กิตตินันท์ นาคทอง ... รายงาน
เปิดตัวผู้ประกอบการรถทัวร์ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา “นครชัย 21” เริ่มเดินรถ 19 ธ.ค. นี้ พร้อมวันเปิดตัวห้างหรู “เทอร์มินอล 21 โคราช” จับตาศึกชิงรถโดยสาร ที่มี “เจ้าแม่สัมปทานเดินรถ” ให้บริการยาวนาน และ “แอร์โคราชพัฒนา” ที่คนโคราชนิยมใช้บริการในปัจจุบัน
19 ธ.ค. 2559 นอกจากจะมีศูนย์การค้าแห่งใหม่ อย่าง “เทอร์มินอล 21 โคราช” ที่มีแลนด์มาร์กใหม่ คือ หอคอยชมเมือง สูง 110 เมตร เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว ในแวดวงรถทัวร์ก็มีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
เมื่อรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่มีผู้ให้บริการ 3-4 เจ้า กำลังจะมีเจ้าใหม่อย่าง “นครชัยทัวร์” ที่ก่อตั้งบริษัทลูก “นครชัย 21” นำรถโดยสารวีไอพีมาให้บริการ เป็นเจ้าที่ 5 ในราคาเทียบเท่ารถ ป.1
เป็นที่น่าจับตามอง ทั้งผู้ประกอบการหน้าเก่า ที่เป็นถึง “เจ้าแม่สัมปทานรถทัวร์” ที่เดินรถเส้นทางนี้ยาวนาน กระทั่งมีคนแยกตัวไปตั้งอีกบริษัทหนึ่ง และผู้ประกอบการยอดนิยม ที่มีลูกค้าหนาแน่นในปัจจุบัน
- ก่อนจะมาเป็น “นครชัย”
ชื่อของ “นครชัย” ซึ่งมันัยว่าเป็นชื่อเส้นทางรถโดยสารประจำทาง ต้นทางนครราชสีมา ปลายทาง อ.โชคชัย จึงเรียกรวมกันเป็น “นครชัย” เมื่อปี พ.ศ. 2480
กระทั่งปี พ.ศ. 2494 ได้รับสัมปทานเส้นทางเดินรถ 5 สาย ได้แก่ นครราชสีมา-โชคชัย, นครราชสีมา-ชัยภูมิ, นครราชสีมา-ลำนารายณ์, นครราชสีมา-ด่านขุนทด และ นครราชสีมา-โนนไทย
กระทั่งได้มีการแปรรูปธุรกิจเดินรถของตระกูล “วงศ์เบญจรัตน์” ออกเป็น 3 บริษัท พร้อมแบ่งปันผลประโยชน์ในเส้นทางสายต่างๆ ระหว่างกัน ได้แก่
- นครชัยขนส่ง มี นายควง วงศ์เบญจรัตน์ เป็นเจ้าของ ถือสัมปทานเส้นทาง นครราชสีมา-ชัยภูมิ ปัจจุบันมีรถวิ่งให้บริการ 11 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางระหว่างจังหวัด 9 เส้นทาง และเส้นทางระหว่างอำเภอ 2 เส้นทาง
- นครชัยทัวร์ มี นายชง วงศ์เบญจรัตน์ เป็นเจ้าของ รับผิดชอบเส้นทาง นครราชสีมา-เชียงใหม่, นครราชสีมา-เชียงราย ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2534 ขยายเส้นทางเป็น นครราชสีมา-แม่สาย
จากนั้นในปี พ.ศ. 2548 ได้รับสัมปทานเดินรถ เส้นทาง นครสวรรค์-นครราชสีมา และปี พ.ศ. 2549 ได้รับสัมปทานเดินรถ เส้นทาง นครราชสีมา-มุกดาหาร
- และ นครชัยแอร์ มี นายจักรินทร์ วงศ์เบญจรัตน์ เป็นเจ้าของ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2529 เปิดเส้นทางเดินรถ กรุงเทพฯ-ขอนแก่น และ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี
ก่อนที่จะขยายเส้นทางการเดินรถเพิ่มอีก 4 เส้นทาง ได้แก่ อุบลราชธานี-เชียงใหม่, อุบลราชธานี-ระยอง, เชียงใหม่-ระยอง และ พัทยา-แม่สาย
ปัจจุบัน นครชัยแอร์ เปิดให้บริการเดินรถทั้งหมด 33 เส้นทาง โดยแบ่งเป็นจากกรุงเทพฯ 25 เส้นทาง และต่างจังหวัด 8 เส้นทาง เส้นทางยอดนิยมได้แก่ กรุงเทพฯ-ขอนแก่น, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ฯลฯ
- สัมปทานเดินรถโคราช พ้นจากยุคผูกขาด
สมัยก่อน รถประจำทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มี นางสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว เจ้าของอู่เชิดชัย เป็นเจ้าของสัมปทาน โดยมีนายสุรวุฒิ เชิดชัย นักการเมืองท้องถิ่น ลูกชายเป็นผู้บริหารในนาม “ราชสีมาทัวร์”
ที่ผ่านมา ราชสีมาทัวร์ เป็นที่รู้จักของชาวโคราช มีรถวิ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ออกจากสถานีขนส่งทั้งต้นทางและปลายทางทุก 15 นาที ที่สำคัญคือ ไม่จอดรับผู้โดยสารรายทาง
กระทั่งปี พ.ศ. 2538 มีการให้สัมปทานเดินรถแก่ “แอร์โคราชพัฒนา” ซึ่งมี นายวิชิต อัครวงศ์วัฒนา เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เริ่มต้นมีรถโดยสารให้บริการ 20 คัน กลายเป็นคู่แข่งเจ้าที่สอง
จากนั้น ในปี พ.ศ. 2550 นายปรีดา อัครปรีดี ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของราชสีมาทัวร์เดิม แยกตัวออกมาเปิด “สุรนารีแอร์” มีรถทัวร์ให้บริการ 53 คัน ทำให้มีผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นมาเป็น 3 เจ้าด้วยกัน
จุดเด่นของผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย ก็คือ มีรถโดยสารประจำทางออกจากกรุงเทพฯ ไปยัง จ.นครราชสีมา ตลอด 24 ชั่วโมง บางบริษัทยังเปิดการเดินรถที่สถานีขนส่งสายใต้ (ตลิ่งชัน) อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้บริการเจ้าใหม่ อย่าง “บ้านช้างเผือกทัวร์” เจ้าของเดียวกับ มิตรภาพไอศกรีม เพิ่งเปิดตัวได้ประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีนายธงชัย ทองแสงสุข เป็นกรรมการผู้จัดการ
การเข้ามาของผู้ประกอบการเจ้าที่ 5 ในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ของนครชัยทัวร์ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง และดูเหมือนว่าจะพยายามนำเสนอบริการที่ฉีกแนวไปจาก 4 เจ้าที่มีอยู่เดิม
- ทุ่มงบ 100 ล้าน เปิดเดินรถวีไอพี ราคา ป.1
นครชัยทัวร์ถือฤกษ์วันที่ 8 ก.ย. 2559 ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ ภายใต้ชื่อ “นครชัย 21” ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ซึ่งเลข 21 หมายถึง เส้นทางเดินรถสาย 21 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา
นครชัย 21 ระบุว่า ได้ทุ่มงบลงทุน 100 ล้านบาท จัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศ 26 คัน โดยเป็นรถวีไอพี 32 ที่นั่ง เก็บค่าโดยสารอัตราเดียวกับรถปรับอากาศ ป.1 ราคา 191 บาท
ภายในห้องโดยสารถือว่าฉีกแนวไปจากผู้ประกอบการรายอื่น โดยเฉพาะเบาะนวดไฟฟ้า มีช่อง USB สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ ฟรีไว-ไฟ และรับชมโทรทัศน์จากอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม
รวมทั้งห้องน้ำมีระบบดับกลิ่น ผ้าห่มที่ให้ลูกค้าใช้คลายหนาวระหว่างเดินทางมีการซักและห่อพลาสติกอย่างดี
สำหรับสุภาพสตรี ยังได้จัดที่นั่งที่เรียกว่า LADY ZONE ซึ่งผู้บริหารยืนยันว่า ไม่ว่าจะมีผู้โดยสารมากน้อยเพียงใด ก็จะไม่เปิดขายตั๋วในโซนนี้ให้สุภาพบุรุษเด็ดขาด
รถที่นำมาใช้ประกอบใหม่ทั้งคัน ด้วยโครงสร้างหากเกิดอุบัติเหตุ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเข้ามาจากห้องโดยสารได้ ติดตั้งกล้องด้านหน้า และด้านท้ายรถยนต์ และระบบ GPS จำกัดความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สำหรับการจองตั๋วโดยสารนั้น มีระบบบัตรสมาชิก NCT CARD ที่สามารถสะสมแต้ม และจองตั๋วผ่านเว็บไซต์ nakhonchaitour.net ล่วงหน้าได้สูงสุด 30 วัน จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการที่นั่งแน่นอน
โดยค่าสมัครสมาชิก 50 บาท ต่ออายุสมาชิกก่อนหมดอายุ 19 บาท ซื้อตั๋วโดยสารทุก 25 บาท ได้ 1 คะแนน แลกของรางวัลเริ่มต้นที่ 80 คะแนน ส่วนลดค่าโดยสาร 50 บาท หรือของรางวัลที่มีอยู่มากมาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อยังไม่ถึงเวลาให้บริการ ยังระบุไม่ได้ว่าเมื่อถึงคราวให้บริการจริง ระยะเวลาการเดินทาง การบริการ สิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งอาหารว่างและเครื่องดื่มจะเป็นอย่างไร
- ย้อนมองบริการ “แอร์โคราชพัฒนา” เจ้ายอดนิยม
หากมีใครถามถึงรถโดยสารไป จ.นครราชสีมา ชาวโคราชมักจะแนะนำให้ใช้บริการ “แอร์โคราชพัฒนา” เพราะเห็นว่าบริการดีกว่าสองเจ้าที่เหลือ สังเกตได้จากที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 จะมีช่องขายตั๋วมากถึง 2 ช่อง
แอร์โคราชพัฒนา เริ่มทยอยเปลี่ยนรถใหม่ 70 คันตั้งแต่ปีที่แล้ว แทนรถโดยสารรุ่นเดิมที่ใช้ เช่น ปาดาเน เมอร์ซิเดสเบนซ์ สแกเนีย ฯลฯ โดยตัวรถยาว 15 เมตร พร้อมเบาะที่นั่ง และระบบปรับอากาศแบบใหม่
การบริการของแอร์โคราชพัฒนาที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยปกติแล้วเบาะนั่งจะเป็นเบาะปรับเอนแบบธรรมดา มีผ้าห่มให้บริการแบบเวียนกันใช้ ของว่างประกอบด้วยน้ำดื่ม 1 ขวด และขนมปังหรือขนมเวเฟอร์ 1 ห่อ
บางครั้งเมื่อรถล่าช้าเพราะการจราจรติดขัดที่หน้าหมอชิต 2 ก็จะขึ้นทางด่วนโทลล์เวย์ที่ด่านรัชดาภิเษก บริเวณทางแยกต่างระดับรัชวิภาเป็นการทดแทน
แต่จุดที่แอร์โคราชพัฒนาได้รับความนิยม คือ ค่าโดยสารที่มีให้เลือกหลากหลายกว่า เช่น ตั๋วไป-กลับ ราคา 361 บาท ตกเที่ยวละ 180.50 บาท และ ตั๋วชุด 10 ใบ 1,700 บาท ตกเที่ยวละ 170 บาท
โดยตั๋วไป-กลับ ไม่จำเป็นต้องระบุวันเดินทางกลับ เพียงแค่เก็บตั๋วโดยสารที่เย็บลวดทั้งสองส่วน แสดงตั๋วโดยสารให้เจ้าหน้าที่ในวันเดินทางกลับ แจ้งชื่อและเบอร์โทรศัพท์ ก่อนที่จะออกตั๋วใหม่ได้ทันที
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ระบบบัตรสะสมแต้ม (Member Card) โดยเดินทางครบ 20 ครั้ง ฟรี 1 ครั้ง แต่ใช้สิทธิ์ได้เฉพาะตั๋วราคาเต็ม 191 บาทเท่านั้น โดยสมัครสมาชิกฟรี ต่ออายุสามชิกปีถัดไป 30 บาท
แต่แอร์โคราชพัฒนา ปัจจุบันไม่มีจองตั๋วล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์หรือช่องทางอื่นๆ เปิดขายเฉพาะจุดขายตั๋วเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากเป็นช่วงเทศกาล ก็ต้องวัดดวงกันว่าจะมีที่นั่งเหลือให้บริการหรือไม่
- รถยังไม่พอ ยังไม่แข่งแบบจัดเต็ม 24 ชั่วโมง
ด้วยความที่จำนวนรถยังไม่เพียงพอ ในระยะแรก นครชัย 21 จึงยังไม่ได้เดินรถ 24 ชั่วโมงเต็มรูปแบบ จากกรุงเทพฯ รถออกตั้งแต่ 06.30-21.15 น. และจากนครราชสีมา (บขส.ใหม่) รถออกตั้งแต่ 04.30-19.30 น.
รวมทั้ง ยังให้บริการเฉพาะปลายทาง บขส. ใหม่ แตกต่างจากผู้ประกอบการ 3 เจ้าที่มีอยู่เดิม ยังคงให้บริการที่ บขส. เก่า ในตัวเมืองนครราชสีมา แต่ไม่ได้มีรถให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนที่ บขส. ใหม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อ บขส. ใหม่ เป็นจุดต่อรถที่สำคัญของรถประจำทางเส้นทางต่างอำเภอ ต่างจังหวัด รวมทั้งมีบริการรถรับจ้าง ทั้งรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์รับจ้าง จุดจอดปลายทางจึงไม่ใช่ปัญหานัก
ส่วนจุดลงรถนั้น แอร์โคราชพัฒนาและนครชัย 21 มีจุดจอดคล้ายกัน โลตัสปากช่อง คลองไผ่ โนนทอง สีคิ้ว สูงเนิน ซีเกท กุดจิก บ้านนา ขามทะเลสอ รพ.เทพรัตน์ เซฟวัน แยกปัก อัมพวัน เดอะมอลล์ บิ๊กซี (เทอร์มินอล 21) และ บขส. ใหม่
เที่ยวกลับกรุงเทพฯ จอดส่งที่ สระบุรี แยกหินกอง วังน้อย นวนคร รังสิต ดอนเมือง วัดเสมียนนารี (ปัจจุบันจอดส่งที่ นครชัยแอร์ แทน) และ หมอชิต 2
ส่วนช่วงกลางคืน เที่ยวเวลาหลัง 17.00 น. และเที่ยวก่อน 05.00 น. จะจอดส่งตั้งแต่ปากช่อง-นครราชสีมา ทุกจุดตามความต้องการของลูกค้า เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางกลับที่พัก
สำหรับระยะเวลาในการเดินทางนั้น ปัจจุบันเนื่องจากรถควบคุมความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปัจจุบันจากกรุงเทพฯ ไปถึงนครราชสีมา แทบทุกเจ้าใช้เวลา 4 ชั่วโมง หากการจราจรติดขัดจะใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมง
ยกเว้นผู้ประกอบการบางรายจะฝ่าฝืนใช้ความเร็วเกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันเส้นทางสายอีสานมีการตรวจจับความเร็วจากตำรวจทางหลวงอย่างเข้มงวด
การเปิดเส้นทางเดินรถใหม่ของนครชัยทัวร์ แข่งกับสี่เจ้าที่แข่งขันกันมาอย่างยาวนาน น่าคิดว่า ความพยายามในการเพิ่มบริการให้มากกว่ามาตรฐาน ที่สุดแล้วคนโคราช หรือคนที่ใช้รถโดยสารจะพึงพอใจหรือไม่