MGR Online - ชาวเน็ตกังขา ศูนย์การค้าแฟชั่นมอลล์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หยุดกิจการ 1 พ.ย. นี้ จะเอาไปทำอะไรต่อ พบเดิมเคยเป็นโรบินสันสาขาแรก ก่อนไม่ต่อสัญญาเช่า เจ้าของลงทุน 500 ล้าน พัฒนาศูนย์การค้าเอง แต่เปิดได้ 2 ปี ประสบปัญหาหนี้สินกับธนาคารทิสโก้ ตั้งแต่ปี 2547
กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของคนกรุงเทพฯ ที่ผ่านเส้นทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิบ่อยครั้ง เมื่อผู้ใช้ทวิตเตอร์ @MTmovie โพสต์ภาพประกาศศูนย์การค้าแฟชั่นมอลล์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตั้งอยู่เลขที่ 459 ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ระบุว่า “หยุดกิจการศูนย์การค้าแฟชั่นมอลล์ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป ศูนย์การค้าแฟชั่นมอลล์จะเปิดดำเนินการจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560 เป็นวันสุดท้าย” กลายเป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าอาคารนี้จะนำไปใช้ประโยชน์อะไรต่อ
แฟชั่นมอลล์ อนุสาวรีย์ชัยฯ จะปิดตึก 1 พ.ย. 60 เป็นต้นไป ร้านค้าภายในเตรียมย้ายออก ร้านแผ่นเสียงข้างในก็ไปด้วย pic.twitter.com/wPRr0FGjQG
— MTmovie (@MTmovie) October 25, 2017
สำหรับศูนย์การค้าแฟชั่นมอลล์ เดิมคือ ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งถือเป็นห้างสรรพสินค้าโรบินสันสาขาแรก เปิดให้บริการในปี 2522 ก่อนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2535 แล้วปี 2538 กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้ามาถือหุ้นรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤตค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2541 โรบินสันได้รับผลกระทบจนต้องหยุดพักหนี้สินทางการเงิน
วันที่ 2 พ.ค. 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ก่อนจะเริ่มปิดให้บริการสาขาดอนเมือง เนื่องจากการลงทุนให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า (ปัจจุบันเป็นห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สะพานใหม่) กระทั่งปี 2544 ได้ปิดให้บริการสาขาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เนื่องจากครบกำหนดระยะเวลาของสัญญาสิทธิการเช่าอาคารที่ได้ทำไว้กับผู้เช่า ประกอบกับการลงทุนเพื่อปรับปรุงสาขานี้ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า
ต่อมา ได้มีการก่อตั้ง บริษัท แฟชั่นมอลล์ 2002 จำกัด เมื่อปี 2545 โดยมี นายเอกศักดิ์ แดงเดช ประธานกรรมการบริษัทฯ ใช้เงินลงทุน 500 ล้านบาท ปรับปรุงพื้นที่เดิมของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ให้เป็นศูนย์รวมแฟชั่นเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบบครบวงจร มีทั้งหมด 6 ชั้น โดยเปิดให้บริการเมื่อเดือนตุลาคม 2546 แต่ก็ประสบปัญหาขาดทุนจนมีปัญหาภาระหนี้สินกับธนาคารทิสโก้
ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2547 ให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท แฟชั่นมอลล์ 2002 จำกัด ก่อนจะเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2548 กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทเป็น นายเอกศักดิ์ แดงเดช, นางจินตนา แดงเดช และ นายวิทยา เตชะโกศล อย่างไรก็ตาม ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2550 ให้บริษัท แฟชั่นมอลล์ 2002 พ้นจากผู้บริหารแผน และให้บริษัท ทิสโก้ลีสซิ่ง จำกัด ในเครือธนาคารทิสโก้ เป็นผู้บริหารแผนจดทะเบียน เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2551
วันที่ 7 ต.ค. 2553 ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบกับข้อเสนอขอแก้ไขแผนของบริษัท ทิสโก้ลีสซิ่ง จำกัด กระทั่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2555 อนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือรับรองของบริษัทฯ โดยลดทุนจดทะเบียนจาก 150 ล้านบาท เหลือ 75 ล้านบาท และให้แก้ไขกรรมการบริษัท เหลือเพียง นายวิทยา เตชะโกศล เพียงคนเดียว และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัท แฟชั่นมอลล์ 2002 แล้ว เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2555 ในที่สุด
อนึ่ง ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์จลาจลทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มคนเสื้อแดง ปี 2553 เมื่อศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน ถูกเพลิงไหม้ ภาครัฐเคยมีแนวคิดที่จะให้ผู้ค้ารายย่อย 350 ร้านค้า ย้ายมาที่ศูนย์การค้าแฟชั่นมอลล์ แต่พบว่าศูนย์การค้าแฟชั่นมอลล์เป็นลูกหนี้ธนาคารทิสโก้ อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ ฟื้นฟูกิจการ โดยมีผู้บริหารธนาคารเข้ามาบริหารกิจการของห้าง
นอกจากนี้ ยังพบว่า ศูนย์การค้าแฟชั่นมอลล์ได้ทำเรื่องรีไฟแนนซ์จากธนาคารทิสโก้ ไปเป็นลูกค้าของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) แต่มาเกิดเหตุจลาจลขึ้นเสียก่อน ขณะที่ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น รับปากว่าจะไปเจรจากับทิสโก้ให้รีไฟแนนซ์หนี้ของห้างแฟชั่นมอลล์มาอยู่กับเอสเอ็มอีแบงก์ แต่พบว่าได้เงียบหายไป