xs
xsm
sm
md
lg

“ระเบิดจากข้างใน” หัวใจแห่งการพัฒนา ในพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ : ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ก้าวแรกของผมคือการคืนความสงบสุขและความมั่นคงสู่สังคมด้วยจิตสำนึกของพลเมืองดี ก้าวที่สองคือการยกระดับคุณภาพชีวิตและความมั่งคั่ง ด้วยการสานพลังประชารัฐ บูรณาการทุกภาคส่วนให้เกื้อกูลกันในห่วงโซ่คุณค่า และ “ก้าวต่อๆ ไป” คือ การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งและยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ลดการพึ่งพาจากภายนอก ‘ระเบิดจากข้างใน’ มีเงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรม คุ้มกันภัยจากความไม่แน่นอนของโลก” (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เขียนไว้ในบทความ “จากใจนายกรัฐมนตรี” ตีพิมพ์ในจดหมายข่าวเพื่อประชาชน ฉบับที่ 30 วันที่ 15 ก.ค. 2559)

“แนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า ‘การระเบิดจากข้างใน’ คือ พัฒนาชุมชนให้อยู่รอด พอมีพอกิน เข้มแข็ง และมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเสียก่อน รัฐบาลไทยได้ขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างความเข้มแข็งเริ่มจากในระดับหมู่บ้านอย่างเป็นรูปธรรมกว่า 25,000 หมู่บ้าน สร้างวิสาหกิจชุมชน ธุรกิจชุมชน สหกรณ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น จัดสรรกองทุนหมู่บ้าน เมื่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในระดับพื้นฐานของประเทศมีความเข้มแข็งแล้วก็จะขยายผลในวงกว้างออกไปสู่ระดับจังหวัด ภูมิภาค ทั้งประเทศ จนถึงขยายสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลกต่อไป” (บางส่วนจากสุนทรพจน์โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวไว้ในพิธีเปิดการประชุม G-77 Bangkok Roundtable on Sufficiency Economy : an Approach to Implementing the Sustainable Development Goals เมื่อวันที่ 29 ก.พ.2559)
ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา
บ่อยครั้งเลยทีเดียว ที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีการกล่าวถึงคำว่า “ระเบิดจากข้างใน” ให้ประชาชนทั่วไปได้ยิน ซึ่งในคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ก็มีการอธิบายไว้คร่าวๆ เช่นกันว่า คำดังกล่าวมีความหมายอย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ดี บุคคลท่านหนึ่งซึ่งซาบซึ้งดีกับคำคำนี้ คงจะหนีไม่พ้น ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งได้ตามเสด็จฯ ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มาตลอดหลายสิบปี และถ้อยคำดังกล่าวนี้ ก็เป็นพระราชดำรัสในพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ซึ่ง ดร.สุเมธ ได้กล่าวถึงไว้อย่างละเอียดในคราวแสดงปาฐกถาไว้เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๓ ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาคนไทยที่สมบูรณ์แบบ”

เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วนของปาฐกถาดังกล่าว มาบอกเล่ากล่าวต่อ เพื่อความกระจ่างแก่ใจ ในความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ระเบิดจากข้างใน” ...

“... ขอฝากเรื่องนี้ด้วยนะครับ ท่านอาจารย์ทั้งหลาย ไม่ว่าท่านจะอยู่ในสาขางานไหน หยิบมาเถิด งานพระเจ้าอยู่หัว มีครอบคลุมทุกสาขา บทเรียนทฤษฎีของพระองค์ ทำไมจะต้องไปเลียนฝรั่งตลอดเวลา แม้กระทั่งสื่อกำลังถ่ายทอด บ้านเมืองยุ่งยากทุกวันนี้เพราะเอาอย่างฝรั่งมากเกินไป นี่พูดจากคนที่เรียนนอกมาตั้งแต่เด็กๆ นะครับ รูปแบบบางอย่าง หลักการบางอย่างถูกดีไซน์ถูกออกแบบสำหรับพื้นที่แห่งหนึ่ง สำหรับคนที่มีลักษณะความเชื่อวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง แล้วคนไทยเราไม่มีหรือ เราไม่มีหลักคิด เราไม่มีปรัชญาของเราเองหรือครับ

Thai Ways of Life มีบ้างไหม ไม่ใช่พูดแต่ American Ways of Life หรืออะไร แล้วพยายามจะแบกเอาของเขามาใส่ มากำหนดเป็นเส้นทางของเรา คิดผิดอย่างมหันต์เลย ถึงได้ยุ่งเหยิงอยู่ทุกวันนี้ ฝืนโลกไปหมดเพราะเอาวิถีชีวิตเขามาใส่วิถีชีวิตเรา

บทเรียนบทหนึ่งซึ่งผมได้รับในสัปดาห์ที่สองของการถวายงาน ยังจำได้ ท่านเรียกไป ก็รู้ว่าพวกเรามาจากสภาพัฒน์ฯ ถอดแบบลักษณะฝรั่งมาทั้งนั้น เหมือนคุณอาจารย์ทั้งหลายดีไซน์หลักสูตร คือลอกแบบฝรั่งเขามาทั้งนั้น ไม่ต้องหัวเราะ ผมเป็นนายกสภาฯ ผมรู้ดี บางแห่ง Copy เขามา บางแห่งก่อนจะจบปริญญาของเราต้องมี Publication ในหนังสือต่างประเทศ บางอย่างเป็นประโยชน์ประเทศเรา ไม่เป็นประโยชน์ประเทศเขา เขาก็ไม่ลงให้ เราไม่ได้ต้อง “สากล” เราเป็นทาสคำว่า “สากล” ผมอาจจะเชยมากที่พูดอย่างนี้ ผมอาจจะไดโนเสาร์ เชิญต่อว่าผมเถอะ ไม่เป็นไร แต่อยากให้ข้อคิด เราติดปลัก “สากล” กระทั่งลืมภูมิปัญญาของเราเอง

วันนั้น รับสั่งเรียกไปสอนอะไรในฐานะทรงเป็นครูและผมเป็นศิษย์ “จำไว้นะ” อันนี้เป็นคำสั่งเพราะผมสังกัดพระองค์ท่านแล้ว เข้าไปทำ ถึงแม้เป็นหน่วยราชการ แต่เป็นหน่วยราชการตั้งขึ้นมาเพื่อถวายงานพระองค์ “จำไว้นะ จะไปทำโครงการที่ไหน จะไปทำกิจกรรมที่ไหน ให้ความเคารพคำว่า ‘ภูมิสังคม’ อันนี้ของเก่า ผมบรรยายมา 10 ปีแล้ว

“ภูมิสังคม บทเรียนบทแรกประกอบด้วยคำสองคำง่ายๆ คำแรกคือ ภูมิ ภูมิคืออะไร ภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเรา หรืออีกนัยหนึ่งคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ภาษาโบราณ ไปที่ไหน ให้รู้เรื่องนี้ก่อน ดิน น้ำ ลม ไฟ รอบๆ ตัวเราเป็นอย่างไร ไปทางเหนือ เจอดิน น้ำ ลม ไฟ แบบหนึ่ง ไปอีสานเจอสูงเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ภูเขาสูง เป็นที่ราบสูง แล้วพอลงมาเจอภาคกลาง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เจอ “ลุ่ม” น้ำท่วมแน่นอน

ธรรมะข้อแรกที่พระองค์สอนคืออะไร “ธรรมชาติ” ไปสู้ทำไมกับธรรมชาติ สิ่งที่พระองค์สอนก็คือ สอนให้ปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ คนโบราณ บ้านผมอยู่เพชรบุรี ไม่เคยกลัวน้ำท่วมเพราะอะไร บ้านทรงไทยใต้ถุนสูง พอก่อนหน้าน้ำ ขนของขึ้นนอกชานหมดก็จบ ดีใจเสียอีกนั่งตกปลาจากหน้าต่าง สนุกจริงๆ น้ำท่วมสมัยก่อน เอาชันยาท้องเรือเตรียมไว้ คนสมัยก่อนฉลาดกว่าคนสมัยนี้ คนสมัยนี้พอน้ำท่วม มันทุกข์ คนสมัยก่อนนี้เรือมันเยอะนะ ไม้มันไหลตามน้ำมาดึงมาเก็บไว้เป็นฟืนต่อไป หน้าดินที่บ้านเพชรบุรีอุดมสมบูรณ์ที่สุดเลย เห็นไหมครับขจัดทุกข์โดยใช้ธรรมะ คืออยู่กับธรรมะ อยู่กับธรรมชาติ ทรงสอนง่ายๆ ฉะนั้น ไม่ต้องสงสัยทำไมผักตบชวาที่เรารังเกียจ แต่กลับทรงเอามาใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์

ดังนั้น ถ้าท่านลองสังเกตผักตบชวา เดี๋ยวนี้หายากมากๆ แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อสมัยผมอายุ 10 ขวบ ผมจำได้ว่ามีบางส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยาเดินข้ามได้ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี ทำไมครับ กลายเป็นเงินไปแล้ว เดี๋ยวนี้ เส้นหนึ่งก็เอามาผ่า 4 ตากแห้ง ชุบน้ำยา มัดละกำ ร้อยชิ้นหรือเท่าไหร่ก็ไม่รู้ เดี๋ยวนี้ เป็นราคา ผมไม่ได้ตาม แต่รู้ว่าเป็นเงินไปแล้ว เดี๋ยวนี้ก็เก็บเรียบหมดแค่นั้น ทำให้เกิดประโยชน์ ประโยคที่สองเป้าหมายในการครองแผ่นดิน รับสั่งว่า “เพื่อประโยชน์สุข” แทนที่จะรับสั่งเพื่อความร่ำรวยหรือว่าพวกเราชอบเรียน วปอ. “เพื่อความมั่งคั่งและมั่นคง” นี่มีอยู่สองคำนี้ ใครเรียน วปอ. ต้องเจอคำสองคำนี้ เพื่อความมั่งคั่งและมั่นคง

พระองค์ท่านกระโดนข้าม shot เลย มั่งคั่งแต่ไม่มีปัญญาใช้ ความมั่งคั่งจะเกิดประโยชน์อะไร มีเงินกี่หมื่นล้าน ถ้าไม่รู้จักเอาเงินนั้นมาใช้ประโยชน์ก็ทุกข์ ทุกข์กันเป็นแถว มีเงินไม่เป็นไร จะตั้งงบประมาณเท่าไหร่ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าต้องใช้ปัญญา เอางบนั้น เอาเงินนั้น เอาความร่ำรวยนั้น เอาความมั่งคั่งนั้นมา generats หรือว่าก่อให้เกิดประโยชน์ให้ได้ และเมื่อมีประโยชน์ ความสุขก็จะตามา ง่ายๆ อย่างนี้ ไม่เห็นพระองค์ท่านทรงใช้คำสอนที่วิลิศมาหราอะไร เพราะฉะนั้นมีเงินในกระเป๋า ถ้าคุณไปใช้ไม่เกิดประโยชน์ ก็ทุกข์ แต่ถ้าใช้ประโยชน์อย่างมีสติปัญญา ใช้กินอะไรต่ออะไรอย่างพอดิบพอดี ใช้ข้าวใช้ของอย่างมีประโยชน์ ความสุขก็เกิดขึ้น ฝรั่งเพิ่งมาพูดเรื่องความสุขเมื่อไม่กี่สิบปีนี้ Gross National Happiness (GNH) อะไรก็ไม่รู้ พระองค์ท่านรับสั่งก่อนฝรั่ง 50 ปีทุกอย่าง คนไทยอยู่ใกล้กว่า แต่ไม่ได้เรียนรู้อะไร สอบตกทุกที

เพราะฉะนั้น “ภูมิ” นี่สำคัญ ไปปักษ์ใต้ เจอดินพรุ ดินอะไรต่ออะไร เมื่อวานนี้แห้ง เมื่อวานนี้ตอนบ่าย ผมเดินตามเสด็จฯ สมเด็จพระเทพฯ ฝนตกจั๊กๆ สวนผลไม้ บางช่วงก็ต้องการฝน ตกผิดจังหวะก็ไปแล้วทั้งสวน เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาก่อน ต้องรู้ก่อน เราชอบดำเนินการโดยไม่คิดให้ลึกซึ้ง พอนึกอะไรขึ้นมา ก็บังคังใช้ทั่วประเทศ นึกโครงการอะไร ลองสังเกต มีแผนระดับชาติกระจายไปทั่วประเทศ ให้เลี้ยงวัวทั่วประเทศ ให้ปลูกยางทั่วประเทศ ให้ปลูกอะไรก็ไม่รู้ ตอนไบโอดีเซล ก็ปลูกปาล์ม ทั่วอีกสานก็ปลูกปาล์มหมด เฮ้ย ไม่ได้ ต้นปาล์มเป็นพืชต้องการน้ำ ถึงได้ลงไปอยู่ใต้ “ฝนแปด แดดสี่” คำโบราณเขาก็เอ่ยแล้ว ถึงได้ลงไปใต้ เดี๋ยวก็พังกันระเนระนาด อย่างนี้เพราะว่าพูดกันโดยไม่ได้คำนึงถึง “ภูมิ” ทรงลึกไปกว่านั้นอีก ไม่ได้สอนให้รู้จักดิน น้ำ ไฟ และสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ความสำคัญ ความหลากหลายซึ่งมีไม่ต่ำกว่าดินน้ำลมไฟ คือ “สังคม” คือ “คน” ทรงสอนให้เคารพคน ให้รู้จักคน ให้เข้าใจคน เพราะอะไร

คนทางเหนือจะคิดอย่างมีวิถีชีวิต มีจารีตประเพณีอย่าง อีสานแม้กระทั่งบางจังหวัดข้ามเขต จะมีเผ่าโซ่ง เผ่าอะไรแถวสกลนคร นี่อีกเรื่องหนึ่ง ไปทางเขมร ประเพณีจะเปลี่ยนไป มีวิถีชีวิตของเขาอีกแบบหนึ่ง ต้องให้ความเคารพ คนใต้ คนเหนือตัดสินใจไม่เหมือนกัน คนอีสาน คนภาคกลางตัดสินใจไม่เหมือนกัน แต่บทเรียนบทแรก ผมว่ามีค่าอย่างยิ่ง ช่วยให้หลักการทำงาน เป็นบทเรียนที่ล้ำค่าอย่างยิ่ง ไปไหนปั๊บ อย่างเพิ่ง สำรวจตรวจสอบก่อน ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นอย่างไร แล้วเดี๋ยวค่อยดูความต้องการของคน ตรงกันหรือเปล่า ไม่ใช่ไปยัดเยียดเขา ผมไปตั้งหลักสูตรที่แม่โจ้ที่เชียงใหม่ ผมตั้งหลักสูตรปริญญาโท นึกว่าไม่มีคนเรียน เรียนจนไม่รู้จะรับอย่างไร

"การพัฒนาภูมิ - สังคม อันยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ” ตลกมาก มีคนจบ Ph.D. แล้วมาขอเรียน จบ M.A. มาเรียนนี่เกือบครึ่ง อยากจะรู้ พอรู้แล้ว โอ! มีค่าเหลือกเกิน ได้รู้ผ่านความจริงทั้งนั้น ไม่มีในตำราฝรั่ง แล้วสอดคล้อง สำคัญคือเรียนเสร็จแล้วเอาไปใช้ได้ สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเรา ผมคิดว่าทรงสอนผ่าน demonstration หรือผ่านการแสดงสาธิตอะไรต่ออะไรต่างๆ แล้วทำให้ดู แสดงให้ดู ให้ประจักษ์ ลองดูว่าเราใช้คำอะไรที่วิลิศมาหราเกินไป จับต้องได้ อย่ามาสอนกันลอยๆ อะไรต่ออะไร ไม่เอา คนไม่รู้หนังสือเข้าที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาฯ เรียนได้ทันที อบรมได้ทันที ความรู้ระดับไหนก็เข้าได้

อีกหลักหนึ่งที่ทรงสอนมาตลอดเวลา คือให้ยึดฐานเดิมของเราไว้ อย่าลืม เปรียบเสมือนต้นไม้ อาจจะเอาพันธุ์ดีมาต่อกิ่งต่อก้าน แต่ตัวต้นต้องไม้ไทย เพราะดูดซึม เอาธาตุเอาอะไรจากแผ่นดินไทย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นคน เรียนไปเถอะ M.A. Ph.D. ไปเรียนเมืองนอกเมืองนาเพราะเราต้องแข่งกับเขา สู้กับเขาต้องรู้เขา แต่อย่าเอาเขามาทั้งดุ้น เวลานี้อาจารย์หลายคนพูดเป็นฝรั่งพูด แล้วพอเราผิดฟอร์มจากฝรั่งปั๊บ เราผิด อย่าให้ผมเอ่ยเลยว่าเป็นใคร ที่นี่ก็มี ที่ไหนก็มี มีคนถามผมว่า เรียนเมืองนอกตั้งแต่เล็กได้อะไร ไม่รู้ ได้หลักคิดอะไรบางประการกระมัง แต่เนื้อหาสาระ ต้องระวัง ระวัง

เรากินข้าว เขากินขนมปัง วัฒนธรรมไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่แป้งเหมือนกัน เห็นไหม แป้งเหมือนกันแต่เป็นแป้งอะไร วิธีกินยังไง ฝรั่งเอาซุปมาก่อน ของเรามาพร้อมกันหมด แกงจืดก็มี แกงเผ็ดก็มี เราเอามากองไว้ เรากินแบบของเราอย่างนี้ เราให้อิสรภาพ คุณจะเริ่มตรงไหนก่อน เชิญตามสบาย ฝรั่ง มีสูตรต้องไปตามนี้ สลับไม่ได้ ผิดประเพณี ก็เชิญ ไม่ได้ว่าอะไร เวลาผมไปบ้านคุณ ผมก็กินอย่างนั้น แต่เวลามาบ้านเรา คุณช่วยมากินแบบผมด้วยเพราะเรากินกันแบบนี้

ไปบางร้านก็ดัดจริต ขออภัยที่ใช้คำนี้ พยายามดัดแปลงการกินอาหารไทยให้เป็นแบบฝรั่ง มาถึงต้องเริ่มซุปก่อน จะกินซุปเฉยๆ ไปได้ยังไง ต้องกินกับข้าว แล้วเอาซุปมาให้ผมกิน บางทีเอาแกงส้มเอาต้มยำมาให้ซดก่อน ไม่มีข้าวแล้ว ไม่ใช่ไทยใช่ไหม กินได้ โก้ดี แหม! ซุป เสร็จซุปแล้วค่อยมีจานโน้นจานนี้ กว่าจะข้าวมา เดี๋ยวให้ผมกินข้าวเปล่าๆ ตามหลังไปหรือ อย่าไปดัดแปลงเลย เราคือเรา เขาคือเขา ดีของแต่ละส่วนให้เหมาะเจาะ ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ให้ถูก เรามีความสุขไหม เรากินอย่างนั้นอร่อยไหม หรือจะต้องฝืนกิน เพื่อคำว่าอะไร ศิวิไลซ์หรือสากล เดี๋ยวนี้ต้องกินแบบนี้ถึงจะสากล แต่บางครั้งตลก ผมดูๆ ชีวิตคนเราแล้ว ตลก ขาดความเป็นตัวของเราเองอย่างมาก

สิ่งที่น่าทึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็คือที่ผมคุยเมื่อกี้นี้ว่า ไปเรียนตั้งแต่เล็ก แต่เมื่อเทียบกับพระองค์ท่านแล้วต่างกันโดยสิ้นเชิง ทรงมีพระบรมราชสมภพที่ต่างประเทศ พระองค์เกือบไม่ได้เรียนเมืองไทย ผมนี่อย่างน้อยมัธยมต้นยังเคยเรียน พระองค์ท่านต่างประเทศทั้งหมด แต่พอเสด็จกลับมาถึง เอาตะวันตกตะวันออกผสมสานเข้าหากัน เชื่อมโยงกันอย่างสนิทที่สุดเลย โดยมีฐานเป็นไทยอยู่ตลอดเวลา

ลองสังเกตวันที่ 4 ธันวาคม ที่ศาลาดุสิดาลัย เวลาพูดจะมีคำภาษาอังกฤษหลุดมาน้อยเหลือเกิน นอกจากทรงเจตนา แล้วแถมกำชับ จำได้ว่า กำชับให้พวกเราระวัง นักเรียนนอกทั้งหลายชอบพูดฝรั่งคำหนึ่งไทยคำหนึ่ง ระวัง เพราะพูดไปเสร็จแล้ว พอสื่อออกไปถึงอีกคนหนึ่ง เขาฟังเขาอาจจะแปลอีกอย่างหนึ่งก็ได้ พระองค์ทรงกำชับพวกเรา ถ้าหลุดออกไปก็แปลทันที แปลตามเลย เดี๋ยวลองสังเกต ผมอาจจะหลุดออกไป แต่ผมแปลตามหลังทุกทีว่า คำพูดที่ผมออกเป็นภาษาฝรั่ง ผมต้องการให้มีความหมายอย่างไร เพราะบางทีก็เหมือนคำไทยเหมือนกัน คำคำหนึ่งมีความหมายร้อยแปด อาจจะอย่างนี้ก็ได้ อย่างนั้นก็ได้ ทรงระมัดระวังหมดเรื่องภาษา เรื่องอะไรต่ออะไรต่างๆ ตั้งอยู่บนภูมิสังคม เพราะทรงสอนอีกอย่างหนึ่งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งอยู่บนความพร้อมและบริบทเฉพาะของแต่ละแห่ง

ตอนผมกลับจากนอกใหม่ๆ อยู่สภาพัฒน์ฯ เห็นหมูบ้านปิดอยู่ หมูบ้านกลางหุบเขา ก็เอา รพช. กรป.กลาง ตัดถนนเข้าไปเลย กว่าเขาจะเดินเข้าไปถึงตัวเมือง ตั้งวันครึ่ง แย่มาก ไม่สากล ต้องมีการเข้าถึง ตอนนั้นกลับจากนอกใหม่ๆ ต้องมีการเข้าถึง ต้องมีคมนาคม ต้องมีการเข้าถึงต่อบริการสาธารณสุข ฯลฯ อะไรก็ไม่รู้ ตัดถนนนเข้าไป ปีถัดไป ประเมินผล ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงจากสายตาที่มอง แต่ทุกบ้านเป็นหนี้หมด สมัยก่อนหน้านั้นไม่เคยเป็นหนี้

เพราะว่า พอตัดถนนเสร็จ ความพร้อมในการใช้ถนนอยู่ที่ไหนครับ คนในเมืองหรือว่าจุดหมายปลายทางที่เราต้องการตัดไปให้ คนมีรถในเมืองเป็นคนใช้ ตอนแรกก็เอาเรื่องวัฒนธรรมเข้าไป ซึ่งเขาไม่เคยแตะ จักรเย็บผ้าเริ่มเข้าไปแล้ว ทั้งๆ ที่ปีหนึ่งเย็บผ้าครั้งเดียว แต่ผ่อนจักรกันทุกคน ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน พอไปถามเขาว่าทำไม “ก็ข้างบ้านเขามี” นี่วัฒนธรรม น้อยหน้าไม่ได้ เข้าใจหรือเปล่า อยู่ต่างจังหวัด จะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ แต่เขามี บ้านฉันต้องมี ทุกคนผ่อนจักร เป็นหนี้หมด

ก่อนที่จะมีถนน มีลานบ้าน ปลูกข้าวกิน เหลือก็โปรยให้ไก่ เวลาเจ็บป่วยก็ไปเอาสมุนไพรมากิน มีความสุขที่สุด หลังจากนั้น พอถนนเข้าไป ทุกอย่างจบ เพราะอะไร เขายังไม่มีความพร้อมที่จะใช้ถนนนั้น พระเจ้าอยู่หัวใช้คำนี้ว่า “การพัฒนาต้องระเบิดจากข้างใน” อย่าเอาระเบิดจากข้างนอกไปปาหัวเขา ต้องระเบิดจากข้างใน คือต้องให้คนข้างในมีความพร้อมและเขาก็เอาตัวออกมาสู่ความเจริญหรือสู่ความสากล อย่ายัดเยียดเขา เห็นไหมครับ ทรงสอนง่ายๆ อย่างนี้ พอพร้อม เขาจะมีโอกาสได้เรียนรู้ แล้วจึงได้ประโยชน์จากสิ่งที่เขาสัมผัส

ก่อนนี้พอไปทำงาน เราเรียนมา เราก็ง่ายๆ หลักการทางเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ คือ Cost Benefit ลงทุนต้องคุ้ม นักวิชาการหลายคนมาวิพากษ์วิจารณ์โครงการพระราชดำริ ไม่คุ้ม ไม่เวิร์ค ทำทำไม บางคนลืมไปว่า บางโครงการเป็นโครงการที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหา ไม่ใช่โครงการพัฒนาซึ่งไปเพิ่มรายได้ สามัญสำนึกของนักพัฒนาเกือบทุกคน อะไรคิดเป็นเงินได้ คนยุคนี้สมัยนี้คิดเป็นเงินหมด เข้าใจไหมครับ อะไรต่ออะไรก็ต้องให้เป็นเงินขึ้นมา อย่าอยู่เฉยๆ หาเงินตัวเป็นเกลียวไว้ ไม่ใช่ บางครั้งเป็นเรื่องแก้ไขปัญหา

เพราะฉะนั้น แทนที่จะใช้คำว่า Cost Benefit ทรงใช้อะไร ทรงใช้ Cost Effectiveness หมายความว่า จะแก้ไขปัญหาตรงนั้นให้ลุล่วงโดยใช้ Least Cost โดยใช้ค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดได้อย่างไร อาจจะไม่คุ้ม แต่ต่ำสุด แล้วที่แก้เพราะปัญหามนุษย์ตำนวณเป็นเงินอยู่ตลอดเวลา ชีวิตคนนี่มีค่าแค่นี้ ถ้าไม่คุ้ม ช่างหัวมันอย่างนั้นหรือครับ ไม่ใช่

ผมได้เขียนไว้ในคำบรรยายหลางแห่ง เขียนด้วยหลักการใช้ Cost Effectiveness ซึ่งฝรั่งไม่นิยมเพราะไม่มีกำไร อะไรไม่มีกำไร ฝรั่งไม่เอา ตะวันตกนี่ง่ายๆ คือถ้าไม่มีผลกำไรกลับมาแล้ว No! อย่ามาพูดกัน สำหรับคนไทย โดยเฉพาะพระองค์ท่าน คนไทยเดี๋ยวนี้จะคิดแบบสากลอย่างไรก็เชิญ แต่พระองค์ท่าน Return หรือผลกำไรที่จะได้กลับคืนมานั้น อย่าไปคิดเป็นตัวเงินอย่างเดียว... ”
_________________________________

ข้อความ : จากหนังสือ “ยิ่งครูสั่งสอนแจง ใจโลก” จัดพิมพ์โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ภาพประกอบ : facebook Supitcha Prakham และเพจ “เดินตามพ่อ”

กำลังโหลดความคิดเห็น