“สศอ.” เตรียมจับมือ กฟน.-กฟภ.ยกระดับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) สู่ดัชนีการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมเพื่อเป็นสถิติในการวางแผนจัดหาไฟฟ้ารองรับในอนาคต พร้อมเตรียมเร่งพัฒนา Big Data วางรากฐานแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเสนอ “อุตตม” เห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) เปิดเผยว่า วันที่ 13 กรกฎาคมนี้ สศอ.เตรียมลงนามร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อการขอใช้ประโยชน์จากข้อมูลการใช้ไฟฟ้าเพื่อความเชื่อมโยงการใช้ไฟฟ้าสำหรับการจัดทำดัชนีอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหลักการดำเนินงานแบบสากลที่จะยกระดับการจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่มีอยู่ปัจจุบันไปสู่การจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำดัชนีการใช้ไฟฟ้าภาคการผลิตเพื่อการวางแผนการจัดหาไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
“สศอ.ได้จัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อยู่แล้ว เราก็จะยกระดับในสิ่งที่ดำเนินการด้วยการขอเพิ่มเติมในส่วนของค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้เพื่อที่จะทำเป็นดัชนีชี้วัดการใช้ไฟฟ้าแต่ละเดือน เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงความต้องการใช้ไฟภาคการผลิตซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการผลิตไฟรองรับต่อภาครัฐ” นายศิริรุจกล่าว
นอกจากนี้ ภายในเดือนมิถุนายนนี้ สศอ.เตรียมที่จะเสนอ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เห็นชอบแผน Big Data for foresight ตามที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับนำมาใช้ประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทย โดยมีการหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ภาพอุตสาหกรรมอนาคต (Industrial Foresight) ในการจัดทำแผนฯ สำหรับแผนการพัฒนาระบบ Big Data ได้แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ บุคลากร ข้อมูล และแบบจำลองอุตสาหกรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้ แผนการพัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)
1. บุคลากร จำเป็นต้องเร่งผลิตนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ซึ่งมีหน้าที่ค้นหาข้อมูลเชิงลึกและเป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องจัดหาและพัฒนาบุคลากรในด้านต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ได้แก่ นักวิเคราะห์ (Business Analyst) นักพัฒนาระบบ (Developer) และวิศวกรข้อมูล (Data Engineer)
2. ข้อมูล จำเป็นต้องพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลสถานการณ์และแนวโน้มทั้งในและต่างประเทศ เช่น ข้อมูลทางด้านสังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง (STEEP) ขีดความสามารถทางการแข่งขันของแต่ละประเทศ 3. แบบจำลองอุตสาหกรรม เป็นการพัฒนาขึ้นมาจากระบบ Big Data เพื่อสร้างแบบจำลองที่สามารถใช้ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม