xs
xsm
sm
md
lg

โกงความตาย! ช่วยชีวิต “Live ฆ่าตัวตาย” มุมสว่างเพจสายดาร์ก!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
นี่อาจเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก! ช่วยชีวิตคนฆ่าตัวตายผ่านเฟซบุ๊กสำเร็จ “เพจดังสายดาร์ก” ระดมแรงนักสืบโซเชียลฯ พลิกแผ่นดินหาตัว “คนไลฟ์ฆ่าตัวตาย” จนเจอ ช่วยชีวิตได้ทันอย่างหวุดหวิด ภารกิจสำเร็จแถมไม่โพสต์ประจานข้อมูลที่เป็นความลับของผู้เกี่ยวข้อง สังคมชื่นชม “นี่สิเพจดีๆ ที่น่าสนับสนุน”




 

รวมพลัง “เพจดัง” พลิกแผ่นดินหา “คนไลฟ์ฆ่าตัวตาย!”

“ควีน เพื่อนในเฟซฯ หนูกำลังฆ่าตัวตาย ช่วยด้วยควีน” ข้อความร้องขอความช่วยเหลือ ถูกส่งมายังเพจดัง “แหม่มโพธิ์ดำ” หลังผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งแจ้งมาว่า “เพื่อนในเฟซบุ๊กกำลังจะฆ่าตัวตาย” พร้อมส่งลิงก์ไลฟ์สดเตรียมปลิดชีพตัวเอง ด้วยยาฆ่าแมลง คาดมีภาวะเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง

หลังจากได้รับข้อความดังกล่าว เพจสายดาร์กก็ไม่รีรอที่จะให้ความช่วยเหลือ ด้วยการระดมพลคนในโลกออนไลน์ สืบหาข้อมูลและพิกัดที่อยู่ของหนุ่มคนดังกล่าว ซึ่งจากการเก็บหลักฐานสถานที่เช็กอินที่พบบ่อยครั้งในเฟซบุ๊ก พบว่าชายคนที่ว่า น่าจะอาศัยอยู่ที่ จ.นครสวรรค์

“สิ่งสำคัญคือ เราต้องหาพิกัดที่เกิดขึ้นให้จงได้ แล้วโพสต์ขอความช่วยเหลือ ควีนโทร.ไป สภ. บ้านเนิน ตำรวจก็ไม่รู้จักคนก่อเหตุ เขาอยากไปช่วยมาก แต่ไม่มีพิกัด การให้ข้อมูลก็ลำบาก จนสุดท้ายลูกเพจคนนึงชื่อ พี่แบงค์ ติดต่อมา บอกรู้จักอดีตนายก อบต. จึงประสานงานให้ติดต่อผู้ใหญ่บ้าน และหลานชาย ชื่อเดฟ ไปหน้างาน

 
กว่าจะไปถึง ผู้ป่วยก็ยังอาการไม่ดี มีภาวะซึมเศร้ารุนแรง ยังมีกะจิตกะใจคว้ามีดมาจะปาดคอตัวเอง จนแม่ใหญ่ที่เป็นที่เคารพในหมู่บ้านปลอบประโลม พี่เขาเลยใจเย็นวางมีด สวมกอดแม่ใหญ่ที่มาช่วยเหลือแล้วร้องไห้ สุดท้ายตำรวจมาและส่ง รพ.เรียบร้อย พวกเราจากทั่วทุกมุมโลกที่ส่งแรงเชียร์ให้คนไม่รู้จักคนนี้ถึงกับถอนใจด้วยความโล่งอกสุดๆ”

แม้ที่ผ่านมาจะมีการใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ทว่า นี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้สื่อโซเชียลฯ ในการช่วยชีวิตผู้ที่กำลังฆ่าตัวตายผ่านเฟซบุ๊กได้ทันท่วงที ที่สำคัญเมื่อภารกิจการเข้าช่วยเหลือในครั้งนี้สิ้นสุดลงแล้ว เพจดังและโลกออนไลน์ก็ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้ประสบเหตุแต่อย่างใด

“ภารกิจนี้สำเร็จลง โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใดๆ ของผู้ป่วย จ่าบอกว่าอาการคิดสั้น ภาวะการฆ่าตัวตายมันคือรอยโรคซึมเศร้า เป็นภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน ที่ต้องรับมือกันดีๆ เราอยู่ในโลกออนไลน์ ที่นับวันการเผยแพร่ฆ่าตัวตายจะยิ่งเป็นกระแสที่น่าหวาดกลัว การสาปแช่งยุยง คือการส่งมีดให้ผู้ป่วยลงมือทำไวขึ้น

อย่าไปทำอย่างงั้นเลยมึ- มันบาปนะ ยังไงขอบคุณทุกๆ คนที่เข้าช่วยเหลือในครั้งนี้กันอย่างเต็มที่ จนพี่เขารอดตายมาได้ และหวังว่าพวกเราจะค่อยๆ เรียนรู้วิธีการรับมือกับภาวะอันตรายนี้ไปด้วยกัน”

Hate Speech ฆ่าคนได้จริงหรือ?

“ตายๆ ไปเหอะ” “คนจะตาย เขาไม่มาขู่หรอก” “มึ-ไม่กล้าหรอก แน่จริงทำเลยสิวะ” ถ้อยคำต่อว่าเชิงประชดประชัน-ยุยงส่งเสริม ที่พ่นสบถอยู่ในสังคมออนไลน์ฯ อย่างคึกคะนอง ซึ่ง Hate Speech นี่เอง ได้กลายเป็นคำพูดไม่กี่คำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เมื่อการไลฟ์สด “ฆ่าตัวตาย” กลายเป็นพฤติกรรมแบบผิดๆ และการแสดงความคิดเห็นอย่างไม่ไยดีถึงชีวิตความเป็น-ความตายกลายเป็นเรื่องสนุกปาก หรือนี่จะเป็นยุคมืดของการไลฟ์สดไปแล้วกันแน่?

“การถ่ายทอดสดผ่านมือถือ คุณจะเห็นคอมเมนต์ที่เขาเขียนกันสดๆ ซึ่งเวลาที่คุณอยู่ตรงนั้น คุณจะถูกกดดันมากๆ เพราะความคิดเห็นในตอนนั้นมันจะมีทั้งบวกและลบ มีทั้งสุภาพและหยาบคาย ในกรณีที่มีความคิดเห็นรุนแรง สร้างความเกลียดชัง แบ่งแยก หรือว่าท้าทาย คุณจะไม่สามารถใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองความคิดเห็นเหล่านั้นได้เลย”

“อาจารย์ธาม เชื้อสถาปนศิริ” นักวิชาการสื่อสาธารณะ เคยให้สัมภาษณ์กับทางผู้จัดการ Live ถึงเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ไลฟ์สดอย่างผิดๆ ซึ่งถือว่ากำลังเป็นประเด็นที่น่าสนใจและควรสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องลักษณะนี้ บ่อยครั้งที่เราเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นต่อคลิปวิดีโอเพื่อปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง ไม่เคยสร้างคุณประโยชน์ให้กับใคร อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้การฆ่าตัวตายมีโอกาสสำเร็จขึ้นอีกด้วย

 
หลังจากที่มีการพูดถึงในเรื่องการแสดงความคิดเห็นที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ได้มีผู้คนในโลกออนไลน์บางส่วนแสดงความคิดเห็นในทางเห็นด้วยว่า ไม่ควรใช้คำพูดที่ยุยงและสนับสนุนการกระทำดังกล่าว ที่สำคัญควรให้กำลังใจและให้สติแก่ผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเป็นความตายเช่นนั้น

“ทุกครั้งที่เจอคนฆ่าตัวตายแบบนี้ อย่าแช่งเขา ถ้ารำคาญก็ไม่ต้องพิมพ์อะไร เรียกคนที่รู้และเข้าใจ ที่สำคัญห้ามแชร์”

“เจอเคสนี้ ต้องหาวิธีช่วยเหลือเขาค่ะ คนที่เมนต์-โพสต์ สิ่งที่ควรทำคือ สติ แล้วช่วยกันคิด ไม่ควรใช้คำที่ไม่เหมาะสม”

“เคยสมหน้าเเละรำคาญพวกฆ่าตัวตายมาตลอด จนวันหนึ่งชีวิตตกต่ำ จนฟีลได้ถึงการไม่อยากมีชีวิตต่อ มันทรมานแค่ไหน เอาเป็นว่าไม่มีใครอยากฆ่าตัวตายถ้าชีวิตมีความสุข เราควรให้กำลังใจมากกว่าซ้ำเติมนะ”

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ไลฟ์สดฆ่าตัวตาย สิ่งที่ช่วยระงับความรุนแรงและความสูญเสียที่กำลังจะเกิดขึ้นได้นั้น คือการไม่ใช้คำพูดยุยงส่งเสริม หรือท้าทายให้ฝ่ายตรงข้ามก่อเหตุที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ห้ามแชร์และส่งต่อข้อความหรือคลิปวิดีโอ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่มีอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า เกิดพฤติกรรมการฆ่าตัวตายเลียนแบบเช่นนี้อีกต่อไป

วิธีรับมือ “Live ฆ่าตัวตาย!”

เพจดัง “Drama-addict” โพสต์ข้อความแนะถึงผู้ที่อาจเจอสถานการณ์ไม่คาดคิด พบคนกำลังไลฟ์สดฆ่าตัวตายผ่านเฟซบุ๊ก โดยประเด็นสำคัญหลักๆ ได้พูดถึง การห้ามแสดงความคิดเห็นเชิงด่าทอและสนับสนุนให้กระทำสิ่งที่ผิด รวมถึงการตรวจสอบคนรู้จักและแจ้งให้ทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการช่วยเหลือได้ทันท่วงที

อย่างแรก ไม่ควรใช้คำพูดในเชิงยั่วยุให้เกิดการฆ่าตัวตาย เพราะนอกจากจะไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ยังทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงจะฆ่าตัวตาย มีโอกาสกระทำสำเร็จมากขึ้นกว่าเดิม อย่างที่สอง รีบมองหา Mutual Friends หรือเพื่อนที่มีเหมือนกัน เพื่อรีบแจ้งไปยังครอบครัวหรือคนรู้จัก ในการโทร.แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและติดต่อ รพ. เข้าช่วยเหลือได้ทันเวลา
ภาพจาก จส.100
 
ที่น่าสนใจ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่คิดฆ่าตัวตายจะมีปัญหาโรคซึมเศร้ารุนแรงซ่อนอยู่ ซึ่งส่งผลให้กระบวนความคิดเปลี่ยนแปลงไป แต่สามารถรักษาได้หากพบแพทย์และจิตแพทย์ ดังนั้น ควรรีบพาไปพบแพทย์ โดยถือเป็นภาวะเร่งด่วนฉุกเฉิน พาไป รพ. ได้ทันที โดยไม่ต้องรอตอนเช้า สามารถติดต่อไปยังเบอร์ 1669

สำหรับวิธีรับมืออีกอย่างหนึ่งคือ การที่เฟซบุ๊กจะมีระบบร้องเรียนไลฟ์ฆ่าตัวตาย ซึ่งเพิ่งทำมาได้ไม่นานนี้ ถ้าผู้ใช้งานเห็นว่าใครกำลังไลฟ์ฆ่าตัวตายอยู่ สามารถแจ้งไปยังเฟซบุ๊ก เพื่อระงับการออกอากาศได้ รวมถึงจะมีการส่งคนไปคุยกับคนๆ นั้นทันที ว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรหรือไม่

อย่างไรก็ดี แม้เฟซบุ๊กจะมีการสร้างระบบร้องเรียนไลฟ์สดฆ่าตัวตาย เพื่อป้องกันและลดการฆ่าตัวตายที่อาจเกิดขึ้นผ่านระบบ A.I. (Artificial Intelligence) ที่จะคอยตรวจสอบเนื้อหาที่เข้าข่ายและมีความเสี่ยงว่าจะฆ่าตัวตาย รวมถึงให้ผู้ที่รับชมไลฟ์สามารถแจ้งมายังเฟซบุ๊กเมื่อพบสถานการณ์ที่ไม่สู้ดี ทว่า ระบบดังกล่าวก็ยังไม่สามารถใช้ได้ผลกับเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้สักเท่าไหร่

เห็นทีว่า การแก้ปัญหาที่ถูกต้องจริงๆ คงจะต้องช่วยกันสอดส่องดูแลคนใกล้ตัว และไม่แสดงความคิดเห็นเชิงยุยงปลุกปั่นให้ผู้ที่กำลังคิดฆ่าตัวตาย กระทำการที่ก่อให้เกิดความรุนแรงและการสูญเสียได้ รวมถึงสร้างสามัญสำนึกงดแชร์ งดโพสต์ภาพหรือข้อความที่ตอกย้ำซ้ำเติมเหตุการณ์อันน่าสลด จนกลายเป็น “ฆาตกรคีย์บอร์ด” อย่างไม่รู้ตัว. .

ข่าวโดย ทีมข่าวผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ FB : แหม่มโพธิ์ดำ และ จส.100




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น