MGR Online - หยุดดรามาหัวกระทิงแม่มะลิ กรมอุทยานฯชี้แจงเหตุต้องตัดไปเก็บรักษาเพราะเชื่อว่าต้องมีมือดีมาขุดเอาหัวแน่ เนื่องจากมีมูลค่าสูงถึงหลักแสนบาท ส่วนอีกเหตุผลคือต้องการนำไปศึกษารอยหยัก “พาลี” ที่ปรากฏบนเขา เพื่อเรียนรู้การประเมินอายุ หากปล่อยไว้จะถูกแมลงกัดแทะจนเสียหาย
วันนี้ (30 ก.ค.) จากกระแสโซเชียลมีเดีย เรื่องราวของกระทิงแม่มะลิ เกิดอุบัติเหตุติดหล่มโคลนกระทั่งชาวบ้าน และ ตชด. อ.ธารโต จ.ยะลา เข้าช่วยเหลือแต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา ระหว่างทำพิธีฝังมีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชบางลาง (หัวไทร) เดินทางมาตัดหัวกระทิง โดยไม่สนใจคำท้วงติงของชาวบ้าน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นานานั้น ล่าสุด มีคำชี้แจงข้อเท็จจริงจาก ผอ.อนุรักษ์สัตว์ป่าฯ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ข้าพเจ้า : นางสาวกาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า หน่วยงาน : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอรายงานผลการชี้แจงประเด็นที่มา อุทยานตัดหัว “แม่มะลิ” กระทิงล้มกลางป่าฮาลาบาลา
โดยเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2560 เกิดกระแสข่าวการแชร์ข้อความที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กของฮาลา ที่โพสต์ R.I.P. กระทิงแม่มะลิที่มีอายุมาก ถูกฝูงทิ้ง และมาติดหล่มโคลนเสียชีวิต แม้ว่าจะมีการพยายามช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน สุดท้ายแม่มะลิก็จากไปอย่างสงบ ซึ่งหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่อุทยานได้ทำการตัดหัวกระทิงมะลิ จึงมีการตั้งประเด็นสอบถามจากชาวบ้านและสังคม ว่า “ทำไมต้องตัดหัวกระทิงกลับไป เพื่อประดับสำนักงาน”
ข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบางลาง นำหัวกระทิงมาไม่ใช่เพื่อการประดับสำนักงานตามที่เป็นข่าว หากแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบางลางตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ หรือการศึกษา หรือวิจัยทางวิชาการ โดยวัตถุประสงค์ของเจ้าหน้าที่ที่นำซากหัวกระทิงกลับมายังสำนักงานเพื่อ
1. เป็นการปกป้องทรัพยากรในพื้นที่อุทยาน เนื่องจากหัวกระทิงเป็นสิ่งมีมูลค่าราคาแพง เพื่อเป็นการป้องกันการลักลอบขุดซากหัวกระทิงไปจำหน่าย หรือ ครอบครองส่วนบุคคล เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องนำหัวกระทิงมาเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานอุทยานแห่งชาติบางลาง เพื่อเป็นสมบัติของประเทศชาติ โดยทางอุทยานแห่งชาติบางลาง ได้จัดทำบัญชีซากสัตว์ป่า และ จัดทำรายงานต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
2. เพื่อจัดเก็บซากสัตว์ป่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชน และ ประชาชนที่เข้ามาเยี่ยมชมในพื้นที่ เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากร สัตว์ป่าในพื้นที่ และเกิดการเรียนรู้และทราบข้อมูลทางวิชาการ โดยเฉพาะหัวกระทิงนอกจากจะทำให้ได้เรียนรู้ลักษณะสัณฐานวิทยาของเขากระทิง เพื่อจำแนกชนิดจากเขาสัตว์แล้ว ยังสามารถเรียนรู้การประเมินอายุของกระทิงจากการนับวงพาลี ซึ่งปกติโคนเขาของกระทิงจะหยักเป็นลอนคลื่น เรียกว่า “พาลี” พาลีจะปรากฏเป็นรูปร่างเมื่อกระทิงอายุย่างเข้าปีที่ 6 ซึ่งหากไม่ตัดและนำออกมาทันที จะทำให้ลักษณะของพาลีที่เกิดขึ้นอาจถูกทำลายโดยแมลงที่กัดแทะปลอกเขาของซากกระทิง จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ