xs
xsm
sm
md
lg

“ยอดไลก์-ยอดวิว” ท่านได้แต่ใดมา? “คลิกฟาร์ม” ขบวนการปั่นเรตติ้งมาถึงเมืองไทย!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGR Online - ชี้ชัดขบวนการ “คลิกฟาร์ม” ใช้มือถือเรียงเป็นแถว รับกดไลก์สินค้า - ให้ดาวแอปฯ บิดเบือนเรตติ้งสูงเกินจริง มีมานานแล้ว หลังจับ 3 ชาวมังกรได้ยกแก๊งที่สระแก้ว พร้อมมือถือเกือบ 500 เครื่อง ซิมการ์ด 3 แสนชิ้น พบมีมากในจีนและรัสเซีย แต่ทั่วโลกนิยมใช้บริการ คนนอกไม่รู้สิ่งที่เห็นอาจเป็น “ภาพลวงตา” เจ้าของธุรกิจสิ้นเปลืองงบฯ - ผู้บริโภคไม่รู้เท่าทัน

กลายเป็นเรื่องฮือฮาสะเทือนอุตสาหกรรมออนไลน์ เมื่อตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ไปตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง ในหมู่บ้านโก้เก๋ ต.บ้านใหม่หนองไทร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา พบชายชาวจีน 3 คน โดยมีภรรยาชาวไทย อย่าง น.ส.ตรีนุช จันทร์เจริญ ชาว จ.ยโสธร เป็นเจ้าของบ้าน

พร้อมของกลาง ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ ไอโฟน 5 เอส 45 เครื่อง, ไอโฟน 5 ซี 252 เครื่อง และ ไอโฟน 4 เอส 177 เครื่อง รวมกันแล้ว 474 เครื่อง ถูกเอาไปวางบนชั้นวางโทรศัพท์มือถือเรียงเป็นแถว ชั้นวางละประมาณ 150 - 160 เครื่อง เครื่องอ่านซิมการ์ด 21 เครื่อง คอมพิวเตอร์พกพา 4 เครื่อง คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 5 เครื่อง ซิมการ์ดเครือข่ายเอไอเอส 112,200 ชิ้น, ทรูมูฟ เอช 131,000 ชิ้น และดีแทค 104,000 ชิ้น รวมกันแล้ว 347,200 ชิ้น

ผู้ต้องหาให้การว่า เข้ามาทำงานเกี่ยวกับโปรแกรมเมอร์ เกี่ยวกับการขายสินค้า โดยรับจ้างกดไลก์ และเพิ่มยอดวิวให้แก่สินค้าที่ขายทางเว็บไซต์ในประเทศจีน โดยอ้างว่า เหตุที่มาทำงานในประเทศไทย เพราะค่าบริการอินเทอร์เน็ตในไทยถูกกว่าประเทศจีน จึงแจ้งข้อหาลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าหนีภาษี หรืออินเทอร์เน็ตผิดกฎหมาย เนื่องจากผิด พ.ร.บ. ศุลกากร

แม้ผู้ก่อเหตุจะเป็นชาวต่างชาติ ดำเนินการกับเว็บไซต์ในจีน แต่ก็เป็นการตอกย้ำว่า พฤติกรรมรับจ้างกดไลก์ ให้คะแนนรีวิวแอปพลิเคชั่น รวมทั้งกระตุ้นยอดดาวน์โหลดนั้น มีอยู่จริง ทำกันเป็นขบวนการ โดยสถานที่ตั้งไม่จำเป็นต้องอยู่ในออฟฟิศ แค่ทำกันในบ้านพักธรรมดาๆ ไม่ต่างไปจากแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ที่มาเช่าบ้านในไทยก่อเหตุแต่อย่างใด

และน่าคิดว่า อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจออนไลน์ในไทย จนสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมออนไลน์ของไทยโดยภาพรวม ด้วยเรตติ้งที่สวนทางกับคุณภาพจากที่ผู้ใช้งาน หรือผู้บริโภคได้รับ

ขบวนการ “ปั่น” รับจ้างกดไลก์สินค้า กดให้ดาวรีวิวแอปพลิเคชั่น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว ถูกเรียกขานนามว่า “คลิกฟาร์ม” (Click Farm) ซึ่งเป็นพฤติกรรมสีเทาของธุรกิจอินเทอร์เน็ต

เช่นเดียวกับการทำเว็บไซต์ที่เรียกว่า “คลิกเบท” (Clickbait) โดยใช้พาดหัวล่อเป้า หรือหยิบข่าวเก่ามาพาดหัวชี้นำให้คนเข้ามาชม กระจายข่าวด้วยเนื้อหาเดียวกันไปยัง 10 - 20 เว็บไซต์ แล้วแทรกโปรแกรมโฆษณา (Affiliate Program) เพื่อรับผลตอบแทน ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้
ภาพ : Weibo
เว็บไซต์ Business Insider เคยรายงานเมื่อปี 2558 พบภาพหญิงชาวจีนบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ “เวยโป๋” (Weibo) นั่งทำงานโดยใช้มือจิ้มหน้าจอโทรศัพท์สมาร์ทโฟนนับร้อยเครื่อง ซึ่งกำลังดาวน์โหลดและให้คะแนนแอปพลิเคชั่นต่างๆ จนทำให้การจัดอันดับแอปพลิเคชั่นยอดนิยมบน App Store สูงขึ้นผิดปกติ

โดยพบว่า มีการใช้วิธีลบการติดตั้ง และดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นอีกครั้ง เพื่อติดตั้งใหม่ บนมือถือแต่ละเครื่องเพื่อเพิ่มยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นนั้นๆ แม้ทางแอปเปิลจะเป็นผู้เดียวที่รู้ว่าจะจัดอันดับอย่างไร แต่เมื่อจำนวนการดาวน์โหลดสูงขึ้น การจัดอันดับแอปพลิเคชั่นก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ นักพัฒนาพยายามที่จะให้แอปพลิเคชั่นเหล่านั้น ถูกกระตุ้นในการจัดเรตติ้งว่าจะได้กี่ดาว หรือจัดอันดับว่าจะได้ลำดับที่เท่าไหร่ โดยมีบริการที่จะสามารถการันตีได้ว่า แอปพลิเคชั่นเหล่านั้นจะได้เรตติ้ง 5 ดาว หรือติดอันดับ 1 ใน 10 แอปพลิเคชั่นประจำสัปดาห์ ด้วยค่าใช้จ่าย 65,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อสัปดาห์
ภาพ : Twitter @EnglishRussia1
มาถึงเดือนพฤษภาคม 2560 บทความในเว็บไซต์ ladbible.com อ้างถึงผู้ใช้ทวิตเตอร์ @EnglishRussia1 ระบุว่า ชายชาวรัสเซียรายหนึ่งได้ไปเยี่ยมคลิกฟาร์มของชาวจีน ซึ่งพวกเขากำลังปั่นเรตติ้งแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ซึ่งพวกเขากล่าวว่า มีมือถือที่ทำเช่นนี้นับหมื่นเครื่อง ทำให้เกิดไวรัลบนโลกออนไลน์ และสร้างความสนใจกับผู้ใช้จำนวนมาก




ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี กล่าวว่า วิธีการเช่นนี้มักดำเนินการในประเทศจีนและรัสเซีย แต่ก็ยังมีบริษัททั่วโลกใช้บริการเช่นนี้ ที่ผ่านมา บริษัทด้านโซเชียลมีเดียต่างๆ พยายามต่อสู้กับผู้ใช้ที่เป็นบอท ไม่มีตัวตนจริง เช่น อินสตาแกรม เพิ่งประสบความสำเร็จในการปิดบอทที่ชื่อว่า “อินสตาเกรส” ซึ่งเป็นการเพิ่มยอดไลก์และความคิดเห็นเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ชม

ขณะเดียวกัน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (USC) และมหาวิทยาลัยอินเดียนา ของสหรัฐฯ พบว่า บัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์มากถึง 15% อาจเป็นของปลอม

สิ่งที่พบเห็น ทำให้ต้องย้อนมานึกกลับไปว่า ปัจจุบันโซเชียลมีเดียกลายเป็นธุรกิจ เมื่อเฟซบุ๊กเพจ บัญชีทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรมถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างฟรีๆ และเมื่อมีผู้ติดตามจำนวนมาก กลายเป็น Online Influencer ก็สามารถนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจอื่นๆ แน่นอนว่าวิธีการสีเทาด้วยการ “ปั่น” อาจจะมีส่วนถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มยอดไลก์ เพิ่มผู้ติดตาม

โดยที่คนภายนอกอาจยังไม่รู้ว่า ยอดไลก์มหาศาล ยอดผู้ติดตามจำนวนมาก อาจเป็นเพียงภาพลวงตาที่ทำลายอุตสาหกรรมออนไลน์โดยภาพรวม

เจ้าของธุรกิจจะต้องสิ้นเปลืองกับเรตติ้งที่หลอกลวง ไม่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง ส่วนนักพัฒนาแอปพลิเคชั่น ผู้ผลิตเนื้อหา จะต้องถูกกลุ่มคนเหล่านี้เอารัดเอาเปรียบอย่างไม่จบสิ้น ในยุคที่ผู้บริโภคอาจเป็นเพียงแค่ผู้ใช้ที่ผ่านหูผ่านตา ถูกชี้นำจากไวรัลที่ถูกปั่นแล้วเกิดความสนใจ โดยไม่ได้รู้เท่าทันถึงขบวนการเหล่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น