xs
xsm
sm
md
lg

อย่าเกลียดฉลาม ! “ดร.ธรณ์” วอนคนไทยเข้าใจฉลามซะใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จากเหตุการณ์นักท่องเที่ยวถูกปลาไม่ทราบชนิดทำร้ายบริเวณขานั้น ด้านรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กให้ความรู้ในเรื่องของฉลาม โดยย้ำว่า ฉลามมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ

วันนี้ (17 ส.ค.) เพซบุ๊กชื่อ “Thon Thamrongnawasawat” รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์รูปภาพ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นบาดแแผลจากฝ่าเท้าของนักท่องเที่ยวที่โดนปลาทำร้าย

โดยทาง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้กล่าวว่า จากบาดแผลดังกล่าวน่าจะเกิดจากปลาที่เป็นไปได้อยู่ 2 ชนิด 1 คือ ฉลาม 2 คือ ปลาสาก แต่ทาง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ให้เหตุผลของบาดแผลดังกล่าว ว่า

“จากประสบการณ์ของผม คิดว่า น่าจะเป็นฉลามขนาดเล็กมากกว่าปลาสาก ซึ่งเป็นกรณีกับที่แหม่มสาวเคยโดนกัดเมื่อเดือนกันยา ปี 58 ในบริเวณใกล้กัน ความคิดเห็นของผมตรงกับ ดร.ก้องเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมทะเล และผมให้สัมภาษณ์ไปเช่นนั้น ฉลามในที่นี้ อาจเป็นฉลามหูดำขนาดเล็ก ที่พบได้ทั่วไปในชายฝั่งของประเทศไทย โดยเฉพาะชายฝั่งภูเก็ต หรืออาจเป็นลูกฉลามขนาดใหญ่ชนิดอื่นที่เข้ามาเป็นครั้งคราว การระบุให้ชัดเจนว่า เป็นปลาประเภทใด อาจต้องอาศัยการวิเคราะห์กันต่อไป แต่ที่ไม่ต้องวิเคราะห์ คือ “กรุณาอย่าเกลียดฉลาม”

ผมบอกกับช่อง 3 และเพื่อนๆ นักข่าวที่โทร.มาสัมภาษณ์ชัดเจนว่า ผมไม่คิดว่าคนไทยต้องกลัวฉลาม โดยมีข้อมูลยืนยัน 2 ประการ อันดับแรก ปริมาณฉลามในน่านน้ำไทยลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด หลายชนิดเข้าขั้นวิกฤต บางชนิด เช่น ฉลามหัวค้อน ลดลงกว่า 90% ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี ข้อมูลอย่างเป็นทางการชี้เช่นนั้น ข้อมูลจากเหล่านักดำน้ำที่เคยเห็นฉลามในทะเลไทยมากมาย ก็บอกตรงกัน เดี๋ยวนี้หาฉลามดูยากเหลือเกิน อ้าว แล้วทำไมยังมากัดนักท่องเที่ยวได้ ? นั่นคือ คำตอบอันดับสอง ในปี 60 เราคาดการณ์ว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 25 ล้านคนไปทะเล (นักท่องเที่ยว 34 ล้านคนต่อปี ไปทะเล 75.5% ข้อมูลกระทรวงท่องเที่ยว) ยังไม่นับคนไทยอีกมหาศาลที่ไปเที่ยวทะเล ฯลฯ แต่ละปี มีคนไทยคนต่างชาติเล่นน้ำในทะเลไทยนับร้อยล้านครั้ง (คนหนึ่งไม่ได้มาแล้วเล่นน้ำครั้งเดียว) แต่ข่าวที่นักท่องเที่ยวโดนฉลามกัดบาดเจ็บ (ไม่ได้สาหัส) เกิดขึ้น 2 ปีครั้ง (ยุคนี้ข่าวสารเร็ว และอาจารย์ธรณ์ก็ทราบอยู่แล้ว) หมายถึงอัตราส่วนที่คนโดนฉลามทำร้าย อาจมีในหลัก 1 ต่อ 200 ล้าน น้อยกว่าหมากัด ผึ้งต่อย ฯลฯ ยังน้อยกว่าอัตราที่คนโดนแมงกะพรุนกล่องหลายเท่า

เมื่อคุณนักข่าวถามว่าควรทำอย่างไร ? คำตอบของผมเป็นเช่นนี้ เราไม่ควรเกลียดฉลาม ไม่ควรคิดทำร้ายเธอ ไม่ต้องกลัวเธอ เพราะลักษณะการกัด ฉลามไม่ได้คิดทำร้ายด้วยซ้ำ เป็นแค่สงสัยว่าเป็นเหยื่อหรือเปล่า เมื่อไม่ใช่ก็จากไป ไม่ใช่พยายามกินคนให้ได้เหมือนในหนัง (หนังที่ทำเกี่ยวกับฉลามไล่ฆ่าคน ควรแบ่งรายได้มาอนุรักษ์ฉลามด้วยซ้ำ เพราะผลกระทบมันเยอะ ผมเหนื่อยมาตั้งแต่สมัยหนังเรื่อง deep blue sea มีแนวคิดจัดแข่งกินหูฉลามเพื่อล้างแค้น) ในทางกลับกัน เราควรหาทางอนุรักษ์ ดูแลฉลาม ผลักดันให้ฉลามบางชนิดเป็นสัตว์คุ้มครอง (โดยเฉพาะฉลามหัวค้อน) และควรเลิกกินหูฉลาม (ตามสมัครใจ หากอยากให้เมืองไทยมีฉลามอยู่ต่อไปนานๆ) เพราะฉลามสำคัญต่อระบบนิเวศ ในฐานะผู้ล่าสูงสุด และฉลามแสนสำคัญต่อการท่องเที่ยวในแนวปะการัง เพราะโลกนี้มีคนอยากเห็นฉลามตามธรรมชาติ และมีมากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศประเมินมูลค่าฉลามต่อการท่องเที่ยวดำน้ำ ตลอดชีวิตฉลาม อาจสร้างรายได้นับหมื่นเหรียญหรือกว่านั้น (ขึ้นกับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ) และฉลามคือความสง่างามของท้องทะเล ทะเลที่ไม่มีฉลาม ก็ไม่ควรเรียกว่าทะเล สำหรับผม แมงกะพรุนกล่องเป็นสัตว์ที่ควรต้องระวัง ต้องหาทางป้องกัน ฯลฯ ขณะที่ฉลามเป็นสัตว์ที่เราควรเข้าใจ และหาทางรักษาพวกเธอไว้ครับ”

ทั้งนี้ ได้มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็น แนวความคิดของ “ดร.ธรณ์” เป็นจำนวนมาก พร้อมกับสนับสนุนให้คนไทยหันมาช่วยกันอนุรักษ์ปลาฉลามกันอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น