กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาเอสเอ็มอี ก้าวต่อ “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” เร่งบูรณาการการช่วยเหลือเอสเอ็มอีครอบคลุมทุกมิติ ตามแนวประชารัฐ พร้อมการสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายใน (Local Economy) ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ตลาด การขับเคลื่อนผลงานนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต การเติมองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ให้ก้าวไปสู่ Smart SMEs และการส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลเชื่อมโยงสู่โลกการค้าสมัยใหม่ รวมทั้งการสนับสนุนด้านการเงินผ่านกองทุนต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างครบวงจรในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจพร้อมได้รับเกียรติจาก นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานที่โรงแรม ฮอลิเดย์ อินน์ จังหวัดเชียงใหม่
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า “งานนี้เป็นการเดินหน้าครั้งที่ 2ของงานคลินิกเอสเอ็มอีสัญจรตามแนวประชารัฐที่มีความสำคัญมาก ที่ได้รับความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นเจ้าภาพ และกลุ่มบริษัทในภาคเหนือตอนบนทั้ง 8จังหวัดทั้งเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูล ฯลฯที่มาร่วมมือกัน โดยในวันนี้เราได้นำเอาชุดมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแบบครบวงจร และเข้าถึงพื้นที่มานำเสนอกับผู้ประกอบการในทุกกลุ่มตั้งแต่ระดับเริ่มต้น หรือStartupsไปจนถึงกลุ่มที่มีความสามารถจะก้าวไปในระดับต่างประเทศได้
ต้องขอขอบคุณทางจังหวัดทั้งภาครัฐและเอกชนหอการค้า สภาอุตสาหกรรมที่ร่วมกันทำงานเข้าถึงผู้ประกอบการทำให้วันนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการในภาคเหนือตอนบนนี้มีคำขอรับความช่วยเหลือเข้ามาแล้วประมาณ 700-800ราย เป็นวงเงินกว่า 1600ล้านบาทโดยที่กองทุนเริ่มทำงานได้ไม่ถึง 1เดือนแสดงให้เห็นถึงการตอบรับเป็นอย่างดี และได้มีการอนุมัติไปแล้ว 16 รายเป็นวงเงิน 59 ล้านบาท พร้อมทั้งที่ยังมีที่ในกระบวนการพิจารณาซึ่งจะเร่งอนุมัติให้อีกหลายรายตั้งแต่รายย่อยระดับ แสนไปจนถึงรายใหญ่ระดับ 10 ล้านเราก็สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนการช่วยเหลือที่ไม่ได้เป็นเงินทุน ตรงนี้ก็สำคัญไม่น้อยเราได้มีการอบรมเสริมทักษะต่างๆให้ผู้ประกอบการอย่างเช่น เรื่องของการตลาดสมัยใหม่ หรือดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งรวมถึงการผลิต การบริหารจัดการหรือแม้แต่เรื่องของบัญชีและการเงินซึ่งเป็นส่วนสำคัญ และจะมีการติดตามผล
อยากจะเรียนว่าในการช่วยเหลือในโครงการนี้มีทั้งที่เป็นเงินทุน และไม่ได้เป็นเงินทุนควบคู่กันไป และเราจะมีการจัดคลินิกแบบนี้ต่อเนื่องกันไปในภูมิภาคอื่นๆอีกต่อไป” นายอุตตมกล่าว
นอกจากนี้ “นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม”รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมบางส่วนของผู้ประกอบการในพื้นที่ ที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้ว เพื่อทราบถึงความคืบหน้า ปัญหา และแนวทางการพัฒนาของกิจการ
“นางสาวนิสากร” ได้เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์การบูรณาการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบาย 4.0 โดยผลักดันการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจากการ “เพิ่มมูลค่า” ไปสู่การ “สร้างมูลค่า” และสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายใน (Local economy) ด้วยการเร่งพัฒนาเอสเอ็มอีและเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง และครอบคลุมในทุกมิติอย่างสมดุล ทั้งการต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ตรงความต้องการของตลาดเพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ การขับเคลื่อนผลงานนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ ในรูปแบบของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต เพื่อให้ก้าวสู่ SMART SMEs พร้อมส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงสู่โลกการค้าสมัยใหม่ โดยมีศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการภายใต้กลไกประชารัฐ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเล็งเห็นความสำคัญด้านเงินทุน ที่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเพิ่มศักยภาพให้เอสเอ็มอี จึงมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีในรูปแบบกองทุนต่าง ๆ ได้แก่ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงิน 1,000 ล้านบาท และมาตรการฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือเงินทุน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินให้กับเอสเอ็มอีมีเงินทุนนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าสู่แหล่งเงินในระบบทุนได้
สำหรับการลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่นี้นับเป็นครั้งที่ 2 โดยมุ่งเน้นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในนโยบายการสนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีในด้านต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งภาคเหนือตอนบนที่ประกอบไปด้วย 8 จังหวัด มีจำนวนเอสเอ็มอีมากถึง 296,691 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.72 ของจำนวนเอสเอ็มอีทั้งประเทศ มีการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งหมด 776,115 คน คิดเป็นร้อยละ 7.21 ของการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งประเทศ จึงนับได้ว่าภาคเหนือตอนบนเป็นพื้นที่สำคัญในการส่งเสริมเอสเอ็มอีในระดับภูมิภาค
ดังนั้น เพื่อให้เอสเอ็มอีในภาคเหนือตอนบนสามารถเพิ่มศักยภาพได้ตามสภาพปัญหาและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม จึงร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือในด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรอบด้าน รวมทั้ง มาตรการด้านการเงินต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของกองทุนที่ให้บริการแก่เอสเอ็มอีภาคเหนือตอนบนในขณะนี้ดำเนินการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว
โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนา จ.เชียงใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ “นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง” (City of Life and Prosperity) ซึ่งมีสาขาธุรกิจที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า หัตถอุตสาหกรรมเชิงสร้าง สรรค์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจสุขภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น โดยปัจจุบัน จ.เชียง ใหม่ มี เอสเอ็มอี จำนวน 95,911 ราย มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจาก กทม. ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาห กรรมได้ให้การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา SMEs มาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่า SMEs ที่ได้รับการสนับสนุน และพัฒนาในการยกระดับการประกอบการด้านต่าง ๆ ยังขาดปัจจัยสนับสนุนในด้านเงินทุน ที่จะนำไปพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าเยี่ยมชมในครั้งนี้ประกอบด้วย บริษัท ที แกลลอรี่กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท กาแฟวาวี จำกัด บริษัท ศิริเรืองอำไพ จำกัด บริษัท ที แกลลอรี่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบธุรกิจด้านผลิตและจำหน่ายชา กาแฟ สมุนไพร และผลิตภัณฑ์อาหาร บริหารงานโดย นางสาว สุวลี เกียรติ์กรัณย์ โดยได้รับเงินกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจำนวน 3,000,000 บาท เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรเพิ่มกำลังและประสิทธิภาพการผลิต ที่ผ่านมาในปี 2557 ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยทำผลิตภัณฑ์ “ชาหมัก” เป็นจุดเริ่มต้นของการทำชาหมักในรูปแบบ madi และในปี 2559 เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง พื้นที่เป้าหมาย Thailand Food Valley (TFV)
บริษัท กาแฟวาวี จำกัด ผลิต จำหน่ายกาแฟครบวงจร โรงคั่วตั้งอยู่เลขที่ 88/8 ม.2 ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ บริหารงานโดย นายไกรสิทธิ์ ฟูสุวรรณ ได้รับเงินกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจำนวน 8,000,000 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ และขยายช่องทางการตลาด ที่ผ่านมาเข้าร่วมโครงการบริการเงินสมทบจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงการผลิต การจัดการตลาด (Consultancy Fund : CF) และโครงการพัฒนาสถานประกอบการเป้าหมายเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ความต้องการตลาด (พัฒนากาแฟเชอรี่) ปี 2559 เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงในพื้นที่เป้าหมาย Thailand Food Valley (TFV) และปี 2560 เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุ
โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากเงินกองทุนฯ รายได้โดยรวมเพิ่มจากเดิมประมาณร้อยละ 34 ต่อปี รายได้เพิ่ม 23 ล้านบาทต่อปี รายได้จากยอดการจำหน่ายตลาดต่างประเทศ 3.5-5 ล้านบาทต่อปี การจ้างงานเพิ่มประมาณ 25 คน กระจายรายได้สู่ไร่กาแฟ 15 ไร่ เกษตรกรประมาณ 150 คน
บริษัท ศิริเรืองอำไพ จำกัด ตั้งอยู่ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ บริหารงานโดย นางอำไพ ศิรินันต์ ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูป ประเภท เครื่องเทศ และสมุนไพรอบแห้ง ได้รับเงินกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจำนวน 3,600,000 บาท เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในอดีตเคยเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการทำเตาอบแห้ง ในปี 2559 เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน พื้นที่เป้าหมาย Thailand Food Valley (TFV) เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยทำผงน้ำพริกปรุงรส โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (One Province One Agro-Industrial Product : OPOAI) และกิจกรรมการฝึกอบรมบ่มเพาะผู้ประกอบการและนักธุรกิจในภาคเหนือตอนบน 1 (Northern Strategic Industry Training and Incubation for Entrepreneurs : NSITE)
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากเงินกองทุนฯ รายได้โดยรวมเพิ่มจากเดิมประมาณร้อยละ 17 ต่อปี รายได้เพิ่ม 20 ล้านบาทต่อปี รายได้จากยอดการจำหน่ายตลาดต่างประเทศ 12 ล้านบาทต่อปี การจ้างงานเพิ่มประมาณ 5 คน กระจายรายได้สู่แปลงเพาะบลูกวัตถุดิบ 15 แห่ง เกษตรกรประมาณ 100 คน
จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปถือเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตรโดยตรงโดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมุ่งบริหารงานในลักษณะเครือข่ายเกษตรกร โดยมีเกษตรกรในพื้นที่ที่มีคุณภาพในการผลิตที่มีคุณภาพและมีใบรับประกันเข้ามาร่วมธุรกิจในลักษณะซัพพลายเชน (Supply Chain) จึงถือว่าเงินทุนที่กระจายลงสู่พื้นที่ตรงนี้มีโอกาสกระจายไปสู่ภาคเกษตรกรด้วยไม่ใช่เพี่ยงแค่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น และถือเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงเกษตรฯ ด้วย