ ข่มเหงผู้อ่อนแอ ดูเหมือนจะกลายมาเป็นความเข้าใจผิดของทหารไทยในวันนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นกับชะตากรรมของผู้เสียชีวิตในโรงเรียนนายร้อยนั้น สะท้อนความอัปยศ มากกว่า เกียรติยศแน่นอน

กำลังโหลดความคิดเห็น