xs
xsm
sm
md
lg

“อดุลย์” ตรวจเยี่ยมคนเร่ร่อน/ขอทาน ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี จ.ปทุมธานี ติดตามงาน “Start up SE ธัญบุรีโมเดล ระยะที่ 2”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดินทางไปติดตามความก้าวหน้ากระบวนการดำเนินงาน “Start up SE ธัญบุรีโมเดล ระยะที่ 2” เพื่อฟื้นฟู พัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานอย่างครบวงจร ณ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี จ.ปทุมธานี

พล.ต.อ. อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้วางยุทธศาสตร์ไว้ว่าปัญหาเกี่ยวกับคนเร่ร่อนต้องดำเนินการต่อไป ท่านเน้นว่าเราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งจากการจัดระเบียบอย่างต่อเนื่องกว่า 7 ครั้ง ในระยะ 2 - 3 ปี พบคนเร่ร่อนราว 5,000 คน หากเป็นประเทศเพื่อนบ้านก็จะส่งกลับตามกระบวนการทางกฎหมาย

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ให้เป็นหน่วยงานหลักเพื่อบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาคนไร้ที่พึ่ง คนขอทาน อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ตั้งแต่ต้นทาง โดยการรณรงค์และป้องกันตามแนวคิด “ให้ทานถูกวิธี ลดวิถีการขอทาน” กลางทาง ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานอย่างเป็นระบบ ตามโครงการธัญบุรีโมเดล และปลายทาง ส่งต่อโครงการบ้านน้อยในนิคม ฝึกทักษะชีวิตเตรียมความพร้อม เพื่อคืนสู่สังคม

กระบวนการสำคัญ คือ การคุ้มครอง ฟื้นฟู พัฒนาศักยภาพตามโครงการธัญบุรีโมเดล ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2558 โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเน้นดำเนินงานใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ พื้นที่ คน กองทุน และการบริหารจัดการรายได้ นำร่องในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี จ.ปทุมธานี ด้วยกิจกรรมด้านเกษตรกรรมแบบยั่งยืน พัฒนาทักษะอาชีพตามความสนใจ ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนประเดิมเพื่อใช้ในโครงการจาก คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 ล้านบาท และขยายผลไปยังสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 10 แห่ง รวมเป็น 11 แห่งทั่วประเทศ มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ ผู้ใช้บริการในโครงการ ทั้งหมด 1,476 คน

ในจำนวนนี้ ได้เข้าร่วมโครงการบ้านน้อยในนิคม 246 คน เข้าสู่สถานประกอบการได้ 29 คน ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิต 94 คน สามารถกลับสู่ครอบครัวได้ 305 คน ซึ่งได้รับการตอบรับและการเยี่ยมชมศึกษาดูงาน จากหน่วยงานภายนอกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายประชารัฐในการขับเคลื่อนกิจกรรม ได้แก่ มูลนิธิวัดสวนแก้ว บริษัท ปันฝันปันยิ้ม บริษัทวงศ์พานิช บริษัทบางกอกกลาส บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) และบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น จากความสำเร็จดังกล่าวจึงได้ขยายผลการดำเนินงานธัญบุรีโมเดล ระยะที่ 2 ในปี 2560 โดยอาศัยกลไกความร่วมมือประชารัฐ ดร.มีชัย วีระไวทยะ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิประชาบดีกิจการเพื่อสังคม ดำเนินการในรูปแบบกิจการ Social Enterprise (SE) และ Corporate Social Responsibility (CSR)

กิจกรรมในวันนี้เป็นการแสดงผลงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนงาน Start Up SE ธัญบุรีโมเดล ระยะที่ 2 ประกอบด้วย นิทรรศการการพัฒนารูปแบบ SE ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3 โมเดล ได้แก่ นิคมเกษตรกรรมยั่งยืน Hope ผลิตภัณฑ์อาชีวะบำบัด และสินค้าต้นแบบสามชนเผ่า การจำลองกิจกรรมตามแนวคิด School-BIRD การเกษตรประณีต ร่วมกับมูลนิธิประชาบดีกิจการเพื่อสังคม การแสดงผลิตภัณฑ์ Bag Again ขยะรีไซเคิล ร่วมกับบริษัทปันฝัน ปันยิ้ม รวมทั้งการบริจาคเตียงจำนวน 89 เตียง จากสมาคมคลังปัญญาอาวุโสแห่งประเทศไทย

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ขอชื่นชมทุกฝ่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้มา 2 ปีเศษ ซึ่งเราก็ต้องเดินต่อไป โดยต้องบูรณาการหลายฝ่ายแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบทั้ง กทม. ตำรวจ สาธารณสุข ฯลฯ เพื่อจัดระเบียบคนเหล่านี้ต่อไป
“พม. ขอขอบคุณประชารัฐที่ร่วมกันนำสินค้าจากฝีมือคนเร่ร่อนขอทานที่ผลิตได้มาจำหน่าย เพื่อให้พวกเขากลับไปยืนในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี จากคนท้องถนนที่ไร้อนาคตก็มีความหวังกลับไป โดยในปี 2561เราจะทำให้ประเทศไทยมีคนเหล่านี้ลดน้อยลง และขอเชิญชวนประชาชนช่วยกันอุดหนุนผลิตภัณฑ์จากคนไร้ที่พึ่ง คนขอทาน เช่น ผักสดปลอดสารพิษ ไข่ไก่ กระเป๋า Bag Again เปิดบริการทุกวัน ในเวลาราชการสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี จ.ปทุมธานี โทร.02 577 1312 หรือ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร.1300”
กำลังโหลดความคิดเห็น