โทษประหารชีวิตของประเทศไทยในสมัยโบราณ โดยทั่วไปก็ใช้วิธีตัดหัว มีหลักฐานว่าใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยแล้ว นอกจากจะตัดหัวให้ถึงตาย ในบางคดียังตัดหัวเสียบประจานเพื่อให้ผู้คนเกรงกลัวไม่กล้าทำผิดแบบผู้ตายอีก แต่คนที่ถูกลงโทษด้วยวิธีตัดหัวก็ยังนับว่าโชคดี เพราะยังมีวิธีลงโทษให้ตายแบบอื่นอีก ซึ่งไม่ได้ตายแบบง่ายๆ แต่ถูกทรมานอย่างแสนสาหัสจนกว่าจะตาย เช่นเอาเบ็ดเกี่ยวคางให้ยืนเขย่งจนหมดแรง การผ่าอกตัดแขนตัดขาลงทอดในกระทะน้ำเดือด ให้ช้างแทง หย่อนเชือกให้เสือกินตั้งแต่ขาขึ้นมาเรื่อยๆ ฝังทั้งเป็น เอาใส่ตระกร้อที่ฝังตะปูข้างในให้ช้างเตะ หรือให้แล่เนื้อทีละชิ้นจนกว่าจะตาย ช่างคิดค้นวิธีพิสดารกันจริงๆ
ส่วนเชื้อพระวงศ์ซึ่งมีศักดิ์เหนือกว่าราษฎรสามัญ แม้ตอนต้องโทษประหารจะถูกถอดยศถอดบรรดาศักดิ์ก่อนประหารแล้วก็ตาม ก็ไม่ใช้วิธีตัดคอให้เลือดตกลงดิน แต่ใช้ทุบด้วยท่อนจันทน์ ซึ่งน่าจะทรมานกว่าถูกตัดหัวเสียอีก
กฎมณเฑียรบาลกล่าวถึงวิธีประหารชีวิตเชื้อพระวงศ์ไว้ว่า
“....นายแวงนั่งทับตัก ขุนดาบขุนใหญ่นั่งดู หมื่นทะลวงฟันกราบสามคาบ ตีด้วยท่อนจันทน์แล้วเอาลงหลุม นายแวงทะลวงฟันผู้ใดเอาผ้าทรงและแหวนทอง โทษถึงตาย.”
คือเจ้าที่ถูกประหารจะถูกนำตัวมาที่ประหารแล้วให้นั่งขัดสมาธิ ส่วนนายแวงนั้นนั่งทับตักของนักโทษหันหน้าเข้าหากันและกอดไว้ให้แน่น ขณะเดียวกันเพชฌฆาตที่เรียกว่าทะลวงฟันต้องเข้าไปกราบสามครั้งก่อนที่จะใช้ท่อนจันทน์ตีเข้าตรงก้านคออย่างแม่นยำไม่ให้พลาดไปเข้าหน้านายแวงเข้า นักโทษจะคอหักตายซบหน้าลงกับอกนายแวงที่จับไว้แน่นไม่ให้ล้มไปข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนขุนดาบและขุนใหญ่นั้นมีหน้าที่เป็นเพียงสักขีพยาน
เจ้าที่ถูกนำไปประหารคงต้องแต่งองค์ทรงเครื่องกันพอดู ถึงได้มีคำกำชับไว้ว่า ถ้าทีมเพชฌฆาตเอาเครื่องทรงทองหยองไป โทษถึงตายเหมือนกัน
เมื่อตีด้วยท่อนจันทน์จนคอหักแล้ว จึงเอาลงฝังในหลุมที่เตรียมไว้ แต่เคยมีเรื่องมหัศจรรย์เกิดขึ้นในพงศาวดาร เมื่อพระศรีสิงห์ พระราชโอรสบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นกบฏ พยายามจะปลงพระชนม์ถึง ๒ ครั้ง จนต้องนำไปประหารด้วยวิธีทุบด้วยท่อนจันทน์ จากนั้นก็ฝังลงในหลุมและเฝ้าอยู่ถึง ๗ วันจนแน่ใจว่าตายแล้วจึงกลับ แต่มหาดเล็กของพระศรีสิงห์ไปขุดพระศพพบว่ายังไม่ตาย จึงเอาตัวไปรักษาจนหายเป็นปกติ เลยลือระบือลั่นว่าพระศรีสิงห์เป็นผู้มีบุญฆ่าไม่ตาย ส้องสุมผู้คนได้มาก ยกกำลังบุกเข้ามาถึงพระราชวังชั้นใน ทำให้สมเด็จพระนารายณ์เผ่นหนีแทบไม่ทัน พระศรีสิงห์ทำพิธีราชาภิเษกขึ้นครองราชย์ได้ ๑ วันกับ ๑ คืน สมเด็จพระนารายณ์ ก็กลับมาจับพระศรีสิงห์ได้ ครั้งนี้ไม่ให้พลาด เอาใส่ถุงแดงทุบจนละเอียดแล้วจึงเอาฝัง ปาฏิหาริย์เลยไม่มีทางเกิด
มีบันทึกถึงขั้นตอนประหารชีวิตด้วยวิธีตัดหัวในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไว้ว่า เมื่อศาลตัดสินประหารชีวิตนักโทษคนใดแล้ว จะต้องถ่ายรูปและพิมพ์ลายมือไว้เป็นหลักฐาน เพื่อป้องกันการเปลี่ยนตัว และนักโทษผู้นั้นจะถูกส่งตัวเข้าขังในห้องขังนักโทษประหารโดยเฉพาะในกองมหันตโทษ ภายในเวลา ๑ ปี กระทรวงมหาดไทยจะกำหนดวันให้นำนักโทษผู้นั้นไปประหาร และเมื่อกรมราชทัณฑ์รับคำสั่งแล้วก็จะเบิกตัวนักโทษออกมาพิมพ์ลายมือส่งไปกองพิมพ์ลายมือตรวจสอบอีกครั้ง ว่าเป็นคนๆเดียวกับที่พิมพ์ลายมือไว้ในสำนวนคำพิพากษาหรือไม่ ทั้งต้องให้เจ้าหน้าที่ผู้จับและผู้รู้เหตุการณ์ โจทก์หรืออัยการมาชี้ตัวยืนยันว่าใช่ เพื่อป้องกันไม่ให้จ่ายนักโทษไปประหารผิดตัว จากนั้นเจ้าหน้าที่ของเรือนจำจะนำนักโทษไปยังที่ใช้ประหาร
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ กำหนดให้ใช้ป่าช้าวัดมักกะสันเป็นที่ประหาร ต่อมาเห็นว่าวัดมักกะสันอยู่ใกล้ใจกลางพระนครเกินไป มีบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาของราษฎรอยู่โดยรอบ จึงได้ย้ายไปที่ป่าช้าวัดพระภาษี จังหวัดพระประแดง ห่างไกลหน่อยแต่ก็มีอุปสรรคเวลาน้ำลงเรือเข้าไปไม่ถึงต้องจอดรอน้ำขึ้น อีกทั้งสมภารและราษฎรรอบวัดร้องทุกข์มากขึ้น แม้กรมราชทัณฑ์จะสร้างกำแพงคอนกรีตขึ้นล้อมป่าช้าแล้วก็ตาม ในที่สุดก็ต้องย้ายข้ามฟากมาที่วัดโบสถ์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นวัดร้าง และที่วัดโคก หรือวัดพลับพลาชัย ที่อยู่กลางเมืองตอนนี้ก็เคยใช้เป็นที่ประหาร
ตามปกติมักจะนำนักโทษไปประหารในเช้าวันจันทร์ ฉะนั้นขั้นตอนจะเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ เมื่อตรวจสอบลายนิ้วมือเรียบร้อยแล้ว ผู้คุมจะเบิกตัวนักโทษออกมาจากห้องขังในเวลา ๑๖.๐๐ น. ถอดตรวนที่เท้าออกใส่กุญแจข้อมือแทนเพื่อให้ไขถอดง่ายหลังประหาร ถ้านักโทษผู้ชายก็จะให้ใส่กางเกงและเสื้อสีขาว ถ้าเป็นผู้หญิงก็นุ่งผ้าพื้นสีเขียวใส่เสื้อขาว แล้วนำกลับเข้าขังเดี่ยว มีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรควบคุมแทนผู้คุม
พอเช้าวันอาทิตย์ก็จะนำคำพิพากษามาอ่านให้นักโทษฟังอีกที แล้วให้ฟังเทศน์เรืองบาปบุญ ๑ กัณฑ์ โดยนิมนต์พระจากวัดแคนางเลิ้งมาเป็นองค์เทศนาประจำ ส่วนเครื่องกัณฑ์บูชาธรรมนั้นมีเงินหลวง ๓ บาท สมทบกับของนักโทษ บางคนมีเงินและข้าวของมากก็นำมาถวายพระหมด เพราะรุ่งขึ้นก็จะลาโลกไปแล้ว ไม่มีโอกาสได้ใช้ เอาไปก็ไม่ได้
วันประหาร จะนำนักโทษออกจากเรือนจำในเวลาตี ๒ ขึ้นรถยนต์ไปลงเรือที่กรมเจ้าท่า ตลาดน้อย ซึ่งเช่าเรือบรรทุกข้าวเปลือกไว้ ๒ ลำๆ ละ ๓ บาทใช้เรือยนต์ของกรมเจ้าท่าลากจูงไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ถ้ามีเรือของราษฎรตามดู ตำรวจที่ถือปืนจะร้องห้ามไม่ให้เข้าใกล้
มีการตั้งศาลทำพิธีบวงสรวง ณ ที่ประหาร มีเจ้าเมืองและกรมการเมืองมาตรวจดูความถูกต้องและเป็นสักขีพยาน จากนั้นจะเปิดโอกาสให้ญาติเข้าล่ำลาสั่งเสียเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบ
เมื่อนักโทษคอขาดกระเด็นไปแล้ว เจ้าหน้าที่ยังต้องเข้าไปตรวจดูให้แน่ชัด ก่อนที่จะลงนามรับรองการประหาร
ค่าใช้จ่ายในการประหารนักโทษแต่ละคนในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น มีงบติดกัณฑ์เทศน์และค่าดอกไม้ธูปเทียนรวม ๔ บาท หัวหมู เป็ดไก่ สุรา เครื่องสังเวยต่างๆ อีก ๑๒ บาท เงินรางวัลเพชฌฆาตดาบหนึ่ง ๕๐ บาทเพชฌฆาตดาบสอง ๓๐ บาท รวมทั้งได้เครื่องสังเวยด้วย ส่วนตำรวจและกรมการเมืองที่มาเป็นสักขีพยาน ถือว่ามาทำหน้าที่ไม่ไม่การจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้
นักโทษประหารในยุคนั้นที่กล่าวถึงกันมากก็คือ อีทองเลื่อน ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ถูกตัดสินประหารชีวิตแล้ว ยังได้รับเมตตาให้ลากลับไปอยู่บ้านเพื่อคลอดลูกเสียก่อนมาเข้าหลักประหาร อีทองเลื่อนต้องโทษฐานหักคอเด็กหญิงน้องผัวตายที่พระประแดง เพื่อแย่งชิงมรดก แต่อีทองเลื่อนมีครรภ์ขณะต้องคดี ญาติพี่น้องจึงขอประกันตัวไปคลอดบุตรที่บ้านก่อน ซึ่งศาลก็เมตตายอมให้ประกัน ในวันประหาร กรมราชทัณฑ์ก็เมตตาหาเพชฌฆาตฝีมือดีที่สุดให้ เพื่อไม่ต้องทรมาน แต่ปรากฏว่ากลับพลาด เพชฌฆาตดาบสองต้องลงมือซ้ำ จึงร่ำลือกันว่าอีทองเลื่อนทำบาปไว้หนักหนาสาหัสจึงตายยากตายเย็น
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิต เพราะเห็นว่าการตัดหัวให้ขาดกระเด็น เลือดพุ่งกระฉูดนั้นเป็นภาพที่สยดสยองเกินไป จึงเปลี่ยนมาใช้วิธียิงเป้าตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๘ เป็นต้นมา โดยนักโทษรายแรกที่ถูกยิงเป้าเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๔๗๘ จนถึงรายสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๑ธันวาคม ๒๕๔๕ มีจำนวนนักโทษถูกประหารไปแล้ว ๓๐๑ คน
ปีที่มีนักโทษถูกประหารชีวิตมากที่สุดก็คือปี ๒๔๘๒ มีถึง ๔๘ คน ซึ่งในจำนวนนี้มีนักโทษการเมืองที่ขัดแย้งกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถูกศาลพิเศษตัดสินชุดใหญ่ถึง ๑๘ คน
แต่ก่อน การประหารชีวิตด้วยวิธียิงเป้าจะทำในตอนเช้า ๐๖๐๐-๐๘.๐๐ น. แต่ในปี ๒๕๐๔ เป็นต้นมา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ อาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๗ ให้เปลี่ยนมาเป็นประหารชีวิตในตอนเย็น
การประหารชีวิตในยุคนี้จะไม่บอกให้นักโทษหรือญาติรู้ตัวล่วงหน้า เพื่อป้องกันผลกระทบทางด้านจิตใจ คำสั่งของกระทรวงมหาดไทยจะมาเมื่อหลังเที่ยง และจะต้องจัดการประหารให้เสร็จภายในวันนั้น
ผู้คุมจะไปนำตัวนักโทษออกจากห้องควบคุมมาตรวจตำหนิ รูปพรรณ รูปถ่าย และลายพิมพ์นิ้วมือ เปรียบเทียบกับหลักฐานในประวัตินักโทษ เพื่อไม่ให้มีการประหารผิดตัว จากนั้นแพทย์จะตรวจอาการว่ามีจิตสมบูรณ์ไม่วิกลจริต สักขีพยานในการตรวจสอบที่ต้องลงลายมือชื่อรับรองก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ อัยการ แพทย์ กองพิสูจน์หลักฐาน และผู้แทนกรมราชทัณฑ์
หากผู้ถูกประหารประสงค์จะทำพินัยกรรมก็ให้ทำได้ จากนั้นก็จะให้รับประทานอาหารมื้อสุดท้ายที่เรือนจำจัดให้ เสร็จแล้วก็นำไปฟังเทศน์จากพระภิกษุ หรือนักบวชตามศาสนาของผู้ถูกประหาร
เจ้าหน้าที่จะนำตัวผู้ถูกประหารไปยังแดนประหาร ผูกปิดตาด้วยผ้าขาว และมัดตัวกับหลักในท่าพนมมือ มีผ้าขึงบังระหว่างเพชฌฆาตผู้ลั่นกระสุนกับผู้ถูกประหาร แต่ก็มีจุดยิงที่ตรงกับหัวใจ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการยิงก็จะลดธงแดงลงเป็นสัญญาณให้เพชฌฆาตลั่นไก
ปืนที่ใช้ยิงเป็นปืนกลขนาด ๙ ม.ม. บรรจุกระสุน ๑๕ นัด แต่จะยิงเพียง ๘-๙ นัดเท่านั้นก็เสียชีวิตแล้ว แต่ถ้าหากเกิดเหตุผิดพลาดจึงลั่นกระสุนชุดที่สอง
จากนั้นแพทย์จะเข้าไปตรวจดูว่าผู้ถูกประหารเสียชีวิตแน่ เจ้าหน้าที่จึงพิมพ์ลายนิ้วมืออีกครั้งไว้เป็นหลักฐาน และต้องตั้งศพทิ้งไว้อย่างน้อย ๑๒ ชั่วโมง แจ้งให้ญาติมารับศพได้ในวันรุ่งขึ้น
มีเหมือนกันที่กระสุนชุดแรกไม่สามารถทำให้ผู้ถูกประหารตายได้ อย่าง ร.ท. ณ เณร ตาละลักษณ์ ส.ส. จังหวัดพระนคร ต้องโทษฐานกบฏต่อจอมพล ป. และถูกศาลพิเศษตัดสินประหารชีวิต
ร.ท. ณเณรเดินเข้าสู่หลักประหารอย่างไม่สะทกสะท้าน เมื่อเพชฌฆาตรัวแบลคมันต์ชุดแรกไปแล้ว ก็ได้ยินเสียง ร.ท.ณเณร ตะโกนออกมาจากหลังม่านว่า
“ผมยังไม่ตาย....ยิงผมอีก”
ทำเอานายทิพย์ มียศ เพชฌฆาตขวัญผวา ต้องลั่นกระสุนอีกชุด
นักโทษประหารคนดังของยุคนี้ก็คือ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ เสนาธิการคนสำคัญ ซึ่งทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๐ แต่ไม่สำเร็จ ถูกประหารเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายนต่อมาด้วยคำสั่งของนายกรัฐมนตรีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดยใช้อำนาจตามมาตรา ๑๗
ตามปกติผู้แพ้จากการทำรัฐประหารจะไม่เล่นกันแรง ยอมปล่อยให้ออกนอกประเทศหรือจับขังไว้ไม่นานก็อภัยโทษให้ แต่กรณี พล.อ.ฉลาด มีการยิง พล.ต.อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ เสียชีวิตในสวนรื่นฤดี และนับเป็นการประหารชีวิตนักโทษการเมืองคนเดียวตั้งแต่ปี ๒๔๘๒ เป็นต้นมา
ตั้งแต่วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๖ เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงวิธีการประหารชีวิตนักโทษเป็นแบบใหม่อีกครั้ง ด้วยวิธีใช้สารพิษฉีดเข้าสู่ร่างกาย หลังจากเคยใช้วิธีประหารมาแล้ว ๒ แบบในอดีต คือตัดหัว และยิงเป้า
การเปลี่ยนวิธีประหารชีวิตจากยิงเป้ามาเป็นการฉีดสารพิษ ก็เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่ดูจะโหดร้ายน้อยที่สุด ซึ่งอเมริกาก็เลิกใช้เก้าอี้ไฟฟ้ามาใช้ฉีดสารพิษแทนเช่นกัน และมีอีกหลายประเทศในเอเซียที่ใช้วิธีนี้มาก่อน เช่น จีน ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน
สำหรับสารพิษที่ใช้มีถึง ๓ ชนิด และต้องฉีดเป็น ๓ ขั้นตอนคือ
อันดับแรก จะฉีด โซเดียม เพนโททัล (Sodium Pentotal) ซึ่งเป็นผงนำมาละลายน้ำก่อนฉีด สารนี้จะมีผลทำให้หลับ
อันดับสอง ฉีด แพนคูโรเนียม โบรมายด์ (Pancuronium Bromide) ซึ่งมีผลทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ระบบหายใจหยุดทำงาน แต่ยังไม่ถึงกับเสียชีวิต
อันดับที่สาม ฉีด โพแทสเซี่ยม คลอไรด์ (Potassium Chloride) ซึ่งจะทำให้หัวใจหยุดเต้น เสียชีวิต
ขั้นตอนทั้ง ๓ นี้จะดำเนินการภายในเวลา ๑๐ นาที
ในต่างประเทศจะมีเตียงประหารที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ เป็นเตียงตั้งอยู่บนแท่นกลางห้อง แต่เมื่อเริ่มแรกไทยเรายังเตรียมไม่ทันจึงทำเตียงชั่วคราวใช้ไปก่อน พร้อมกับสร้างห้องประหารใหม่ใกล้กับห้องประหารเดิมที่ใช้ยิงเป้า
มีขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นในกติกาใหม่อีกอย่างหนึ่งคือ ผู้ถูกประหารจะได้รับอนุญาตให้พูดโทรศัพท์กับญาติได้ไม่เกิน ๕ นาที จากนั้นก็จะถูกนำขึ้นเตียงประหาร มัดร่างกายติดกับเตียง
ทีมเพชฌฆาตจะมี ๓-๕ คน ใช้เครื่องมือฉีดยาแบบอัตโนมัติ เมื่อกดปุ่มเดินยาเข้าสู่เส้นเลือดแล้ว เพชฌฆาตจะไม่มีโอกาสรู้เลยว่าใครเป็นผู้เดินยาประหารในขั้นสุดท้าย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่เกิดความรู้สึกไม่ดีในการทำตามหน้าที่ โดยขั้นตอนต่างๆในห้องนี้ จะถูกบันทึกไว้ตลอดโดยกล้องวิดีโอที่ติดไว้บนเพดานห้อง
เดิมเบี้ยเลี้ยงแต่ละครั้งในการประหารชีวิตนักโทษนั้น มีงบประมาณอยู่
๔,๕๐๐ บาทสำหรับทีมเจ้าหน้าที่ทั้งหมดประมาณ ๑๐ คน แต่เป็นส่วนของเพชฌฆาตเสีย ๒,๐๐๐ บาท เจ้าหน้าที่อื่นแบ่งกันในงบ ๒,๐๐๐ บาท อีก ๕๐๐ บาท ถวายเป็นปัจจัยแด่นักบวชที่มาเทศน์ แต่เจ้าหน้าที่มักจะนำเบี้ยเลี้ยงทำบุญถวายพระไปด้วย เพราะการทำหน้าที่ประหารชีวิตคน แม้จะเป็นคนที่กระทำความผิดร้ายแรงมา ก็จะมีผลกระทบกระเทือนจิตใจเจ้าหน้าที่มาก
ในเรือนจำบางขวางจะมีนักโทษประหารรอคิวอยู่ตลอดเวลา หลายรายก็เป็นนักโทษต่างชาติ ส่วนนักโทษที่ถูกประหารไปแล้ว จะมีป้ายประกาศติดไว้ที่หน้าเรือนจำบางขวาง
แม้โทษประหารชีวิตจะเป็นโทษที่น่าสะพรึงกลัวสยดสยอง ถึงจะทำให้ดูนิ่มนวลยิ่งขึ้นด้วยวิธีฉีดยาก็ตาม แต่ผลต่างจะอยู่ในช่วงเวลาไม่กี่นาที จากนั้นก็ตายเหมือนกัน
องค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรศาสนาต่างๆเรียกร้องให้เลิกโทษประหารชีวิตเพราะเป็นการทารุณโหดร้ายและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน แต่ประเทศไทยยังเห็นว่าโทษประหารเหมาะสมกับคนที่ก่อกรรมทำเข็ญอย่างโหดเหี้ยม อย่างเช่นผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งได้ฆ่าผู้อื่นให้ตายอย่างช้าๆเป็นจำนวนมาก เพื่อความมั่งคั่งร่ำรวยของตัวเองเท่านั้น
แม้จะมีโทษถึงประหารก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความละโมบของมนุษย์ได้ คนค้ายาเสพติดยังถูกจับได้ไม่เว้นแต่ละวัน มานั่งก้มหน้าออกทีวี คงนึกในใจว่า “โธ่! กูไม่น่าเลย”
แต่เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายนที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า แม้โทษประหารชีวิตยังมีอยู่ในกฎหมายไทย แต่เพชฌฆาตก็ว่างงานมา ๗-๘ ปีแล้ว ไม่มีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตเลย เพราะไทยได้รับปากในที่ประชุมกรรมการสิทธิมนุษยชนที่กรุงเจนีวา ที่ขอร้องให้เรายกเลิก แต่ความผิดใหม่จะไม่กำหนดโทษประหารชีวิต และจะทยอยเปลี่ยนจากโทษที่บังคับให้ประหารชีวิตอย่างเดียวให้มีทางเลือกจำคุกตลอดชีวิตได้
ตามมาตรฐานของสหประชาชาติ และกรรมการสิทธิมนุษยชนโลกถือว่าในประเทศที่มีโทษประหารชีวิต แต่ไม่มีการบังคับประหารใครจริงในระยะ ๑๐ ปี ให้ถือว่าไม่มีโทษประหารชีวิต
ทุกวันนี้หลายประเทศในโลกได้เลิกใช้โทษประหารชีวิตไปแล้ว แต่หลายประเทศก็ยังใช้ อย่างเขมรก็เลิกใช้ แต่อเมริกายังใช้อยู่ ไทยเราแม้ศาลจะมีคำพิพากษาประหารชีวิต และมีนักโทษประหารชีวิตรอคิวอยู่หลายคน แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้โทษนี้มา ๗ ปี ๙ เดือนแล้ว ครั้งสุดท้ายเป็นนักโทษคดียาเสพติด ๒ คน ถูกประหารไปเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๒ จากนั้นก็มีไว้ใช้ขู่เท่านั้น แต่หากมีเรื่องให้น่าใช้ ก็ยังใช้ได้อยู่