xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.นิวเคลียร์! สร้างผลกระทบต่อการรักษาทันตกรรมของประชาชนเป็นวงกว้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วันนี้(12ต.ค.)เมื่อปีที่แล้ว ชมรมทันตแพทย์อาสา ยื่นหนังสือต่อรมว.สาธารณสุข ถึงผลกระทบพ.ร.บ.ที่จะมีต่ออาชีพ (แฟ้มภาพ)
จากตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา สำหรับท่านที่ติดตามข่าวสารเรื่อง พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 (ฉบับใหม่) จะได้ยินข่าวกลุ่มทันตแพทย์ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่จะบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ คือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งกำกับโดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ ให้หาทางลดผลกระทบรุนแรงอันเกิดจาก พ.ร.บ. ดังกล่าว อันเนื่องจากจะกระทบต่อการรักษาทาง ทันตกรรมอย่างรุนแรง โดยได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 เรื่องนี้ผมเองได้ชี้แจงความคืบหน้าเอาไว้ว่า

พ.ร.บ. ฉบับนี้มุ่งปรับปรุงเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่อการใช้และเทคโนโลยีของพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีอันตรายสูงอย่างที่สุด และต้องมีความซับซ้อนสูงมากในการดูแล จึงมีการกำหนดเพิ่มวิธีการควบคุมที่เคร่งครัดและเพิ่มบทลงโทษทั้งจำและปรับ แก่ผู้กระทำอย่างมากแก่ผู้กระทำความผิด ย้ำว่าแก่ผู้กระทำผิด จึงไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการเหมารวมใช้กฎหมายเดียวกันนี้มาควบคุมกับเครื่องเอกซเรย์ฟัน ที่ทันตแพทย์ใช้วินิจฉัยเพื่อรักษาคนไข้ ที่มีความปลอดภัยสูงมาก และไม่เคยมีประวัติหรืออุบัติเหตุที่จะเกิดอันตรายใดๆ แก่ทั้งคนไข้คนทำฟัน ทันตแพทย์ ผู้ช่วย บุคคลที่อยู่ใกล้เคียง หรือสิ่งแวดล้อมเลย

แต่ในหนึ่งปีที่ผ่านมา กลับมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาน้อยมาก เช่น ล่าสุด จากข่าววันที่ 29 สิงหาคม 2560 คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ มีมติให้ยกเว้นการบังคับเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมแบบ Intraoral ซึ่งเป็นเครื่องเอกซเรย์ขนาดเล็กให้ได้รับการยกเว้นการบังคับจาก พ.ร.บ. ดังกล่าว แต่ก็มีพ่วงข้อแม้ให้ปฏิบัติอีก 8 ข้อ ซึ่งเมื่อพิจารณา สาระเนื้อหาแล้วแทบจะไม่ต่างจากการปฏิบัติตามเดิมที่มีปัญหาเลย จึงไม่ตรงกับส่วนที่เป็นปัญหาที่ทางสภาวิชาชีพ คือ ทันตแพทยสภาได้ร้องขอความเป็นธรรมไว้ โดยได้ขอให้มีการยกเว้นเอกซเรย์ทันตกรรมทั้งหมด ให้ได้รับการยกเว้นจากการบังคับของ พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559” ฉบับนี้

และด้วยความเป็นห่วงที่ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเวลารับฟังประชาพิจารณ์ร่างกฎกระทรวง แต่จากผลดังกล่าวยังทราบว่ามีการแจ้งว่าการพิจารณากฎหมายลูก 34 ฉบับเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไป คือ การนำเข้าเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งก็เท่ากับการเสนอร่างที่เคยมีปัญหาเดิมนำเข้า ครม. ทั้งที่เคยให้มีการถอนร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพทันตกรรมออกเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 มาแล้วครั้งหนึ่งหรือไม่?

ทั้งนี้ ด้วยความกังวลว่า ในส่วนของเนื้อหา พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีหลายส่วนมากที่กระทบต่อการทำงานของทันตแพทย์ โดยเฉพาะคลินิกทันตกรรม อีกทั้งหน่วยงานบังคับกฎหมายของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังมีการตีความ และ แจ้งวิธีการบังคับซึ่งไม่เคยมีการปฏิบัติกันมาก่อน และปฏิบัติได้ยากมาก จนเชื่อว่าไม่สามารถปฏิบัติให้ทันตแพทย์ทำงานได้ รวมถึงมีการวิจารณ์อย่างมากว่า ไม่น่าจะเป็นวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม เพิ่มภาระอย่างที่สุด แก่คลินิกทันตกรรม ดังมีข้อความในพรบได้รับทราบกันแล้วเช่น “ต้องอยู่ตลอดเวลาที่เปิดดำเนินการ” ซึ่งหากตีความก็หมายถึงการหมอฟันให้เฝ้าเครื่องเอกซเรย์ฟันตลอดเวลานั้นเอง น่าตกใจที่ด้วยเหตุผลอะไร ด้วยหลักความปลอดภัยตรงไหน ที่จะต้องบังคับให้ทันตแพทย์ ต้องมาเฝ้าเครื่องเอกซเรย์ฟัน, จะเกิดอันตรายอะไรหากไม่มีใครต้องมานั่งเฝ้าเครื่อง หรือมีอันตรายร้ายแรงอะไรที่คนเป็นทันตแพทย์ถึงกับเฝ้าเครื่องเกินความเป็นจริง และยังสงสัยกันว่าว่ามีอะไรในประเทศนี้หรือ?

ที่มีกฎหมายให้ทันตแพทย์มานั่งเฝ้ากันตลอดเวลาเช่นนี้บ้าง

ซึ่งหากเทียบกับแม้แต่อาวุธปืน มีด ดาบ ซึ่งเป็น “วัตถุอันตราย” ที่มีอันตรายในตัวเอง ก็ยังไม่มีกฎหมายสภาพบังคับให้ต้องเฝ้าตลอดเช่นนี้ ( เครื่องเอกซเรย์ฟันขณะที่ไม่ใช้งาน ถอดปลั๊กจะไม่มีพลังงานหรืออันตรายใดๆ เกิดขึ้นกับใครหรืออะไรทั้งสิ้น)

แต่นอกจากที่ยังไม่สามารถหาเหตุผลมาตอบคำถามเรื่องนี้ได้แล้ว กลับมีสิ่งที่น่าวิตกอย่างไม่น่าเชื่อ คือ การนำกำหนดโทษที่รุนแรง ปรับสูงสุด 2 แสน หรือ 5 แสนบาท จำคุกสูงสุด 2 ปี หรือ 5 ปี และข้อกำหนดให้เฝ้าอยู่ตลอดเวลาเปิดทำการ ก็อยู่ในความผิดที่อาจถูกกล่าวโทษนั้นๆ ด้วย

ยังมีกรณีอื่นๆ อีกมากที่ทำให้เกิดการรบกวน สร้างความกังวลใจแก่การทำงาน ซึ่งโดยปกติแล้วคนไข้คนทำฟันที่จะต้องได้รับการเอกซเรย์ จะต้องได้รับการซักประวัติ ตรวจวินิจฉัยขั้นต้น แล้วจึงจะถึงขั้นตอนการเอกซเรย์ โดยที่จะต้องมีทันตแพทย์เป็นผู้สั่งการและควบคุมอยู่แล้วเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาตลอด 40 - 50 ปี ไม่เคยมีผลกระทบใดๆ และ มีความปลอดภัยสูงสุดเสมอมา

ผมเองในฐานะทันตแพทย์ที่รับผิดชอบดูแลสุขภาพช่องปาก ฟัน แก่ประชาชน จึงไม่อยากให้มีการเร่งรีบให้มีการออกกฎหมายใหม่มาบังคับ และลงโทษรุนแรง โดยที่ยังไม่สามารถตอบคำถามอย่างมีเหตุมีผล ว่า สังคมและประชาชนว่าจะได้ประโยชน์อะไร จาก พ.ร.บ .ฉบับนี้

แต่กลับจะสร้างปัญหาในการปฏิบัติมากมาย สร้างผลกระทบ สร้างความกังวลใจ สร้างความหวาดระแวง และอาจจะกลายเป็นการเปิดช่องให้เกิดการ แอบอ้าง แสวงหาประโยชน์มิชอบ ข่มขู่

ต่างๆ นานากับทันตแพทย์ที่ต้องรักษาคนไข้ ซึ่งหากเกิดสภาพการณ์แบบนั้นจริงขึ้นมาในสังคมแล้ว ความเสียหายจะร้ายแรง ผลกระทบจะตกแก่ประชาชนในวงกว้าง ตอนนั้นผมยังนึกไม่ออกว่า จะมีใครออกมารับผิดชอบหรือไม่ เหมือนตอนนี้ที่หลายๆ คำถามก็ยังไม่มีคำตอบ และโดยเฉพาะ พ.ร.บ. ฉบับนี้ในขั้นตอนการร่าง พ.ร.บ. ไม่มีการเชิญตัวแทนวิชาชีพเข้าร่วมในการเสนอความเห็น วิเคราะห์จุดดีจุดด้อย รับฟังผลกระทบ ซึ่งมีคำถามว่าน่าจะขัดต่อมาตรา 77 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559 ที่บัญญัติได้ว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าหรือไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน....และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง”

ผ่านมาหนึ่งปี กับการที่กลุ่มวิชาชีพทันตแพทย์ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม พยายามให้ข้อมูลชี้แจง เจรจากับหน่วยงานรับผิดชอบ กว่าหนึ่งปี ถึงวันนี้ ดูเหมือนไม่มีใครที่แสดงถึงความเข้าใจปัญหาที่กลุ่มวิชาชีพทันตแพทย์ประสบอยู่ ปัญหาแทบจะไม่มีการแก้ไข มีเพียงการแสดงท่าทีผ่อนปรนเล็กน้อย ลดค่าธรรมเนียม อ้างเพิ่มความสะดวก ทั้งๆ ที่น่าจะรับรู้กันทั่วว่าไม่ใช่จุดที่ทันตแพทย์กังวลและ ไม่ใช่การแก้ปัญหาหลักอย่างแท้จริง

ด้วยความเป็นห่วงต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อาจมากมายและกระทบในวงกว้างโดยเฉพาะประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ กลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อยและเข้าถึงบริการของรัฐซึ่งยากอยู่แล้ว ผมขอเรียกร้อง โปรดให้ท่านนายกรัฐมนตรี หรือ ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ช่วยเข้ามาดูแล และหาข้อเท็จจริงอย่างด่วนที่สุด เพื่อหวังว่าจะสามารถยับยั้งปัญหาที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น อย่างที่หลายๆ คนกังวล ว่า สุดท้ายจะตกเป็นภาระแก่ประชาชนพี่น้องชาวไทยได้

ทันตแพทย์ ชาญชัย ทนต์ประเสริฐเวช
กำลังโหลดความคิดเห็น