xs
xsm
sm
md
lg

นักเรียนทุนภูมิพล “พัทธ์ ยิ่งเจริญ” กับภาพวาดในหลวง ร.๙ สไตล์บาโร้ค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าใครเคยผ่านมาแถวถนนพระอาทิตย์ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นสวนสันติชัยปราการที่มีป้อมปราการเก่าแก่คือป้อมพระสุเมรุตั้งอยู่เป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่น ย่านนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นย่านประวัติศาสตร์ แถมมีร้านอาหารอร่อยที่ขึ้นชื่อหลายร้านอีกด้วย และหนึ่งในร้านเหล่านั้น ก็มีชื่อ “ครัวนพรัตน์” รวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะ “แกงจืดลูกลอก” ที่นับเป็นเมนูเด็ดของร้านนี้

หลังจากปิดกิจการไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับเป็นข่าวดีที่ครัวนพรัตน์จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหนึ่ง ในปลายปีช่วงกลางเดือนธันวาคม 2559 นี้ และภาพที่เห็นสะดุดตาสำหรับคนผ่านไปมาในช่วงเวลานี้ ก็คือการตกแต่งร้านที่แปลกตากว่าที่ใด เพราะภาพวาดบนผนังที่ใครเห็น ก็เป็นต้องหยุดมองด้วยความตื่นตาตื่นใจตั้งแต่ยังร่างสเกตช์ภาพ

ที่สำคัญ ผลงานนี้ก็ไม่ได้จ้างศิลปินจากที่ไหนมาวาดให้ แต่เป็นผลงานของทายาทรุ่นลูกของครัวนพรัตน์ อายุ 23 ปี ที่มีชื่อว่า “พัทธ์ ยิ่งเจริญ” นักเรียนดีเด่นที่ได้รับทุน “ภูมิพล”

“ผมเกิดและเติบโตอยู่ในย่านบางลำพู ณ บ้านเลขที่ 1/2 ในตรอกไก่แจ้ ถนนพระสุเมรุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ จบการศึกษาชั้นประถมและมัธยมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ปัจจุบันก็กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปีที่ 5 คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ของมหาวิทยาลัยศิลปากรครับ” เด็กหนุ่มแห่งตรอกไก่แจ้ บอกเล่าพื้นเพของตนเอง

“ตอนนี้ก็เรียนไปด้วยและทำงานไปด้วย รับทำงานศิลปะทั่วไป โดยเฉพาะงานจิตรกรรม สอนศิลปะเบื้องต้น การวาดเส้น และสื่อทางจิตรกรรมประเภทต่างๆ ออกแบบลายเสื้อผ้าแฟชั่น”

พัทธ์ ยิ่งเจริญ เล่าให้ฟังถึงที่มาในการวาดภาพหรือเพนต์ภาพบนผนังให้ฟังว่า ปกติแล้ว เขาจะไม่รับทำงานในลักษณะนี้เท่าไหร่นัก แต่เนื่องด้วยคุณพ่อและคุณแม่กำลังจะกลับมาเปิดร้านอาหารอีกครั้ง หลังจากปิดหน้าร้านและรับเฉพาะจัดเลี้ยงนอกสถานที่มากว่า 8-9 ปี และมีความคิดว่าจะทำร้านเป็นพื้นที่ผสม ระหว่างพื้นที่ทางศิลปะ (แกลเลอรี) และร้านอาหาร การตกแต่งร้านด้วยภาพวาด กึ่งถาวรในบางส่วน จึงสนับสนุนแนวคิดข้างต้นเป็นอย่างดี

“ผมจึงได้มาช่วยวาดด้วยครับ ส่วนแรงบันดาลใจอาจเรียกว่าเป็นแรงผลักมากกว่าบันดาลใจ เนื่องด้วยตอนคิดสเกตช์งานชิ้นนี้ได้เปลี่ยนมาหลายรูปแบบ และมีความคิดเบื้องต้นเพียงแค่การตกแต่งให้ดูสะดุดตาเท่านั้น มิได้คำนึงเรื่องเนื้อหาเท่าใดนัก กระทั่งวันที่ 13 ตุลาคม คุณพ่อจึงเสนอว่า ควรทำภาพให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผมจึงเลือกนำเสนอเรื่องราวพระองค์ท่าน”

ในแง่รูปแบบของภาพที่เลือกนำมาวาดนั้น พัทธ์ ยิ่งเจริญ เล่าให้ฟังว่า
“พวงดอกไม้ในลักษณะนี้ เป็นที่ปรากฏในงานจิตรกรรม “เฟลมิช” (Flemish) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นภาพที่นำเสนอพระแม่และพระบุตรในพุ่มดอกไม้ ศัพท์ทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เรียกว่า Virgin and child in the garland

“ด้วยความที่ผลงานลักษณะนี้จัดเป็นตระกูล ‘บาโร้ค’ (Baroque art) ซึ่งมีความโดดเด่นที่รายละเอียดอันวิจิตร ประกอบกับสีสันที่สวยงาม สะดุดตาเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว จึงได้เลือกมาเป็นรูปแบบที่จะใช้ออกแบบภาพชิ้นนี้ และมากไปกว่านั้น ภาพพุ่มพันธุ์พฤกษายังมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในแง่ที่ว่า พระองค์ท่านเป็นผู้นำมาซึ่งความร่มเย็นและความสมบูรณ์พูนสุขแก่ราษฎรทุกหมู่เหล่า เป็นนัยยะของความสุขและความอุดมสมบูรณ์ จึงสามารถถ่ายทอดด้วยแนวทางศิลปะแบบบาโร้คได้อย่างเหมาะสม

“ภาพนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมากและวาดยากพอสมควร ประกอบกับการที่ผมไม่อยากคัดลอกงานโบราณมาตรงๆ หากแต่ต้องการผสมผสานหลายภาพต้นแบบเข้าด้วยกัน จนกระทั่งเกิดเป็นภาพใหม่ ผมจึงขึ้นรูปด้วยการร่างภาพสด หรือการร่างด้วยมือเปล่าโดยไม่ได้คัดลอกภาพจากต้นแบบด้วยเครื่องทุ่นแรงอื่นๆ ส่วนสีที่ใช้ ก็คือสีน้ำพลาสติกธรรมดาที่ใช้ทาอาคารทั่วไป ปัจจุบันผลงานชิ้นนี้ลุล่วงไปกว่า 65-70% แล้ว ด้วยเวลาประมาณ 9 วันทำงาน โดยระยะหลังมานี้ ผมมีเวลาทำงานเพียงวันละ 2 - 3 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น อาจต้องใช้เวลาอีกราวๆ หนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้งานสำเร็จ”
“พัทธ์ ยิ่งเจริญ” นักเรียนดีเด่นที่ได้รับทุน “ภูมิพล”
สำหรับ “ทุนภูมิพล” ที่พัทธ์ได้รับนั้น เขาเล่าให้ฟังว่า
“เท่าที่ผมทราบนะครับ คือทุนนี้เป็นทุนที่ทางมหาวิทยาลัยส่งชื่อนักศึกษาไปเพื่อขอทุน โดยพิจารณาจากผลการเรียนเป็นหลัก และทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ เบื้องต้นทราบว่าสำหรับคณะจิตรกรรมฯ ผมมีรายชื่อที่ได้รับทุนนี้ แต่กำหนดการหรือรายละเอียดอื่นๆ ผมยังไม่ทราบนะครับ ต้องรอทางมหาวิทยาลัยแจ้งมาอีกครั้งครับ”

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่สนใจ หากใครผ่านมาแถวนี้ สามารถแวะมาได้ และร้านนี้ก็จะนำผลงานของพัทธ์และเพื่อนๆ รุ่นพี่รุ่นน้องที่สนใจนำมาแสดงหมุนเวียนและจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจด้วย เพื่อเป็นทุนสำหรับการเรียนของนักศึกษาและเป็นการสนับสนุนผลงานทางด้านศิลปะของคนไทยให้เป็นที่รู้จักต่อไปอีกด้วย
เรื่อง / ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม
ขอบคุณภาพบางส่วน : พัทธ์ ยิ่งเจริญ

กำลังโหลดความคิดเห็น