วีรกรรม “พระราชรัชมุนี” ผู้ต้องหาหนีคดีสวมบัตรประชาชนผียังไม่จบ พบก่อนหน้านี้ใช้อำนาจสั่ง “พระเทพมังคลาจารย์” วัดท่าตอน ที่เป็นพระอุปัชฌาย์ ยึดวัดเล็ก 2 แห่งในเมืองเชียงใหม่ งัดข้อหาเงินกฐิน -
พระหาย ทำชาวบ้านแตกแยก - แบ่งฝ่าย ยึดกุฏิจนเจ้าอาวาสคนเดิมอยู่ไม่ได้ หวั่นธรรมกายกรุยทางยึด จับพิรุธ พศ. เชียงใหม่ หยิบเรื่องรับเงินค่านิตยภัตฟ้องทุจริต แต่กรณีสวมบัตรผีกลับนิ่งเฉย
... รายงาน
นับตั้งแต่ที่ พ.ต.อ.บุญเลิศ เมตตารักษ์ อดีต ผกก.สภ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ร้องเรียนให้ตรวจสอบ “พระราชรัชมุนี” หรือ “เจ้าคุณนิมิต ทิพย์ปัญญาเมธี” เจ้าอาวาสวัดสวนดอก พระอารามหลวง ต.สุเทพ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ และเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ ว่า มีพฤติกรรมสวมสิทธิ์บัตรประจำตัวประชาชนคนตายหรือไม่
หลังจากพบว่าเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก ตรงกับ ด.ช.ดวงดี เวียงดินดำ หรือ พระมหาดวงดี อดีตพระวัดพระพิเรนทร์ กทม. ภูมิลำเนาบ้านหนองดินดำ ต.บ้านแก้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ มรณภาพด้วยโรคมะเร็งเมื่อปี 2538 ขณะอายุได้ 22 ปี แต่ไม่ได้แจ้งตายไว้
ก่อนจะพบว่าเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก ระบุว่า ยังมีชีวิตอยู่ และเปลี่ยนเป็นชื่อ พระราชรัชมุนี (นิมิต ทิพย์ปัญญาเมธี) โดยญาติได้แจ้งความต่อ สภ.ภูเขียว เพื่อลงบันทึกประจำวันแจ้งการตายไว้เป็นหลักฐาน เมื่อวันที่ 2 ต.ค. และ ให้อำเภอภูเขียว ดำเนินการออกหนังสือรับรองการตาย ไปเมื่อวันที่ 3 ต.ค.
ญาติยืนยันว่า ไม่เคยรู้จักกับ พระราชรัชมุนี แต่อย่างใด ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และกระทบวงการสงฆ์ของไทยอีกด้วย
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 10 ต.ค. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย สั่งการให้เพิกถอนบัตรประจำตัวประชาชนของพระราชรัชมุนี พร้อมให้นายอำเภอแจ้งความทันที
กระทั่ง นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งการให้ปลัดอำเภอแม่อาย ภูมิลำเนาเดิมของพระราชรัชมุนี เข้าแจ้งความร้องทุกข์ สภ.แม่อาย ดำเนินคดีต่อพระราชรัชมุนี ในข้อหาขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยไม่ได้มีสัญชาติไทยด้วยการปกปิดซ่อนเร้นข้อความจริงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
และเมื่อ นายวรศักดิ์ พานทอง ปลัดอาวุโส อ.แม่อาย ตรวจสอบพบว่า พระราชรัชมุนี หรือ นายนิมิต ยอดคำ ถือบัตรประจำตัวเป็นผู้พลัดถิ่น ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 ก่อนไปสวมบัตรประชาชนของ ด.ช.ดวงดี เพื่อขอทำบัตรประชาชนครั้งแรกที่ อ.แม่อาย ภายหลังบัตรประจำตัวเป็นผู้พลัดถิ่นยกเลิกไปแล้ว เพราะไม่มีรูปถ่าย
ขณะที่ นายพัฒนพงศ์ อิทนะ ผู้ใหญ่บ้านบ้านร่มไทย หมู่ 14 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศพม่า ระบุว่า พระราชรัชมุนีและครอบครัว อพยพหนีภัยสงครามมาจากเมืองยอน มาตั้งรกรากที่หมู่บ้านร่มไทย ต่อมาได้บวชเป็นสามเณร พระภิกษุ และจำพรรษาที่วัดท่าตอน ส่วนบิดามารดาเสียชีวิตไปแล้ว
โดยพบเห็น พระราชรัชมุนี ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา ขณะมาร่วมงานตานก๋วยสลาก หรือสลากภัต ที่วัดภาวนานมิตรพุทโธ ภายในหมู่บ้าน จากนั้นจึงไม่พบอีกเลย
สอดคล้องกับที่พระลูกวัดสวนดอก กระซิบบอกผู้สื่อข่าวที่มาทำข่าวในวัด ว่า “ท่านลี้ภัย เป็นการเมืองพระ ไม่รู้จะกลับมาอีกหรือไม่?”
แม้จะยังไม่รู้ว่า “พระราชรัชมุนี” อยู่ที่ไหน โดยมีความเป็นไปได้ว่าอาจหลบหนีไปยังประเทศพม่าผ่านช่องทางธรรมชาติ แต่หากย้อนกลับไปในอดีต พระราชรัชมุนี ได้อุปสมบทที่วัดท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ โดยมี “พระเทพมังคลาจารย์” (สมาน กิตติโสภโณ) เจ้าอาวาสวัดเป็นพระอุปัชฌาย์ ปัจจุบันเป็นถึง “รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่”
“พระเทพมังคลาจารย์” เจ้าอาวาสวัดท่าตอน เป็นพระที่มีสายสัมพันธ์กับเครือข่าย “วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ” มาตั้งแต่ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง)” เป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือมาตั้งแต่ปี 2537 ดูแลการปกครองสงฆ์มหานิกายในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด ก่อนจะส่งต่อให้กับ พระวิสุทธิวงศาจารย์ (เจ้าคุณวิเชียร) ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังเรียกได้ว่าเป็น “ธรรมกายตัวพ่อ” เนื่องจากในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ตรวจค้นวัดพระธรรมกาย เพื่อจับกุมพระธัมมชโย ในข้อหาฟอกเงินและรับของโจร ก็เป็นแกนนำ “ม็อบพระ” บุกศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เรียกร้องให้ คสช. หยุดใช้มาตรา 44
หากคิดกันไปอีกชั้นหนึ่ง จะพบว่า “พระเทพมังคลาจารย์” เป็นแคนดิเดตเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่องค์ต่อไป แทน “พระเทพปริยัติ” เจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอด เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่องค์ปัจจุบัน ที่จะพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 80 พรรษา ในอีก 4 ปีข้างหน้า
“พระเทพมังคลาจารย์” ต้องแข่งกับ “พระเทพสิงหวราจารย์” เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร (วัดอารามหลวง) อ.เมืองฯ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความอาวุโสลำดับที่ 2 และมีจุดแข่งสำคัญ คือ มีวัดใหญ่ระดับ วรมหาวิหาร อยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่
แม้พระเทพมังคลาจารย์ จะมีคุณสมบัติครบถ้วน แต่มีปัญหาตรงที่ วัดท่าตอน อยู่ใน อ.แม่อาย ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 180 กิโลเมตร หากเป็นคนธรรมดา ถนนสองเลน เส้นทางเต็มไปด้วยภูเขา ใช้เวลาเดินทางกว่า 3 ชั่วโมง และตามประเพณีปฏิบัติ จะไม่แต่งตั้งพระชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่ห่างไกล เพราะจะส่งผลให้พระชั้นผู้ใหญ่จากในเมืองเชียงใหม่ เดินทางไปหาเจ้าคณะจังหวัดในพื้นที่ห่างไกลซึ่งลำบากมาก
พระเทพมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดท่าตอน เคยมีแนวคิดที่จะใช้วัดสวนดอก ของพระราชรัชมุนี มาเป็นสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดแทน เนื่องจากอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ กลายเป็นประเด็นถึงความไม่เหมาะสม
วีรกรรมหนึ่งของ “พระราชรัชมุนี” ที่ก่อเอาไว้ก่อนที่จะเจอข้อหาสวมบัตรประชาชนคนตาย ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา “พระมหารวีวัฒน์” แห่งวัดพระเจ้าเม็งราย ต.พระสิงห์ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ ออกมาร้องขอความเป็นธรรมกับสื่อมวลชน ว่า ถูกพระราชรัชมุนี เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่ ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ
แต่งตั้ง “พระเทพมังคลาจารย์” เจ้าอาวาสวัดท่าตอน ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของตัวเอง ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส 2 วัดพร้อมกันในตัวเมืองเชียงใหม่ คือ วัดพระเจ้าเม็งราย และ วัดเชตวัน ต.ช้างม่อย อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ โดยไม่ปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส
หนำซ้ำยังผิดประเพณีและถือเป็นการกระทำหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่มีการแต่งตั้ง “พระชั้นผู้ใหญ่” ระดับรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ และดูแลวัดอารามหลวง แต่ลดชั้นมารักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสใน “วัดราษฎร์เล็กๆ” จึงสงสัยว่ามี “เจตนาพิเศษ” อะไรแอบแฝงหวังผลอะไรหรือไม่?
และเมื่อพฤติกรรมพระเทพมังคลาจารย์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัดพระธรรมกาย โดยเฉพาะการนำม็อบพระเรียกร้องให้ คสช. หยุดใช้มาตรา 44 และร่วมกับพระสงฆ์ประมาณ 300 รูป ในจังหวัดเชียงใหม่ และ น่าน ลงไปให้กำลังใจพระธัมมชโย ถึงวัดพระธรรมกาย ก็ถูกมองว่า ธรรมกายกรุยทางยึดวัดเชียงใหม่หรือไม่?
พระมหารวีวัฒน์ กล่าวว่า ปี 2555 ถูกคำสั่งให้พักการปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดพระเจ้าเม็งราย เป็นเวลา 3 เดือน ก็ปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสมาโดยปกติ กระทั่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พระชั้นผู้ใหญ่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ กลับแต่งตั้งให้ พระเทพมังคลาจารย์ มาดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัด
“อาตมากำลังตกเป็นเหยื่อ และตอนนี้มีความเป็นอยู่ที่ลำบากมาก เพราะถูกขับไล่ และถูกตั้งกรรมการสอบ และอาตมาก็ชี้แจงความบริสุทธิ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะข้ออ้างเรื่องพระเก่าแก่หาย หรือไม่แสดงบัญชีทรัพย์ของทางวัด สุดท้ายทุกอย่างก็นำมาแสดงความบริสุทธิ์ให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบทั้งหมด แต่ขณะนี้พระชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ ก็ยังไม่คืนตำแหน่งให้” พระมหารวีวัฒน์ กล่าว
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่ "พระราชรัชมุนี" แต่งตั้ง "พระเทพมังคลาจารย์" ไปดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระเจ้าเม็งราย พบว่า มีการขนพระสงฆ์และชาวบ้านมาปรับปรุงวัดใหม่หมดจด และเมื่อพระเทพมังคลาจารย์เป็นพระดัง มีลูกศิษย์จำนวนมาก จึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้เข้าวัด
กระทั่งมีการจัดตั้งม็อบชาวบ้านประมาณ 20 - 30 คน มาขับไล่พระมหารวีวัฒน์ โดยอ้างว่า ไม่ได้พัฒนาวัด จึงไม่มีคนเข้าวัด ไม่ชี้แจงยอดเงินกฐิน หนำซ้ำพระพุทธรูปเก่า 500 ปีของวัดองค์หนึ่งหายไป และเมื่อพระเทพมังคลาจารย์มา ก็ไม่ย้ายไปที่อื่น จึงเขียนป้ายขับไล่ และปิดตายกุฎิไม่ให้ขึ้นไปจำวัดอีก จนเดือดร้อนไปหมด
กลายเป็นการสร้างความแตกแยกให้กับชาวบ้าน แบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่หนุน “เจ้าอาวาสรูปเก่า” กับฝ่ายที่หนุน “พระเทพมังคลาจารย์” รักษาการเจ้าอาวาส
ซ้ำเติมด้วย นายอุบลพันธ์ ขันผนึก ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ ฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ให้ดำเนินคดีกับ พระมหารวีวัฒน์ และคณะสงฆ์รวม 4 รูป โดยใช้ข้อกล่าวหารับเงินค่านิตยภัตในฐานะเจ้าอาวาสเดือนละ 1,500 บาท หลังถูกคำสั่งจาก “พระราชรัชมุนี” ให้พักการปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส
แต่ก็พบว่า เมื่อเทียบกับกรณีล่าสุดอย่าง “พระราชรัชมุนี” ที่สวมบัตรประจำตัวประชาชนคนตาย ถือว่าเป็นคดีอาญาที่มีความผิด และเป็นภัยต่อความมั่นคง นายอุบลพันธ์ กลับมีความเห็นไปในแนวทาง “เลือกปฏิบัติ” เสมือนปกป้องพวกเดียวกัน?
นายอุบลพันธ์ อ้างว่า พระราชรัชมุนี “ยังไม่มีความผิด” เป็นเพียงแค่ “ผู้ถูกกล่าวหา” ถ้ามีการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว พนักงานสอบสวนต้องพิสูจน์ความผิด หรือชี้มูลความผิดก่อน ถ้าศาลตัดสินแล้วค่อยพิจารณาความผิดทางพระธรรมวินัย เพื่อวิเคราะห์ “ความผิดทางโลก” เปรียบเทียบกับ “ความผิดทางธรรม” ที่หลัง
ขณะที่ พระเทพมังคลาจารย์ หลังจาก พ.ต.อ.บุญเลิศ ร้องเรียนมาใหม่ๆ ก็ออกมาตอบโต้ว่า “บวชเณรมาตั้งแต่ปี 2506 เกิดในหมู่บ้านท่าตอน เป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์” พร้อมออกมาโต้คนที่ร้องเรียนว่า นรกจะกินหัวเอา เป็นพวกคิดไม่ซื่อต่อพระพุทธศาสนา อ้างว่าเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ชั้นเทพแล้วจะลงไปมีเรื่องราวทำไม
แต่พอจับได้ว่า “พระราชรัชมุนี” ที่พระเทพมังคลาจารย์ นี่แหละเป็นพระอุปัชฌาย์ พอนักข่าวถามหลังประกอบพิธีคารวะพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่วัดพระสิงห์ เท่านั้นแหละ กลับปฏิเสธที่จะพูดคุยและเดินหนีไป โดยบอกแต่เพียงว่า “หลังจากที่เกิดเรื่องขึ้น ยังไม่ได้รับการติดต่อหรือพูดคุยใดๆ กับเจ้าอาวาสวัดสวนดอกเลย”
ขอฝาก พ.ต.ท.พงศ์พร พรามหณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สะสางปัญหาคาราคาซังที่ขัดใจชาวพุทธ โดยเฉพาะการล้างบ้าน ล้างการเมืองพระ ล้างอิทธิพลในคราบผ้าเหลืองให้สิ้นซาก ก่อนที่ประชาชนจะเลิกนับถือ ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ที่ยุคนี้เต็มไปด้วยผลประโยชน์อีกต่อไป