xs
xsm
sm
md
lg

พรบ.จับแมวใส่กรงเสือ... พรบ.นิวเคลียร์ ๒๕๕๙

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม ชมรมทันตแพทย์อาสา ประกอบด้วย ทันตแพทย์ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เคยเดินทางมายื่นหนังสือต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559
เจ้าของแมวกับเจ้าของเสือ ต้องดูแลแมวกับเสือของตนต่างกัน จะกำหนดข้อบังคับการเลี้ยงสัตว์ 2 ชนิดนี้เหมือนกัน เพียงเพราะมีหนวดเหมือนกันคงไม่ถูกต้อง

พรบ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ๒๕๕๙มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ โดยมีวัตถุประสงค์ควบคุมดูแลอุปกรณ์นิวเคลียร์ กัมมันตรังสี และเครื่องกำเนิดรังสีขนาดใหญ่โดยมีหน่วยงานรัฐที่ดูแล คือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส) ซึ่งอยู่ระหว่างการเขียนกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์ขนาดเล็ก ที่ใช้เพื่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ ไม่ต้องอยู่ภายใต้พรบ.นี้ ตามเจตนารมณ์ของสนช.ผู้ผ่านพรบ.นี้มา... แต่ ปส.คิดจะควบคุมแมวเหมือนควบคุมเสือ จับเครื่องเอกซเรย์ขนาดเล็ก เข้าในพรบ.นี้ด้วย อีกทั้งยังมีเครื่องใช้ในครัวเรือนอีกหลายชนิดที่ต้องอยู่ใต้พรบ.นี้ เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ เตาไมโครเวฟที่มีใช้ทุกบ้าน เครื่องกันไฟฟ้ากระชาก กล้องจุลทรรศน์อิเลกตรอน รวมไปถึง pace maker ของผู้ป่วยโรคหัวใจ

อันที่จริง ในการผลิต หรือนำเข้าอุปกรณ์เหล่านี้มาจำหน่ายให้ผู้บริโภค ต้องมีการควบคุมมาตรฐานตั้งแต่การผลิตเพื่อให้มีความปลอดภัยต่อประชาชน ซึ่งเครื่องเอกซเรย์ฟันส่วนใหญ่ก็นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง และถือเป็นเครื่องมือแพทย์ ซึ่งต้องขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว แต่ทาง ปส.ก็ออกกฎหมายให้ไปขออนุญาตครอบครองหรือใช้เครื่องเอกซเรย์อีก อ้างว่าเพื่อความปลอดภัย ทั้งๆที่มันปลอดภัยอยู่แล้ว ด้วยมาตรฐานและเอกสารวิชาการทั้งในและต่างประเทศยืนยัน ไม่เคยมีรายงานความไม่ปลอดภัยจากเอกซเรย์ฟันเลย

เมื่อดูในรายละเอียด พบว่า การขออนุญาตกับปส.มีแต่การต้องไปชำระค่าครอบครอง, ค่าตรวจเครื่องเอกซเรย์ที่แพงขึ้น 2 เท่าจากหน่วยงานเดิมที่รับผิดชอบมาตลอด (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขตรวจ คิด 1000 บาท) และยังให้ตรวจทุก 2 ปี แทนที่จะตรวจทุก 5 ปีตามข้อกำหนดของ IAEA (ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ) รวมทั้งการบังคับให้ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี(RSO)ดูแลเครื่องตลอดเวลา ทั้งๆที่เครื่องเอกซเรย์ฟันไม่ใช่นิวเคลียร์ ไม่ใช่กัมมันตรังสี จะมีรังสีออกมาเฉพาะเวลากดปุ่มสั้นๆเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น ไม่มีอันตรายใดๆได้เลย บางวันก็ไม่ได้ใช้เครื่องเอกซเรย์ เพราะใช้เพื่อประกอบการวินิจฉัยในรายที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับที่ IAEA กำหนดไว้ว่า แพทย์,ทันตแพทย์เป็นเป็น radiological medical practitioner (RMP)โดยวิชาชีพอยู่แล้ว สามารถใช้เครื่องกำเนิดรังสีได้โดยอิสระภายใต้ความควบคุมของสภาวิชาชีพ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตเป็นRSO หรือต้องมี RSOมาควบคุมดูแลการใช้งาน การที่ให้มีRSOนั่งเฝ้าตลอดเวลา จึงไม่ได้ประโยชน์อันใด เปลืองทรัพยากรบุคคล ทำให้ต้นทุนการเอกซเรย์เพิ่มขึ้น และคงไม่พ้นที่ภาระนี้จะตกไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งคือประชาชน โดยผู้ได้รับประโยชน์เป็นเม็ดเงินจากค่าใบอนุญาตต่างๆ มีเพียงสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส) เพียงผู้เดียว

นอกจากนั้น พรบ.นิวเคลียร์ ๒๕๕๙ ยังกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงไว้ ด้วยวัตถุประสงค์.ต้องการควบคุมอุปกรณ์นิวเคลียร์ และกัมมันตรังสีที่อันตราย เช่น มาตรา 123 จึงกำหนดให้ต้องมี RSO เฝ้าอยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 500,000 บาท หากเป็นอุปกรณ์นิวเคลียร์ก็ดูสมเหตุผล แต่เมื่อจับเครื่องเอกซเรย์ฟันเข้าไปอยู่ใต้มาตรานี้ แปลว่า คลินิกทำฟันทุกแห่งต้องมีRSOเฝ้าอยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นมีโทษราวกับรับของโจร โทษรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่ใช่ทันตแพทย์มาประกอบอาชีพเป็นทันตแพทย์(หมอเถื่อน)อีก รุนแรงกว่าการออกใบรับรองเท็จ และละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งๆที่การนั่งเฝ้าไม่ได้เกิดประโยชน์อันใดทั้งในความปลอดภัย และประโยชน์ต่อประชาชนแต่การที่กำหนดโทษรุนแรงโดยไม่สมเหตุผลเช่นนี้ เป็นการเปิดช่องให้มีการข่มขู่ และเรียกเก็บผลประโยชน์โดยมิชอบจากทันตแพทย์ได้

ที่ผ่านมาทั้งนายกทันตแพทยสภา ภาคีสภาวิชาชีพสาธารณสุข และ กรรมาธิการสาธารณสุข ของ สนช. ออกมาบอกเจตนารมณ์ของพรบ.ฉบับนี้ว่าไม่ได้ต้องการรวมเครื่องเอกซเรย์ขนาดเล็กที่ใช้ในการวินิจฉัยทางการแพทย์ และให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส) กระทรวงวิทยาศาสตร์ออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่อง แต่ปส. ก็ยังเพิกเฉย ทั้งๆที่เห็นได้ชัดเจนว่า ข้อกำหนดให้ปฏิบัตินั้นไม่ได้คุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากรังสีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

บุคลากรทางทันตกรรมไม่ได้มีมากมายล้นเหลือ ทันตแพทย์ทุกคนทุกภาคส่วนล้วนรับผิดชอบดูแลประชาชนในส่วนของตน ในวิกฤตกับพรบ.นิวเคลียร์ฉบับนี้ ทันตแพทย์ได้พยายามชี้แจงต่อสู้อย่างสุดความสามารถที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน เชื่อว่าเมื่อประชาชนเข้าใจเรื่องราว คงไม่ปล่อยให้มีกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมออกมาบังคับใช้อย่างแน่นอน

ทพ.สุรศักดิ์ ธีระรังสิกุล

....
หมายเหตุ ค่าใช้จ่ายที่ ปส. เรียกเก็บ
1. ค่าใบอนุญาตครอบครองหรือใช้เครื่อง มีเพดานที่ 50,000 บาท ต่อ 5 ปี (ครั้งแรกนี้คิด 1,000 บาท)
2. ค่าตรวจเครื่องเอกซเรย์ทุก 2 ปี ครั้งละ 2 พันกว่าบาท (กรมวิทย์ตรวจตาม IAEA กำหนด ทุก 5 ปี ครั้งละ 1,000 บาท)
3. จนท.rso ทุกคนต้องขอใบอนุญาตกับปส. มีเพดานที่ 5,000 บาท ต่ออายุทุก 3 ปี ครั้งแรกนี้คิด 300 บาท
4. ในการเป็นจนท.rso ต้องสอบ ค่าสอบ 500 บาท แต่หากสอบไม่ได้ มีติวให้ ค่าติว 3,500 บาท
5. จนท.rso ต้องมีแผ่นวัดรังสีประจำตัว (osl) ราคาแผ่นละ 1,000 บาท และส่งตรวจคิดค่าตรวจ 1,000 บาท
6. จนท.rso ต้องมีเครื่อง rad alert ราคา ประมาณ 24,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น