xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “ชัชวาล วิศวบำรุงชัย” หัวเรือใหญ่แห่งโปรเจกต์สุดซึ้ง “We : พอ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เปิดใจ...ชัชวาล วิศวบำรุงชัย หรือ “ชัช เซเว่นธ์ซีน” หัวเรือใหญ่แห่งโปรเจกต์ “We : พอ” โครงการสดุดีในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้รวมกลุ่มนักดนตรีมากมายหลายชีวิตมาร่วมกันขับร้องและบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์แบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

โดยสเตตัสนั้น “ชัชวาล” เป็นทั้งผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ, มือคีย์บอร์ดและซินธิไซเซอร์ในวงดนตรี ตลอดจนมิวสิกคอมโพสเซอร์แห่งรายการเดอะวอยซ์ ไทยแลนด์ ฤดูกาลที่ 1 - 3 รวมทั้งเป็นผู้กำกับรายการโทรทัศน์ “จัง-หวะ-จะ-เดิน” และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศโศกเศร้าสูญเสีย เขาก็ไม่ต่างจากคนอื่นๆ

และนั่นก็เป็นเหตุผลอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้เขาเริ่มขยับโปรเจกต์ที่วางแผนไว้ให้กระชั้นขึ้นมา โดยไม่รอเวลา หรือแม้แต่การสนับสนุนจากทุนใด ด้วยการจับมือกับศิลปินนักดนตรีหลากหลายชีวิต สายต่อโปรเจกต์ที่ชื่อว่า “”We : พอ” น้อมรำลึกในพระมหามหากรุณาธิคุณของ “พ่อหลวง” รัชกาลที่ 9

• ที่มาที่ไปของโปรเจกต์นี้ เริ่มมาจากอะไรครับ

ก่อนหน้านี้ ผมนำเสนอโปรเจกต์ที่คล้ายๆ รายการ Playing For Change ไปให้ทางช่องไทยพีบีเอส แล้วบังเอิญว่าได้พอดี ซึ่งทางนั้นเขาต้องการรายการในลักษณะนี้ ผมเลยเสนอเป็นรายการ “จัง-หวะ-จะ-เดิน” เข้าไป รูปแบบรายการก็คือบันทึกภาพ เสียง จากนักดนตรีที่เล่นจากหลายๆ ที่ มาผสมเป็นเพลงเดียวกัน ก็เริ่มต้นมาจากตรงนั้นก่อน หลังจากนั้นก็มีการคุยมาเรื่อยๆ ว่า อยากทำ ฤดูกาลที่ 2 ของรายการ แต่ยังไม่ได้คิดอะไร

จนถึงช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางช่องก็เรียกเข้าไปคุยว่า อยากทำซีซั่นพิเศษ เป็นเวอร์ชั่น “เพลงพระราชนิพนธ์” ผมก็รับปากไว้ แต่ด้วยเหตุผลเรื่องเวลาที่การถ่ายแต่ละครั้งต้องใช้เวลาประมาณปีกว่าๆ กว่าจะเสร็จ ต้องเดินทางไปทั่วประเทศ ก็เลยยังไม่ได้ทำ พอมาถึงช่วงที่พระองค์ท่านเข้ารักษาตัวที่ศิริราช ผมก็เริ่มคุยกับพี่ๆ ที่ทำรายการว่า หรือว่าเราเบรกทุกอย่าง แล้วมาทำกันก่อนมั้ย แต่ด้วยภาระของแต่ละคนที่ยังเบรกไม่ได้ ก็เลยยังไม่สำเร็จอยู่ดี จนพระองค์ท่านเสด็จสวรรคต ก็มาคุยกันอีกทีว่า เดี๋ยวจะไม่ได้ทำแล้วนะ อย่างน้อยความตั้งใจที่จะทำนั้น ให้มันเกิดขึ้นดีกว่า ถึงแม้ว่าจะไม่ทั่วประเทศ เราก็เอาแค่คนที่อยากทำ อย่างน้อยที่ได้ทำ

หลังจากวันสวรรคตของพระองค์ท่าน ประมาณ 2 วัน ผมก็รวบรวมแรงขึ้นมาใหม่ ก็คุยกันว่าเริ่มยังไงกันดี คุณแวว (แววรัตน์ ตันมีศิลป์) ที่เป็นโปรดิวเซอร์ ก็วางแผนง่ายๆ ก่อนว่า ลองโพสต์ถามในเฟสบุ๊คดูว่าเป็นงานที่ไม่ได้เป็นการลงทุนค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ใครอยากจะร่วมด้วย ก็ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับที่เยอะมาก ทุกคนมีใจที่จะเข้าร่วมขนาดนี้ ก็เลยเริ่มทำ ทุกคนยินดีที่จะมาทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีสปอนเซอร์อะไร แล้วก็ไม่ได้มีใครเป็นหัวหน้างานใหญ่ เป็นการร่วมด้วยช่วยกันจริงๆ ครับ เกิดคนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่เข้ามาช่วยกัน แล้วบังเอิญเราแจ้งทางช่องว่าเราทำสิ่งนี้อยู่ ซึ่งโชคดีที่ทางช่องเขาก็ยินดีที่จะช่วยขอทางสำนักพระราชวังให้ถูกต้องตามระเบียบ ก็เลยทำให้โปรเจกต์เป็นรูปร่างยิ่งขึ้น และยิ่งทำให้คนมาร่วมกันหมด จนสุดท้ายก็เป็นโปรเจกต์นี้ล่ะครับ

• วิธีการและกระบวนการผลิต ทำอย่างไรบ้างครับ

จริงๆ วิธีนี้มันมีอยู่ทั่วโลกอยู่แล้ว เป็นวิธีการในการเข้าห้องอัดเสียงปกติ อัดเสียงคนละท่อน อัดเสียงคนละชนิดเครื่องดนตรี แล้วออกมาเป็นเพลง แต่ข้อแตกต่างนิดหน่อยที่จะใส่เข้าไป คือเราอยากให้ภาพที่ปรากฏขึ้นในมิวสิกวิดีโอ ให้เป็นภาพขณะที่เขาเล่นไลน์นั้นอยู่จริงๆ เพราะถ้าเราเห็นมิวสิกวิดีโอบางตัวที่อัดไว้แล้ว อาจจะมาควบรวมท่าทางอีกที เพราะมันเป็นข้อจำกัดในการอัดเพลง สมมุติว่าเราไปถ่ายทำในตอนที่นักร้องกำลังร้อง แล้วเครื่องดนตรีกำลังเล่น อาจจะมีเรื่องของเสียงดนตรีกำลังรบกวนหรือเรื่องของสมาธิของคนที่ร้อง เขาจะไม่นิยมกัน แต่เขาจะนิยมว่าร้องให้ได้ไปก่อน แล้วพอถ่ายมิวสิกวิดีโอก็มาถ่ายอีกที ให้นักร้องมาร้องตามอีกที แต่พอมาเป็นงานชิ้นแบบนี้ ก็รู้สึกว่าการที่ทุกคนได้กลับมาดูตัวเอ็มวีนี้อีกที อยากให้เขาได้เห็นความรู้สึกที่เขาได้ร้องท่อนนั้น เขาเล่นท่อนนี้ ก็เลยพยายามใช้ภาพ ณ ตอนที่เขามาบันทึกเสียงไปเลยครับ

• เมื่อเทียบกับรายการที่เคยทำมา ความแตกต่างมันอยู่ที่ตรงไหน

ตัวรายการมันคือการเดินทางทั่วประเทศแล้วมันใช้เวลาในการถ่ายประมาณปีกว่าๆ ถ่ายจากสถานที่จริง แล้วไปตามจังหวัดต่างๆ ไปถ่ายหลายที่ แต่โปรเจกต์นี้ ด้วยความที่เราไม่ได้ลงทุนงบประมาณอะไร อยู่นอกเวลา และมีจำกัด มันก็เหมือนกับรวมพลมาที่เดียวกันมากกว่า แล้วมันจะมีที่หลักๆ ไม่กี่ที่ เช่น ห้องอัดของเพื่อน ห้องอัดของคนรู้จักที่เขายินดีช่วยเหลือ หรืออย่างบางท่าน เช่น อาชาย เมืองสิงห์ เราก็ใช้วิธีว่า ไปที่บ้านแล้วถ่ายทำคุณอา มีแค่ไม่กี่ที่ ที่พวกเราทำได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการรวมที่เดียวกัน เหมือนกับโปรเจกต์นี้เราจะพยายามหน่อย โดยการเข้าไปหาคนนั้นคนนี้ เพื่อให้ได้ภาพที่หลากหลาย เราเริ่มแบบพอเพียงแล้วกัน เรามีกำลังทรัพย์ กำลังพลแค่ไหน เราก็ทำแค่นั้น

• ณ จุดนี้ อยากถามถึงความประทับใจในพระองค์ท่าน และเป็นแรงบันดาลให้ลุกขึ้นมาทำโปรเจกต์นี้

คำถามนี้ตอบยากมาก ผมว่าเราน่าจะค่อยๆ ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก ประมาณช่วง ทุ่ม 2 ทุ่มก่อนที่จะดุการ์ตูน เราก็จะเห็นข่าวพระราชสำนัก มีเรื่องของพระองค์ท่านที่เดินทางไปนั่นนี่ ซึ่งรุ่นผมนับว่าโชคดีที่ยังเห็นพระองค์ท่านเดินทางออกพระราชกรณียกิจ ณ ตอนนั้น ด้วยความเป็นเด็ก เราก็รู้สึกว่าเป็นข่าวที่ไม่สนุก (หัวเราะเบาๆ) ไม่ได้ฟังเนื้อหารายละเอียดเท่าไหร่ รอคอยแต่การ์ตูนและละครหลังข่าว แต่ก็ค่อยๆ ซึมซับมา

ผมเห็นภาพของพระองค์ท่านอยู่เสมอ ภาพรับปริญญาของคุณพ่อและพี่สาว ในขณะที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร เราก็มีความฝันว่าอยากจะรับปริญญาจากพระหัตถ์ของท่าน แต่ผมก็ไม่ได้รับ เพราะว่าท่านก็ไม่ได้มาพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ก็เห็นมาเรื่อยๆ จนเหมือนเป็นความรู้สึกที่ประหลาด คือผมไม่มีความข้องใจอยู่แล้วกับสิ่งที่พระองค์ท่านทำเพื่อพวกเราทุกคน แต่เราก็ไม่ได้เตรียมรับมือกับเรื่องแบบนี้มาก่อน และผมว่าก็ไม่มีใครคิดเหมือนกันนะว่าในชีวิตเราจะเกิดสิ่งนี้ขึ้น

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมเคยช่วยพี่บอย โกสิยพงษ์ตัดต่อมิวสิกวิดีโอ เพลง “ทรงพระเจริญ” ที่พี่บอยแต่งขึ้น ซึ่งวง The Begins ร้อง แล้วผมก็ช่วยเอาภาพฟุตเทจ ที่พระองค์ท่านทำพระราชกรณียกิจต่างๆ เอามารวมกัน แล้วตัดเป็นเอ็มวีขึ้นมา เราก็รู้สึกว่าภาพเหล่านี้ที่เราเห็น เราไม่ได้สังเกตดีๆ ว่ามันเยอะมาก คือผ่านไปแต่ละวันๆ ก็รู้สึกว่าพระองค์ท่านทำนู่นนี่นั่น เราก็รู้แค่ว่าท่านเหนื่อยจังเลยเนอะ แต่ไม่เคยตระหนักหรือเคยรู้สึกกับมันจริงๆ จนถึงวันที่ตัดเอ็มวีตัวนี้ เราก็รู้สึกว่า โห เยอะมากเลย ชีวิตเราจะเคยเหงื่อแตกเท่าพระองค์ท่านมั้ย เราไม่เคยทำงานแล้วเสียเหงื่อขนาดนี้เลย สักพักเราก็เข้าห้องแอร์แล้ว

ตรงนั้นเป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกตระหนักว่า จริงๆ ก่อนหน้านี้ เราก็เห็นว่าทุกคนรักพระองค์ท่าน ทุกคนมาร่วมกันเข้าเฝ้า รอรับเสด็จ มาร่วมกันถวายพระพร แค่นั้น เราก็น้ำตารื้นแล้ว แต่ว่าช็อตที่เราตัดเอ็มวี เป็นช็อตที่เรารู้สึกว่าได้เห็นทีละนิดๆ เพราะว่าการตัดนั้น มันก็ค่อยๆ ไปช้าๆ อยู่แล้ว แล้วเลือกช่วงที่จะตัด แล้วได้รู้ทีละจุด มันเหมือนเราได้ซึมซับและลึกซึ้งไปจริงๆ

ที่ผ่านมา มันจะเป็นแบบว่า เรารู้ แต่เราก็ลืมตลอดเวลา ใช้ชีวิต มองข้ามสิ่งที่ท่านสอน มองข้ามสิ่งที่ท่านทำ แล้วก็ไปวุ่นวายกับชีวิตในการหาเงิน หาเลี้ยงชีพในการเที่ยวเล่น สนุกสนาน ผมทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสทบทวนอีกรอบ และทำตามคำสอนให้จริงจัง

• พูดถึงเรื่องคำสอน คุณคิดว่าเราควรจะจริงกับอะไรบ้าง ยกตัวอย่างก็ได้ครับ

ผมคิดว่าจริงๆ หลักที่พระองค์ท่านบอกไว้ว่าเรื่องการพอเพียง นี่คือสุดยอดแล้ว คือไม่ใช่ว่าให้เราอยู่แบบน้อยๆ นะ แต่ความพอเพียงของพระองค์ท่านคือ อยู่ให้พอดีแบบที่เรามี ซึ่งหลักนี้ ถ้าเราคิดได้ ก็เป็นคนรวยได้ทุกคน ถ้าเราอยู่พอดีตามที่เราหาได้ อยู่ได้พอดีและใช้ไม่เกินตัว คือพระองค์ท่านคิดถึงชีวิตที่มีความสุขน่ะครับ ถ้าเราพอดี เราก็มีความสุข พอเราอยู่ให้สุข มันก็สุข ซึ่งมันขัดกับแนวทางเราอยู่พอสมควรที่พยายามจะหาเงิน ไม่มีหนี้แล้วมีความสุข มันก็ต่อสู้ชีวิต ก็เหนื่อยนะ

แต่พอเอาวิธีการของพระองค์ท่านมาใช้ มันก็พอช่วยได้บ้าง เช่นว่า จะซื้อกล้องถ่ายภาพสักตัว อยากได้กล้องไลก้า แต่เราก็รู้ว่าเราก็ไม่ได้มีเวลาไปถ่ายรูปขนาดนั้น เราไม่ได้เป็นมืออาชีพ ก็ไม่จำเป็นต้องยี่ห้อนั้นก็ได้ แต่อาจจะเอายี่ห้ออื่นที่มันพอดีกับเรา แล้วเราเอาเงินไปทำอย่างอื่น มันก็ช่วยเราในบางอย่างขึ้นมา สะกิดเรานิดๆ ขึ้นมา

ถ้าให้พูดถึงพระองค์ท่าน ก็คงจะนิยามตรงกันเหมือนคนทั้งประเทศครับว่า พระองค์ท่านคือ “พ่อ” ครับ เพราะว่าท่านทำทุกอย่างเพื่อลูกของท่าน และทำโดยไม่เหน็ดเหนื่อย คิดทุกอย่างเพื่ออนาคตของลูกๆ เป็นห่วงทุกอย่าง ทำทุกอย่าง ยอมเหนื่อยทุกอย่าง จนไม่ได้พัก และท่านเป็นแบบอย่าง เป็นทุกอย่างเลยครับ คำว่าพ่อนี่แหละ คือคำนิยามที่สุดแล้วครับ
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : แฟนเพจ “We : พอ”

กำลังโหลดความคิดเห็น