xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยคดียิง “เอ็กซ์ จักรกฤษณ์”! หน.ชุดสืบ เผยโยง “หมอนิ่ม-ทนายอี้ด” จ้างฆ่าได้ยังไง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีต ผบก.น.3 หัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวน เล่าคดียิงสังหาร “เอ็กซ์ จักรกฤษณ์” หลังศาลพิพากษาประหาร 2 ผู้จ้างวาน เผยวิธีสืบจนพบ “หมอนิ่ม” ชี้เป้าสั่งฆ่า “ทนายอี้ด” จ้างมือปืน - คนขับ ในวงเงิน 2 ล้าน ส่วนแม่หมอสงสารจึงออกรับแทน

ผู้จัดการออนไลน์ - วันนี้ (19 ธ.ค.) พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวผู้จัดการออนไลน์ ถึงกรณีที่ ศาลจังหวัดมีนบุรี ตัดสินพิพากษาประหารชีวิต พญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ หรือ หมอนิ่ม ภรรยา นายจักรกฤษณ์, นายสันติ ทองเสม หรือ ทนายอี๊ด ในคดีจ้างวานฆ่า นายจักรกฤษณ์ หรือ เอ็กซ์ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย เมื่อปี 2556 พร้อมสั่งจำคุกตลอดชีวิต นายจิรศักดิ์ กลิ่นคล้าย มือปืน และ นายธวัชชัย เพชรโชติ ผู้ขับขี่จักรยานยนต์พาไปสังหาร และยกฟ้อง นางสุรางค์ ดวงจินดา มารดาของ พญ.นิธิวดี ในฐานะอดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 3 (ผบก.น.3) หัวหน้าทีมสืบสวนสอบสวนในคดีดังกล่าว

โดย พล.ต.ต.สุคุณ อธิบายว่า ในวันที่เกิดเหตุ คือ วันที่ 19 ต.ค. 2556 นายจักรกฤษณ์ ได้ถูกคนร้ายขับรถจักรยานยนต์ประกบยิงคารถปอร์เช่ หลังเกิดเหตุไม่นาน พญ.นิธิวดี ก็ไปในที่เกิดเหตุด้วยตนเองเพราะได้รับแจ้งเหตุสามีตนเองถูกยิง จึงออกจากบ้านไปช่วยปฐมพยาบาล และส่งตัวไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเสรีรักษ์ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในตอนแรกก็ไปดูที่เกิดเหตุและตั้งธงสันนิษฐานมันน่าจะเกิดจากหลายสาเหตุ อาจจะเป็นกรณีความขัดแย้งในวงการยิงปืน พระเครื่อง และอีกหลายอย่าง ซึ่งเราก็พยายามหา แต่พอสืบไปเรื่อยๆ ก็พบว่า จริงๆ แล้ว นายจักรกฤษณ์ มีปัญหาปากเสียงกับ พญ.นิธิวดี อย่างมากก่อนเกิดเหตุ จนต้องหลบมาพักเพียงลำพังในบ้านที่เกิดเหตุ จึงทำให้ข้อสันนิษฐานน่าจะเป็นคนใกล้ชิดที่จะบงการฆ่า เพราะว่าเขาจะรู้ได้อย่างไรว่า นายจักรกฤษณ์ จะออกมาตอนไหน อย่างไร เนื่องจากตอนนั้น นายจักรกฤษณ์ พยายามเก็บตัว

พล.ต.ต.สุคุณ กล่าวต่อว่า จากนั้นก็มีการสืบสวนสอบสวนกันจนแกะรอยได้ จนได้ตัว นายจิรศักดิ์ ผู้ใช้อาวุธปืนยิง นายจักรกฤษณ์ และก็สอดคล้องตรงกันพบว่า มีการจ้างวานฆ่ากัน โดย พญ.นิธิวดี ต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็เลยทำให้มีการเช็กรายละเอียด จนทราบว่า มีการจ้างวานทีมร่วมกับบุคคลอื่น มีการจ้างวานมือปืน ในวงเงิน 2,000,000 บาท แต่ว่ามีการจ่ายก่อนล่วงหน้าไป 600,000 บาท และมีการติดต่อรับอีก 600,000 บาท ในงวดต่อๆ มา โดยมี ทนายอื้ด เป็นผู้ติดต่อจัดหา ทั้งคนขับรถและมือปืนให้รับงาน ส่วนการจ่ายเงินนั้น ได้มีการนัดมือปืนไปที่บ้านหลังหนึ่งให้มารับเงินส่วนหนึ่งไป ทางตำรวจก็ไปหาพยานมาจนได้ ซึ่งค่อนข้างยากลำบากพอสมควรในช่วงนั้น และคนกลุ่มนี้ก็เป็นนักกฎหมาย จึงต้องใช้การรวบรวมพยานหลักฐานในแนวทางการสืบสวนสอบสวน จนกระทั่งศาลมีคำสั่งพิพากษาลงโทษดังกล่าว

ส่วนข้อสันนิษฐานที่เกี่ยวกับ พญ.นิธิวดี นั้น พล.ต.ต.สุคุณ กล่าวว่า คือ ตอนนั้นเราก็คาดว่า พญ.นิธิวดี น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะมีเรื่องทะเลาะกันในประเด็นขอให้หย่า แต่ว่าทาง นายจักรกฤษณ์ ไม่ยอม ตอนหลังก็มีการคุยกันดี และชวนออกมาทานข้าว ซึ่งมันก็น่าจะเป็นจุดสังเกตว่า ทำไม นายจักรกฤษณ์ ถึงได้ออกมา และคนร้ายจึงขับรถออกมายังจุดเกิดเหตุพอดี จึงได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิด และดูในทางการสอบสวน จนกระทั่งพบว่า จริงๆ แล้ว พญ.นิธิวดี เป็นคนนัดให้ นายจักรกฤษณ์ ออกมา และโทรศัพท์ให้ผู้จ้างวานทราบว่าผู้ตายได้ออกมาแล้ว ซึ่งคนร้ายที่อยู่ในบริเวณนั้น ก็ขับรถย้อนออกไปจนเจอรถของ นายจักรกฤษณ์ กำลังออกก็ขับตามมาจนมาถึงจุดเกิดเหตุก็ใช้อาวุธปืนยิง

ส่วนกรณีที่มารดาของ พญ.นิธิวดี ให้การรับสารภาพบงการฆ่า แต่ศาลสั่งให้ยกฟ้องนั้น พล.ต.ต.สุคุณ กล่าวว่า คือ เบื้องต้นในการแจ้งข้อหาจ้างวานฆ่า มารดาของ พญ.นิธิวดี ให้การว่าในตอนนั้น ที่ พญ.นิธิวดี ป่วยและรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาล ก็มีการนัดแนะกับพยานอีกคน ซึ่งนำส่วนของผู้จ้างวานฆ่ามาพูดคุยกันในห้อง ซึ่งมารดาของ พญ.นิธิวดี ก็อ้างว่า บุตรสาวหลับ ไม่ได้ยินการจ้างวานฆ่า แต่ว่าจากพยานหลักฐานก็มีความชัดเจน หลังจากสอบปากคำคนในบ้านทั้งหมด ตอนวันเกิดเหตุคนที่จะโทร.นัดให้นายจักรกฤษณ์ ออกมา และโทร.แจ้งให้ทีมมือปืนออกไม่น่าจะใช่แม่ เพราะวันนั้นแม่ไม่ได้อยู่ในจุดตรงนั้น จากที่มีการเช็ก เพราะฉะนั้นก็คือ พญ.นิธิวดี ที่เป็นผู้ดำเนินการ ในการสั่งให้ออกมาทำ ศาลก็น่าจะมองในประเด็นที่กล่าวอ้างลอยๆ นั้น ไม่มีหลักฐานใดๆ แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็ยืนยันว่า ผู้ที่เรียกเหยื่อออกมา ก็คือ พญ.นิธิวดี โดยเชื่อว่า การรับสารภาพคงเพราะสงสารบุตรสาว จึงพยายามทำไปในลักษณะนั้น ซึ่งในการดำเนินคดีตั้งแต่แรก พญ.นิธิวดี ก็ได้ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด ขณะที่ทางตำรวจก็ได้ยื่นฟ้องทั้งหมด เพราะเชื่อว่ามารดาของ พญ.นิธิวดี ก็มีส่วนรู้เห็นในการตกลงรับงานกัน แต่ก็หลักฐานอย่างที่ศาลระบุว่า อาจจะคลุมเครือ เนื่องจากในวันปฏิบัติการจริง มารดาของ พญ.นิธิวดี ไม่ได้รู้เรื่องเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น