xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ-เอกชนร่วมมือ สศอ.หนุนพัฒนา “บิ๊กดาต้า” ยกอุตสาหกรรมไทยสู่ยุค 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยผลสำเร็จงาน “สศอ.ฟอรัม” ภาครัฐ -
เอกชน เข้าร่วมงานกว่า 2 พันคน พร้อมสนับสนุนการพัฒนา “บิ๊กดาต้า” เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ยุค 4.0 เผยทำแผนพัฒนา “บิ๊กดาต้า ฟอร์ไซต์” แล้ว 3 ด้าน


นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากผลสำเร็จในการจัดงานประชุมวิชาการ สศอ. (OIE Forum) ประจำปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนตลอดจนผู้ประกอบการ และภาคประชาชน เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 2,000 คน ทำให้เกิดการบูรณาการแนวคิด และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่อง “ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า (Big Data)” ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยกระดับอุตสาหกรรมของไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการสร้างเครือข่าย ที่ทำให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมทั้งระบบ รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ภาพอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และเสริมศักยภาพการทำงานให้สามารถรองรับและติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค, การเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ เครื่องจักร ของใช้ในครัวเรือน สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการบริการ เป็นต้น

ทั้งนี้ สศอ. ได้มีการจัดทำแผน และดำเนินการพัฒนาระบบ “บิ๊กดาต้า ฟอร์ไซต์” (Big Data for Foresight) แล้วทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. การสร้างทีมบุคลากร ด้วยการเร่งผลิตนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ด้วยการจัดหาผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาเป็นหัวหน้าทีมก่อน และในระยะยาว อยู่ระหว่างการเสนอขอทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อศึกษาต่อทางด้านนี้โดยตรง 2. การบริหารจัดการข้อมูล ในกรณีที่มีข้อมูลอยู่แล้วในแต่ละหน่วยงาน สศอ. จะหารือและจะทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการนำข้อมูลมาใช้ นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มเติมการจัดทำข้อมูลใหม่ๆ ในการใช้ระบบบิ๊กดาต้า เช่น การจัดทำระบบข้อมูล GIS เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการพัฒนาอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่ เช่น ที่ตั้งโรงงาน วัตถุดิบ/เครือข่ายการผลิต ระบบสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่ง และ 3. การพิจารณาจัดหาระบบซอฟท์แวร์ ที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลและการวิเคราะห์ข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างแบบจำลองดาต้า โมเดล ให้เหมาะสมกับประเภทข้อมูล และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์โลก


กำลังโหลดความคิดเห็น