xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ช่างทำไปได้ มท. เวนคืนป่า สร้าง "วิลล่าแรงงานต่างด้าว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพมุมสูงบริเวณพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 200 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่า คลองหัวเขียว และป่าเกาะสุย จ.ระนอง กระทรวงมหาดไทยขอจัดโซนนิ่งเปิดให้เอกชนสร้างที่พักรูปแบบวิลล่าสำหรับแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีทั้งระบบรักษาความปลอดภัย, สนามกีฬา, ซุปเปอร์มาร์ท ฯลฯ (ภาพจากไทยรัฐ)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นประเด็นร้อน สำหรับกรณีการจัดโซนนิ่งแรงงานต่างด้าว โดยกระทรวงมหาดไทยในยุคที่มี “บิ๊กป็อก - พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการ เตรียมชง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอให้เพิกถอนสภาพป่าชายเลน 2 แห่ง ด้วยการขอยกเว้นกฎหมายผังเมืองเนื่องจากเป็นพื้นที่สีเขียว บริเวณหลังป้อมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 (ซอยหลังโรงเจ) ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง จำนวน 120 ไร่ และบริเวณบ้านปากคลอง หมู่ที่ 1 (ซอยแพแหวนทอง) ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง อีกประมาณ 73 ไร่ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองหัวเขียว และป่าเกาะสุย จ. ระนอง เพื่อให้เอกชนเข้ามาก่อสร้างโดยสัมปทานทำโครงการในรูปแบบวิลล่า

ทั้งนี้ อภิมหาโปรเจ็กต์ดังกล่าวแบ่งที่พักเป็นโซนให้อยู่อาศัยห้องละ 4 คน สำหรับแรงงานต่างด้าว รวม 64,212 คน แบ่งเป็นกลุ่มได้รับการพิสูจน์สัญชาตินำเข้าตามข้อตกลงระหว่างประเทศไทยกับพม่า จำนวน 39,850 คน และกลุ่มได้รับการผ่อนผัน จำนวน 24,036 คน ที่ส่วนใหญ่ยังคงพักอาศัยตามสลัมหรือกับนายจ้าง และวิลล่าแห่งนี้พร้อมด้วยระบบสาธารณูปโภค ทั้งการดูแลรักษาความปลอดภัย พื้นที่พักผ่อน สนามกีฬาออกกำลังกาย ร้านค้าซูเปอร์มาร์ท ฯลฯ

พลันที่ข่าวปรากฏก็เล่นเอามึนกันทั้งประเทศ เพราะไม่เข้าใจว่า ทำไมกระทรวงมหาดไทยถึงได้ตัดสินใจเช่นนั้น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าชายเลนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และกรณีการขอเพิกถอนสภาพผืนป่าฯ ให้แก่กลุ่มผู้อพยพหรือแรงงานต่างด้าว ลักษณะให้สัมปทานเอกชนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในรูปแบบวิลล่าไม่เคยมีในสาระบบมาก่อน

จะมีเพียงแต่ส่วนราชการด้วยกันขอใช้ป่าสงวนฯ เพื่อภารกิจในหน่วยงานราชการ เช่น จ.ตาก ขอใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ แก่แรงงานและผู้อพยพในรูปแบบการตั้งค่ายเพียงเท่านั้น ไม่เคยเปิดช่องในลักษณะดังกล่าว ซึ่งหาก ครม. อนุมัติโครงการฯ เท่ากับว่าป่าชายเลนบริเวณนี้จะหมดสภาพจากความเป็นป่าโดยปริยาย

กระทรวงมหาดไทยให้เหตุผลถึงการขอให้เพิกถอนสภาพป่าชายเลน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองหัวเขียว และป่าเกาะสุย จ.ระนอง ว่าเพื่อรับลูกนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวของที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย (อกคร.) ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2559 พิจารณาตามข้อสั่งการของ บิ๊กป้อม - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำหนดโซนนิ่งที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าว นำร่อง 2 จังหวัดที่มีปริมาณแรงงานต่างด้าวมากที่สุด จ.สมุทรสาคร และ จ.ระนอง

สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้สัมภาษณ์ถึงความเหมาะสมหากมีการนำพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณดังกล่าวไปสร้างวิลล่าแรงงานต่างด้าว ความว่า

สภาพพื้นที่ป่าชายเลนในบริเวณที่ขอเพิกถอน ขณะนี้ไม่มีสภาพของความเป็นป่าชายเลนแล้ว น้ำทะเลเข้าไม่ถึงมานานแล้ว อีกทั้งมีประชาชนจำนวนหนึ่งเข้า ไปบุกรุกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย คือเปลี่ยนสภาพจากป่าชายเลนเดิมไปหมดแล้ว ฉะนั้น การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต หลักการสำคัญคือ ต้องมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และสังคมเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพื้นที่จะเป็นป่าชายเลนที่ค่อนข้างเสื่อมโทรม แต่หาก ครม.อนุมัติ ให้มีการเพิกถอนให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวได้จริง ครม. เองจะต้องจัดงบประมาณเพื่อชดเชย ให้มีการปลูกป่าชายเลน เป็นจำนวน 20 เท่าของพื้นที่เดิม หรือไม่ต่ำกว่า 4,000 ไร่ ด้วย

คงต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า ความเหมาะสมนั้นวัดจากองค์ประกอบใด แต่หากยึดเกณฑ์เรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง นั่นเท่ากับว่า การเปิดช่องให้เอกชนสร้างวิลล่าแรงงานต่างด้าวบนพื้นที่ป่าชายเลนแห่งนี้คือหายนะอย่างแท้จริง

ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงทัศนะต่อประเด็นดังกล่าวว่า เหตุผลที่จะเอาพื้นที่ป่าชายเลนไปใช้ประโยชน์นั้นฟังไม่ขึ้น เรื่องแรงงานต่างด้าวไม่ใช่เรื่องของความมั่นคง หรือหาก ครม. อนุญาตให้ดำเนินการรัฐจะต้องจ่ายค่าชดเชย 20 เท่า หรือต้องให้งบประมาณเพื่อไปปลูกป่าชายเลนชดเชย ไม่ต่ำกว่า 4,000 ไร่ เอาพื้นที่ป่ามาแล้วไปหาที่ใหม่เพื่อปลูกชดเชยก็ไม่มีที่ไหนเขาทำกัน

“...ที่สำคัญคือ ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย เรื่องของการจัดการพื้นที่ป่าชายเลนคือ ต้องใช้ความพยายามในการเพิ่มพื้นที่ให้มากขึ้น หรือคงสภาพเดิมให้มากที่สุด...

“...เราไม่ควรเอาทรัพยากร อันเป็นสมบัติของชาติ ไปแลกกับการสร้างบ้านให้ชาวต่างชาติอยู่ ในขณะที่มีคนไทยจำนวนมากมาย ที่ยังอยู่ในสลัมแออัด ปราศจากคุณภาพชีวิต...”

หากพิจารณาในแง่สิทธิมนุษยชน พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นักกฎหมายผู้ปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า หากรัฐบาลมีเจตนาที่จะสร้างที่อยู่อาศัยให้กับแรงงานต่างด้าว เพื่อให้คนเหล่านั้น ได้ตามสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เท่าที่ควรจะได้รับก็เป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ไม่ใช่สร้างมาเพื่อการควบคุมกักขัง นอกจากนี้ ทุกคนก็มีบทเรียนร่วมกันแล้วว่า การปล่อยให้เกิดชุมชนในพื้นที่ใกล้น้ำและเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งในประเทศไทยก็เหลือน้อยอยู่แล้ว บริเวณดังกล่าวมักจะกลายเป็นแหล่ง เสื่อมโทรมตามมาทันที

อย่างไรก็ตาม หลังจากการตรวจสอบของทีมนักวิจัย ทช. เปิดเผยว่าตามที่กระทรวงมหาดไทยร้องขอเพิกถอนป่าชายเลน พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองหัวเขียว และป่าคลองเกาะสุย และอยู่ในเขตป่าชายเลนอนุรักษ์ ตามมติ ครม. ประกาศเป็นที่ดินของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ โดยมีสถานะทางกฎหมาย ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุก ไม่ใช่เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมแต่อย่างใด

ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นจากการตรวจสอบแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าป่าชายเลนทั้ง 2 แปลงนั้น เดิมเป็นป่าชายเลนสมบูรณ์ติดกับทะเล ก่อนจะมีการเริ่มมีการบุกรุกในปี 2553 หลังจากนั้นปี 2557 เริ่มมีการบุกรุกอย่างหนักถึงปัจจุบัน เป็นคดีความ คดีบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 9 คดีสำคัญ ซึ่งพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณนี้ มติ ครม. เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2543 ห้ามไม่ให้ใช้ประโยชน์ในป่าชายเลนทุกกรณีทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเปิดโอกาสให้ป่าชายเลนได้ฟื้นตัวสู่ความอุดมสมบูรณ์

และก่อนหน้านี้ทางองค์การการบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระนอง เคยขอใช้พื้นที่ในบริเวณใกล้เคียงกับทางกระทรวงมหาดไทยร้องขอการเพิกถอนสภาพป่าชายเลน ปรากฏว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่ตกลง ไม่ดำเนินการปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าชายเลน

การเพิกถอนสภาพป่าชายเลนเคลียร์ทางให้เอกชนสร้าง “วิลล่าแรงงานต่างด้าว” ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองหัวเขียว และป่าเกาะสุย จ.ระนอง พื้นที่ป่าชายเลนกว่า 200 ไร่ ที่ต้องสูญเสียไปถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าอย่างนั้นหรือไม่?

การเดินหน้าจัดโซนนิ่งแหล่งที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าวในครั้งนี้ ท้ายที่สุด กระทรวงมหาดไทยชงประเด็นโดยพิจารณาผลประโยชน์สูงสุดเพื่อประเทศชาติหรือเพื่อใคร?

 


กำลังโหลดความคิดเห็น