บขส. ติดตั้งเครื่องรูดบัตร EDC รองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วทุกสถานีเดินรถ ระบุ เงื่อนไขรูดฟรี 500 บาทต่อเดือน ถ้าเกินวงเงินต้องจ่ายเป็นเงินสด ใช้ได้เฉพาะผู้ถือบัตรเดินทางเองเท่านั้น ตั๋วซื้อแล้วไม่รับคืน ด้านการรถไฟฯ เผย ครม. ยืดเวลารถไฟฟรีไปอีก 1 เดือน รอบัตรจัดทำแล้วเสร็จ
นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านการตรวจสอบสิทธิในโครงการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 นั้น บขส. ได้ประสานธนาคารกรุงไทย ติดตั้งเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ (อีดีซี) ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ จตุจักร เอกมัย และ ถนนบรมราชชนนี รวมทั้งที่ทำการสถานีเดินรถของ บขส. รวม 121 แห่งทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
สำหรับเงื่อนไขของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในการใช้สิทธิโดยสารรถของ บขส. ได้แก่ 1. ยื่นบัตรแสดงตนในการซื้อตั๋วรถโดยสารและต้องเป็นผู้เดินทางเองเท่านั้น 2. สามารถซื้อตั๋วรถโดยสาร บขส. ในวงเงิน 500 บาทต่อเดือน กรณีค่าโดยสารเกินวงเงินที่ได้รับ ต้องจ่ายส่วนต่างเป็นเงินสดเท่านั้น 3. สามารถใช้บริการรถโดยสาร บขส. ทุกมาตรฐาน ทุกเส้นทาง
4. สามารถใช้ร่วมกับสิทธิลดหย่อนอื่นๆ ได้ตามเงื่อนไขที่ บขส. กำหนด 5. เมื่อซื้อตั๋วรถโดยสารแล้ว ไม่สามารถคืนตั๋วได้ทุกกรณี แต่สามารถเลื่อนการเดินทางได้ภายใต้เงื่อนไขที่ บขส. กำหนด 6. สามารถซื้อตั๋วรถโดยสารได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋วของ บขส. ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร เอกมัย และ ถนนบรมราชชนนี) และที่ทำการสถานีเดินรถ บขส. จำนวน 121 แห่งทั่วประเทศ เท่านั้น สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1490
ผู้สื่อข่าว MGR Online รายงานเพิ่มเติมว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถซื้อตั๋วรถโดยสาร บขส. ในวงเงิน 500 บาทต่อเดือน แต่จากการสำรวจ พบว่า มีบางเส้นทางที่ค่าโดยสารต่ำกว่า 500 บาทเท่านั้น และเป็นรถมาตรฐานต่ำลงมา หากเป็นรถมาตรฐานสูงกว่า และเส้นทางที่ไกลกว่า บางจังหวัดที่ไม่มีรถมาตรฐานที่ลดลงมา ต้องจ่ายค่าโดยสารส่วนต่างเพิ่มเติม
นอกจากนี้ เส้นทางภาคใต้ หากเลย อ.หลังสวน จ.ชุมพร ลงมา ล้วนแล้วแต่ค่าโดยสารมากกว่า 500 บาททั้งสิ้น เช่น กรุงเทพฯ - ภูเก็ต (สายเก่า) รถ ม.1ข/ม.4ข ต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่ม 87 บาท, กรุงเทพฯ -
หาดใหญ่ รถ ม.1ข/ม.4ข ต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่ม 143 บาท เป็นต้น
ด้าน การรถไฟแห่งประเทศไทย แจ้งว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทาง ออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 - 31 ต.ค. 2560 เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยในระหว่างที่การออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ผู้มีสิทธิ์ยังไม่แล้วเสร็จ โดยประชาชนต้องแสดงบัตรประชาชนเพื่อรับสิทธิ 1 ใบต่อ 1 คน ให้บริการ 160 ขบวนต่อวัน
สำหรับเครื่องชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง EDC) ได้ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด ติดตั้งที่ช่องจำหน่ายตั๋วทุกสถานีทั่วประเทศ 444 สถานี จำนวน 534 เครื่อง แล้วเสร็จพร้อมใช้งานทุกสถานี โดยสถานีกรุงเทพได้ติดตั้งมากที่สุด จำนวน 22 เครื่อง เนื่องจากเป็นสถานีหลักและมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ส่วนสถานีอื่นๆ ได้ติดตั้งจำนวนเครื่องตามความเหมาะสมกับสถานี เพื่อรองรับประชาชนที่มาใช้บริการ
สำหรับการออกตั๋วโดยสารโดยชำระเงินผ่านเครื่อง EDC จะต้องดำเนินการที่สถานีรถไฟเท่านั้น ส่วนป้ายหยุดรถต่างๆ ไม่สามารถออกตั๋วได้ เนื่องจากไม่มีระบบการออกตั๋วออนไลน์ ประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถนำบัตรมาใช้สิทธิ์ขึ้นรถไฟชั้น 3 ทุกขบวน ทดแทนโครงการรถไฟฟรีเพื่อประชาชน คาดว่า เมื่อเปิดใช้งานแล้วจะมีผู้ใช้บริการรถไฟที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น