xs
xsm
sm
md
lg

เปิดครัว “เชฟแดนปลาแดก” เผยเบื้องหลังสูตรเด็ดก้อยกะปอม 5 ล้านวิว!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บุกหลังครัว “เชฟแดนปลาแดก” เปิดสูตรเด็ดคลิปฮอตระดับ 5 ล้านวิวในเวลาไม่กี่คืน และหยัดยืนเป็นกระแสนิยมชมชอบต่อเนื่องเรื่อยมา กระทั่งกล่าวได้ว่า ณ เวลานี้ “น้องเรียว” เชฟสุดเฟี้ยววัยประถม คือเน็ตไอดอลสายเลือดอีสานซึ่งมาพร้อมกับ “สื่อสร้างสรรค์” แบบสุดๆ
.............................................................................................................

“สวัสดีครับนี่คือรายการเชฟแดนปลาแดก...”
สำหรับคนที่ติดตามคลิปของเพจ Ptss คงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับวิธีแนะนำตัวของเด็กตัวกะเปี๊ยกที่อยู่ในคลิปซึ่งเรียกขานตัวเองว่าเชฟ กับลีลาการนำเสนอที่เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ตลอดจนความแซบ (อร่อย) ที่พร้อมเสิร์ฟผ่านเมนูบ้านๆ สไตล์อีสานบ้านเฮา ตั้งแต่ก้อยกะปอม ที่เป็นเมนูเปิดตัว มาจนกระทั่งเมนูล่าสุดอย่าง “ซั่วอึ่ง” (ต้มอึ่ง) ซึ่งกระตุ้นความอยากกินจนแฟนคลับน้ำลายสอไปตามกัน

แน่นอนว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น ใช่เพียงเพราะคาแรกเตอร์ของเด็กน้อยที่นำเสนอย่างใสซื่อและสร้างสรรค์ แต่ยังมีเบื้องหลังคือพลังของทีมงานอีกหลายชีวิตที่ร่วมกันครีเอตรายการดังกล่าวขึ้นมา โดยการนำของหัวเรือใหญ่ซึ่งเป็นหนุ่มร้อยเอ็ดผู้เรียนจบมาทางด้านศิลปะ “ปฐมพง ลมชาย” หรือ “พง”

Manager online ขอพาไปรู้จักกับบรรดาผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มนี้ที่พูดได้ว่ามีแนวคิด “แตกต่างอย่างสร้างสรรค์” ผู้เสิร์ฟทั้งสาระและความฮา จรรโลงสื่อออนไลน์...

ประถมวัยขาเฟี้ยว
ลูกข้าวเหนียวผู้คิดฮอด “สังคม”

“คือจุดเริ่มแรกพวกเรารักชอบและเรียนศิลปะมา”
ปฐมพง ลมชาย หรือ พง วัย 34 ปี หัวเรือใหญ่แห่ง ‘PTSS’ บอกกล่าวเล่าเกริ่นถึงจุดกำเนิดปรากฏการณ์ให้เหล่าสมาชิกมาหลอมรวมกัน ทั้ง “โด่ง-พณวัฒน์ มูลแก้ว”, “มินิมัด-วัสสุมล คงเจริญ”, “อานิโน๊ต-ทินกฤษ สุขชัย”, ”แมนนี่-รัตน์วริญ ซุยทุละ” และเด็กชาย รัชชานนท์ สามารถ หรือ “น้องเรียวเชฟแดนปลาแดก” เด็กชาย วงศ์วรัญ ปัญพิมพ์ หรือ “น้องอ้วนนักชิม”
แม้ว่าอายุอานามจะห่างกันเป็นรอบ และมาจากหลากหลายพื้นที่ มาบรรจบพบกันที่ริมสายน้ำบางปะกง ในจังหวัดฉะเชิงเทรา

“ผมก็เหมือนนักศิลปะ ความใฝ่ฝันตอนโน้นก็อยากเดินตามรอยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้วาดรูป ได้สร้างประติมากรรมให้ประเทศและมีชื่อเสียงไปยังต่างประเทศ แต่ทีนี้ พอเราออกมาโลกกว้าง ก็ทำให้เราได้ลองเรียนรู้อะไรๆ ผมก็ได้ไปพบกับงานแอนิเมชัน ก็รู้สึกว่ามันเหมือนภาพวาด แต่เป็นภาพวาดที่ไม่นิ่ง (ยิ้ม) คือเหมือนเราวาดรูปหนึ่ง แต่เราสามารถทำให้มันมีชีวิตได้ ผมก็หลงใหลในตรงนั้นแล้วก็ต่อยอดมาพบสื่อวิดีโอ ซึ่งเปลี่ยนความรู้สึกผมอีก ผมรู้สึกว่ามันคือศิลปะขั้นสูงสำหรับผม เพราะว่าเราไม่ต้องไปสร้างลม สร้างแสง แสงพวกนี้มันมีอยู่แล้วในจังหวะเวลานั้นๆ สิ่งรอบตัวเอย ธรรมชาติเอย มันมีค่า เราไม่ต้องไปสร้างเอง นี่คือประการที่หนึ่ง

“จากนั้นผมก็รับจ๊อบเป็นฟรีแลนซ์ทำงานตรงนี้ ไปอยู่กับเพื่อนๆ เฟ็ดเฟ่บ้าง ก็เป็นครีเอทีฟ ตัดต่อ ตากล้อง ช่วงจังวะนั้นได้ทำเอ็มวีประกอบเพลง ผมไปหาโลเกชั่น ก็บังเอิญไปเจอน้องๆ (หัวเราะ) พวกเขาเป็นแก๊งเต้นอยู่ริมน้ำ ผมก็ได้เห็นคาแรกเตอร์แต่ละคนที่เปล่งออกมา อย่างแมนนี่ เป็นกลุ่มกะเทยหัวโปก กะเทยที่ไม่ใช่กะเทยจ๋าหรือกะเทยที่อยากเป็นผู้หญิงขนาดนั้น เขาจะเป็นตัวแทนของกลุ่มนั้น หรือมินิมัด เด็กผู้หญิงที่ไม่เชิงผู้หญิง ออกแนวห้าวๆ เหมือนผู้ชายแต่ไม่ได้เป็นทอม ก็เลยคิดว่าพวกเขาน่าจะรวมกลุ่มกันสร้างสิ่งดีๆ ได้ หรือดึงพลังของเขาออกมาได้มากว่าการไปเต้นตามคนอื่น พวกเขาสามารถจะเดินทางด้วยตัวเองได้มากกว่านี้ เพราะถ้าเขาอยู่แค่นี้จะไม่มีใครเห็นแง่งามของเขาเลย นี่คือประการที่สอง ผมก็เลยชักชวนมาร่วมงานในเอ็มวีนั้น”

เมื่อได้วัตถุตั้งต้นมาเช่นนั้นแล้ว “พง” ก็เกิดความคิดที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกออนไลน์ที่ไร้ขอบเขต

“คือยุคนี้มันเปลี่ยนแล้ว ทุกอย่างมันอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตหมด ผมกลับบ้านที่ต่างจังหวัด เจอเด็กตัวเล็กๆ 4-5 ขวบ เขามีโทรศัพท์มือถือใช้แล้ว แล้วเขาก็เล่นอยู่กับมันตลอด คือไม่สนใจน้าอาที่นานๆ กลับบ้านทีอย่างเราไม่พอ (หัวเราะ) สิ่งที่เขาดู ก็มักจะเป็นการตามเน็ตไอดอลที่เขาทำกิจกรรมซึ่งไม่ค่อยดี เพราะเขาไม่รู้ ตัวคนที่ทำหรือว่าตัวยูทิวบ์เบอร์ที่สร้างตัวเองว่าเน็ตไอดอลก็ไม่รู้ ฉะนั้น ผมจึงเห็นว่ามันเป็นสื่อที่ค่อนข้างไม่รับผิดชอบสังคม บางอย่างเด็กเขาคิดว่าเขาทำเพราะตัวเขาอยากทำ แต่เขารู้ไหมว่าไอ้ยอดไลค์ที่คนตามเขา มันคือเด็ก 4-5 ขวบ เรารู้สึกว่าจริงอยู่เราทำสื่อพวกนี้เป็นฟรีแลนซ์โน่นนี่มา แต่ถ้าเกิดเราปล่อยให้สังคมมันเป็นอย่างนี้ต่อไป เด็กอย่างนี้ประมาณนี้ 4-5 ขวบ เขาโตมา เขาจะเป็นผู้ใหญ่แบบไหน

“จริงที่ว่าโซเชียลมันมาดีและมันก็สามารถหาเงินได้ แต่เราจะปล่อยมันให้เป็นแบบนี้หรือ แค่เราจะแค่เอาไปพิมพ์ในเฟซบุ๊กว่า “ไอ้ห่าเอ๊ย ทำไมทำตัวอย่างนี้เด็กตามไปเลียนแบบ” มันก็แค่นั้น ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ผมก็เลยรู้สึกว่าอย่างนั้น เรามาสร้างสรรค์ให้เกิดการตื่นรู้ดีกว่า เป็นเพจเพจหนึ่ง ที่กลุ่มคนหนึ่งใช้ความสามารถของตัวเองขึ้นมา เราอยากจะสร้างกลุ่มคนที่เป็นไอดอลลักษณะนี้ เราสามารถเต้นแบบไม่โป๊เปลือยให้เซ็กซี่ได้ แสดงมุมมองความคิดแบบนี้ได้ เป็นตัวแบบนี้ได้ เรามีความฝันแล้วเอาความสามารถเดินไป โดยที่คนตามสิ่งไม่ดีประมาณ 100 คน มีแค่คนเดียวที่มาตามคนที่มีความสามารถจริงๆ เราก็พอแล้ว ดีกว่าจะไม่มีเลย”

กลุ่ม “PTSS” หรือประถมศึกษาในชื่อเต็มจึงถือกำเนิดขึ้น ไม่เพียงเพื่อสร้างสรรค์เยาวชนของชาติ แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือคนโตผู้ใหญ่ยังต้องได้รับการปรับทัศนคติอีกด้วย

“P-T-S-S อ่านแบบเด็กเลยคือประถมศึกษา ความหมายของเราก็ประมาณว่า ต่อให้เราเป็นผู้ใหญ่หรือคิดว่าตัวเองมีความรู้ขนาดไหน ให้ตัวเองทำตัวเหมือนเด็กปฐมที่พร้อมรู้อยู่ตลอดเวลา คือศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าตัวเองโตแล้วต้องหยุด เพจเราจะเป็นแบบนั้น คือถ้าใครพูดถึงเพจนี้ คือศึกษาหรือมีไอเดียใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หยุดนิ่ง

“ไม่ใช่ทำอะไรแบบเด็กๆ และไม่ใช่สมองเด็กๆ รั่วๆ (หัวเราะ)”
พงย้ำยืนยัน เพราะแม้จะมีรูปลักษณ์ในการนำเสนอที่ดูเหมือนจะไม่ต่าง แต่ทว่าภายในสอดแทรกแง่งามความคิดให้ได้ตระหนัก

“อย่างฉายาน้องๆ มีเด็กแว้น มีสก๊อย มีกะเทยหัวโปกดมกาว เราล้อเล่น เนื้อเรื่องหรือเนื้อในตัวละคร จะพูดถึงความฝันหรือว่าการกระทำที่ใช้ความสามารถทำ ให้เขาเห็นว่าเขาไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไปตลอดเวลา และเขาทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเขากำลังทำ เขาลงมือเปลี่ยนแปลง เขาก็สามารถทำและเป็นได้ คือมันตรงข้ามกับเนื้อหนังของนอก แต่ในส่วนของเนื้อใน อาทิ ในคลิปแรกเลยของเราเมื่อวันแม่ 12 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมาคลิปเด็กแว้น เขาขี่รถไปแล้วเกิดความเบื่อหน่าย ไม่รู้ทำไปทำไม ก็เลยไปขายรถมอเตอร์ไซค์แล้วกลับบ้านไปกินข้าวกับแม่

“นั่นคือสิ่งที่เราสื่อสาร แนวทางของเรา วันนั้นมันมีคนแชร์ไป 9 หมื่น แล้วก็มากดติดตามกันเยอะมากในตอนนั้น โดยที่เราไม่คิดว่าคนจะชอบขนาดนั้น แต่เหมือนกับเขาแชร์เพื่อให้ลูกหลานเขาดูว่าน่าจะทำประมาณนี้นะ มากกว่า มันก็มีคนที่เห็นมุมเดียวกับเรา เขาก็แชร์กันจนรู้จักเรา PTSS”

เราล้วนไม่แตกต่าง
ไยไม่สร้างสรรค์คุณค่า “แก่กัน”

จากคลิปที่ 1 ส่งต่อมาถึงคลิปที่ 2,3,4…มีผู้คนติดตามเพจราวๆ 5 ล้าน 5 แสนคนในหนึ่งปี และในแต่ละคลิปที่ถูกทำและเผยแพร่ก็มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยวันละ 1,000 คน เลยทีเดียว ทำให้ ‘PTSS’ กลายเป็นเพจหนึ่งในขณะนี้ที่ไม่มีใครไม่รู้จัก

• หลังจากที่คลิปแรกเป็นที่รู้จัก ทางทีมงานดำเนินการอย่างไรกันต่อบ้าง

หลังจากนั้นมันก็จะมีทั้งแบบล้อหรือขำๆ ไปเฉยๆ กับแบบพูดถึงเหมือนคำสอนแต่ไม่เชิงคำสอน เป็นพูดให้เขาได้คิดบ้าง อย่างเช่น ตบกะหรี่ เหมือนเด็กสก๊อยที่แบบว่านัดกันจะไปตบ แต่พอตบไปตบมา กลายเป็นไปตบแป้งทำกะหรี่ปั๊บ แล้วเขาก็บอกว่าขอบคุณที่ช่วยสอนเขามาตบกะหรี่ปั๊บ เขาจะได้หาเงินไปช่วยแม่ เราก็จะมีคำคมประมาณว่า ถ้าเกิดตั้งใจทำ ก็ทำดีได้นะ ช่วยพ่อแม่ดีกว่า เป็นต้น คือบางคนเขาก็จะมาคิดว่าเฮ้ยตบกันอีกแล้วเหรอเด็กสก๊อย แต่เราก็ใส่เนื้อในว่าเขาไม่ได้มาตบกันนะ เขากำลังจะปรับตัวและสร้างความฝันใหม่ อันนี้เป็นคลิปที่ 2

จากนั้นก็มีคลิปภาคเกรียนว้าวุ่น ก็จะประมาณคล้ายๆ กัน เพราะเราจะลงเป็นตลกสอดแทรกด้วย อย่างที่บอก สาระและความสามารถ เราสลับทั้งสองอย่าง ไม่ได้มีแค่เฉพาะสาระ เพราะหลังจากที่เราคิด เราก็อยากจะให้ช่องของเราเป็นช่องที่สนุก เป็นเพื่อนเขาอยู่ทุกวัน ให้เขาได้ติดตามและค่อยๆ ค้นหาความฝันและตัวตนเขานั่นเองครับ คือเราค่อยๆ ต่อยอดให้

• คลิปเชฟปลาแดกที่แจ้งเกิดให้รู้จักกันทั่วบ้านเมืองก็ถือกำเนิดเกิดขึ้นในสิ่งที่เราต่อยอด

ครับ…คลิปเชฟแดนปลาแดกต่อยอดมาจากคลิปกะปอมครับ คือเป็นคลิปที่ดูแล้วอาจจะดูคนละแนว แต่จริงๆ น้องเขาก็อยู่ในกลุ่มตั้งนานแล้ว ก็ทำคลิปกันมา 3 คลิปแล้ว มีคลิปเอากางเกงตัวเดียวมาตัดทำเป็นหลายชุด คลิปเปิดเทอมวันแรก ไปโรงเรียนไม่ทัน หรือคลิปที่ 3 พูดถึงเรื่องกลอนตลกทั่วๆ ไป อันที่ 4 คือการทำอาหาร คือมันยังไม่มีเชฟคนไหนที่ทำอาหารอีสานตลกๆ ผมก็เลยทำ แล้วตอนนั้น เขาไปหากะปอมด้วยก็เลยเรียกมาถ่าย อันนี้ต่อยอดเรื่องที่หนึ่ง

ต่อยอดเรื่องที่สอง คือพอเราถ่ายเสร็จตัดมือถืออัปเลย โดยที่ไม่คิดว่าคนจะสนใจ เนื่องจากเราไม่ได้มีทุนเยอะขนาดนั้น เราพยายามจะสร้างให้มันเป็นโปรดักชันที่ง่ายขึ้น ซึ่งก่อนหน้านั้น เรามีโปรดักชัน มีทีมงานถ่าย มีฝ่ายตัดต่อ เราไม่สามารถดันไปถึง ก็จะไม่มีผลงานออกมาสร้างสรรค์ แต่พอเราลองอย่างนี้ คนก็นิยมและแถมนิยมเป็นอย่างมากแชร์กันเป็นล้าน ก็ทำให้เรารู้ว่าเนื้อหาสำคัญ แต่โปรดักชันก็ยังสำคัญนะ เพียงแต่เรายังไม่มีงบประมาณ เราก็เน้นทางด้านคอนเทนต์ก่อน ผมก็พยายามทุกอย่างให้มันอยู่ในมือถือ เพราะทุกอย่างกว่าที่เราจะแบกกล้อง สมมติเราไม่มีทีมงานโปรดักชัน กล้องตัวหนึ่งก็ต้องแบกเป็นกระเป๋า มีไฟ มีขาตั้ง เราไม่มีคนอุปกรณ์หนึ่งชิ้นกว่าจะได้เฟรมหนึ่งเราต้องใช้คนแบกถึง 3-4 คน (หัวเราะ) ก็เอาเนื้อหาสู้ก่อนในตอนนี้ แต่น้องๆ แต่ละคนก็จะได้ประสบการณ์เพิ่มเติมในทักษะความชอบของตัวเองแต่ละด้าน ซึ่งในอนาคตพวกเขาเหล่านี้ก็จะเป็นแกนหลักสำคัญรุ่นต่อๆ ไป

• มีเกณฑ์ในการวัดหรือควบคุมความพอดีของเนื้อหาไหม

ต้องบอกก่อนว่าสื่อทุกสื่อหรือคนทุกคนในเพจ ต่างก็พยายามดึงเอาความสามารถตัวเองมาทำ ถ้าถามว่าพอรับผิดชอบต้องระมัดระวังมันมากแค่ไหน จริงๆ เราแค่เอาความรู้สึกของเรามากกว่า อย่างเช่น ถ้าเกิดเป็นเราที่ได้ดูหรือลูกเราหลานเราที่เขาดู แล้วเขาเกิดความสนุกและมีความฝัน สามารถต่อยอดความฝันเขาขึ้นไปได้ เราเอาฐานนี้ คิดแค่นี้ เอาความรู้สึกของเราว่าเราอยากเห็นแค่นี้ ขำ สนุก ตามความรู้สึกของเรา ไม่เชิงไปวิเคราะห์ตัดสินอะไรควรไม่ควรขนาดนั้น

ที่สำคัญคือเราจะพยายามคิดตลอดเวลา พยายามดูกระแสในเฟซบุ๊ก ที่สำคัญคือลงมือปฏิบัติจริงหลังจากศึกษาว่ากระแสบางกระแสในขณะนั้นมันเป็นอย่างไร อะไรที่มันมาบิดได้ทำได้ อะไรที่ควรนำเสนออีกแบบ เราก็เอามาคิดทำให้เขาตระหนัก ซึ่งหลังจากเขาไปออกรายการเชฟแดนปลาแดก เด็กๆ แถวบ้านผมที่ต่างจังหวัด ก็เริ่มออกมาข้างนอก มาคล้องกะปอมหรือว่าวิ่งเล่น มาดูน้องเรียวถ่าย คือเกิดกระแสการเริ่มที่จะเปิด เริ่มที่จะจับกลุ่มเล่นเหมืนเดิม วิ่งเล่นตามหมู่บ้าน อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี

เมื่อก่อน ถ้าผม 20 ต้นๆ ผมจะเป็นประเภทที่ประชดประชันสังคมมากกว่า ถ้าทำอะไรก็ประชดให้เขาเห็นเฉยๆ ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เอามันอย่างเดียว แต่พอเราโตขึ้นปุ๊บบางอย่างเราเห็นว่ามันไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่จริงๆ แล้วเด็กเขาตามง่ายมาก เขาจะทำตาม เราก็เลยรู้สึกว่า จริงๆ เพจเราก็ไม่ใช่เพจดีขนาดนั้น แต่ว่าบางอย่างเราพยายามให้เขาเห็นว่า เฮ้ยทำแบบนี้ได้ อย่างที่บอกเอาความสามารถตัวเองมาทำ หรือบางอย่างที่เราเต้น เราเต้นเป็นสเต็ปนะ ไม่ได้กะโหลกะลา เขาอาจจะอยากเต้นแบบนี้ได้บ้าง ได้แสดงแสงแห่งคุณค่าในตัวเขาในทิศทางที่ถูกต้อง

ดีไม่ดีอยู่ในมือเรา
บทส่งท้ายโลกออนไลน์ในอนาคต

“ถ้าเราจะโตเราก็ต้องแตกต่าง เหมือนกับที่บอกว่าประถมศึกษาคืออะไร มันก็คือนึกถึงไอเดียใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่ได้เดินตามใคร ฉะนั้น เราก็มองในสิ่งที่มันต่างออกไป ถึงจะอยู่ได้” พงเปิดเผยถึงทิศทางข้างหน้าในอนาคตที่สิ่งเร้าต่างๆ ยากต่อการจำกัดความเหมาะสมและควบคุม

“คือไอเดียผมที่ทำ ผมจะคิดเสมอว่า สมมุติคิดมา 1 ได้แล้วจะไม่เอา เพราะถ้าผมคิดได้แสดงว่าอีก 10 คนก็คิดเหมือนกัน เราจะคิดอีก 2-3-4-5 อีก 500 คน หรือ 1,000 คนก็คงจะคิดใกล้เคียงกัน ผมจะคิดมันจนคิดไม่ออก แล้วถ้าคิดออก อันสุดท้ายนั้นแหละคือยังไม่มีใครคิดตาม

“พยามยามหรือรวมมันเป็นอันที่ 11 เพราะถ้าเกิดเราอยากจะแตกต่าง เราต้องไม่ให้เขาตามทัน ในเมื่อเราเกิดมาบนโลกนี้แล้วเราน่าจะสร้างอะไรที่เป็นตัวเราขึ้นมาสักอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ หรือถ้าเกิดเราอยากเด่น เราก็ต้องมีแสงของตัวเองหรือมีเส้นทางของตัวเองหรือเปล่า ถ้าเกิดเราตามคนอื่นอยู่เมื่อไหร่เราจะอยู่ถึงจุดของตัวเอง เราต้องมียอดเขาขอตัวเอง ไม่ใช่ไปเดินยอดเขาของคนอื่น เพราะยอดเขามันอยู่ได้แค่คนเดียว เราจะไปอยู่ซ้อนท้ายเขาก็ไม่ได้

“ซึ่งทุกวันนี้เพจเราก็ยังไม่ถึงครึ่งทาง”
พงษ์กล่าว ก่อนจะบอกเล่าถึงปัจจัยในการที่จะก้าวต่อไปทั้งทางทีมงานเพจ ‘PTSS’ และ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่อยากจะร่วมสร้างสื่อสังคมให้ดีขึ้นในวันข้างหน้า

“เพราะว่าในสิ่งที่ตัวเองอยากทำยังไม่ได้ทำ แม้จะมีโฆษณามาบ้าง ช่วยในเรื่องเงินทุน แต่ส่วนมากเป็นแค่พอทำโฆษณา แต่ไม่สามารถเป็นทุนที่อยู่ได้ เขาเข้ามาแค่เล็กๆ คิดว่าทำ มันก็แค่ทำ เหมือนเอาวิดีโอไปถ่ายก็ทำเสร็จ เงินก็ 1-2 หมื่น ก็จบ พออยู่ได้ แต่ไม่สามารถเอามาสานต่อได้เลย อย่างที่บอก มีทุน 1 หมื่นบาท ทำได้ไหม เราถ่ายสองวันก็ 6 พันกว่าบาทแล้ว ทั้งค่าข้าว ค่าเสื้อผ้า ค่าเครื่องสำอาง ค่ารถวิ่งเข้าออก ไม่รวมค่าไอเดีย เพราะไม่ใช่แค่อยู่ๆ คิดออกทันที 3-4 วันถึงจะออก ไหนจะตัดต่อ ค่าไฟ ค่าทีมงานอยู่ในทุกวันของเขา หนึ่งเดือนเขาเอาเงินจากไหนมาอยู่

“ก็มีคนถามเล่นๆ แล้วเมื่อไหร่จะขึ้นมัธยม จริงๆ มันก็เป็นมัธยมอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ว่าเด็ก เวลาที่เขาทำอะไรเขาจะสนุกกับมันแล้วก็เล่นจนสุดตัว เราเลยอยากให้ทุกคนรู้สึกแบบนั้นมากกว่า เหมือนหนังจอมยุทธ์คุณจะเก่งมาจากไหน คุณก็ต้องเรียนรู้วิชานั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ขั้นที่ 12 แล้วอยู่แค่นั้น ขั้นที่ 13 คือฝึกเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ ผนวกทุกอยางให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง

“แต่สิ่งที่จะทำให้วงการนี้พัฒนาไปได้ คือถ้าเกิดเราทำดีแล้วทำให้มันสนุก ผมคิดว่าการที่คนติดตามทำให้คนรักมากกว่า ผมมองว่ากลุ่มนี้ที่จะเป็นคนที่ช่วยพัฒนา เราอาจะทำไปเรื่อยๆ ถึงจะพัฒนาช้า แต่ว่าเราหาเงินอย่างอื่นได้หรือว่ามันต้องมีสักวันที่เงินทุนมันอยู่ได้ โฆษณาที่เข้ามา มันอยู่ได้ เอาแค่พออยู่ได้ก็พอแล้ว

“ซึ่งอนาคตสิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘คนติดตาม’ สังคมออนไลน์จะอยู่ได้หรือไม่ได้ เพจจะได้รับความนิยม เนื้อหาสังคมในโลกออนไลน์จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับคนในสังคมเอง ขึ้นอยู่กับผู้ติดตามเอง เราจะทำอย่างไรให้เขารักและอยากให้เราอยู่ต่อไปบนโลกออนไลน์ สิ่งที่เราทำจะสะท้อนทั้งหมดทั้งมวลให้เกิดขึ้น ทิศทางของเราก็จะเป็นอย่างนั้น

“ส่วนแก่นหลักของเพจก็เหมือนเดิม สนุก ตลก สร้างความฝันได้ เอาความสามารถมาใช้ และมีไอเดียใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ใครเข้ามาในแพจแล้วอมยิ้มมีเสียงหัวเราะกลับทุกครั้ง หรือซาบซึ้งดูแล้วรัก ซึ่งตอนนี้ก็มีแถวบ้านทักว่า “นี่ไงๆ พวกนี้ไง” แต่จะพวกอะไรเราแค่เห็นรอยยิ้มเขาก็รู้แล้วครับ แค่นี้เราก็มีความสุขแล้วครับ”





เรื่อง: รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช

กำลังโหลดความคิดเห็น