กระทรวงอุตสาหกรรม รุกพื้นที่สระแก้ว หนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนกัมพูชา หนุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรก ตั้งเป้าเสริมแกร่งธุรกิจเอสเอ็มอีติดอาวุธครบมือเร่งให้การช่วยเหลือครอบคลุมทุกมิติอย่างสมดุลตามแนวประชารัฐ เตรียมพัฒนาผู้ประกอบการ และพื้นที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจการค้าชายแดนเชื่อมต่อกัมพูชา - เวียดนาม ไปยังตลาดโลก พร้อมจับมือ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาเอสเอ็มอี เดินหน้า “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” ครั้งที่ 4 โดยได้รับเกียรติจาก นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน ณ โรงแรมสเตชั่น วัน อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยมี นายกล้าณรงค์ พงษ์เจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ให้การต้อนรับ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า การจัด “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 สำหรับครั้งนี้มีเป้าหมายลงพื้นที่ในจังหวัดสระแก้ว และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และ ตราด ซึ่งอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ภาคกลางตอนกลางและตะวันออกที่นับเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีมูลค่าทางอุตสาหกรรมสูงที่สุดในอับดับต้น ๆ ของประเทศ เนื่องจากมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา และยังต่อยอดไปยังเวียดนาม และตลาดโลก
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังได้เดินหน้าพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดสระแก้ว บนพื้นที่กว่า 660 ไร่ ซึ่งถือเป็นนิคมฯ แห่งแรกในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลได้เดินหน้าในการพัฒนาพื้นที่รองรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพื่อเป็นจุดยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ส่งผลให้ขณะนี้ได้เกิดความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่จะนำไปสู่การขยายเส้นทางการค้า และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ผ่านความร่วมมือโครงการประชารัฐ ซึ่งล่าสุด มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) “โครงการประชารัฐ OTOP/SMEs/การท่องเที่ยวและนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว” ไปแล้ว และคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างนิคมฯ ในราวปี 2561 โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมาย ได้แก่ โลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า อาหารและเกษตรแปรรูป สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น
ในส่วนของความพร้อมของพื้นที่จังหวัดสระแก้วนั้น นับว่า มีความพร้อมมากที่สุด เนื่องจากไม่ติดปัญหาบุกรุก อีกทั้งยังมีความชัดเจนในภาพร่างของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะเดียวกัน ยังมีสภาพพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชาและมีเงินสะพัดปีละหลายพันล้านบาทจากการค้าชายแดน ดังนั้น จังหวัดสระแก้วจึงเป็นพื้นที่ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ประกาศให้เป็นจังหวัดนำร่อง ตามนโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค เพิ่มการจ้างงาน สร้างความ มั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้สามารถก้าวสู่การเป็น ประชาคมอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์
ในส่วนของด่านชายแดนอรัญประเทศ นับเป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อกับจังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างไทย - กัมพูชา สูง โดยปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการค้าชายแดนด่าน อ.อรัญประเทศ มีทิศทางเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งระบบการคมนาคม โลจิสติกส์ที่ดี ทำให้การนำเข้าและส่งออกเป็นไปด้วยความสะดวก ขณะที่ความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ชายแดนทั้ง 2 ประเทศยังเป็นไปด้วยดีนอกจากนั้น อรัญประเทศยังมีทำเลที่เหมาะสมตั้งอยู่
ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง และกรุงเทพฯ ทำให้เหมาะที่จะเป็นช่องทางการค้าและขนส่งสินค้าไปยังกรุงพนมเปญ และเวียดนาม ตอนใต้ได้ รวมทั้งยังสามารถร่วมดำเนินกิจการในลักษณะอุตสาหกรรมการผลิตร่วม (co-production) กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต - โอเนียง ของประเทศกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่เป็น โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า กล่องใส่เครื่องประดับ และยังมีแนวทางการพัฒนาเป็นศูนย์อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและการขนส่งต่อเนื่องอีกหลายรูปแบบ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับสระแก้วจะทำให้การค้าเติบโตได้อีกมาก”
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยต่อไปว่า “ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในโครงการ “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรตามแนวประชารัฐ” นั้น ตลาดโลก หลังจากที่เปิดตัวโครงการไปได้ไม่นานขณะนี้มีผู้ประกอบการจากทั่วประเทศยื่นคำขอทั้ง 4 มาตรการแล้ว 9,158 ราย วงเงิน 24,151 ล้านบาท อนุมัติแล้วจำนวน 2,206 ราย ในวงเงิน 5,996 ล้านบาท โดยในส่วนของจังหวัดยุทธศาสตร์ภาคกลางตอนกลางและตะวันออก ที่ประกอบไปด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ตอนนี้มีผู้ขอความยื่นคำขอรับความช่วยเหลือเข้ามาแล้วจำนวน 316 ราย วงเงิน 875.88 ล้านบาท และได้อนุมัติรวมทุกกองทุนไปแล้ว จำนวน 57 ราย วงเงิน 212 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็น จังหวัดสระแก้ว จำนวน 73 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 11 ราย วงเงิน 33 ล้านบาท จังหวัดนครนายก จำนวน 22 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 4 ราย วงเงิน 12 ล้านบาท จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 83 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 14 ราย วงเงิน 38 ล้านบาท จังหวัดจันทบุรี จำนวน 66 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 19 ราย วงเงิน 91 ล้านบาท และจังหวัดตราด จำนวน 72 ราย อนุมัติไปแล้ว จำนวน 9 ราย วงเงิน 38 ล้านบาท ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลางที่สำคัญขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรม รองลงมา ภาคการขายส่ง การขายปลีก และ การขนส่งเป็นสำคัญ พร้อมทั้งที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาซึ่งจะได้มีการเร่งรัดให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ครั้งนี้เราได้นำทีมสื่อมวลชนร่วมลงพื้นที่ร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติความช่วยเหลือ “กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ” จำนวน 1 ราย ที่ได้รับเงินสินเชื่อจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้แก่ บริษัทกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจังหวัดสระแก้วจำกัด ซึ่งมีคุณสมบัติตรงกับเงื่อนไขเข้ารับการช่วยเหลือทำธุรกิจเกี่ยวกับการรับซื้อน้ำนมดิบ ได้รับเงินกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จำนวน 3 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อรถบรรทุกน้ำนมดิบ ในการรองรับการขยายของผลผลิต ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของผู้ขอทุน โดยผ่านการอบรมโครงการ Workshop on Small Scale Dairy Milk Processing For ACMECS Member Countries and Bhutan และโครงการฝึกงานผู้นำเยาวชนเกษตรกรไทยในครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่น (JAEC) ของกระทรวงเกษตรฯ ระยะเวลา 1 ปี โดย บริษัทมีความตั้งใจที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น แต่ยังขาดปัจจัยด้านเงินทุน ทางกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงได้ให้ความดูแลและช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้และยั่งยืน ซึ่งหลังจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะได้เร่งขยายผลการดำเนินงานในลักษณะนี้ไปยังจังหวัดอื่น ๆ ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศโดยเร็วต่อไป” นายพสุ กล่าวปิดท้าย
ด้าน นางสาวพิณัญญา สงวนกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจังหวัดสระแก้วจำกัด ทำธุรกิจเกี่ยวกับการรับซื้อน้ำนมดิบ เผยว่า “เราอยากเห็นจังหวัดสระแก้วเป็นเมืองโคนมอีกแห่งหนึ่ง เพราะเรามีความพร้อมทั้งในด้านดินฟ้าอากาศ และแม่พันธุ์โคนม นมที่เราผลิตได้จึงถือเป็นนมที่มีคุณภาพไม่น้อยหน้าใคร เพราะมีโปรตีนสูง มีคุณภาพดี แต่ความหวังนี้จะเป็นไปได้ก็ต้องอาศัยภาครัฐช่วยสนับสนุน ดังนั้นเราจึงทำเรื่องเสนอไปยังโครงการกองทุนตามแนวประชารัฐ และได้รับการอนุมัติช่วยเหลือเป็นวงเงินจำนวน 3 ล้าน บาท เพื่อนำไปซื้อรถบรรทุกน้ำนมดิบ สำหรับรองรับ
การขยายของผลผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้นโดยผลที่คาดจะได้รับหลังจากได้รับความช่วยเหลือ จำนวนรถน้ำนมดิบมีเพียงพอสำหรับจัดส่ง ลดค่าใช้จ่าย และค่าน้ำมันรถได้ 80% ลดการจ้างงานจากภายนอกประมาณ 2 ล้านบาท/ปี และมีรายได้เพิ่มขึ้น 30 - 40% จากปีที่แล้ว 50 - 60 ล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้า 70 - 80 ล้านบาท” นางสาวพิณัญญา กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทุกสาขา และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี www.smessrc.com หรือ Call Center 1358