xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-15 ก.ค.2560

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.สนช.ผ่าน กม.วิธีพิจารณาคดีนักการเมือง หากจำเลยหนี ไม่นับอายุความ-ให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ คดี “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” เข้าข่าย!
บรรยากาศการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ(พรป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีการแก้ไขเนื้อหาไปจากร่างเดิมฉบับของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้เสนอมา เช่น หมวด 2 ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญา กมธ.ได้เพิ่มมาตรา 24/1 โดยกำหนดให้การดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ให้อายุความสะดุดหยุดลง ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างการถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ในกรณีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยอายุความมาใช้บังคับ

นอกจากนี้ยังมีมาตรา 26 กมธ.แก้ไขโดยให้ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลโดยเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล นอกจากนี้ มาตรา 27 ยังบัญญัติว่า ในกรณีที่ได้ออกหมายจับจำเลย แต่ไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยจะตั้งทนายความดำเนินการแทนตนได้ ขณะที่ในบทเฉพาะกาล กมธ.ได้แก้ไขในมาตรา 67 โดยกำหนดให้คดีที่ยื่นฟ้องและได้ดำเนินการไปแล้วก่อนร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้บังคับใช้ ให้ดำเนินการต่อไปตามร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้

ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์ 176 เสียงให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวในวาระ 3 สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ จะมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและ กรธ.เพื่อพิจารณาว่า เนื้อหาในร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ต่อไป

ด้านนายอุดม รัฐอมฤต กรธ.ใน กมธ.วิสามัญฯ ให้สัมภาษณ์สื่อว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้สามารถฟ้องคดีโดยไม่ต้องมีตัวจำเลยนั้น เพื่อสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรม เนื่องจากชาวบ้านทั่วไปอยู่ภายใต้อำนาจของกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย แต่นักการเมืองมักจะหลบหนีและจงใจไม่อยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังถูกดำเนินคดีในโครงการรับจำนำข้าว หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์หลบหนีระหว่างพิจารณาคดี คดีจะไม่ถูกนับอายุความตามหลักการของกฎหมายใหม่นี้หรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า “ก็ตามนั้น ตามกฎหมายใหม่ หากจำเลยหลยหนีระหว่างพิจารณาคดี การนับอายุความต้องหยุดลง แต่จะนับเฉพาะคดีเก่าที่ยังไม่ขาดอายุความ ส่วนคดีที่ขาดอายุความแล้วไม่นับ”

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังที่ประชุม สนช.เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาฯ ในวาระ 3 แล้ว สมาชิก สนช.หลายคนต่างมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า หากร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว จะส่งผลให้คดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และจำเลยหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปีคดีซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ ที่หลายคดีถูกศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว เนื่องจากนายทักษิณหนีคดี ศาลสามารถนำคดีมาไต่สวนลับหลังนายทักษิณได้ รวมถึงคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วย หากมีการหลบหนีระหว่างการพิจารณาคดีของศาล

2.ก.ต.มีมติเอกฉันท์ตั้ง “ชีพ จุลมนต์” เป็นประธานศาลฎีกาคนใหม่ พร้อมเปิดตำแหน่ง “ที่ปรึกษา ปธ.ศาลฎีกา” คาดรองรับ “ศิริชัย”!
(ซ้าย) นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 ได้เป็นประธานศาลฎีกาคนใหม่ (ขวา) นายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกา
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) ได้มีมติเอกฉันท์ 14 ต่อ 0 เสียง เห็นชอบบัญชีเสนอแต่งตั้งนายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 เป็นประธานศาลฎีกา เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ในทางวิชาการคดี เป็นแบบอย่างที่ดีต่อข้าราชการตุลาการและเป็นไปตามลำดับอาวุโส สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ จะมีการนำมติ ก.ต.ดังกล่าวเสนอสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกฯ นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

สำหรับนายชีพ จุลมนต์ อายุ 63 ปี ยังมีระยะเวลาดำรงตำแหน่งอีก 2 ปี จึงจะเกษียณอายุราชการ สำหรับประวัติการทำงานในตำแหน่งสำคัญ นายชีพเคยดำรงตำแหน่งรองประธานศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฯลฯ ส่วนการปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้พิพากษา นายชีพเป็นองค์คณะพิจารณาคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เช่น ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในองค์คณะ 9 คน ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีโครงการรับจำนำข้าวที่มีอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลย อีกทั้งยังเป็นผู้พิพากษา 1 ใน 9 องค์คณะคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตนักการเมือง และเอกชน รวม 28 คนเป็นจำเลยด้วย

นอกจากนี้นายชีพยังเป็นองค์คณะในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปี 2551 ซึ่งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นจำเลย ซึ่งศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 ส.ค.นี้

มีรายงานว่า ที่ประชุม ก.ต.ที่มีมติเห็นชอบนายชีพเป็นประธานศาลฎีกา ได้มีการอภิปรายถึงการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีนายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกาด้วย ซึ่งต้นเรื่องมาจากรายงานความเห็นการกลั่นกรองคุณสมบัติโดยคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งที่ประชุม ก.ต.เสียงข้างมากมีความเห็นเสนอว่า ควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

ด้านนายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ได้เปิดแถลงในวันต่อมา(12 ก.ค.) ถึงกรณีมีข่าวคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมเสนอตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการจนไม่ผ่านการคัดเลือกเป็นประธานศาลฎีกา รวมถึงกรณีมีข่าวจะมีการเปิดตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกาเพื่อย้ายนายศิริชัยไปดำรงตำแหน่งดังกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกาจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ส่วนเรื่องถ้าจะถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการนั้น นายศิริชัย ยืนยันว่า ไม่เคยกลัว เพราะในชีวิตไม่เคยทำสิ่งที่ไม่ดี ดังนั้นจะสอบอย่างไรก็ไม่กลัว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ได้ตัวประธานศาลฎีกาคนใหม่แล้ว คิดว่าตัวเองควรจะอยู่ตรงไหน นายศิริชัย กล่าวว่า แนวปฏิบัติตามนิติประเพณีต้องอยู่ที่เดิม โดยตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์เป็นรองจากประธานศาลฎีกา ไม่มีทางที่จะไปตำแหน่งที่ต่ำกว่าได้ เมื่อถามว่า หากมีมติให้เป็นที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา จะลาออกหรือไม่ นายศิริชัยกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “ตอนนี้ยังคิดไม่ออก ยังรักสถาบันนี้อยู่ โดยอยู่มาเกือบ 40 ปี และยังไม่อยากพูดอะไรที่มันอยู่ในอก ให้มันเสื่อมเสียถึงสถาบัน แม้จะเจ็บปวดรวดร้าว ก็ยังไม่เชื่อว่าจะเป็นแบบนี้ แต่ถ้าสุดท้ายไม่ไหวจริงๆ ก็ถือว่าโดนกระทำอยู่ตลอด ถ้ามันจริงๆ ก็ไม่รู้จะทำยังไง”

ทั้งนี้ วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เปิดตำแหน่ง ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา โดยเทียบกับตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์แล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.2560 เป็นต้นไป นอกจากนี้มีรายงานว่า วันที่ 17 ก.ค.นี้ จะมีการประชุม ก.ต. ซึ่งต้องจับตาว่าจะมีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกาหรือไม่ และบุคคลนั้นจะเป็นนายศิริชัยหรือไม่

3.ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก “พ.ต.อ.ชาญชัย” 2 ปี ไม่รอลงอาญา กรณีเสนอสินบนตุลาการศาล รธน. ไม่ให้ยุบพรรค ทรท.!
พ.ต.อ.ชาญชัย เนติรัฐการ อดีตผู้กำกับการ สภ.ต.โพธิ์แก้ว อ.สามพราน จ.นครปฐม  จำเลยคดีติดสินบนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ยุบพรรคไทยรักไทย
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.อ.ชาญชัย เนติรัฐการ อายุ 75 ปี อดีตผู้กำกับการ สภ.ต.โพธิ์แก้ว อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นจำเลยในความผิดฐานผู้ใดขอ ให้ หรือรับ ว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานฯ เพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการที่มิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 และผู้ใดขอ ให้ หรือรับ ว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานตำแหน่งตุลาการ อัยการ ผู้ว่าคดีหรือพนักงานสอบสวน เพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการที่มิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 167

คดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2556 บรรยายพฤติการณ์จำเลยสรุปว่า เมื่อวันที่ 16-22 ต.ค. 2549 จำเลยได้ไปพบ ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ห้องทำงานที่ศาลฎีกา แล้วรับว่าจะให้เงินจำนวน 15 ล้านบาทแก่ ม.ล.ไกรฤกษ์ เพื่อให้ช่วยเหลือในการพิจารณาคดียุบพรรคไทยรักไทย

ขณะที่จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี อ้างเป็นเพื่อนร่วมรุ่นนิติศาสตร์กับ ม.ล.ไกรฤกษ์ การไปพบก็เพื่อส่งหนังสือเชิญร่วมงานเลี้ยงรุ่น และการกล่าวถึงสินบนก็เพียงพูดคุยหยอกล้อในฐานะเพื่อนเท่านั้น เพราะขณะนั้นมีข่าวลือเรื่องวิ่งเต้นคดี

ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2557 ว่าโจทก์มี ม.ล.ไกรฤกษ์ เป็นประจักษ์พยานเบิกความ ซึ่งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ขณะที่การกระทำของจำเลย ถือเป็นการเห็นแก่ตัว ทำลายความเชื่อถือและศรัทธาของระบบศาลและตุลาการ ซึ่งถือเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน จึงลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปีไม่รอลงอาญา ฐานจะให้สินบนตุลาการเพื่อจูงใจให้กระทำการมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 167

ต่อมา พ.ต.อ.ชาญชัย จำเลยยื่นอุทธรณ์ ด้านศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 59 โดยเห็นว่า นอกจากโจทก์ มี ม.ล.ไกรฤกษ์ เป็นประจักษ์พยานว่า จำเลยขอเข้าพบมาแสดงความยินดีและพูดคุยว่าจำเลยเป็นหนี้บุญคุณคุณหญิงอ้อ ถ้ายอมช่วยเหลือจะได้รับเงิน 15 ล้านบาท และจำเลยขอส่วนแบ่ง 5% แล้วจำเลยยังมาพบที่บ้านอีก อ้างนำบัตรเชิญเลี้ยงรุ่นมาให้และพูดลอยๆ ว่า 30 ล้านบาท ซึ่งโจทก์ยังมีนายจรัญ ภักดีธนากุล, นายอุดม เฟื่องฟุ้ง และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ผู้พิพากษา และอดีตผู้พิพากษาที่มีตำแหน่งสำคัญ เบิกความถึงกรณีที่ ม.ล.ไกรฤกษ์ ได้เล่าเรื่องจำเลยเข้าพบด้วย โดยพยานก็ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันที่จะกุเรื่องปรักปรำจำเลย และขณะนั้นพรรคไทยรักไทยเองก็เป็นรัฐบาล หากปรักปรำก็จะเป็นการสร้างความเข้าใจผิด ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยจึงเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ขณะที่จำเลยก็เคยเป็นตำรวจ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม การกระทำของจำเลยทำให้เสื่อมเกียรติภูมิตุลาการอย่างร้ายแรง ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกคลางแคลงใจต่อกระบวนการยุติธรรม จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ แต่ชั้นพิจารณาจำเลยได้รับข้อเท็จจริงตามฟ้อง จึงพิพากษาแก้เป็นให้จำคุกจำเลย เป็นเวลา 2 ปี แต่ไม่รอการลงโทษ

ด้าน พ.ต.อ.ชาญชัย จำเลยได้ยื่นฎีกาต่อสู้คดี และได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นฎีกา หลังจากยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาทต่อศาลในการประกันตัว

ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ฎีกาจำเลยที่กล่าวอ้างว่าพยานหลักฐานโจทก์มีพิรุธน่าสงสัยไม่อาจรับฟังได้นั้น ล้วนแต่เป็นการคัดลอกและตัดตอนจากอุทธรณ์ของจำเลยเกือบทั้งหมด เมื่อผลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนไว้โดยละเอียดแล้ว ขณะที่ฎีกาของจำเลยไม่ได้กล่าวโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ดังนั้นต้องห้ามฎีกา

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอลงการลงโทษนั้น เห็นว่า แม้จำเลยมีอายุ 75 ปี และมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง ต้องพบแพทย์เป็นประจำ และประกอบคุณงามความดีขณะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ราชการ และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเคยเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมมาก่อน จำเลยย่อมรู้ดีว่าการเสนอให้เงินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ โดยเฉพาะการเสนอให้เงินแก่ ม.ล.ไกรฤกษ์ ขณะปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อจูงใจให้ช่วยเหลือในการพิจารณาคดียุบพรรคไทยรักไทย คดีที่สำคัญอยู่ในความสนใจของประชาชนนั้น จึงนับว่าเป็นความพยายามที่จะบิดเบือนความยุติธรรม และเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันศาล การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกโดยลดโทษให้ 1 ใน 3 ให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอการลงโทษนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

หลังฟังคำพิพากษาแล้ว ภรรยาและบุตรก็ได้เข้าสวมกอด พ.ต.อ.ชาญชัย ให้กำลังใจ ก่อนที่เจ้าหน้าราชทัณฑ์จะควบคุมตัวไปคุมขังยังเรือนจำคลองเปรม เพื่อรับโทษ 2 ปีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาต่อไป

4.สลด คนร้ายแต่งลายพรางฆ่ายกครัวผู้ใหญ่บ้าน 8 ศพที่ จ.กระบี่ ด้าน ตร.พุ่งเป้าขัดแย้งธุรกิจโรงโม่หิน ขณะที่เพื่อนสนิทยัน ไม่ทำแน่!
(บน) บ้านนายวรยุทธ สังหลัง ผู้ใหญ่บ้านที่ถูกฆ่าพร้อมลูกและญาติรวม 8 ศพ (ล่างขวา) ญาติผู้เสียชีวิต (ล่างซ้าย) ภาพสเก็ตช์ 1 ในผู้ต้องสงสัยก่อเหตุฆ่ายกครัว 8 ศพ
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ได้เกิดเหตุฆ่ายกครัว 8 ศพที่ จ.กระบี่ หลังเกิดเหตุ พ.ต.อ.กฤษณัฐ วงษ์กล้าหาญ ผู้กำกับการ สภ.อ่าวลึก ได้นำทีมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุที่บ้านเลขที่ 14/3 หมู่ 1 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ซึ่งเป็นบ้านของนายวรยุทธ สังหลัง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.บ้านกลาง ภายในบ้าน พบผู้เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บสาหัส 6 ราย ก่อนมีผู้เสียชีวิตในเวลาต่อมาอีก 3 ราย รวมเป็น 8 ราย ประกอบด้วย นายวรยุทธ สังหลัง อายุ 46 ปี เจ้าของบ้าน 2.นางดวงพร สังหลัง อายุ 35 ปี 3.ด.ญ.เพชรดาว สังหลัง อายุ 13 ปี 4.ด.ญ.กิ่งเทียน สังหลัง อายุ 11 ปี 5.ด.ญ.แพรไหมทอง สังหลัง อายุ 8 ขวบ 6.นายสุริยา สังหลัง 7.นายสุทธิพงศ์ พริกดำ 8.น.ส.แอนนา บุตรเติบ ทั้งนี้ เด็กที่เสียชีวิตทั้ง 3 คน เป็นลูกของนายวรยุทธ ผู้ใหญ่บ้าน ที่เหลือเป็นญาติกัน

จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ เวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 10 ก.ค. กลุ่มคนร้ายเป็นชายประมาณ 6-7 คน แต่งกายชุดลายพรางคล้ายทหาร ใช้ยานพาหนะ 2 คัน พร้อมอาวุธปืนเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุ ทำทีเข้าไปขอตรวจค้นบ้าน โดยไม่อนุญาตให้คนในบ้านออกไปไหน จากนั้นเวลาประมาณ 20.00 น. นายวรยุทธ ผู้ใหญ่บ้านกลับมาบ้าน จึงถูกควบคุมตัวใส่กุญแจมือและปิดหน้าไว้ กระทั่งเวลาประมาณ 24.00 น. กลุ่มคนร้ายได้ใช้อาวุธปืนจ่อยิงหัวทุกคนที่อยู่ในบ้าน ก่อนพากันหลบหนี โดยนำรถยนต์โตโยต้า ยาริส สีบรอนซ์เทา ทะเบียน กค 533 กระบี่ ของนายวรยุทธไปด้วย

สำหรับชนวนสังหารยกครัวในครั้งนี้ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่ตัดประเด็นใดทิ้ง ทั้งเรื่องความขัดแย้งธุรกิจโรงโม่หิน เรื่องยาเสพติด เรื่องชู้สาว โดยเรื่องโรงโม่หินนั้น มีข่าวว่า นายวรยุทธเป็นผู้สนับสนุนให้มีการขออนุญาตประทานบัตรระเบิดเขาย่อยหินของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ในพื้นที่ ต.บ้านกลาง จนได้รับประทานบัตรจากกรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ แต่ต่อมาไม่สามารถดำเนินกิจการได้ เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน และกรมศิลปากรประกาศเป็นแหล่งโบราณสถานและวัตถุ หลังพบวัตถุสิ่งของเครื่องใช้โบราณจำนวนมาก ล่าสุด เรื่องอยู่ระหว่างฟ้องร้องในศาลปกครอง ต่อมามีข่าวว่า นายวรยุทธกับพรรคพวกในพื้นที่ อ.อ่าวลึกเข้าซื้อกิจการที่ดินของเอกชนที่ได้รับประทานบัตรมูลค่า 25 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจการต่อ แต่เวลาผ่านมากว่า 2 ปี ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ จึงอาจเป็นประเด็นที่นำไปสู่การสังหารหมู่ครั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มทุนรายใหม่อาจคิดว่าถูกหลอกให้ซื้อกิจการดังกล่าว

ด้านตำรวจได้สอบปากคำผู้เกี่ยวข้องหลายคน โดย 1 ในนั้น คือ นายเชษฐ์ดนัย ถิ่นพังงา หรือโกเสริฐ ผู้บริหารบริษัท โรงโม่อ่าวลึกศิลาทอง ซึ่งเป็นผู้ขอสัมปทานทำเหมืองหินในพื้นที่ ต.บ้านกลาง และเป็น 1 ในชนวนที่ตำรวจพุ่งเป้า อีกทั้งนายเชษฐ์ดนัยยังเป็นเพื่อนสนิทของนายวรยุทธด้วย อย่างไรก็ตาม นายเชษฐ์ดนัย ยืนยันว่า ตนเป็นเพื่อนสนิทกับนายวรยุทธตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เมื่อโตขึ้นก็มาทำธุรกิจร่วมกัน ขณะนี้ตนตกเป็นจำเลยของสังคมในฐานะผู้ต้องสงสัย เป็นผู้บงการ ขอยืนยันว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะทำอย่างนั้น และว่า หลังจากนี้ จะส่งเสียดูแลลูกของผู้เสียชีวิตให้ดีที่สุด

ทั้งนี้ มีรายงานจากจากกองพิสูจน์หลักฐานว่า ผลการเก็บหัวกระสุนจากร่างผู้เสียชีวิตและที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุพบว่า กระสุนที่ใช้สังหารมาจากปืนกระบอกเดียวกัน คือ ปืนขนาด .38 ซึ่งเชื่อว่าเป็นของนายวรยุทธ ผู้ใหญ่บ้านที่เสียชีวิต นอกจากนี้ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตรวจพบเขม่าดินปืนบนมือนายวรยุทธ ดังนั้นจะมีการตรวจสอบต่อไปว่า คนร้ายบีบบังคับให้นายวรยุทธเป็นคนยิงคนในครอบครัว เพื่อจัดฉากว่านายวรยุทธก่อเหตุยิงสมาชิกในครอบครัวเองหรือไม่

5.อัยการสูงสุดสั่งเด้ง “ธนพล” อัยการเมาพูดขู่ตำรวจ พร้อมตั้งกรรมการสอบวินัย หากผิดจริง โทษถึงไล่ออก พบ เคยเมากร่างมาแล้ว!
นายธนพล จูฑะเตมีย์ อัยการพิเศษฝ่ายคดียาเสพติด 1 อัยการในคลิปที่เมาสุราและพูดข่มขู่ตำรวจ
ความคืบหน้ากรณีโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่คลิปเสียงการสนทนาของชายที่อ้างตัวเป็นอัยการอยู่ในอาการเมาสุรา พูดจาข่มขู่ตำรวจ สภ.แสนสุข จ.ชลบุรี เนื่องจากไม่พอใจที่ตำรวจไม่นำทางพาไปร้านลาบตามที่ตัวเองต้องการ ต่อมาตำรวจได้รับวิทยุให้เข้าพบผู้กำกับการ สภ.แสนสุข และให้ไปพบชายที่อ้างตัวเป็นอัยการที่ร้านลาบ ก่อนเกิดเหตุการณ์ตามคลิปเสียงที่ชายอ้างตัวเป็นอัยการพูดจาข่มขู่ตำรวจเมื่อวันที่ 8 ก.ค.นั้น

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.จารุวัฒน์ สุริยาทิพย์ ผู้กำกับการ สภ.แสนสุข สอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ มีรายงานว่า สภ.แสนสุขได้สอบปากคำตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่และรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบแล้ว โดยระบุว่า วันเกิดเหตุ ส.ต.ต.กิตติคุณ แสงเรือง ผบ.หมู่(ป) สภ.แสนสุข และ ส.ต.ต.อานุภาพ โพธิ์พิม ผบ.หมู่(ป) สภ.แสนสุข ปฏิบัติหน้าที่สายตรวจรถจักรยานยนต์ บริเวณตลาดนัดคนเดินแหลมแท่น ต.แสนสุข พบว่า การจราจรคับคั่ง เนื่องจากเป็นวันหยุด เมื่อถึงจุดกลับรถแยกแสนสมบูรณ์ พบรถยนต์ฮอนด้า ซิตี้ สีขาว หมายเลขทะเบียน 4 กต 562 กรุงเทพมหานคร บีบแตรยาว จึงเดินไปที่รถดังกล่าว พบว่าภายในรถมีคนขับและผู้โดยสาร 1 คน สอบถามไปว่ามีเหตุอะไร คนขับรถได้ถามทางไปร้านลาบ ตำรวจจึงบอกเส้นทาง แต่คนขับรถบอกให้ตำรวจนำทางไป ตำรวจจึงปฏิเสธเพราะต้องไปตรวจพื้นที่ เพื่อป้องกันเหตุ

ขณะที่คนขับอ้างตัวว่าเป็นอัยการ โดยไม่มีการแสดงบัตร พร้อมพูดขู่ว่าจะไปบอกผู้การ หลังจากนั้นตำรวจทั้งสองนายได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ กระทั่งได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุ สภ.แสนสุข ให้เข้าไปหา ผกก.สภ.แสนสุข หลังจากนั้นได้มีการสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ว่า หนักใจหรือไม่ ถ้าจะให้ไปขอโทษปรับความเข้าใจ ถ้าหนักใจก็ไม่ต้องไป เอาที่สบายใจ ตำรวจจึงตอบไปว่า ไม่หนักใจ พร้อมที่จะไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานและในฐานะเด็กกับผู้ใหญ่ จึงได้เดินทางไปที่ร้านอาหารดังกล่าว ซึ่งผู้ที่อ้างตัวเป็นอัยการกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ มีการเจรจากันตามที่มีการเผยแพร่คลิปทางโซเชียลมีเดีย

ด้าน ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด(อสส.) ได้สั่งการให้นายธีระ หงส์เจริญ อธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการ(ก.อ.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีชายอ้างตัวเป็นอัยการพูดข่มขู่ตำรวจโดยด่วน หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นอัยการจริง จะดำเนินการทางวินัยอย่างเฉียบขาด เพราะถือเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุด

ต่อมา เมื่อวันที่ 11 ก.ค. เรือโท สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงความคืบหน้ากรณีชายอ้างตัวเป็นอัยการพูดข่มขู่ตำรวจว่า พิจารณาจากคลิปเสียงที่เผยแพร่ทางสื่อ รวมถึงข้อความในเฟซบุ๊กของนายธนพล จูฑะเตมีย์ และพฤติกรรมในอดีตแล้ว เชื่อว่าเป็นคลิปเสียงพูดของนายธนพล จูฑะเตมีย์ อัยการพิเศษฝ่ายคดียาเสพติด 1 ที่มีลักษณะคล้ายเมาสุรา เป็นคำพูดไม่เหมาะสม กระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรอัยการและพนักงานอัยการ เป็นกรณีสงสัยว่ากระทำผิดวินัย ฐานกระทำการที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ๋แห่งตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 64 ประกอบมาตรา 74 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแล้ว โดยคณะกรรมการมีเวลาสอบและรายงานให้อัยการสูงสุดทราบภายใน 30 วัน หากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น สามารถขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน “ถ้าผิดก็ต้องว่ากันไปตามที่ผิด ทุกสังคมย่อมมีแกะดำปะปนกันบ้าง... ปลาที่อยู่ในข้องเดียวกัน บางครั้งตัวหนึ่งเน่าส่งกลิ่นไปกระทบกระทั่งปลาตัวอื่นด้วย เราพยายามเอาปลาที่เน่าออกจากข้องไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้กับประชาชน”

ด้านนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงผลการสอบวินัยนายธนพล ที่มีอาการมึนเมาและใช้คำพูดไม่เหมาะสมเมื่อปี 2558 ด้วยว่า มีการลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง ฐานทำให้เสื่อมเสียต่อการดำรงตำแหน่งหน้าที่อัยการ ประกอบกับครั้งนั้นคู่กรณีแจ้งว่าไม่ติดใจ จึงได้ลงโทษทัณฑ์บน แต่กรณีใหม่นี้ คณะกรรมการฯ จะนำผลสอบครั้งก่อนมาพิจารณาประกอบด้วย และว่า หากผลสอบออกมาว่าเป็นการทำผิดวินัยร้ายแรง โทษมี 5 สถาน คือ ไล่ออก ปลดออก ให้ออก งดเลื่อนตำแหน่งหรืองดเลื่อนขึ้นเงินเดือน และภาคทัณฑ์แล้วแต่รูปเรื่อง

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ขณะนี้ตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีได้มีการตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง โดยมีรองผู้การจังหวัดชลบุรีเป็นประธาน ให้เวลาในการสืบสวนข้อเท็จจริง 7 วัน ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ชมเชยการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจทั้ง 2 นายว่า ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี มีความอดทน อดกลั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ก.ค.เรือโท สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งให้นายธนพล จูฑะเตมีย์ อัยการพิเศษฝ่ายคดียาเสพติด 1 ที่ต้องสงสัยว่าเป็นบุคคลในคลิปที่มีลักษณะเมาและพูดข่มขู่ตำรวจ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว เพื่อปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.เป็นต้นไป เมื่อถามว่า คำสั่งเป็นการย้ายชั่วคราวระหว่างสอบสวนหรือย้ายถาวร เรือโท สมนึก กล่าวว่า เพื่อความสบายใจของประชาชนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ ที่เมื่อเกิดเหตุก็จะมีการถามกันว่า ทำไมยังให้นายธนพลปฏิบัติหน้าที่อยู่อีก จึงให้นายธนพลมาปฏิบัติราชการที่สำนักงานอัยการสูงสุด แต่ตำแหน่งของนายธนพลขณะนี้ยังถือว่าอยู่ที่เดิม เพียงแต่ตัวมาปฏิบัติหน้าที่อื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น