xs
xsm
sm
md
lg

เห็นแชร์กันเยอะ! “อวสาน อบต.-ยุบ อบต.” สรุปว่ามั่วทั้งเพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โลกโซเชียลมีเดียแห่แชร์ข่าว “ยุบ อบต.” กับ “อวสาน อบต.” จากเว็บคลิกเบตกันเพียบ พบเป็นแค่ข้อมูลเก่า มติ สปท.ปีที่แล้วถูกรื้อยังไม่เสร็จ รอจนเหงือกแห้ง ส่งกฤษฎีกา-ส่ง ป.ย.ป. ไม่นับรวมต้องผ่าน สนช. แล้วต้องรับฟังความคิดเห็น ยืนยันเวลานี้ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 249

ในช่วงเวลาที่มีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการหรือพนักงานท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่า “สอบท้องถิ่น” ปี 2560 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 ก.ย.นี้

เว็บไซต์คลิกเบต (Clickbait) ที่ไปก๊อบปี้เนื้อหาชาวบ้านพาดหัวหวือหวาล่อให้คนเข้ามากดไลก์ กดแชร์ ต่างก็แห่แหนกันพาดหัวคำว่า “อวสาน อบต.” หรือ “ยุบ อบต.”

บางเว็บไซต์ใช้ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และตราสัญลักษณ์ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เอามาประกอบให้ดูน่าเชื่อถือ

แน่นอนว่าสังคมออนไลน์ที่เห็นแล้ว “สักแต่กดแชร์” โดยไม่มีการไตร่ตรอง ไม่รู้เท่าทันสื่อ คนที่เห็นพาดหัวต่างก็หลงเชื่อไปแล้วนับล้านราย

บรรดาคนที่สมัครสอบท้องถิ่นกว่า 6 แสนราย เห็นข่าวนี้แล้วถึงกับถอดใจ บางคนคิดว่าจะไม่ไปสอบ เพราะสอบแล้วได้บรรจุก็ไม่รู้ว่าจะเป็นข้าราชการได้นานหรือเปล่า

ไม่นับรวมพนักงานและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ 5,334 แห่ง ต่างก็อกสั่นขวัญแขวน ขวัญและกำลังใจเหือดหาย เพราะกระทบต่อหน้าที่การงานและรายได้

จากการตรวจสอบพบว่า เป็นเพียงมติสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อ 25 ส.ค. 2559 หรือปีที่แล้ว เห็นชอบปรับปรุงโดยยกฐานะ อบต.ให้เป็นเทศบาลรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ

เรื่องนี้ นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย ออกมาชี้แจงผ่านหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 6 ก.ย. (กรอบบ่าย) ระบุว่า "เป็นข้อมูลเก่า"

ยืนยันว่า ขณะนี้การยุบและควบรวม อบต.ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

เพราะก่อนหน้านี้ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอร่างกฎหมายไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้ขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ส่งความเห็นประกอบร่างกฎหมายเมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ยังไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายของ สปท.12 ประเด็น จึงได้ตั้งอนุกรรมการฯ เพื่อยกร่างกฎหมาย อปท.ฉบับใหม่ ขณะนี้ได้ร่างได้ 26 มาตรา

อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างกฎหมายเสร็จ ครม.พิจารณาเสร็จสิ้น จะต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกาวินิจฉัย และอาจจะส่งให้คณะกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์ (ป.ย.ป.) เสนอความเห็น

มาถึงตอนนี้ “ยังอีกนานพอสมควร”

ไม่รวมระยะเวลาในการพิจาณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายน่าจะใช้เวลามากกว่า 1 ปี เพื่อนำมาเสนอให้องค์กรท้องถิ่นพิจารณาตัดสินใจควบรวม แถมยังต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

เมื่อเราไปอ่านรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 249 ระบุว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 1 ให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามวิธีการและรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กฎหมายบัญญัติ

การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบใดให้คํานึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และความสามารถในการปกครองตนเองในด้านรายได้ จํานวนและความหนาแน่นของประชากร และพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบ ประกอบกัน"

โดยสรุปก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฉกเช่น อบต.แต่ละแห่งยังได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เว้นแต่ว่าถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องถามประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ก่อน

ไม่ใช่จู่ๆ จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้

ส่วน สปท.ที่เป็นตัวชงให้ยุบ อบต. ตอนนี้แยกย้ายบ้านใครบ้านมัน ไปทำงานทำการ เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานของตนเองกันหมดแล้ว เพราะหมดวาระไปตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมานี้เอง

ส่วนข้อมูลจากเว็บไซต์คลิกเบตที่พาดหัวหวือหวาเกินจริงเพื่อล่อตาคนอ่าน บางครั้งร้ายแรงถึงขนาดทำ “ข่าวปลอม” ขึ้นมานั้น เป็นสิ่งที่นักท่องเน็ตไม่ใช่แค่ผู้อ่าน แต่ยังรวมไปถึงผู้ใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ แล้วเห็นข้อมูลผ่านตาก็สักแต่แชร์ ควรพึงระวัง

เพราะที่ผ่านมาสังคมเสียหายไปเท่าไหร่แล้วกับความเข้าใจผิด อันเนื่องมาจากเว็บคลิกเบตลงข่าวหวือหวาเพื่อเรียกทราฟฟิคโปรแกรมโฆษณา หรือบางครั้งยังซ่อน “ไวรัส” ที่จะทำความเสียหายกับมือถือหรือคอมพิวเตอร์ของท่านโดยไม่รู้ตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น