“อดีตคณบดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร” ชำแหละ “ระบบจ้างเหมา” อยู่คู่กรมศิลป์มายาวนาน 25 ปี จนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลกำหนดทิศทางการทำงานของกรมศิลป์ แฉทำลายคุณค่าโบราณสถานไปหลายแห่งแล้ว แต่มาถึงคราวพระปรางค์วัดอรุณฯเป็นฟางเส้นสุดท้าย หวังรัฐเห็นความสำคัญสั่งปฏิรูปด่วน แนะทางออกต้องยกเลิกจ้างเหมาทันที พร้อมแก้กฎหมายไม่ให้ผูกขาดอำนาจอยู่ที่อธิบดีกรมศิลป์เพียงผู้เดียว
วันนี้ (21 ส.ค.) ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องนิวส์วัน ภายใต้หัวข้อ “บูรณะพระปรางค์ วัดอรุณฯ ปัญหาและบทเรียนระดับชาติ”
โดย ศ.สายันต์ กล่าวว่า สิ่งที่วิจารณ์การบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯกันมาก ก็คือ มิติทางสุนทรียะมันหายไป ก็คือความงามหายไป เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นแล้วสามารถระบุได้ว่างามหรือไม่งาม ซึ่งอันนี้เรื่องใหญ่ นักวิชากรอาจดูแค่ในแง่ของวัตถุ สี การใช้ปูน แต่ดูที่ประชาชนวิจารณ์กันในโซเชียลฯ ส่วนใหญ่พูดถึงความงาม บอกว่ามันขาวโพลนไปหมด มองแล้วไม่มีมิติ ไม่มีเงากระทบ จริงตามที่อธิบดีกรมศิลปากรบอกว่าแต่เดิมพื้นหลังพระปรางค์เป็นสีขาว แต่เดิมที่ใช้กระเบื้องหลากสี มีความนูนลอยตัวออกมาจากพื้นหลัง เวลาโดนแสง ปูนจะไม่โดดออกมาข้างนอก เพราะมีเงา แต่มาตอนนี้ความลึกหายไป พอโดนแสงเลยกลายเป็นขาวโพลนไปหมด เพราะเติมปูนจนล้น อย่างบนตัวยักษ์ตัวลิง จะมีเครื่องประดับ แต่ปัจจุบันถมปูนเต็มไปหมด กำไลกลายเป็นส่วนหนึ่งของแขน แบนราบไปหมด ขาดความลึก ชิ้นเซรามิกหายไป บอกว่าเอาออกไป 1.2 แสนชิ้น เอากลับมาเติมแล้วทำไมดูโล่ง ความหนาแน่นของเซรามิกหายไป คุณค่าของเดิมแม้ดูดำ ดูเก่า แต่นั่นอาจเป็นความงามที่คนประทับใจ เรียกว่าคุณค่าของความเก่า การบูรณะครั้งนี้อัตลักษณ์หายไป สุนทรียะหาย กลายเป็นแบนไปหมด
ศ.สายันต์ กล่าวอีกว่า ตามหลักการณ์ ก่อนการบูรณะต้องศึกษาประวัติ ลักษณะ ตรวจสอบความแข็งแรง และด้านความงาม วิจัยทุก ๆ มิติ ตนอยู่กับกรมศิลป์มา 18 ปี จากเดิมไม่มีการจ้างเหมา กรมศิลป์มีช่างเอง ลงมือทำเอง จึงไม่ค่อยถูกวิจารณ์เพราะช่างมีทักษะ ถูกฝึกมาเข้มข้น แต่จุดเปลี่ยนอยู่ที่ปี 2535 มีการบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง ใช้เวลาถึง 20 ปี พอนานอย่างนั้นผู้บริหารมองว่ามันช้า เลยอยากให้ผลงานเสร็จทันงบประมาณ เลยมีการจ้างเหมาเกิดขึ้นแล้วก็เกิดปัญหามาโดยตลอด ยกตัวอย่าง การบูรณะปราสาทเมืองสิงห์ ตอนนั้นก็เกิดการวิจารณ์แหลก เพราะประตูทางเข้าผิดรูปแบบ และยังมีอักหลายๆแห่ง 25 ปีมาแล้ว ก็ถูกวิจารณ์มาโดยตลอด
อดีตคณบดีคณะโบราณคดี กล่าวต่ออีกว่า พ.ร.บ. โบราณสถาน ที่ใช้อยู่ อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่อธิบดรกรมศิลปกรเพียงคนเดียว เป็นคนเดียวที่มีอำนาจตัดสินใจ ในการที่บอกว่าอะไรใช้ได้ใช้ไม่ได้ เป็นการรวมศูนย์อำนาจมาตั้งแต่ปี 2504 แล้วเวลามีการฟ้องร้อง กรมศิลป์ชนะตลอดเพราะศาลให้เครดิตว่าคือผู้เชี่ยวชาญ แต่วันนี้ชาวบ้านรู้ทัน รู้อะไรเป็นอะไร ปรากฎการณ์วัดอรุณฯ เป็นฟางเส้นสุดท้าย เพราะไม่มีใครยอมแล้ว ที่จะให้กรมศิลป์มาทำลายคุณค่าของทั้งวัดอรุณฯและโบราณสถานแห่งอื่นๆ
ศ.สายันต์ กล่าวอีกว่า ตนเลยสรุปว่าปัญหาเดิกจากระบบจ้างเหมา ต้นเหตุใหญ่เลย เห็นปัญหามาตั้งแต่เริ่มใช้ พยายามบอกว่ามันต้องแก้ยังไง แต่ตอนนั้นเป็นแค่ตัวเล็กๆ กับอธิบดีกรมศิลป์คนปัจจุบันก็เป็นเพื่อนรักกัน ตนก็ได้บอก แต่ท่านก็มีทิศทางของท่าน น่าเห็นใจมาอยู่ในเวลาที่ฝีใกล้แตกแล้ว เพราะมันอยู่ในวัฒนธรรมการจ้างเหมามาโดยตลอด ตอนนั้นใครเป็นอธิบดีก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ
“อีกอย่างระบบจ้างเหมาก็กลายเป็นมีอิทธิพลพอสมควรในการกำหนดทิศทางการทำงานของกรมศิลป์ ไม่ต่างจากกรมทางหลวง อย่างกรมอื่นๆ ที่มีงบประมาณเยอะ ๆ แล้วก็มีผู้รับเหมา ซึ่งก็มีอิทธิพลอยู่ เพราะมันเชื่อมโยงโครงข่ายทั้งข้างในข้างนอก” ศ.สายันต์ ระบุ
ศ.สายันต์ กล่าวว่า ที่สำคัญ ระบบจ้างเหมา ทำให้ศักยภาพของนักวิชาการในกรมศิลป์ด้อยลงไป เพราะไม่ได้ลงมือทำเอง พอบรรจุเข้ามาคุมงานเลย เพิ่งจบไม่มีประสบการณ์ บางทีผู้รับเหมาเป็นรุ่นพี่ เป็นคนของนายบ้าง ก็กดหัว ข่มขู่เอา ใครแข็งข้อก็มีปัญหา
ถึงจุดต้องปฏิรูปเต็มตัวแล้ว เคยบอกกับคณะกรรมการปฏิรูปแต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะเปลี่ยนแปลงได้ ตนคาดหวังว่าวันนี้ถ้าจะแก้ปัญหาการบูรณะโบราณสถาน ต้องหยุดระบบการจ้างเหมาทันที ส่วนที่จ้างไว้แล้วก็จัดการควบคุมให้ดี และเปิดให้คนนอกเข้าไปมีส่วนร่วมในการควบคุมด้วย และต่อไปอำนาจอธิบดีกรมศิลป์ควรลดลง ไม่ใช่รวมศูนย์ที่เดียว เพราะถ้าอธิบดีฯเป็นคนดีก็อยู่ไม่ได้ เป็นคนไม่ดีก็ร่ำรวยไป และอีกอย่างงานบูรณะตรวจสอบงบไม่ได้ เพราะมันไม่มีสูตร เช่นตรงนี้ใช้ปูนเท่าไหร่ ราคาเท่าไหร่ มันไม่มีมาตรฐานราคาเหมือนทำถนน อย่างสมมติสร้างเจดีย์ ทำไปแล้วใครจะเจาะเจดีย์มาตรวจสอบ
คำต่อคำ คนเคาะข่าว บูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ปัญหาและบทเรียนระดับชาติ 21/08/2017
เติมศักดิ์- สวัสดีครับ ขอต้อนรับสู่คนเคาะข่าว วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2560 วันนี้เราว่าด้วยเรื่องปฏิรูประบบจัดการบริหารมรดกทางโบราณคดี ทางโบราณสถาน อันเนื่องมาจากการบูรณะพระปรางค์วันอรุณฯ รอบล่าสุด ที่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วสังคมนะครับ ว่าศิลปกรรมของพระปรางค์วัดอรุณฯ สูญเสียไปจากการบูรณะครั้งล่าสุด วันนี้เรามาฟังความคิดเห็นของนักวิชาการนะครับ ท่านเป็นอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา ประจำปี 2557 ศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ สวัสดีครับอาจารย์ครับ
สายันต์- สวัสดีครับ
เติมศักดิ์- สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันมากเรื่องพระปรางค์วัดอรุณฯ อาจารย์เองเขียนเฟซบุ๊กบอกว่าครั้งนี้ต้องถือว่าเป็นวิกฤตเลย เป็นฝีแตก และก็เป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูปกัน อาจารย์ครับก่อนอื่นเลยเนี่ย ตอนนี้สังคมสับสนว่าที่มีการเปรียบเทียบ ก่อนบูรณะ หลังบูรณะ และเกิดเสียวิพากษ์วิจารณ์กันว่าคุณค่าศิลปกรรมมันหายไปมาก สูญเสียไปมาก แต่ว่าทางอธิบดีกรมศิลปากรก็ออกมาชี้แจงว่าเป็นไปตามออริจินอลทุกอย่าง ตกลงมันเป็นยังไงกันแน่ครับอาจารย์ครับ เท่าที่อาจารย์ศึกษานะครับ
สายันต์- คือในหลักการตามเอกสารตัวหนังสือเนี่ย เราก็รู้กันมานานแล้ว แล้วก็คือพยายามจะทำให้เหมือนเดิมให้มากที่สุดนะครับ ต่ว่าพระปรางค์วัดอรุณฯ มันมีการทำหลายครั้ง หลายช่วง สองสามช่วงด้วยกัน ช่วงใหญ่ๆ ก็เป็นสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังสุดนี่นะครับ ซึ่งมีบันทึกไว้พอสมควรครับ ว่าทำอะไรลงไปบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าบันทึกไว้ทุกตารางนิ้ว แต่ว่าลักษณะงานมันปรากฏ
เติมศักดิ์- ครับ
สายันต์- หลงเหลืออยู่จนมากระทั่งถึงก่อนบูรณะครั้งนี้นะครับ ส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากนะครับ และบอกว่ามันหายไป มันสูญเสียไป ก็คือเรื่องของนิมิตทางสุนทรียะ มิติทางสุนทรียะก็คือความงาม
เติมศักดิ์- ครับ
สายันต์- ความงามที่ทุกคนมองเห็นแล้วสามารถที่จะบอกได้ว่ามันสวยหรือไม่สวย อันนี้เรื่องใหญ่ ไม่ใช่แค่นักวิชาการเท่านั้น นักวิชาการก็อาจจะมอง นักวิชาการอาจจะมองเรื่องของวัสดุที่เปลี่ยนไป รูปทรงที่เปลี่ยนไป สีสันที่เปลี่ยนไปบ้าง
เติมศักดิ์- กระเบื้องสีที่หายไป
สายันต์- กระเบื้องสีที่หายไป ความบาง ความหนา คือเทคนิคการใช้ปูนดำ ปูนขาว
เติมศักดิ์- ครับ
สายันต์- แต่ว่าถ้าดูในๆ โซเชียลมีเดีย การวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย เขาจะพูดถึงเรื่องความงามสะส่วนใหญ่ เพราะว่าความงามคนทุกคนสามารถที่จะระบุมาได้ ระบุได้ ไม่ใช่เฉพาะนักวิชาการเท่านั้น
เติมศักดิ์- คือหมายถึงยังไงครับ ภาพรวม ภาพที่เราเห็น
สายันต์- ภาพที่มองเห็นทั้งระยะไกลและระยะใกล้นะครับ ระยะไกลคือดูจากไกลๆ ดูภาพทั้งองค์ ทั้งกลุ่ม ว่ามันเป็นอย่างไร
เติมศักดิ์- ครับ
สายันต์- วันนี้ที่ทุกคนส่วนใหญ่บอกมองแล้วมันขาวโพลนไปหมด ขาวโพลนไปหมด ก็อาจจะเกิดดรามาเรื่องสีขาวสีดำ
เติมศักดิ์- ครับ
สายันต์- แต่คำว่าขาวโพลนมันหมายความว่าองค์ประกอบพระปรางค์กับเจดีย์บริวาร อันนี้ต้องพูดรวมกันเพราะมันเป็นคอมเพล็กซ์ มันเป็นชุด ทั้งองค์ใหญ่ องค์เล็กอยู่ด้วยกัน มองแล้วมันเป็นไม่มีมิติ ไม่มีความลึก มองแล้วไม่เห็นเงาตกที่มันก่อให้เกิดเห็นว่าสีสันต่างๆ เดิมที่ใช้กระเบื้องหลากสี มันก่อให้เกิดปริมาตร
เติมศักดิ์- ครับ
สายันต์ - ปริมาตรของประติมากรรมทั้งบาง ทั้งหนา ทั้งที่เป็นรูปเกือบลอยๆ ตัว พวกยักษ์ พวกลิง อะไรต่างๆ อันนี้ความมิติเรื่องของแสงเงามันหายไป
เติมศักดิ์- มิติเรื่องแสงเงา
สายันต์- เรื่องแสงเงา
เติมศักดิ์- สีสันด้วย
สายันต์- สีสันเพราะว่าความลึกมันหายไป ความลึกในการอัดแน่นของปูน ในการอัดแน่นของปูนลงไประหว่างช่องเซรามิกชิ้นเซรามิกมันหายไปนะครับ คือมันเติมจนเต็ม
เติมศักดิ์- ครับ
สายันต์- เติมจนล้น
เติมศักดิ์- เติมจนล้น
สายันต์- แล้วก็พื้นที่ส่วนใหญ่ปูนมันไปเคลือบบนผิวเซรามิก มันก็เลยเห็นขาวโพลนไปหมด
เติมศักดิ์- เอาปูนไปเคลือบบนผิวเซรามิก
สายันต์- ก็คือมันเลอะ เติมมันจนล้นนะครับ เดิมการฝังชิ้นเซรามิก เขาจะฝังให้มันลอยตัวขึ้น ฝังให้มันลอยตัวขึ้นมามันมีความลึกลงไป และก็พื้นหลังมันจะเป็นปูนขาวๆ หรือไม่ก็เป็นเซรามิกอีกชั้นหนึ่ง มีความต่าง มีความต่างกัน ทุกพื้นที่จะเป็นอย่างนั้นๆ โดยเฉพาะบนตัวประติมากรรมยักษ์ ลิงต่างๆ เนี่ย มันตชจะมีเครื่องประดับ การประดับเครื่องประดับแต่งให้เห็นว่ามันมีอะไรคล้องไว้ มันมีอะไรประกบไว้ คือทำเป็นสันนูนขึ้นมาก่อน แล้วถึงจะเอาเซรามิกแปะลงไป เพราะฉะนั้นระหว่างผิวของแขน
เติมศักดิ์- ครับ
สายันต์- ที่มันมีกำไลขึ้นมา กำไลมันจะนูนขึ้นมาก่อน แต่ปัจจุบันนี้มันถมปูนเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นกำไลกลายเป็น กลายเป็นส่วนหนึ่งของแขน
เติมศักดิ์- โอ้โห ครับ
สายันต์- มันฝังอยู่ในนั้น สังวาลย์แต่เดิมมันนูนขึ้นมา มันฝังแนบกลายเป็นลายของเนื้อผ้าไป
เติมศักดิ์- มันก็เลยแบนราบไปหมด ขาดมิติ ขาดความลึก
สายันต์- แบนราบ ขาดมิติ ขาดความลึก แล้วเนื้อเซรามิก ชิ้นเซรามิกที่มันหายไป ที่ท่านกรมศิลปากรบอกว่าเอาออกไป แสนสองหมื่นชิ้น มันก็เป็นปัญหาว่า ที่ทำใหม่กลับเอามาเติม ทำไมแสนสองหมื่นชิ้นมันยังดูบาง ดูโล่งไปหมด ดูโล่ง ดูโปร่ง จะเห็นแต่ปูนขาวเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นส่วนที่หนาแน่นเซรามิกเดิมมันหนาแน่นมาก วันนี้ทุกคนดูไปอ้าวมันโหลงเหลงไปหมด ความรู้สึกก็เปลี่ยนๆ เพราะฉะนั้นไอ้คุณค่าของเดิมที่มันอาจจะดูดำๆ ดูเก่าๆ แต่นั้นอาจจะเป็นความงามชุดหนึ่งที่คนติดตาตรึงใจกันมานาน
เติมศักดิ์- เป็นเคยชิน
สายันต์- เคยชินแล้ว เคยชิน แล้วก็เห็น แล้วก็ประทับใจ อย่างนี้เขาเรียกว่าคุณค่าของความเก่าๆ มีนัยยะของอดีตอยู่ในตัวชัดเจน มองเห็นปั๊ป impressive ประทับใจเลย ถ่ายรูปออกมา มุมแสงต่างๆ ประทับใจ ทุกคนประทับใจได้ ไม่จำเป็นต้องเรียนโบราณคดี ไม่จำเป็นต้องเป็นช่าง
เติมศักดิ์- ครับ
สายันต์- เพราะฉะนั้นพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นแลนด์มาร์คทางการท่องเที่ยว ททท.เอาไปเป็นตราททท.เองนะฮะ มันไม่ใช่เป็นแลนด์มาร์ค ของประเทศไทยเท่านั้น เป็นแลนด์มาร์คของโลกด้วยซ้ำไป
เติมศักดิ์- ที่อธิบดีพยายามอธิบายว่าสีดั้งเดิมขององค์พระปรางค์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากต้นฉบับนี้นะ
สายันต์- ใช่ เป็นสีขาว เดิมพื้นเป็นสีขาว แต่พื้นไม่ได้ลอยออกมา
เติมศักดิ์- ครับ
สายันต์- พื้นมันอยู่ลึก ส่วนใหญ่แล้วในเซรามิกมันจะลอยออกมา เขาจะทำให้ตัวเซรามิกมันลอยออกมา เพราะฉะนั้นพื้นที่เป็นขาวๆ มันจะอยู่ใต้ แยู่ๆ ต่ำกว่าเซรามิกนะ เพราะฉะนั้นเวลาๆ โดนแสง แสงตกลงมากระทบมุมต่างๆ ปูนเหล่านั้นจะไม่กระโดดออกมาข้างนอก เพราะมันจะมีเงาของเซรามิก เงาออกไปทางซ้าย เงาออกไปทางขวา เงามันคลุมเนื้อปูนอยู่นะครับ
เติมศักดิ์- ครับ วันนี้แวดวงศิลปินเขาวิพากษ์วิจารณ์กันยังไง เท่าที่อาจารย์สัมผัสครับอาจารย์ครับ
สายันต์- เขาบอกว่า เขาสูญเสียตัวอย่างๆ ศิลปกรรมนะ ศิลปะที่เขาเรียกว่าเวิ้ง
เติมศักดิ์- เวิ้ง
สายันต์- เขาบอกศิลปะในกลุ่มมันมี ศิลปะในวัด ในวัง ในเวิ้ง เวิ้งหมายคามว่าเป็นศิลปะดูมันอยู่ในภูมิทัศน์ อันนี้เขาเรียกว่าภูมิทัศน์ทางศิลปะ คือเดิมต้องนั่งเรือ ถ้านั่งเรือเข้ามาทางปากน้ำเนี่ย จะเห็นพระปรางค์วัดอรุณฯ และก็มีชุมชน มีหมู่บ้าน ต้นไม้อะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นความงามจะประกอบอยู่ในเวิ้ง มีน้ำ มีหมู่บ้าน
เติมศักดิ์- คือต้องมีบริบท
สายันต์- มีบริบท
เติมศักดิ์- Context
สายันต์- ครับๆ แล้วสมัยก่อนเราอาจไม่ได้ขึ้นไปดูใกล้ แต่งานที่เขาทำไว้ มีวอร์รูมเยอะๆ มีมิติ ความลึก ความตื้นเยอะๆ และมีสีสัน เวลาถูกต้องแสง ดูไกลๆ มันก็เห็นสี ส่วนที่เป็นสีขาวมันถูกลบด้วยเงา
เติมศักดิ์- ครับ
สายันต์- วันนี้เมื่อบูรณะด้วยสีขาวทั้งหมด แสงต้องมาทางไหน แล้วมันก็แบน มันก็เห็นเป็นสีขาวทั้งหมด เพราะฉะนั้นความรู้สึกมันเปลี่ยนไปหมด
เติมศักดิ์- ซึ่งเรื่องนี้ช่างโบราณเขาคิดมาแล้ว
สายันต์- เขาคิดมาแล้ว เขาออกแบบมาแล้ว
เติมศักดิ์- แสง เงา ตกกระทบยังไง เกิดภาพแบบไหน
สายันต์- อันนี้ๆ กลุ่มศิลปินเขาบอกว่าช่างโบราณอันนี้ เขาออกแบบไว้ดีแล้ว แล้วก็ใช้เทคนิคการแปะ การฝังชิ้นเซรามิกประเภทต่างๆ กลุ่มต่างๆ ไว้ดีหมดแล้ว ดีทุกมุม การบูรณะครั้งนี้มันทำให้ทุกมุมมันแบนไปหมด
เติมศักดิ์- ตกลงการบูรณะการครั้งนี้มันทำให้อัตลักษณ์หายไป สุนทรียะหายไป
สายันต์- สุนทรียะหายไป สุนทรียะที่มันมีความแตกต่างในแต่ละชั้น แต่ละมุม แต่ละหน้ากระดาน ลวดบัวอะไรต่างๆ หายไป มันกลายเป็นเพนท์ไปหมด
เติมศักดิ์- ครับๆ ที่จริงก่อนบูรณะ งานโบราณคดี งานศิลปกรรมที่สำคัญต่อชาติบ้านเมือง มันต้องมีการทำวิจัยก่อนไม่ใช่หรอครับอาจารย์ ว่าของเดิมเป็นอย่างไร แล้วถ้าจะบูรณะ จะให้เหมือนเดิม จะให้มีคุณค่าทางศิลปะไม่สูญหายไป สุนทรียะไม่หายไป อัตลักษณ์ไม่หายไป จะทำยังไง ต้องมีการวิจัยใช่ไหมครับ
สายันต์- คือๆ แต่เดิมต้องบอกว่าโดยหลักการขั้นตอนขั้นแรกเลย ต้องศึกษาประวัติ ศึกษาลักษณะ บันทึกสภาพ ตรวจสอบความแข็งแรง ความชำรุดและศึกษาด้านความงาม อะไรต่างๆ วิจัยหลายๆ มิติทั้งหมดนะครับ
เติมศักดิ์ - ต้องบอกก่อนว่าอาจารย์อยู่กับกรมศิลปากรมา 18 ปี
สายันต์- ครับ 18 ปี
เติมศักดิ์ - สัมผัสกับงานพวกนี้มาเยอะนะครับ
สายันต์ - ครับๆ ผมเข้าทำงานปี 2524 เข้าปั๊ปก็ได้ทำงานที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ทำทั้งขุดแต่ง และก็ทำเรื่องบูรณะ แล้วก็ไปอยู่ที่เชียงใหม่ทางเหนือ ก็ทำงานพวกนี้ทั้งโบราณคดี บันทึก วิจัย แล้วก็บูรณะ คุมบูรณะ ออกแบบบูรณะด้วย
เติมศักดิ์ - ยุคที่อาจารย์อยู่กรมศิลปากร เวลาที่อนุรักษ์โบราณสถานหรือบูรณะโบราณสถาน เขามีวิธีคิด ขั้นตอนยังไง อาจารย์ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อย แล้วมันเกิดจุดเปลี่ยนยังไง เพราะอะไร อาจารย์เชิญครับ
สายันต์ - คือ สมัยก่อนมันไม่มีการจ้างเหมา
เติมศักดิ์ - ไม่มีการจ้างเหมา
สายันต์- ไม่มีการจ้างเหมาบูรณะ คือกรมศิลปากรทำเองทั้งหมด สมมุติทำที่อยุธยาฯ อยุธยาฯ เริ่มก่อน อยุธยาฯ ทำมาตั้งสมัยโบราณพญาโบราณราชธานี ทำโดยคนของราชการ ที่นี่ต่อมากรมศิลปากรไปรับผิดชอบ กรมศิลปากรก็มีนักโบราณคดี มีสถาปนิก มีวิศวกร มีช่างโยธา มีช่างศิลป์ และก็มีบรรดาช่างสิบหมู่ทั้งหลาย ช่างกระจก ช่างลายรดน้ำ ช่างสารพัด งานช่างกรมศิลปากรมีหมดเลย แล้วทำงานที่ใดที่หนึ่งก็จะจัดทีมไปทำ ซึ่งเป็นข้าราชการบ้าง เป็นลูกจ้างบ้าง ส่วนที่ไปจ้างเขา จ้างแรงงานชาวบ้าน
เติมศักดิ์ - อ๋อ
สายันต์ - มาเป็นลูกมือ มาผสมปูน มาอะไรต่ออะไร
เติมศักดิ์ - ที่เป็นแรงงาน แต่ว่าต้องถูกคุมแล้วก็หลักๆ ต้องเป็นช่าง
สายันต์ - ช่างๆ คือจริงๆ กรมศิลปากรงานสำคัญๆ ต้องทำเอง ทำด้วยช่างกรมศิลปากรเอง เพราะฉะนั้นงานสมัยก่อนที่ผ่านมาๆ ไม่ค่อยถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะหักประกันก็คือ เป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งหน้าที่เหมือนทำเองและมีทักษะ ต้องถูกฝึกมาผ่านการฝึกมาอย่างเข้มข้น แต่ว่าจุดเปลี่ยนมันก็มาถึงประมาณปี 2534 มันมีการบูรณะปราสาทหินโดยเฉพาะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยพนมรุ้งก็ทำด้วยกรมกรมศิลป์ทั้งหมดไม่ได้จ้างเหมาเลยแต่ว่าใช้เวลาถึง 20 ปี กว่าจะเสร็จ
เติมศักดิ์ - ครับ พนมรุ้งนี้ใช้เวลาบูรณะประมาณ 20 ปี
สายันต์ - ประมาณ 20 ปี ก็ค่อยๆ ทำไปคิดไป คือหาหินมาวางยังอะไรต่างๆ ก่อนหาหินมาครบ อันไหนขาดถึงหามาเติม โดยทำจากกรมศิลป์เองทั้งหมดไม่ได้จ้างโดยใช้เวลานาน โดยต้องฝึกคนด้วยที่นี้พอนานอย่างนั้นผู็้บริหารก็มองมันช้าเพราะส่วนใหญ่ผู้บริหารจะเข้ามารับตำแหน่งอยู่ได้ 2-3 ปีไม่เกิน 4 ปี ก็จะไปย้ายไปหรือไม่เกษียณบางท่านก็บอกว่ามันไม่ทันใจ ก็อยากให้ผลงานเสร็จในช่วงนั้น เสร็จในช่วงงบประมาณในช่วงอะไรต่างๆ ก็ไปออกแบบจ้างเหมาบูรณะ จ้างเหมาเอกชนที่คิดว่าทำงานได้บูรณะก็กำหนดออกมาบริษัทที่จะมาทำรับเหมา 1.ต้องมีนักวิชาการหลายท่าน ต้องมีผู้เชี่ยวชาญอะไรบ้างก็กำหนดกันไป ซึ่งระยะแรกๆ มันก็พอจะหาคนมาได้โดยเฉพาะคนที่เกษียณไปแล้วจากกรมศิลปากรเพราะไม่เกินกำหนดอายุ คนที่เกษียณไปแล้วก็มีประสบการณ์ ก็ไปมีชื่อในทีมงานบริษัทอะไรต่างๆ ก็เกิดการจ้างเหมาขึ้นมา ครั้งแรกก็ที่ปราสาทเมืองสิงห์แต่ครั้งนั้นก็ถูกวิจารณ์อย่างเหลวแหลกเลยนะครับ
เติมศักดิ์ - ที่วิจารณ์ยังไงบ้าง
สายันต์ - คือวิจารณ์เรื่องการบูรณะประตูทางเข้าของปราสาทเมืองสิงห์มันผิดรูปแบบ เขาบอกมันดูไม่ได้เลย
เติมศักดิ์ - ตอนนั้น ปัญหามันเกิดจากอะไร มันเกิดจากไม่ได้ศึกษา
สายันต์ - มันเกิดจากมันเป็นศิลาแลงมันพังทลายทั้งหมดไม่มีเหลือลวดลายอะไร ถ้ามีลวดลายเอามาต่อกันได้ ที่มันพังไปแล้วยกมาต่อๆ มันก็เห็น แต่นี่มันเป็นศิลาแลงไม่เห็นลวดลายอะไรเลยเพราะอย่างนั้นออกแบบมันก็ด้นขึ้นไปว่าอย่างนั้นเอาอย่างนี้ วางอย่างนี้ เพราะอย่างนั้นมันก็ดูไม่ได้ บรรดานักวิชาการต่างๆ ก็วิจารณ์กันต่างๆ ในปัจจุบันก็ยังอยู่อย่างนั้น ก็ไม่สามารถจะแก้ไขได้ หลังจากนั้นก็มีการจ้างเหมาบูรณะเจดีย์หลวงก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไปต่อเติมจนเต็มต่างๆ จนผิดรูปแบบ วัดพระสิงห์ วิหารลายคำและก็อีกหลายๆ อย่าง จนตอนนี้ 25 ปี มาแล้ว
เติมศักดิ์ - เป็น 25 ปี ที่เกิดจุดเปลี่ยนว่าต่อไปนี้เป็นการจ้างเหมา ตั้งแต่ 2535 จนบัดนี้ และมีปัญหามาตลอด เพราะว่าขาดความรู้ความเข้าใจฝีมือไม่ถึง
สายันต์ - เพราะคือช่างที่เป็นคนลงมือบูรณะสมัยแรกๆ เขาจะหาช่างที่มีฝีมือ ช่างชาวบ้านบ้าง ช่างพื้นถิ่นอะไรต่างๆ และมีนักวิชาการของกรมศิลปากรไปคุมงานเข้มข้น งานหลายแห่งก็ออกมาดี หลายแห่งก็เละ เพราะ 1.ต้องการงานเร็วให้เสร็จตามกำหนดเวลา 2.ทักษะในการทำงานไม่พอ ประสบการณ์ของช่างไม่พอกับงานนั้นๆ คืออาจเป็นช่างปูนมาก่อน ช่างไม้มาก่อน พอเป็นงานของกรมศิลปากรงานที่ต้องอนุรักษ์ต้องเก็บของเก่าเอาไว้ สร้างใหม่ไม่มีปัญหา แต่การซ่อมไม้เดิม วัสดุเดิมมีปัญหามาก
เติมศักดิ์ - การบูรณะ อยากให้อาจารย์อธิบายว่าหลักการต้องให้เหมือนเดิมให้มากที่สุดทั้งในแง่ศิลปะ ในแง่ของวัสดุอะไรต่างๆ ด้วยใช่ไหมครับอาจารย์
สายันต์ - คือ การอนุรักษ์เราไม่รับเฉพาะ คือวัสดุเก่านี่เราเปลี่ยนได้แต่ถ้ามันรักษาเอาไว้ได้ก็พยายามรักษาเอาไว้มากที่สุดถ้าเป็นไปได้ และ2.คือเราอนุรักษ์ความหมายมันด้วยเราอนุรักษ์คุณค่ามันด้วย เราอนุรักษ์ความงามมันด้วย เราอนุรักษ์ความเก่ามันด้วย ซึ่งอันนี้ไม่ค่อยได้คิดถึงกันเขาจะเอาแต่ตัววัตถุคือตัวนำมาทำไม่ค่อยได้สนใจว่าจะเอาอะไรมาอยู่ หรือว่าคิดเอาเฉพาะว่าถูกต้องตามทัศนะของนักวิชาการคือพอแล้วไม่ได้คิดถึงว่าชาวบ้านเขาจะว่าอย่างไร ไม่ได้คิดถึงว่าพระสงฆ์ท่านจะว่าอย่างไร ไม่ได้คิดถึงคนอื่นๆ ที่มีส่วนร่วม หรือเจ้าของว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร
เติมศักดิ์ - ครับ มันจะมีมิติของเรื่องชุมชน เรื่องสังคม
สายันต์ - พูดถึงเรื่องอำนาจด้วย เพราะว่า พ.ร.บ.โบราณสถานให้อำนาจกับกรมศิลปากรคนเดียว คนเดียวนะครับ รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจทุกเรื่อง เกี่ยวกับโบราณสถานโบราณคดีทั้งหมดกรมศิลปากรมีอำนาจคนเดียว
เติมศักดิ์ - อันนี้เรากำลังพูดถึงพระราชบัญญัติโบราณสถานฉบับเดิมหรือไม่ครับ
สายันต์ - ฉบับปัจจุบันที่ใช่อยู่ที่มีความพยายามแก้ไขอยู่ก็ยังเป็นอย่างนั้นอันนี้ผมบอกว่าการที่ผมบอกว่าอะไรใช้ได้แล้ว อะไรไม่ได้แล้วอยู่ที่กรมศิลปากรเท่านั้น นั้นคือการรวมศูนย์อำนาจมาแต่เดิมตั้งแต่ 2504 จนบัดนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นไม่ว่าเราจะมีกฎหมายกระจายอำนาจมีอะไรต่ออะไร เพราะมันถูกนิยามด้วยคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ถูกนิยามด้วยนักโบราณคดีอย่างผมแต่ก่อนผมก็นิยามอย่างนั้น ไม่ได้ชาวบ้านไม่รู้เรื่องคนอื่นไม่ได้เรียนไม่รู้เรื่องอย่าทำ ฉันทำอะไรก็ถูกที่สุด อย่างหนึ่งถ้ามีการฟ้องร้องในเรื่องแบบนี้ สู้ไม่ได้ ใครจะไปฟ้องว่ากรมศิลปากรทำผิดไม่ได้เพราะศาลให้อำนาจกับคนกรมศิลปากรว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เวลาไปให้การต่อศาล แต่ถ้าเวลารัฐกล่าวหาชาวบ้านคนใน และคนในกรมศิลปากรไปเป็นพยานในฝ่ายโจทก์รัฐ ศาลเชื่อว่าชาวบ้านทำเสียหายเพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะฉะนั้นโอกาสสู้ยาก
เติมศักดิ์ - แต่ถ้าชาวบ้านรู้สึกว่ากรมศิลปากรทำลายคุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่รู้จะฟ้องใคร มันเป็นเรื่องของอำนาจ
สายันต์ - ใช่มันเป็นเรื่องของอำนาจทางวิชาการและอำนาจทางกฎหมาย เพราะฉะนั้นวันนี้ คนที่เรียกว่าชาวบ้านเขารู้ทันละ เขารู้ว่าอะไรเป็นอะไร เขาก็มีความรู้ก็เรียนมาก็อ่านหนังสือ เพราะปรากฏการณ์ของวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารมันเป็นฟางเส้นสุดท้ายหรือฝีกัดหนองที่ระเบิดออกมา เมื่อไม่มีใครยอม วันนี้ไม่มีใครยอมละ
เติมศักดิ์ - เมื่อไม่มีใครยอม วันนี้ไม่มีใครยอมให้กรมศิลป์มาทำลายคุณค่าของพระปรางค์วัดอรุณฯ
สายันต์ - และแห่งอื่นๆ ตอนนี้มันกำลังลามย้อนกลับไปว่าตรงนั้น ก็เคยถูกทำลายตรงนี้ก็เคยถูกทำลาย เพราะอย่างนี้ เพราะแบบนี้ๆ มันก็จบลงที่ว่าเพราะการจ้างเหมหาใช่ไหม ทำไมกรมศิลปากรไม่ทำเอง ทำไมกรมศิลปากรไม่ทำไม่ทำด้วยช่างของกรมศิลปากรเอง
เติมศักดิ์ - จะบอกว่าบุคลากรขาดแคลนไม่ครับอาจารย์
สายันต์ - วันนี้บุคลากรมีมากกว่าสมัยที่ผมทำงาน สมัยผมทำงานมีไม่กี่คน
เติมศักดิ์ - บุคลากร ช่างศิลป์ ช่างสิบหมู่ไม่ขาดแคลน
สายันต์ - ผมว่าข้างในไม่ขาดแคลนแต่ปัญหามีว่าเขาได้ลงมือทำด้วยตัวเองหรือไหม ตัวช่าง ที่ผ่านมาเป็น 20 ปี เขาไม่รู้สึกว่าต้องลงมือทำด้วยตัวเอง เขาไม่ต้องไปโปกปูนเอง เขาจะเป็นแค่คนออกแบบและคนคุม เพราะฉะนั้นทักษะที่เกิดจากการลงมือทำด้วยตัวเองกับตัวนักวิชาการไม่มี เพราะการคุมช่างการคุมคนงานกับผู้รับเหมาไม่รู้สื่อสารกันอย่างไร อาจบอกว่าอย่างนู้นอย่างนี้อย่างนั้น การที่ต้องคุมได้เพราะฉะนั้นต้องทำเองด้วย นี้ไม่ได้ดูถูกว่าทำไม่ได้ แต่ไม่ค่อยได้ทำ เพราะฉะนั้นคนหนึ่งคนอาจคุมหลายแห่ง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปคุมหลายแห่ง เพราะการคุมต้องคุมทุกวัน ต้องดูเฉพาะงานหลักๆ งานสำคัญๆ ต้องดูอย่าละเอียด อย่างวัดอรุณฯ แต่ตารางฟุตมันไม่เหมือนกันเลย อย่างตรงนี้กับบนยอดก็ไม่เหมือน ในชั้นเดียวกันห่างออกไปศอกหนึ่งก็ไม่เหมือนกัน เพราะมันคนละอย่าง ลายมันคนละอย่าง ความชำรุดมันต่างกันเพราะฉะนั้นมันต้องดูทุกจุด
เติมศักดิ์ - ซึ่งจริงๆ แล้วต้องมีการลงในกระดาษก่อนใช่ไหมครับ จุดนี้จะทำอย่างไร
สายันต์ - คิดว่าลง แต่วันนี้เราไม่หลักฐาน เราไม่มีรีพอร์ตว่าลง วันนี้ผมพูดในฐานะคนนอก ศิลปินเขาอยากเห็น
เติมศักดิ์ - ทุกคนเขาอยากเห็น สิ่งที่ทุกคนอยากเห็นอยากศิลปากรวันนี้คือ 1.รีพอร์ต
สายันต์ - และแบบที่ออกมาเป็นอย่างไรว่าลักษณะอย่างนี้มีเขียนไว้ไหม จะต้องอะไรอย่างไรอาจเขียนไว้หยาบๆ ใช้ปูนตำ ปูนหมาก ใช้อะไรอย่างนี้
เติมศักดิ์ - ขั้นตอนการอนุรักษ์อย่างละเอียดจริงๆ ควรมี
สายันต์ - จริงๆ ควรมีอีกระดับ ไม่ใช่การเขียนไว้หยาบๆ ซึ่งผมไม่รู้เขาเขียนไว้อย่างไร เพราะเราไม่เห็น ส่วนใหญ่ก็จะมาว่าเอาหน้างาน เพราะว่าถ้ามันมีการบันทึกอย่างนั้นก่อนหน้าที่ช่างผู้รับเหมามาลง มันต้องมีการสร้างนั่งร้านไปถึงยอดก่อนเพื่อให้นักวิชาการขึ้นไปตรวจสอบครบทุกส่วน ถึงจะมาออกแบบ
เติมศักดิ์ -ต้องมีการตั้งนั่งร้านไปดูในทุกมิติทุกส่วนจนถึงยอด
สายันต์ - แต่ว่านั่งร้านที่สร้างขึ้นถึงยอดมันเพิ่งมีเมื่อ 2 ปีนี้เอง แต่ทำมา 5 ปี แล้ว
เติมศักดิ์ - หมายความว่าเกิดขึ้นในช่วงลงมือแล้วใช่ไหมครับ จริงๆ ต้องมีแผนงานก่อนลงกระดาษก่อนว่าตรงไหนจุดไหนทำอย่างไร
สายันต์ - คือคงมีแต่ไม่ละเอียดผมเชื่อว่าไม่ละเอียดมันถึงออกมาอย่างนี้ คือแก้ไปหน้างานแก้ไป และปัญหาคือทักษะของคนงานไม่มีความสามารถด้านนี้
เติมศักดิ์ - คือมีการเปรียบเทียบว่าถ้าให้เขาไปซ่อมห้องน้ำรั่ว ซ่อมท่อน้ำ เขาคงโอเค
สายันต์ - ซึ่งเราก็สะท้อนใจในฐานะที่เคยอยู่ตรงนี้มาก่อนและเป็นคนทำงานด้านนี้ก็รู้สึกว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ โดยส่วนตัวผมเองผมเลยมาสรุปเอา ปัญหาเกิดจากระบบการจ้างเหมาว่าเป็นสาเหตุเลย
เติมศักดิ์- ซึ่งอาจารย์เห็นปัญหานี้มา 20 กว่าปี ตั้งแต่เขาเริ่มใช้ระบบนี้เห็นมาตลอด
สายันต์- ใช่ครับ ผมพยายามบอกว่ามันต้องแก้อะไรบ้างแต่สมัยนั้นเราตัวเล็กๆไม่มีใครฟัง
เติมศักดิ์- ทราบมาว่าอาจารย์เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับท่านอธิบดีกรมศิลปากรในปัจจุบัน
สายันต์- ครับเป็นเพื่อนรักกัน ท่านมีทิศทางของท่าน จริงๆน่าเห็นใจนะท่านมาอยู่ในภาวะช่วงที่ฝีมันจะแตกแล้ว มันอยู่ในวัฒนะธรรมการจ้างเหมามาโดยตลอดซึ่งตรงนั้นใครเป็นอธิบดีก็ต้องเป็นแบบนี้ เพราะว่างานอย่างนี้ทำคนเดียวไม่ได้ และอีกอย่างระบบจ้างเหมามันมีอิทธิพลพอสมควรในการกำหนดทิศทางการทำงานของกรมศิลปากร
เติมศักดิ์- กลายเป็นว่าระบบการจ้างเหมามีอิทธิพล สายันต์-ผมว่าไม่ได้ต่างจากกรมทางหลวง ไม่ได้แตกต่างจากกรมอื่นๆที่มันมีงบประมาณเยอะๆและมีผู้รับเหมา แต่ผู้รับเหมามีอิทธิพลไหม ผมว่ามีอิทธิพลอยู่ เพราะว่ามีเชื่อมโยงเครือข่ายข้างใน ข้างนอก
เติมศักดิ์- มาเจอข้อมูลว่าผู้รับเหมาของโครงการบูรณะพระปรางค์ กรรมการบางคนมีปัญหากับ สคบ.มาแล้ว
สายันต์- ครับ เป็นความสามารถของคนค้นหาข้อมูลมา หลายๆแห่งมีปัญหาอยู่ มีบัญชีดำ แต่ว่าอันนี้คือระบบราชการอย่างหนึ่งที่ต้องปฏิรูป และที่สำคัญคือ ระบบงานจ้างเหมาทำศักยภาพของนักวิชาการในกรมศิลปากรด้อยลงไป เพราะไม่ได้ลงมือทำเอง บรรจุเข้ามาก็คุมงานเลย จบป.ตรีเข้ามาบรรจุ และถูกจัดให้เข้ามาเป็นกรรมการผู้ควบคุมงาน เป็นกรรมการตรวจงานจ้างซึ่งจบป.ตรี ไม่มีประสบการณ์อะไรเลย เพราะฉะนั้นจะถูกผู้รับเหมารุ่นพี่บ้าง คนของนายบ้าง ข่มขู่เอา อะไรแบบนี้ ถูกกดถูกขู่ ใครที่แข็งข้อมีปัญหา
เติมศักดิ์- การได้เห็นภาพพระปรางค์วัดอรุณฯในสภาพแบบที่เห็นนี้ หลังการบูรณะ มันฟ้องอะไรหลายอย่างเลยเกี่ยวกับการบูรณะโบราณสถานของเรา
สายันต์- ผมเห็นว่ามันถึงจุดที่ต้องปฏิรูปเต็มรูปแบบแล้ว แต่น่าเสียดายว่าจริงๆเคยพูดเรื่องพวกนี้ให้กับคณะกรรมการปฏิรูป แต่มันไม่มีอะไรปรากฎในแผนปฏิรูปเรื่องเหล่านี้
เติมศักดิ์- คณะกรรมการปฏิรูปที่อยู่ใน สปท.
สายันต์- เพิ่งหมดอายุไป เขาเคยเป็นรุ่นพี่ อธิบดีเมื่อก่อนและเป็นอนุกรรมการ ฝากบอกไปว่าประเด็นเหล่านี้นะ ที่ควรจะปฏิรูป และท้ายที่สุดผมไม่เห็นอะไรมันเกิดในแผนปฏิรูปขึ้นมา ซึ่งไม่รู้เมื่อไรเปลี่ยนแปลงได้ คาดหวังวันนี้ถ้าเราปฏิรูปตรงนี้ การบูรณะโบราณสถานที่มันออกมาแล้วไม่เป็นที่พึงพอใจของคนส่วนใหญ่ ไม่ทำให้โบราณสถานเสียหายต้องหยุดการจ้างเหมาบูรณะ ต้องหยุดเลย แล้วมาทบทวนว่าอันที่จ้างมาแล้วต้องจัดการควบคุมให้มันดี และเปิดให้เจ้าของพื้นที่ เปิดให้คนนอกเข้าไปมีส่วนร่วมในการควบคุมด้วยอย่างเข้มข้น ผมมองขั้นว่าต่อไปอำนาจอธิบดีกรมศิลปากรควรลดลง ไม่ใช่รวมศูนย์ที่คนๆเดียว ถ้าท่านเป็นคนดีท่านก็อยู่ไม่ได้ ถ้าท่านเป็นคนไม่ดีท่านก็ร่ำรวย เพราะท่านมีอำนาจคนเดียว งานศิลปากรรมการบูรณะ สตง. ตรวจไม่ได้ เพราะมันไม่มีสูตร
เติมศักดิ์-ทุกวันนี้การควบคุมจาก สตง.
สายันต์- มันไม่มีสูตร มันมีแต่ปริมาตรเท่าไร ใช้ปูนเท่าไร ลายกนกปิดทองตัวเท่านี้ ควรราคาเท่าไร ไม่มีราคามาตรฐาน
เติมศักดิ์ - ครับ มันไม่เหมือนกับการทำถนนทำสะพาน อย่างนั้นมีมาตรฐานอยู่
สายันต์- ใช่ครับ เราวัดก็รู้แล้วว่าได้หรือไม่ได้ แต่ทำไปแล้วใครจะรื้อเจดีย์ สตง.จะไปรื้อเจาะดูไหมว่าแบบเท่านี้ ทำเท่านี้ อันนี้ตรวจสอบยาก และพูดถึงความงาม เอาอะไรมาวัด
เติมศักดิ์- มันเป็นนามธรรม ที่คุณบอกว่าสุนทรียะหายไป ฉันว่าแบบนี้
สุนทรียะ
สายันต์ - แบบนี้ก็สวยแล้ว ความงามแล้วกลายเป็นว่าแล้วแต่คนมอง ถามว่าคนส่วนใหญ่เขามองกันอย่างไร อาจจะเอามาเป็นความผิดไม่ได้ ในทางบ้านเมืองก็แล้วแต่ ความผิดทางสังคม
เติมศักดิ์ - อย่างพระปรางค์อรุณฯ ขอถามความรู้ครับอาจารย์ สมมุติว่าเสียงของสังคมพูดอย่างที่อาจารย์พูดเยอะๆ มันแก้ไขได้ไหมสิ่งที่ทำแล้ว สมมุติว่ามีการแก้ไขจริงๆนะ
สายันต์ - ผมว่าทำอะไรไม่ได้ คือถ้าทำจริง ทำได้ ต้องเลาะออกหมด แต่ถามว่าชิ้นส่วนเดิมที่เหลืออยู่มันจะหลุดออกมาหมดเลย เพราะมันถูกถมปูนเข้าไปทุกตารางนิ้วแล้ว การแก้ใหม่ ต้องเลาะปูนเก่าออก
เติมศักดิ์ - ซึ่งทำให้เกิดความเสียหาย
สายันต์ - เสียหายแน่นอน หมายความว่าเป็นแบบนี้เลย ไม่มีทาง ถ้าจะทำกะเทาะออกไปเกิดความลึกอะไรต่ออะไร ซึ่งหมายความว่าต้องเอาปฏิมากรไปแกะสลักใหม่ ไม่ใช่ช่างธรรมดาๆ เพราะว่าต้องรักษาของเดิมด้วย และที่มีอยู่แล้วถ้าเอาช่าง คนงานไปกะเทาะก็พังหมด ผมมองอย่างนั้นนะ
เติมศักดิ์ - ต่อให้แบบนี้ดังขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลอาจจะต้านทานกระแสนี้ไม่ได้แล้ว อาจต้องตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งว่าจะต้องทำอย่างไร ต่อให้เป็นอย่างนั้น โอกาสกลับไปแก้ไขอย่างไรบ้างครับอาจารย์
สายันต์ - ผมมองไม่เห็น เพราะเห็นทุกตารางนิ้วหมดเลย เสร็จสมบูรณ์แข็ง แน่นหมดแล้ว ถ้าต้องทำใหม่ไปกะเทาะทีละนิดๆ คงไม่มีใครกล้าทำ อาจต้องใช้เงินอีก 200-300 ล้าน คิดว่าอย่างนั้น ใจผมมองว่าเราต้องทนดูแบบนี้ต่อไป จนกว่าจะชินไปเอง ดูแล้วไม่มีทางแก้ไข ทางคณะที่ทำงานเขาบอกว่าสวยแล้ว พระท่านบอกว่าสวยแล้ว เราจะอย่างไร นอกจากบ่นไป ผมเชื่อว่าการบ่นเยอะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง
เติมศักดิ์ - อาจารย์อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูประบบ
สายันต์ - ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง วันนี้ต้องหยุดการจ้างเหมา และทบทวนใหม่ ที่จ้างเหมาอยู่แล้วเอาสเปค เอาคุณสมบัติของบริษัทมานั่งดูการใหม่ โดยรัฐบาลตั้งกรรมการขึ้นมาใหม่ กรรมการเฉพาะกิจชุดแรกที่ตั้งคือ กรรมการควบคุม หรือกรรมการมรดกโบราณคดีแห่งชาติ ซึ่งต้องลดอำนาจอธิบดีกรมศิลปากร ไม่ให้ตัดสินใจคนเดียว อันนี้ผม protech อธิบดีด้วย และ protech โบราณสถานด้วย protech คนทำงานกรมศิลปากรด้วย ถ้าคุณตัดสินใจผิดตายหมดเลย
เติมศักดิ์ - ครับทุกวันนี้บูรณะในภาพรวมที่กรมศิลป์มี หรือระบบที่มี เราไม่มีระบบกรรมการกลางควบคุมการดูแลการบูรณะ มรดกสำคัญ
สายันต์ - กรรมการที่เหนืออำนาจอธิบดี ไม่มี มีแต่กรรมการที่อธิบดีตั้ง อยู่ใต้อำนาจอธิบดีข้อที่ผมเสนอว่าตั้งคณะกรรมการระดับชาติที่ต่อไปมีรัฐสภาผ่านการคัดเลือก มาจากรัฐสภา ให้อธิบดีกรมศิลปากรเป็นเลขานุการเท่านั้น และอธิบดีกรมศิลปากรเอานโยบายของคณะกรรมการไปปฏิบัติ ทีนี้ต้องแก้ พ.ร.บ.โบราณสถาน ซึ่งลดอำนาจเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิบดีและมีคณะกรรมการมีบอร์ดใหญ่ขึ้นมา บอร์ดชาติขึ้นมา รัฐมนตรีทำว่าเป็นประธานหรือรองนายกฯคนหนึ่ง นายกฯคนหนึ่งควรเป็นประธาน โบราณสถานสำคัญๆกรรมการต้องควบคุม ผมคิดว่าช่วยให้ดีขึ้น
เติมศักดิ์ - 1.หยุดการจ้างเหมาบูรณะ ที่กำลังทำกันอยู่ หยุดก่อน
สายันต์ - กำลังจะเกิดขึ้น ที่ทำกันอยู่ตรวจสอบให้ดี
เติมศักดิ์ - 2.กรรมการระดับชาติในการดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ
สายันต์- ยาวไปในอนาคตด้วย ซึ่งอันนี้น่าจะแก้ได้ ต้องมีนักวิชาการสาขาต่างๆ มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม และกระจายอำนาจให้มากขึ้น กระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่น ซึ่งควรกระจายอำนาจตั้งนานแล้ว ทางกรมศิลปากรบอกว่าไม่คนไม่มีความรู้ แต่จริงๆมันมีหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดการให้มีคนมีความรู้ต่างๆขึ้นมา ตอนผมเป็นคณบดี คณบดีโบราณคดี ผมเสนอทำหลักสูตรให้มีนักโบราณคดีท้องถิ่น
เติมศักดิ์ - นักโบราณคดีชุมชนใช่ไหมครับอาจารย์
สายันต์ - ผมเสนอให้มีหลักสูตรนักโบราณคดีสำหรับท้องถิ่นขึ้นมา จำเป็นเพราะว่ากฎหมายกระจายอำนาจให้กับ อบต. เทศบาล อบจ. สามารถจัดการศิลปะมรดกวัฒนธรรมได้ แต่อำนาจมันอยู่ที่กรมศิลปากร เพราะตอนนี้จะทำอะไรต้องเอาเงินมาให้กรมศิลปากร จ้างเหมาคนไปทำ ทำเองไม่ได้
เติมศักดิ์ - อำนาจรวมศูนย์ฯอยู่ที่กรมศิลปากร รวมศูนย์ฯอธิบดีด้วย
สายันต์ - ครับ การปะทะกันกรมศิลปากรกับท้องถิ่น วันนี้หลายพื้นที่ กรมศิลปากรเข้าส่วนพื้นที่ไม่ได้
สายันต์ - คนกรมศิลปากรเข้าพื้นที่ไม่ได้ เพราะหน้ามันซ้อนกันอยู่ หน้าไปซ้อนกับป่าไม้บ้าง เขตป่าไม้บ้างอะไรต่ออะไรข้าง แต่ภาคพื้นที่ถ้าไม่ถูกใจเขาก็ไล่ออกไม่ให้เข้าทำอะไรกันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นควรจะกระจายอำนาจด้วย กระจายอำนาจให้เต็ม ใน พ.ร.บ. ฉบับใหม่พูดถึงเหมือนกัน แต่ว่าอำนาจส่วนหนึ่งก็ยังอยู่ที่กรมศิลปากร แต่ว่าถ้ามีคณะกรรมการชุดใหญ่ คณะกรรมการชุดใหญ่จะดูท้องถิ่นด้วยดูกรมศิลปากรด้วย แล้วกรมศิลปากรก็จะทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่งก็คือว่าไปเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งตรงนะมันจะทำให้งานทั้งประเทศมันไปได้เร็วแล้วก็มีคนรับผิดชอบมากขึ้น
เติมศักดิ์ - แนวคิดอันนี้อยู่ในร่างพระราชบัญญัติโบราณสถานฉบับใหม่หรือยังครับ
สายันต์ - ไม่อยู่ คณะกรรมการไม่มี คณะกรรมการที่เหนือไปจากอธิบดีนี้ไม่มี
เติมศักดิ์ - แต่เข้าใจว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ที่ตอนนี้ยังอยู่ในสภาใช่ไหม คือหมายความว่ายังค้างอยู่ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารแล้วก็ไม่ได้มีความคืบหน้า
สายันต์ - ไม่มีๆ
เติมศักดิ์ - คือเจตนารมณ์เดิมก็คือต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างที่อาจารย์ว่าแต่ไปๆมาๆมันกลายเป็นว่าไปกีดกัน การมีส่วนร่วมของชาวบ้านอย่างนั้นหรือป่าวฮะ
สายันต์- คืออ่านแล้ว เป็นอย่างนั้นผมอ่านรายละเอียดหมด เป็นอย่างนั้นว่ายากขึ้น ชาวบ้านเข้าถึงยากขึ้น เพราะต้องผ่านอะไรต่ออะไรอีกมากมายซึ่งมันขัดกับกระแสโลกที่มันไป ว่าถ้าจะให้ทุกคนเป็นเจ้าของ เขาควรจะทำอะไรได้บ้าง เพราะตอนผมทำวิจัย ผมเป็นนักโบราณคดีคนเดียว ผมไปทำได้ตั้งเยอะแยะ ก็ใช้เงินนิดเดียว ใช้เงินนิดเดียว มันก็ได้ทรัพยากรจากท้องถิ่นแรงงานเขาก็ฟรีชาวบ้านเขาทำแล้วเขาก็ได้ประโยชน์เขาก็ไม่คิดค่าแรง เพราะรู้สึกเป็นของเขา ผมทำวิจัยอยู่ 7 ปีใช้เงินไป สองล้านเอง เจ็ดปี
เติมศักดิ์- ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง
สายันต์ - เกี่ยวกับเรื่องการเสริมสร้างศักยภาพชาวบ้านในการมาดูแลแหล่งโบราณคดี ขุดค้นทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจากแหล่งโบราณคดีนั้น ก็ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งพูดได้ว่าชาวบ้านมีกำลังพอ ท้องถิ่นมีกำลังพอถ้ามีคนไปกระตุ้น ไปเป็น ดีๆ เราแทบไม่ต้องใช้เงิน เพราะท้องถิ่นก็มีเงิน นักการเมืองท้องถิ่นเขาก็สามารถที่จะหาทรัพยากรได้ที่จะสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาในท้องถิ่นแล้วชาวบ้านก็มีความรู้มากขึ้น ว่าไอนี้มันคือขวานหินนะ ไอนี้มันสำคัญอย่างไร วัดวาอารามเป็นยังไง จริงเขาทำได้อยู่แล้วไม่ได้ยากเย็นอะไร ไม่จำเป็นจะต้องไปใช้นักวิทยาศาสตร์จบปรัญญาเอกอะไรต่ออะไรมาความรู้พื้นฐาน
เติมศักดิ์ - ภูมิปัญญาชาวบ้าน
สายันต์- ภูมิปัญญาชาวบ้าน อนุรักษ์ได้ ทำได้
เติมศักดิ์- อาจารย์เขียนไว้ในเฟซบุ๊กว่า ทุกวันนี้ทฤษฎีการอนุรักษ์มรดกทางโบราณคดี โบราณสถานศิลปะ เราไปอ้างแนวคิด เอาไปวิ่งตามยูเนสโก
สายันต์- ครับ เราวิ่งตามฝรั่งตลอด คือเราไม่ได้มองว่าฐานทิศทางเรื่องของการอนุรักษ์ที่เป็นฐานทิศบ้านเรา คนไทย ตะวันออกเขาคิดอะไรกัน เขาเชื่ออะไรกัน แต่เราก็คอยว่าฝรั่งจะเขียนอะไร จะบอกอะไร จะกำหนดอะไรออกมา พอกำหนดอะไรออกมาเราก็เฮ รับมาแล้วก็งูๆ ปลาๆ เงอะๆงะๆ แปล บางทีแปลก็ไม่ตรง แล้วก็รีบเอามาบังคับใช้กัน อาจจะไม่ได้กำหนดไว้ในตัวกฎหมาย แต่ว่า โอโห้ นี้ต้องแบบนั้นแบบนี้ ไม่อย่างนั้นยูเนสโกจะว่าเรา ไม่อย่างนั้นเราจะไม่เป็นสากล
เติมศักดิ์- มาตรฐานยูเนสโกบอกอย่างนี้ ว่าต้องบูรณะ อนุรักษ์ แบบนี้
สายันต์- แต่จริงๆ เขาบอกหลักการทั่วไปแต่ดีเทลที่จะลงแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน
เติมศักดิ์- เพราะมันเป็นภูมิปัญญาแต่ละที่
สายันต์- ใช่ ยูเนสโกก็ไม่เคยทำอะไรในเมืองไทย ไม่รู้จัก ใช่ไหม ไม่รู้จักปรางค์ฐานที่เป็นอิฐ ไม่รู้จักอะไรต่ออะไรที่ คือเขาพูดหลักทั่วๆไป แต่พอเรามาทำหรือบางคนไปเรียนต่างประเทศมา ก็จะเอาสูตรนั้นมาใช้กัน แล้วก็อ้างตั้งเป็นทฤษฎีต่างๆ ซึ่งตั้งแต่ปี 2542 ผมเลิกใช้ทฤษฎีพวกนี้ ผมไม่เชื่อเลย ผมเลิกเลย
เติมศักดิ์- อะไรที่ทำให้อาจารย์เกิดจุดเปลี่ยนอย่างนั้น
สายันต์- ผมรู้สึกว่า พอทำแล้วเรามีศัตรูเยอะขึ้น เพราะอะไร เพราะเราก็เอาความรู้แบบทฤษฎีไปกดชาวบ้าน ไปกดคนที่เขาไม่ได้เรียน เขาก็ไม่พอใจเพราะเขาไม่รู้เรื่อง จริงๆเขาก็ทำของเขามาอยู่แล้ว ตอนหลังผมรู้สึกว่า ศัตรูเราเยอะขึ้นคนเกลียดเราเยอะขึ้น อย่างที่วันนี้คนวิจารณ์กรมศิลป์เยอะแยะ เพราะมันพูดคนละภาษาแล้วก็ความมุ่งหมายต่างกันจริงๆ เราต้องการจะทำอย่างนี้ ด้วยกันนั้น แต่พูดคนละภาษามันกลายเป็นเรื่องยากเป็นภาษายากเป็นภาษาวิชาการ พอผมมาทำโบราณคดีชุมชนอะไรที่มันยากผมทำให้มันง่ายหมดพูดภาษาชาวบ้าน ใช้ภาษาชาวบ้านแล้วก็ให้ชาวบ้านเขาเป็นคนลงมือทำ แต่อยู่ในสายตาเราแล้วเขาก็จะถามเราว่าอันนี้ได้ไหมอาจารย์ อันนี้ได้ไหมอาจารย์ ถ้ามันได้ พอได้ เขาก็รู้สึกว่าเขาไม่ต้องเรียนสูงเขาก็รักษามันได้ เก็บมี่ส่วนร่วมได้ภาคภูมิใจได้ แล้วที่สำคัญคือ สมเด็จพระเทพเสด็จไปดูงานโบราณคดีชุมชนผมสองครั้ง ที่หมู่บ้านเล็กๆ ที่เมืองน่าน ชาวบ้านดีใจกันใหญ่ ว่าสิ่งที่เขาทำด้วยตัวของเขา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินมาดูเพราะฉะนั้นก็ทำให้รู้สึกว่าวิธีการง่ายๆ อย่าง ทำไมเราไม่ทำถูกๆแล้วผมก็บอกว่าทฤษฎีฝรั่งไม่ใช้แล้ว ผมก็มาดูงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทฤษฎีการพัฒนา การอนุรักษ์เต็มไปหมดสารพัดอยู่ในนั้นทำได้ทั้งหมด แล้วก็พอเอาไปพูดกับชาวบ้าน เขาเข้าใจ ชาวบ้านเข้าใจทฤษฎีในหลวง เข้าใจวิธีคิดของในหลวง เข้าใจวิธีปฏิบัติ แล้วเขาก็ภูมิใจที่ได้เอาตัวนี้ไปใช้ร่วมกัน เศรษฐกิจพอเพียงเอย แล้วอีกอันก็คืองานของท่านพุทธทาส ทั้งหมด ผมว่า วิธีปฏิบัติในหลวง วิธีปฏิบัติในหลวง ร.9 กับ ท่านพุทธทาสที่ผมนำมาใช้เป็นครูของผม โอ้มันใช้ได้คุ้มค่ามาก มันใช้แล้วรู้สึกทุกคนเอาด้วย ชาวบ้านเขาก็ดีใจ เขาได้ทำแล้ว วันนี้งานที่ทำไว้กับชาวบ้าน 16 ปีแล้วมันยังอยู่ ไม่ต้องเติมเงินอะไรลงไปเลย ยังอยู่ขุดค้นไว้เป็นยังไงสภาพเดิมเป็นยังไงเขารักษาไว้อย่างดี แล้วก็มีคนไปดูเป็นแสนๆคนเงินก็ไม่ได้เก็บไม่ได้เก็บค่าเข้าชมคือเราสร้างจิตวิญญาณของการให้ การเสียสละ การให้ ไม่ต้องการรับ เดียวนี้ ใครจะเอาเงินไปให้เขาก็ไม่เอา เขาพอแล้ว มีเงินพันล้านก็ซื้อปรากฏการณ์อย่างนี้ไม่ได้ ผมก็เลยบอกว่าถ้างานระดับชาติ สร้างการมีส่วนร่วมอย่างนี้เยอะๆ แทบไม่ต้องใช้งบประมาณเลยสักบาทเดียวถ้าจะบูรณะวัดอรุณฯ ด้วยจิตศรัทธาของผู้คนเงินพันล้านรับบริจาคแปบเดียวเท่านั้นเอง ถ้าเขาไว้ใจ ถ้าชาวบ้านไว้ใจหน่วยงานที่จะมาทำ คนที่จะมาทำตูมเดียวเงินเป็นพันล้านก็ได้แต่ขอให้ทำแล้วถูกใจคนที่บริจาคเป็นส่วนใหญ่ แต่วันนี้เราใช้งบประมาณโดยที่ชาวบ้านรู้สึกว่าภาษีมันคุ้มหรือป่าวจ่ายภาษีไปคุ้มหรือไหม จ่ายไปเป็นร้อยล้านหลายร้อยล้านและมันได้ออกมาอย่างนี้ วันนี้ 25 ปี ถ้าคำนวณ คร่าวๆ ว่าปีหนึ่งเราใช้เงินกับการจ้างเหมาไปปีละ 500 ล้าน ในส่วนของโบราณสถาน โบราณคดี นะฮะ ปีนี้ก้อ12,500 ล้านเข้าไปแล้ว 10,000 กว่าล้าน กับงานที่ออกมาที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะแยะมากมาย ในฐานะที่ผมเรียนด้านนี้ ผมทำงานด้านนี้ ก็รู้สึกมันจะต้องพูดอะไรบ้าง ควรจะต้องพูดอะไรบ้างไม่ได้ต้องการทำร้ายใคร
เติมศักดิ์ - สุดท้ายครับ อยากให้อาจารย์ได้ฝากบอกกับสังคมว่าเราได้รับบทเรียนราคาแพงมากจากกรณีบูรณะพระปรางค์วันอรุณฯแล้วออกมาเป็นอย่างนี้มันจะนำไปสู่การปฎิรูปแบบไหน ยังไงได้บ้าง อาจารย์เชิญครับ
สายันต์- ส่วนของเรื่องวันอรุณฯนะครับ ผมคิดว่ามันเป็นฝีระยะสุดท้ายที่แตกแล้วตอนนี้หนองกับเลือดมันไหลนองไปทั่วหมดแล้วอุดยังไงก็ไม่อยู่ ท่านอธิบดีกับท่านผู้อำนวยการกองอะไรต่างๆที่ออกมาพูดอะไรเยอะแยะ คงไม่มีใครฟังแล้วแหละ อันนี้พูดตรงๆนะฮะ ว่าคงไม่มีใครฟังแล้วแหละยิ่งพูดเขาก็จะยิ่งจับผิดในการโต้กลับกันมากมายแล้วจะยิ่งเครียดกันไปใหญ่
เติมศักดิ์ - ยิ่งพูดเหมือนยิ่งแก้ตัว
สายันต์- ยิ่งแก้ตัวเขาจะมองอย่างนั้นแล้วมันจะกลายป็นว่าหลายคนก็จะสืบลึกไปเรื่องนู้น เรื่องนี้ เรื่องนั้น
เติมศักดิ์- ความมีนอกมีใน
สายันต์- ใช่ ๆ ซึ่งผมดูในโซเชียลมีเดียแล้ว หนักหนาสาหัส เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าจะต้องรีบทำก็คือว่าเสนอจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเยียวยาสังคมเพราะว่าไม่มีใครฟังแล้วอันนี้ระยะสั้นเลย อีกสิ่งที่จะต้องทำก็คือว่า หนึ่ง ประกาศนโยบายยกเลิกระบบจ้างเหมาบูรณะซะ อันนั้นแหละผมคิดว่าจะทำให้สังคมเบาใจไปได้ระดับหนึ่ง ว่าเฮ้ยมันจะไม่เกิดแล้วนะแล้วก็หันมาทบทวนสิ่งที่ผ่านมานะครับแล้วก็สำหรับกัลยาณมิตรทั้งหลายที่ออกมามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นแล้วก็แสดงความรู้สึกเรื่องการสูญเสียอะไรต่างๆของวัดอรุณฯ อยากให้รวมตัวกัน รวมตัวกันเป็นพันธมิตรทางด้านมรดกของชาติ ซึ่งมีแนวคิดของศิลปินบางท่านเกิดขึ้นมาแล้วว่าเราควรจะรวมตัวกันตั้งเป็นคณะทำงานหรือเป็นสถาบันอะไรต่างๆที่ทำงานเหมือนกรมศิลปากรนี้แหละ แต่เราทำด้วยเป็นแบบภาคประชาสังคม มีศิลปิน สถาปนิก นักโบราณคดี มีช่างอะไรต่างๆ เข้ามาร่วมกันเป็นคล้ายๆ ฟอรั่ม หรือเป็นสถาบันขึ้นมาอันนี้เห็นในโซเชียลมีเดียแล้วแหละซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ ซึ่งตรงเน่าจะช่วยถ่วงดุลการทำงานฝ่ายเดียวของกรมศิลปากรแล้วก็รัฐ ซึ่งจะช่วยให้กรมศิลปากรปลอดภัยมากขึ้น มีเพื่อนทำงานร่วมกันแต่อย่าไปคิดว่าเขาตั้งมาเพื่อจะไปจับผิด คงไม่ใช่อย่างนั้นเพราะวันนี้สิทธิของภาคประชาชน เขาเริ่มใช้กันมากขึ้นแล้วเขาก็มีความรู้มีประสบการณ์มากมายนะฮะเพราะฉะนั้นต้องใจกว้าง วันนี้อาจจะเจ็บปวดกันบ้าง เจ็บปวดกันทั่วไป เพียงแต่ว่าต้องรีบทำใจแล้วก็ฝากผู้หลักผู้ใหญ่นะครับว่า อย่าเพิ่งย้ายอธิบดีเลย ให้ท่านได้ปฏิรูป ให้ท่านได้มีโอกาสปฏิรูปอย่างที่ผมว่าหรือท่านอาจจะมีความคิดอย่างอื่นที่มันดีกว่านี้ ไม่รู้นะฮะ เพราะว่าถ้าย้ายอธิบดีตอนนี้ก็ไม่มีความหมายอะไรเพราะว่าถึงคนอื่นมามันก็แค่เปลี่ยนคน แล้วก็คงไม่ได้ทำเพราะคนอื่นเขาไม่ได้ประสบทุกข์อย่างนี้เพราะฉะนั้นเขาจะไม่รู้ว่าเขาจะออกจากทุกข์อย่างไร ผมอยากให้คนที่อยู่ระหว่างทุกข์ได้ออกจากทุกข์ได้ ด้วยมือของตัวเอง
เติมศักดิ์ - วันนี้ได้ข้อคิดดีมากเลยครับอาจารย์ครับ ขอบพระคุณอาจารย์มากเลยครับ คนเคาะข่าวลาเท่านี้นะครับ ขอบคุณครับ