“ถ้าเรารวมกัน พ่อจะยังอยู่กับเราเสมอ” คือเหตุผลเดียวที่ทำให้ “ลูกของพ่อ” มีแรงก้าวเดินต่อไปไหว ในช่วงเวลาแห่งความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต คือเหตุผลเดียวที่ทำให้ศิลปินจากทั่วฟ้าเมืองไทยกว่าพันลมหายใจ ผสานพลังกันออกมาอาสาถ่ายทอด “เพลงของพ่อ” เพื่อส่งต่อความรักและห่วงใยแก่พี่น้องชาวไทย
และคือเหตุผลเดียวที่ส่งให้ความห่วงหาอาลัยในดวงใจทวยราษฎร์ทั่วหล้า ถูกถ่ายทอดบรรเลงร้องออกมาได้อย่างงดงามที่สุด เพื่อให้องค์ “พ่อหลวงบนฟ้า” แย้มพระสรวลได้ เมื่อเห็นก้อนดินก้อนเล็กๆ ที่เคยแตกระแหง ผสานเป็นผืนดินเดียวเพื่อประเทศของพ่อ เพื่อบ้านเมืองของเรา
พระบารมีแสนยิ่งใหญ่ โอบกอดลูกให้ “ยิ้มสู้”
“ผมอยากจะสร้างโปรเจกต์เล็กๆ ขึ้น เพื่อ “ในหลวงบนฟ้า” ของพวกเราครับ แต่ผมไม่สามารถมีค่าตอบแทนใดๆ ให้ได้ และด้วยแรงของผมคนเดียว คงไม่สามารถสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้แน่ๆ ผมจึงจำเป็นต้องมาขอความช่วยเหลือจากหลายๆ ท่าน เพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริงครับ”
เพียง 2 วันให้หลังเหตุการณ์มหาวิปโยคของแผ่นดินไทย ท่ามกลางความโศกเศร้าสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุด หลังการเสด็จสู่สวรรคาลัยของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เมื่อวันที่ 13 ต.ค.59 เวลา 15.52 น.
มีชายคนหนึ่งพยายามรวบรวมพลังแรงกายและใจทั้งหมดที่มี ปาดน้ำตาลุกสู้ ประกาศเชิญชวนพี่น้องศิลปินทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังทั่วฟ้าเมืองไทย มาร่วมส่งตัวโน้ตเยียวยาจิตใจพี่น้องชาวไทย มาร่วมส่งความรักและอาลัยไปให้ถึงสวรรค์ชั้นฟ้า จนเกิดเป็นโปรเจกต์สุดยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา
โปรเจกต์ที่รวมเอา “พลังรัก-พลังอาสา” จากดวงใจนับพันมาไว้ในมิวสิกวิดีโอตัวเดียว เพื่อถ่ายทอดความอบอุ่นผ่านเมโลดี้ที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นจากพระอัจฉริยภาพของ “องค์พ่อหลวงรัชกาลที่ ๙” ผ่านโปรเจกต์ดนตรีแสนละเมียดที่ใช้ชื่อว่า “We : พอ” ตามรอยพ่อ ภายใต้การเรียงร้อยบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง 4 ให้กลายเป็นหนึ่งเดียว ให้กลายเป็นหนึ่งบทเพลง “เพลงของพ่อ” เพื่อรำลึกถึงความอบอุ่นที่ “ในหลวงบนฟ้า” ทรงมอบมรดกแห่งรักอันแสนยิ่งใหญ่เอาไว้ให้พสกนิกรของพระองค์
[ชัช-ชัชวาล วิศวบำรุงชัย หัวเรือใหญ่ในโปรเจกต์ถวาย "ในหลวงบนฟ้า"]
“เราไม่ได้อยากจะทำโปรเจกต์นี้ด้วยความรู้สึกโศกเศร้าฟูมฟายกับการจากไป แต่เราอยากจะทำให้เป็นงานชิ้นที่คิดว่า ถ้าพระองค์ท่านได้เห็นแล้ว น่าจะยิ้มออกครับ” ชัช-ชัชวาล วิศวบำรุงชัย หัวเรือใหญ่ในโปรเจกต์เพลงของพ่อ ยิ้มบางๆ ในแววตาอุ่นๆ บอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังแรงบันดาลใจที่ฉุดให้เขาเลิกจมอยู่ในบ่อน้ำตา แล้วลุกขึ้นมาโพสต์เชิญชวน ลงมือกำกับการถ่ายทำ กระทั่งสำเร็จออกมาเป็นมิวสิกวิดีโอที่มีคนดูทะลุแสนภายในคืนเดียว ทั้งยังได้รับคำชื่นชมทะลักโลกออนไลน์ในชิ้นงานสุดละเมียดภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
“ผมไปติดใจโพสต์ในไอจี (instagram) ของพี่ตั้ม (วิศุทธิ์ พรนิมิตร นักวาดภาพชื่อดัง) อยู่อันนึง เป็นรูปคนยกมือไหว้หลายๆ คนรวมๆ กัน แล้วเห็นเป็นภาพในหลวงภาพใหญ่ เขียนว่า “เรารวมกัน แล้วท่านจะยังทรงอยู่กับเราเสมอ” ผมรู้สึกว่ามันเป็นประโยคที่โดนใจ ความหมายมันดีมาก ก็เลยหยิบเอามาใช้ตอนปิดท้าย mv ตัวนี้ด้วย
ตอนนั้นหลังการเสด็จสวรรคตสักพัก มันมีเหตุการณ์หลายๆ อย่างเกิดขึ้นที่รู้สึกว่ามันผิดไปนะ รู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่พระองค์ท่านอยากเห็น เช่น ปากบอกว่ารักพ่อ แต่ก็ไปต่อว่าคนที่ไม่สวมเสื้อดำ ก็เลยรู้สึกอยากจะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาในฐานะนักดนตรี อย่างที่พระองค์จะตรัสเสมอว่า ไม่ต้องรักพระองค์ท่าน แต่ให้รักกันเองก็พอแล้ว ผมเลยอยากหยิบคอนเซ็ปต์ตรงนี้มาสื่อสารว่า เรามาทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดกันดีกว่า”
จึงเป็นที่มาของการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาชวนทีมรู้ใจอย่าง “ต๋อง-อภิชา สุขแสงเพ็ชร” และ “วุฒิ-วุฒิ วงศ์สรรเสริญ” แกนหลักอีก 2 คนมาร่วมร้อยตัวโน้ตตามสูตร “สามทหารเสือ-สามทหารสุด” ซึ่งเป็นที่รู้กันดีระหว่างกลุ่มคนเบื้องหลังว่า มี 3 คนนี้งานไหน งานนั้นจะต้องยิ่งใหญ่อลังการ เพราะทีมนี้เขาใช้ทั้งแรงใจและแรงงานทุ่มใส่จนหมดตัวแบบนี้ทุกที
“แต่จริงๆ ตอนที่คุยกัน ไม่ได้คิดว่ามันจะใหญ่ขนาดนี้นะ กะจะเรียกพี่ๆ ศิลปินที่เราสนิทๆ มาร้องด้วยกัน แต่หลังจากชัชเขาโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊ก ก็มีคนตอบรับมาอย่างมหาศาลจนเกินความคาดหมายเลย แล้วพอคนมากันเยอะๆ นี่แหละครับ มันเลยกลายเป็นความยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ (ยิ้ม)
ยิ่งคนเยอะเท่าไหร่ การบันทึกเสียงมันก็จะยากมากขึ้นเท่านั้น แต่เราก็มองว่ามันเป็นกำลังใจของคนครับ เพราะทุกคนก็อยากจะมาร่วม ผมจำได้ว่ามีนักร้องสมัครกันเข้ามา 1,000 กว่าคน ไหนจะนักดนตรีอีก แต่ละประเภทเกิน 500 คนทั้งนั้น ยอดคนสมัครทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ 20,000 แต่สุดท้ายที่มาถ่ายทำได้จริงๆ คือ 1,000 กว่าคนครับ เพราะวันที่มันลงตัวว่าจะต้องอัด บางคนเขาไม่ว่างจริงๆ”
[วุฒิ-วุฒิ วงศ์สรรเสริญ ทีมรู้ใจ หนึ่งใน Music Director รายการ The Voice Thailand ซีซัน 1-3 ด้วยกัน]
“วุฒิ” ชายหนุ่มมาดกวนในเคราครึ้ม ช่วยอธิบายเหตุผลที่ทำให้โปรเจกต์นี้อลังการอย่างไม่ตั้งใจ เอาไว้ด้วยท่าทีสบายๆ พร้อมทั้งยกความดีความชอบทั้งหมดให้ชัชและโปรดิวเซอร์คู่ใจ “แวว-แววรัตน์ ตันมีศิลป์” ที่ใจกว้าง ยอมเปิดรับศิลปินอาสาให้มาเข้าร่วมแบบไม่อั้น แม้จะต้องมานั่งจัดการคนจำนวนมหาศาล และต้องหลังขดหลังแข็งนั่งตัดคลิปวิดีโออีกไม่รู้กี่ร้อยตัวก็ตาม
ไม่ต่างไปจาก “ต๋อง” ที่ให้เครดิตจุดเริ่มต้นโปรเจกต์แห่งแรงบันดาลใจในครั้งนี้แก่หญิงแกร่งคนเดียวกัน “หลังจากที่พระองค์ท่านเสีย ชัชก็โทร.มาหาผม แล้วก็ไปนั่งกินข้าวกันแบบงงๆ ไม่รู้ว่าจะทำยังไงกันดี ก็ได้แววนี่แหละครับที่เป็นคนเคาะ บอกว่าจะทำก็ทำเลย”
[แวว-แววรัตน์ ตันมีศิลป์ โปรดิวเซอร์ใจเด็ดประจำทีม บุกเบิกมาตั้งแต่สารคดีดนตรี "หัวใจยังเต้น" และ "จังหวะจะเดิน"]
ส่งให้บทเพลงพระราชนิพนธ์ของพ่อ ถูกเรียงร้อยขึ้นมาใหม่เป็น “เพลงของพ่อ” ภายใต้โปรเจกต์ที่ชื่อว่า “We : พอ” ทำหน้าที่ส่งมอบความหวังให้ผู้คน ในวินาทีที่หลายๆ คนแทบจะหมดหวังไปแล้ว แถมยังช่วยคืนชีพสุดยอดสารคดีดนตรีอย่าง “จังหวะจะเดิน” ที่ชัชเคยทำไว้ ให้กลับมาอยู่ในสปอตไลต์ได้อีกครั้ง จากที่เคยตั้งเป้าหมายวางหมุดไว้ไกลๆ แต่ยังเดินไปไม่ถึงเสียที
“ก่อนหน้านั้น ทาง Thai PBS เขาติดต่อเรามาว่าอยากให้ทำรายการ “จังหวะจะเดิน” เป็นซีซันพิเศษสำหรับเพลงพระราชนิพนธ์ ก็เลยคุยกับพี่วุฒิ-พี่ต๋องมาตั้งแต่ต้นปีแล้วครับ เพราะมองว่าท่านเริ่มป่วยหนักมากแล้ว อยากถวายงานท่านสักครั้งนึงในชีวิต แต่หาจังหวะที่ว่างพร้อมกันไม่ได้สักที เพราะกว่าจะทำได้แต่ละที ต้องเดินทางไปเสาะหาศิลปินจากทั่วประเทศมาร่วมร้องร่วมเล่น ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ สุดท้ายเลยยังไม่ได้ทำไปเรื่อยๆ จนมาเกิดความสูญเสียขึ้น” ชัชย้อนรอยเรื่องราวให้ฟังด้วยน้ำเสียงราบเรียบ
แม้ท้ายที่สุด ผลงานที่ออกมาจะเป็นการถวายงานในช่วงเวลาที่พระองค์สู่สวรรคาลัยแล้ว แต่สำหรับต๋อง มันคืออีกหนึ่งช่วงเวลาในชีวิตที่มีค่าที่สุดแล้ว
[ต๋อง-อภิชา สุขแสงเพ็ชร แกนหลักเบื้องหลังความสำเร็จของ The Begins Grand]
“ผมไม่เคยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ท่านเลยสักครั้งเดียวในชีวิต ไม่เคยได้ถวายงานอะไรเลย แต่อย่างน้อยวันนี้ ผมก็ได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อพระองค์ เพื่อแผ่นดิน เพื่อที่จะถ่ายทอดเจตนารมณ์ที่พระองค์วางเอาไว้ในบทเพลง ในทุกเมโลดี้ ในทุกท่วงทำนองและเนื้อร้อง ผมขอใช้โอกาสนี้ที่จะเต็มที่ที่สุดในส่วนที่ผมจะทำได้ ครั้งหนึ่งในชีวิต ทำเถอะ เราคงทำแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว ผมบอกตัวเองแบบนั้นแล้วก็ตัดความกังวลทั้งหมดทิ้งไป เดินหน้าอย่างเดียวเลย”
ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้อะไรตอบแทน แต่เมื่อได้ทำ กลับได้รับพลังจากพระบารมีของพระองค์อย่างคาดไม่ถึง วุฒิบอกเล่าช่วงเวลาประทับใจ ส่งตรงออกมาจากใจอย่างตรงไปตรงมา
“เมื่อผมทำ ผมได้ และมันทำให้คนที่ได้ฟังอยู่ทางบ้าน ที่ได้ดูภาพ ได้เห็น ได้รับพลังไป โดยที่เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเขาต้องการอะไรจากการดู แต่เขาได้กำลังใจกลับไป ผมเชื่อว่ามีคนเป็นพันๆ คิดเหมือนผม คือเขาแค่อยากมาทำ พอได้มาทำแล้วก็เกิดความสุข คนที่รับเอาเพลงนี้ไปฟัง ก็เลยได้รับความสุขไปด้วย ต้องบอกว่าในหลวงทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยเพลงของพระองค์ท่านได้จริงๆ
ผมรู้สึกว่าเป็นเพราะพระบารมีของพระองค์ท่านแท้ๆ ที่ทำให้ผมได้พบเจอกับผู้คนมหาศาลขนาดนี้ ยิ่งเมื่อทุกคนมาด้วยความเต็มที่ มาเต็มที่ด้วยกัน สิ่งที่ออกไปเลยเป็นไปโดยอัตโนมัติว่าทำให้คนที่ได้รับฟังเพลงเกิดกำลังใจ มันเป็นโมเมนต์ที่ผมรู้สึกว่า ในหลวงยังอยู่กับเรา”
เจ๋งเพราะในหลวง! “15 นาที” ที่งดงาม
[ศิลปินอาสาทั่วฟ้าเมืองไทย ร่วมใจเทิดพระเกียรติพระองค์]
15 นาทีแห่งความคุ้มค่า, 15 นาทีแห่งความงดงาม, 15 นาทีที่ไม่อาจละสายตาและความสนใจไปจากภาพและเสียงที่โลดแล่นอยู่ตรงหน้าได้เลย... คือเสียงชมเชยที่สะท้อนกลับมาจากมหากาพย์การร้อยบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง 4 “แผ่นดินของเรา” “ใกล้รุ่ง” “สายฝน” และ “ความฝันอันสูงสุด” เข้าไว้ด้วยกัน ภายในกรอบเวลา 15.47 นาที
ในฐานะ Music Director ผู้คุมพาร์ตดนตรีร่วมกันทั้ง 3 คน ทั้งชัช ต๋อง และวุฒิ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ขอหอบเอาคำชมเชยใดๆ เก็บเอาไว้ เพราะพวกเขาแทบไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ที่ทำให้ผลงานชวนขนลุกชิ้นนี้เกิดขึ้นได้ ล้วนแล้วแต่เกิดจากพลังใจของทุกคนที่มาด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือมาเพื่อ “พ่อหลวง” ของพวกเราทุกคน และนี่คือถ้อยคำส่วนหนึ่งที่ชัชเขียนบันทึกเอาไว้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา “Chutchawal Wisawabumrungchai”
“อยากบอกว่าทุกๆ คนเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในงานชิ้นนี้ครับ ขาดใครไปคนนึงก็คงไม่สมบูรณ์และไม่มีพลังเท่านี้ สิ่งที่เราทุกคนทำร่วมกัน คือจุดประสงค์สำคัญที่ต้องการจะสื่อออกไปมากกว่าตัวงานอีกครับ ผลงานจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ความร่วมมือร่วมใจสำคัญที่สุด งานชิ้นนี้ เงินจำนวนเท่าไหร่ก็ไม่สามารถทำมันขึ้นมาได้ เงินรวมได้แค่คน แต่ไม่สามารถรวมพลังและรวมใจได้แบบนี้แน่นอนครับ มีเพียงคนเดียวเท่านั้นในโลกใบนี้ ที่สามารถรวมใจพวกเราได้มากขนาดนี้”
ชัชยังคงย้ำความรู้สึกแบบเดียวกันนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าในบทสนทนาระหว่างเรา “ตัวผมเองไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะขอบคุณทุกๆ คนด้วยซํ้า เพราะคนไม่ได้มาเพื่อผม หรือพี่ต๋อง หรือพี่วุฒิ แต่มาเพื่อในหลวง มาเพื่อรักกันให้ท่านเห็น มีคนเดียวในโลกนี้แล้วล่ะครับที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้” เขาพูดไปยิ้มไปในแววตากึ่งเศร้ากึ่งสุข
“ผมรู้สึกตั้งแต่ตอนถ่ายทำแล้วครับว่า ในหลวงโคตรเจ๋งเลยเนอะ (ยิ้ม) เพลงทุกเพลงของพระองค์ดีมาก ก็เลยรู้สึกว่าความรู้สึกของคนดู ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตลอด 15 นาที ทุกอย่างมันเป็นความรู้สึกเดียวกันว่า นี่เพลงของพ่อเรานะ พ่อแต่งออกมาได้ขนาดนี้ และพ่อก็รวมนักดนตรีให้มาเล่นให้ขนาดนี้ได้ ทุกอย่างมันเจ๋งเพราะในหลวงจริงๆ ครับ
ผมเห็นคอมเมนต์หนึ่งตอนที่กรอกใบสมัคร เขาเขียนว่า “ผมขอเล่นแค่โน้ตเดียวก็ดีใจแล้ว” ผมมองหน้าพี่วุฒิเลย เหมือนจะบิวต์กันเอง (กะพริบตาไล่ความรู้สึก) ผมรู้สึกว่ามันเป็นความตั้งใจของทุกคนที่อยากมาร่วมเล่นจริงๆ จากตอนแรกจะทำ mv ตัวนี้ให้อยู่ที่ 7 นาที ก็เลยต้องกลายเป็น 15 นาทีครับ เพราะอยากให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมจริงๆ รู้สึกว่าอยากจะเปิดรับทั้งหมดทุกคนเท่าที่จะทำได้
และมันก็เป็นความโชคดีด้วยมั้งครับ เหมือนทุกอย่างมันพอดี และมันก็ส่งเสริมเกื้อกูลกันให้ 15 นาทีนั้นดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ ทั้งตัวเพลง ทั้งศิลปินที่มาเข้าร่วม ทั้งเครื่องดนตรีที่เข้ามาแต่ละชิ้นๆ... จริงๆ แล้ว เราก็แค่เล่าเรื่องไปตามนั้นเลยครับ เราไม่ได้ทำอะไรให้มันยากเกินไป ตลอด 15 นาทีนั้น เราแค่ปล่อยไปตามเพลง ตามอารมณ์ และตามธรรมชาติเท่านั้นเองครับ”
“มันคือธรรมชาติของช่วงเวลานั้นจริงๆ ครับ ทุกอย่างมันไหลลื่นไปเอง” มิวสิกไดเรกเตอร์รุ่นพี่อย่างต๋อง ช่วยยืนยันด้วยรอยยิ้มอีกแรงหนึ่ง ก่อนเปิดเรื่องราวประทับใจที่สุดช็อตหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษได้เพียงครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้น คือภาพ “คฑาครุฑพระราชทาน” จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ คฑาประจำวงดุริยางค์โรงเรียนวัดสุทธิวราราม คฑาหนึ่งเดียวในสยามซึ่งมาจากหน้ารถพระที่นั่งของพระองค์ ได้ถูกอัญเชิญให้มาร่วมเทิดพระเกียรติองค์ราชันในมิวสิกวิดีโอตัวนี้ด้วย
[“คฑาครุฑพระราชทาน” หนึ่งเดียวจากในหลวง]
“มันน่าทึ่งมากนะ ผมรู้สึกว่าคนไทยเราก็ไม่แพ้ใครจริงๆ เสียดายที่ผมไม่ได้เห็นกับตาตัวเอง เพราะถ่ายทำอยู่ที่ Thai PBS กับวุฒิ มีแค่ชัชที่ได้เห็นกับตาและส่งภาพมาให้ดู ผมน้ำตาคลอเลย ผมว่ามันพิเศษมากๆ และผมเชื่อว่าผมคงไม่ได้มีโอกาสได้เห็นอะไรแบบนี้อีก” ต๋องบอกเล่าด้วยท่าทีตื้นตัน ก่อนปล่อยให้คนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นจริงๆ อย่างชัชเป็นฝ่ายถ่ายทอดความปลื้มปีตินี้
“พอดีพี่แจ็ค (อภิสิทธิ์ วงโชติ) ที่เป็น conductor วงออร์เคสตรา เขารู้จักพี่สอ (อ.สรพจน์ วรแสง ผู้คุมวงโยธวาทิต) จึงขออนุญาตอาจารย์ว่าอยากอัญเชิญคฑาครุฑมาเป็นเกียรติใน mv ตัวนี้ แต่อาจารย์บอกว่ามันยากมาก ต้องมีวิธีเชิญ ต้องวางพวงมาลา มีร้องเพลงอัญเชิญระหว่างเดินเท้ามา แล้วก็ต้องหาคนเฝ้าตลอดเวลา แต่สุดท้ายพอถึงวันจริง เด็กๆ ก็มาพร้อมคฑาพระราชทาน ตั้งแถวเดินขบวนกันมา มันเป็นอะไรที่สุดยอดมากๆ แล้วจริงๆ”
ตลอด 2 อาทิตย์ของการถ่ายทำ ถึงแม้จะเต็มไปด้วยความกดดัน โดยเฉพาะ 4 วันหลักของการบันทึกเสียง ที่ถือได้ว่าเป็นช่วงที่เครียดที่สุดในชีวิตแล้วตั้งแต่เคยทำงานมา แต่พอผลงานคลอดออกมา กระทั่งถึงวันนี้ ให้กลับไปเปิดดูความทรงจำที่ถูกบันทึกไว้อีกที ทุกความอบอุ่นที่เกิดขึ้นเพราะพ่อหลวงในวันนั้น ยังคงสร้างรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจให้แก่พวกเขาได้ทุกครั้งที่นึกถึงหรือมองเห็นมัน
“ทุกครั้งที่ดู mv ทุกภาพ ทุกซีนจะทำให้ผมนึกถึงความประทับใจที่เกิดขึ้นตลอด 2-3 อาทิตย์นั้น ประทับใจคนมากมายที่มารวมกันเป็นใจเดียวกัน แล้วก็ภูมิใจที่ครั้งหนึ่งผมได้มีส่วนได้ทำอะไรเพื่อประเทศชาตินี้หนึ่งชิ้น ซึ่งผมคิดว่าผมทำอะไรแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว... ความทรงจำตั้งแต่เริ่มจนจบ มันคงลบไม่ได้ มันคงอยู่กับผมไปตลอด” ต๋องย้อนรอยความรู้สึกผ่านแววตาที่อัดแน่นไปด้วยความสุขใจ ก่อนปล่อยให้วุฒิบอกเล่าความงดงามตลอด 15 นาทีผ่านมุมมองของเขาบ้าง
“ทุกอย่างเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่ได้วางแผน เรียกว่าเป็นพระบารมีของพระองค์ท่านจริงๆ ที่ทำให้ทุกอย่างออกมาเป็นแบบนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เหมือนกันคือ ความตั้งใจที่อยู่ในตัวชัช เป็นสิ่งที่ผมเห็นมาตลอดตั้งแต่ได้ร่วมงานกับเขา และความละเมียดละไมของทั้งสองคนนี้ด้วยครับ ที่มองเห็นว่าต้องเติมส่วนที่ขาดยังไงบ้าง อย่างเสียงของ พี่ปู-พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ก็มาเสริมในช่วงจังหวะที่มันพอดิบพอดีกับที่วางเอาไว้จริงๆ
โปรเจกต์นี้เป็นงานหนักมากนะครับสำหรับผม ในช่วงเวลาสั้นๆ ถ้าเทียบแล้ว เหมือนเราทำ 4 คอนเสิร์ตให้เสร็จภายในวันเดียว อย่างวันที่ไปถ่ายทำที่ Thai PBS เก้าอี้ 200 กว่าตัวสำหรับวงดุริยางค์ ทีมงานพวกเราต้องมาเซตฉากให้ เซตเสร็จแล้วเก็บ ตั้งดนตรีไทยต่อ ชุดแรกเข้าไป มีอีกชุดต่อไปอีก คือร่างกายผมพังมากจนป่วย ต้องปลีกตัวออกมา แต่พี่ต๋องยังทำงาน ชัชยังทำงาน บอกเลยว่าสองคนนี้แข็งแกร่งจริงๆ ที่ทำมันจนสำเร็จออกมาได้”
ทั้ง 4 บทเพลงที่เรียงร้อยกันไป ถูกเซตโทนอารมณ์เอาไว้อย่างชัดเจนว่า “ต้องไม่เศร้า” จึงทำให้เมดเลย์เพลงพระราชนิพนธ์ผ่านฝีมือของพวกเขา บรรจุรอยยิ้มและกำลังใจเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม แม้แต่เพลง “สายฝน” ที่ demo แรก ต๋องทำออกมาในโทนช้าและเศร้า ยังถูกชัชฟันทิ้ง โดยขอเร่งจังหวะและเพิ่มความอบอุ่น เพื่อให้ตัวเพลงสื่อสารเรื่องที่ต้องการมากที่สุด เช่นเดียวกับการคัดเลือกและจัดวางผู้ถ่ายทอดในแต่ละท่อน ที่ต้องเลือกเฉพาะ “คนที่ใช่” เท่านั้น
“สำหรับมุมผม ผมเอาเชื่อก่อน ถ้าคนนี้ร้องประโยคนี้มันฟังแล้วเชื่อ ผมโอเคเลย ผมเอาเลย อย่างเพลง “ใกล้รุ่ง” ตอนแรกก็เถียงกันว่าจะเอาใครขึ้นดี พอมาฟัง “ตรัย” (บอย-ตรัย ภูมิรัตน์) ขึ้น รู้สึกว่ามันดี มันยิ้ม และรู้สึกว่ามัน “ใช่” เราก็เลือกตรงนั้น คือเราไม่เอาร้องเพราะ เราเอาร้องใช่
หรืออย่าง “ปาล์มมี่” (อีฟ ปานเจริญ) ถามว่าทำไมให้มาร้องขึ้นต้นเพลง เปิดด้วยเพลง “แผ่นดินของเรา” เลย ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน (ยิ้ม) ผมรู้สึกว่ามันใช่”
“มันไม่มีเหตุผลเนอะ” ชัชช่วยเสริมความคิดของต๋องให้ชัดเจนขึ้น “เวลาเลือกอะไรแบบนี้ ผมก็ใช้ทุกอย่างที่เคยทำงานมาเป็นตัวตัดสิน ซึ่งมันก็เป็นความรู้สึกล้วนๆ เพียงแต่มันไปถูกจริตกับคนฟัง ก็เลยถือว่าโชคดีครับ แต่ที่เลือกแล้วไม่ถูกก็มีนะ (ยิ้ม) ไม่ใช่ว่าเลือกแล้วจะถูกใจไปหมด แต่เราก็ไม่มีสูตรอื่นนอกจากเชื่อความรู้สึกเราเอง”
“ถ้าเป็นฝั่งคนฟังเพลง อาจจะมองเห็นปาล์มมี่เป็นคนเริ่มเพลง แต่ถ้าเป็นฝั่งนักดนตรี จะทึ่งกับคนที่เราเลือกมาเล่นเปิดเพลงด้วยครับ เพราะเขาคือสุดยอดนักเปียโนของเมืองไทย” วุฒิช่วยเสนอชื่ออีกหนึ่งศิลปินระดับพระกาฬ “อาจารย์ณัฐ ยนตรรักษ์” ซึ่งคนในวงการจะต้องร้อง โอ้โห! กับการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ “ในขณะเดียวกัน พอตัดมาเป็นภาพศิลปินวัยรุ่น มันทำให้เห็นว่าไม่เหลือช่องว่างในเรื่องอะไรอีกต่อไปแล้วในบทเพลงของพระองค์” ผู้คุมดนตรีในเคราครึ้มช่วยแนะอีกนิด ก่อนส่งบทสรุปให้เพื่อนนักดนตรีภายใต้กรอบแว่นเป็นผู้ถ่ายทอด
“พวกเราพยายามทำลายกำแพงน้ำแข็งที่ว่า เพลงพระราชนิพนธ์แตะต้องไม่ได้ครับ คือเราอยากให้เพลงพระราชนิพนธ์ใกล้ตัวเราได้มากขึ้น การที่ได้เห็นภาพปาล์มมี่มาร้อง ทำให้คนยิ่งรู้สึกว่าเพลงของพระองค์ท่านใกล้ตัวเราได้มากขึ้นนะ จากปกติที่คนทั่วๆ ไปอย่างเราจะไม่กล้าแตะต้องมัน
ตอนแรก ท่อนของ “อาสันติ” (ร.ต.ไพศาล ลุนเผ่ ศิลปินผู้ร้องเพลงปลุกใจชื่อดัง) ท่อนพูดยาวๆ ที่ว่า "โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่ เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน..." (เพลง “ความฝันอันสูงสุด”) คุยกันว่าอยากแทรกให้เป็นเสียง “อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” มาพูด คือถ้าได้จะจ๊าบมาก (หัวเราะ) เพลงจะเป็นอีกเฉดหนึ่งเลย ผมว่าคงมันน่าดู แต่เผอิญอาจารย์ท่านติดภารกิจ ก็เลยให้อาสันตินี่แหละครับช่วยปลุกใจยาวๆ ไป”
"หรืออย่างเพลง “ใกล้รุ่ง” ในท่อนของ “อาชาย เมืองสิงห์” ที่ถูกเอาไปวางไว้ตรงนั้น ก็เพราะรู้สึกว่า “มันใช่” น่ะครับ พอดีกับดนตรีช่วงนั้นที่เป็น acappella (การบรรเลงดนตรีจากปากเปล่า) ซึ่งเป็นท่อนที่ชัชอยากได้อาชายมาไว้ตรงนั้น ผมเองก็เห็นภาพตาม ก็เลยลองตามให้ ไปตามถ่ายอาแกถึงที่เลย” ชัชหัวเราะรับความทรงจำเบาๆ ก่อนปล่อยให้วุฒิเป็นคนบรรเลงต่อ
“ภาพของ “ชาย เมืองสิงห์” คือความสนุกสนาน คือภาพที่ออกมาสื่อสารว่า แม้ว่าร่างกายของแกจะเป็นแบบนั้น แต่ชีวิตมันมีความสุขได้ หลายคนก็เข้าใจ message นี้ได้นะ เพราะ ชาย เมืองสิงห์ คือความสนุกสนานของประเทศไทย คือสีสันของดนตรีลูกทุ่งมาตลอดเลยครับ ไปดูได้เลยว่าเพลงของ ชาย เมืองสิงห์ จะไม่มีเพลงเศร้า ไม่มีเพลงช้าที่ดัง ผมว่ามันคือความสนุก
ที่เอาท่อนของอาแกไปวางไว้ตรงนั้น ในอารมณ์เพลงที่มันสนุกสนานรื่นเริงแบบนั้น เพราะเราต้องการให้มันสื่อความหมายว่า แม้ว่าจะต้องนั่งอยู่บนวีลแชร์ แต่ชีวิตเราก็ยังคงเพลิดเพลินไปกับดนตรีได้”
“ปิดทองหลังพระ” ตามคำสอนเท่ๆ ของพระองค์
สร้างสรรค์ผลงานดีๆ มาตั้งหลายปี รู้สึกอย่างไรที่คนเพิ่งอยากมารุมรู้จักเอาตอน “We : พอ” โปรเจกต์ “เพลงของพ่อ” โปรเจกต์นี้? ผู้สัมภาษณ์ยิงคำถามตรงไปยังคนต้นคิดอย่างชัช เพราะอยากทราบมุมมองของผู้กำกับสารคดีสะท้อนสังคมเปี่ยมคุณภาพ ทั้งสารคดีดนตรีเพื่อคนพิการอย่าง “หัวใจยังเต้น” และสารคดีดนตรีเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่าง “จังหวะจะเดิน” รวมถึงรายการ “The Voice Thailand” ที่มีสามทหารเสือทีมนี้เป็นเบื้องหลังร่วมกันในฐานะ Music Director ควบคุมทิศทางดนตรีของทั้งโชว์ตั้งแต่ซีซัน 1-3 ด้วย
หัวหน้าแก๊งสั่งลุยอย่างชัชได้แต่ยิ้มบางๆ รับข้อสงสัย ก่อนเปิดใจให้เหตุผลว่า “ก็มีน้อยใจเหมือนกันนะครับช่วงแรกๆ ว่าทำไมทำแล้ว ไม่ได้ถูกเห็นบ้างวะ แต่ตอนนี้เหมือนเราโตพอที่จะไม่ได้รู้สึกอะไรแล้ว เลยคิดว่าเห็นก็เห็น ไม่เห็นก็ไม่เห็น ยิ่งโปรเจกต์นี้มีคนชมว่ากลุ่มนี้น่านับถือที่ไม่มีเครดิตอะไร ไม่ได้บอกเลยว่าใครเป็นคนทำ ผมกลับรู้สึกว่ามันเท่ดีว่ะ กลับรู้สึกว่าการ “ปิดทองหลังพระ” มันเท่ดีเหมือนกันเนอะ”
ถ้าเป็นสมัยก่อน อาจจะเคย “อยากรวย” กับ “อยากดัง” เพราะรู้สึกว่าพอมีชื่อเสียงแล้ว มูลค่าของทั้งตัวเองและตัวงานจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่สุดท้าย ชัชก็ไม่อาจฝืนธรรมชาติของตัวเองไหว เพราะเขาไม่ใช่คนที่ชอบโปรโมตตัวเองเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่ทำให้เขาละจากการเป็นคนเบื้องหน้าในฐานะศิลปินวง “7th Scene” ไปเป็นคนเบื้องหลังอย่างเต็มตัว ทำงานหลากหลายรูปแบบ ทั้งรายการโทรทัศน์ ทั้งงานละคร หรือแม้แต่การเป็น Show Director ทำหน้าที่ดูแลและกำกับคอนเสิร์ตในเครือ “LOVEiS”
“ผมโชคดีด้วยที่ตอนนี้ผมได้อยู่ในบริษัทที่ดี ผมก็เลยมีงานที่ดี มีทีมที่ดี แล้วก็มีเงินระดับที่โอเค จนรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องดิ้นรนหาชื่อเสียงเพื่อเลี้ยงดูชีวิตแล้ว เราก็ทำงานที่เรามีความสุขแบบนี้แหละ ไม่ต้องเอาเวลาไปโปรโมตตัวเองในแบบที่เราไม่ชอบ แล้วเอาเวลาไปทำงานอย่างอื่นต่อดีกว่า โชคดีที่จุดที่เราทำมาทั้งหมด 10 กว่าปี มันพาเรามาจุดนี้ได้ ผมก็เลยรู้สึกโอเคกับสิ่งที่มันเป็นอยู่ครับ”
ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่าชิ้นงานเพื่อพ่อชิ้นล่าสุดนี้ พวกเขาก็ยึดหลักจากคำสอนของพระองค์ในแบบเดียวกัน คือการ “ปิดทองหลังพระ” โดยตั้งใจที่จะไม่ใส่เครดิต “ชื่อศิลปิน” แต่ละท่านลงไปในคลิป “ด้วยความที่เราไม่อยากให้มันเป็นของใครเลย” ชัชบอกเอาไว้อย่างนั้น ก่อนปล่อยให้หนุ่มเคราครึ้มอย่างวุฒิช่วยอธิบาย
“การไม่ใส่เครดิตอะไรลงไปเลยในโปรเจกต์นี้ พวกเรามองว่ามันคือการแสดง “ความถ่อมใจ” ของนักดนตรีทุกคนที่มาร่วมเล่นด้วยกัน มาอยู่บนโน้ตเดียวกัน อยู่ในจังหวะเดียวกัน มันคือภาพสะท้อนของสังคมว่า วันนี้ไม่มีใครเด่นดังหรือดีไปกว่าใคร แต่เราจะต้องอยู่ด้วยกันให้ได้แบบนี้บนผืนแผ่นดินเดียวกัน”
บอกตรงๆ ว่าไม่เคยรู้สึกอะไรกับการที่ใครจะเห็นว่าเคยมีผลงานจรรโลงสังคมอะไรมาแล้วบ้าง มิวสิกไดเรกเตอร์คนปัจจุบันประจำรายการ The Voice Thailand อย่างต๋องมองว่าไม่ใช่สาระสำคัญในชีวิตของเขาเลย
“เขามาเห็นสิ่งที่เราทำตอนนี้ก็ดีแล้วครับ แต่ถึงเขาไม่เห็น ผมก็ไม่รู้สึกอะไร อันนี้อาจจะฟังดูเวอร์นะ แต่ผมเป็นพวกชอบทำแล้วทิ้ง ผมจะทำให้ดีที่สุด ทำให้เต็มที่ที่สุด แล้วผมก็ทิ้งเลย ผมไม่แคร์ที่จะต้องให้ใครมานั่งบอกว่า อ๋อ..พี่เป็นคนทำเหรอ เพราะไม่รู้จะบอกไปเพื่ออะไรเหมือนกัน”
“ถ้าเราไม่สนใจเรื่องเครดิต ถ้าเราหันกลับมามองว่าเราก็ไม่ได้ดีไปกว่าคนอื่น มันจะทำให้เราเห็นคนอื่นแล้วหันมายิ้มให้เขาได้มากขึ้นนะผมว่า” วุฒิช่วยย้ำหัวใจของโปรเจกต์นี้ให้ฟังอีกครั้ง “นี่คือเหตุผลที่เราไม่เขียนชื่อใครสักคนลงไปเลยครับ ทั้งๆ ที่ถ้าเขียนชื่อเขา คนจะจำได้ทั้งประเทศ เพราะเราอยากให้คนรู้ว่าทุกคนบนแผ่นดินไทยมีคุณค่าเท่ากัน ถ้าคิดได้แบบนี้แล้วประเทศของเราจะมีความสุขอีกมากๆ เลย”
“ถ้าเรารวมกัน พ่อจะยังอยู่กับเราเสมอ” ว่าแล้วหัวเรือใหญ่ของโปรเจกต์นี้ก็หยิบเอาคำบันดาลใจขึ้นมาขยายความความรู้สึกให้ฟังอีกครั้ง หวังให้คนไทยด้วยกันได้ซึมซับหัวใจสำคัญที่ต้องการสื่อสารออกไปจริงๆ ผ่านผลงานเพื่อพ่อในครั้งนี้
“สังคมเราทุกคนวันนี้คนเกลียดกันเยอะมาก โดยเฉพาะในโลกโซเชียลฯ ซึ่งผมไม่เห็นประโยชน์อะไรของการเกลียดเลย นอกจากจะทำให้มีแต่แย่ลง คือไม่ว่าจะเป็นคนทำดีหรือทำชั่ว การเกลียดก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นได้ การเกลียดแค่ทำให้คนรู้ว่ามีคนทำผิด แต่จริงๆ แล้ว ถ้าใจเราอยากให้เขาปรับตัวได้จริงๆ ผมว่าการมอบความรักให้กันน่าจะช่วยได้มากกว่าอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็แล้วแต่”
“ถึงเราจะเกลียดเขาแค่ไหน เขาก็จะเป็นเหมือนเดิมแบบนั้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเรารักเขา เขาอาจจะปรับตัว เขาอาจจะดีขึ้นก็ได้ เพราะความรักของคนคนหนึ่งที่มอบให้อีกคน มันสามารถเปลี่ยนแปลงเขาได้จริงๆ เหมือนที่ในหลวงรักเรา มันก็เปลี่ยนแปลงเราได้จริงๆ” วุฒิช่วยเสริมสิ่งที่เพื่อนร่วมก๊วนมองตรงกัน ก่อนปล่อยให้ผู้นำสามทหารเสือเป็นผู้ปิดฉากความคิด
“จริงๆ แล้วทุกอย่างมันแฝงอยู่ในเพลงแล้วแหละครับ ดูจากแค่กีตาร์หนึ่งคอร์ด แค่คนคนหนึ่งออกมาช่วยเล่นโน้ตเดียว หรือแค่มือกีตาร์ 10 คนออกมาตีหนึ่งคอร์ด มันก็ทำให้เกิดเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เกิดเป็น “เพลงของพ่อ” เพลงนี้ขึ้นมาได้ มันก็เหมือนกับหลายๆ อย่างที่เราทำในชีวิตแหละครับ บางทีมันอาจจะดูน้อยนิด แต่ถ้าเราช่วยกันทำกันจริงๆ ทำกันเป็นพันๆ คน มันก็จะเกิดเรื่องดีๆ อะไรบางอย่างขึ้นมาได้จริงๆ”
[ฝีมือจากทีมเดียวกับ สุดยอดสารคดีดนตรี "จังหวะจะเดิน" ตามคอนเซ็ปต์ดนตรีเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง]
["หัวใจยังเต้น" อีกหนึ่งรายการจากความทุ่มเทของพวกเขา]
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: จิรโชค พันทวี
ขอบคุณภาพเบื้องหลังมิวสิกวิดีโอ: fb.com/wesharelovecommunity
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754