นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มต้นจัดระเบียบรถตู้ประจำทาง ระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัด จากพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ เอกมัย และสายใต้ ปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา
นอกจากจะได้รับเสียงบ่นจากประชาชน ถึงความไม่สะดวกในการเดินทางแล้ว ดูเหมือนว่าอาจกลายเป็นการ “สร้างปัญหาใหม่” แก่บรรดาผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะ
อันที่จริง วัตถุประสงค์ในการจัดระเบียบรถตู้ของ คสช. ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดอย่างเดียว แต่เพราะต้องการจัดระเบียบให้รถตู้วิ่งในเส้นทางที่กรมการขนส่งทางบก และบริษัท บขส จำกัด กำหนดไว้
พ.อ.สุวิทย์ เกตุศรี ประธานคณะทำงานจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ คสช. ระบุในตอนต้นของการจัดระเบียบ ว่า บรรดาเจ้าของรถตู้ทำไม่ถูกต้องตามระเบียบกรมการขนส่งทางบกตั้งแต่ต้น
กล่าวคือ ถ้าเป็นรถตู้ร่วม บขส. ก็ต้องเริ่มต้นที่สถานี บขส. ไม่ใช่เริ่มต้นที่ไหนก็ได้
การจัดระเบียบรถตู้ของ คสช. จึงเดินหน้าด้วยการจัดทำป้ายกราฟฟิก บอกเส้นทางรถตู้ว่าจะย้ายไปไหน พร้อมทั้งจัดรถประจำทาง ขสมก. เป็นรถชัทเทิลบัส ไปยังสถานีขนส่งทั้ง 3 แห่งในช่วงเวลาแรก
แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รถโดยสารประจำทางในระยะทางไม่ไกลมาก ถูกลดขนาดลงเหลือเพียงแค่รถตู้ ไม่ใช่รถบัสขนาดใหญ่เหมือนแต่ก่อนแล้ว และรถไฟฟ้ากลายเป็นปัจจัยหลักในการเดินทางของคนกรุงเทพฯ มากขึ้น
หากแยกเฉพาะสถานีขนส่งเอกมัยที่มีรถไฟฟ้าบีทีเอสวิ่งผ่าน จะพบว่า สถานีขนส่งหมอชิตใหม่ และสถานีขนส่งสายใต้ ไม่มีการคมนาคมขนส่งประเภทอื่นตัดผ่านใด ๆ เลย
นอกจากรถเมล์ที่ต้องเผชิญกับรถติดภายนอกสถานีขนส่ง
ใครที่เคยเข้าสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ตั้งแต่เช้า หรือตอนเย็น จะทราบกันดีว่าการจราจรบนถนนกำแพงเพชร 2 รถติดขนาดไหน
และหากต่อรถขึ้นทางด่วนบางซื่อ จะพบว่าในตอนเช้า และตอนเย็น การจราจรบนทางด่วนนั้น รถมาก เคลื่อนตัวช้า
ยิ่งถ้าเป็นสถานีขนส่งสายใต้ปิ่นเกล้า พบว่าช่วงเช้ารถติดตั้งแต่ทางแยกต่างระดับฉิมพลีเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน
ส่วนช่วงเย็น รถติดตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า พาต้าปิ่นเกล้า กว่าจะหลุดพ้นก็เลยเซ็นทรัลปิ่นเกล้าไปแล้ว
ผู้ประกอบการรถตู้ต่างจังหวัดที่ทราบข่าว ต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเลี้ยงตัวอยู่ได้
อาทิ รถตู้เส้นทางภาคเหนือ ใช้วิธีไปส่งคนที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หมอชิต ก่อนเข้าสถานีขนส่งหมอชิตใหม่
หรือไม่เช่นนั้นหากเป็นเส้นทางอื่น ก็หาพันธมิตรร่วมในการส่งคนไปยังอนุสาวรีย์ชัย
เช่น จากต่างจังหวัดให้ไปต่อรถตู้ ขสมก. กลางทาง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนที่รถตู้ ขสมก. คันดังกล่าวจะไปส่งผู้โดยสารถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ส่วนเที่ยวกลับ แม้ในระยะแรกจะมีรถชัทเทิลบัสให้บริการจากเกาะพหลโยธิน 6 เดือน แต่หากต้องการเดินทางด้วยตัวเอง จากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หมอชิต ต้องนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้าง เสียค่าโดยสาร 60-80 บาท
แม้จะมีผู้ประกอบการบางราย ในเส้นทางภาคตะวันตก ต้องการรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส บางหว้า แต่พบว่าทางทหารไม่อนุญาตให้รับ-ส่งผู้โดยสารจุดดังกล่าว ต้องไปสถานีขนส่งสายใต้ ปิ่นเกล้าเท่านั้น
ทำให้ผู้โดยสารที่ต้องการต่อรถไฟฟ้าเพื่อที่จะเข้าเมือง ถ้าไม่อยากเจอการจราจรติดขัด ก็ต้องต่อรถแท็กซี่จากฝั่งตรงข้ามสถานีขนส่งสายใต้ ตลิ่งชัน เพื่อไปลงบีทีเอสบางหว้า เสียค่าโดยสารเพิ่มขึ้น 80-90 บาท
ไม่ใช่เพียงแค่รถตู้ บขส. ต่างจังหวัดเท่านั้นที่จัดระเบียบ รถตู้ ขสมก. เส้นทางชานเมืองและเขตปริมณฑล ก็ยังถูก คสช. จัดระเบียบด้วย
โดยย้ายให้ไปจอดเฉพาะที่เกาะพหลโยธิน เกาะดินแดง และเกาะพญาไทเท่านั้น เพราะการทางพิเศษแห่งประเทศไทยอาศัยจังหวะนี้ ขอคืนพื้นที่ใต้ทางด่วนพหลโยธิน
รวมทั้ง คสช. ได้ย้ายรถตู้ที่จอดหน้าโรงพยาบาลราชวิถี ให้ไปจอดที่เกาะพญาไท และเกาะดินแดงแทน
ทำให้นับตั้งแต่วันแรกที่มีการจัดระเบียบ รถตู้ ขสมก. บางเส้นทาง ที่เคยลงทางด่วนพหลโยธิน ก็ต้องวนไปกลับรถที่สนามเป้า
แล้ววนวงเวียนรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งการจราจรติดขัดอยู่แล้ว เสียเวลามากขึ้นกว่า 30 นาที
แทนที่จะแก้ปัญหาจราจรรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กลับซ้ำเติมปัญหาคนกรุงเทพฯ หนักกว่าเดิม
ท้ายที่สุด คสช. จึงใช้วิธีขอพื้นที่ใต้ทางด่วนอนุสาวรีย์ชัย จัดทำจุดกลับรถใต้ทางด่วน เพื่อให้รถตู้ที่ลงจากทางด่วนไปยังซอยเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ซอยอึ้งกิมกี่ อยู่เลียบทางด่วน ไปออกเกาะพหลโยธินแทน
แก้ปัญหาได้ไปเปลาะหนึ่ง
ขณะที่สถานีขนส่ง 3 แห่ง กลับพบว่ามีรถโดยสารประจำทางมีเส้นทาง “ทับซ้อนกัน” จำนวนมาก
เส้นทางที่มีปัญหามากที่สุด คือ เส้นทางภาคตะวันออก และเส้นทางภาคใต้ เพราะใช้เส้นทางหลักเดียวกัน ซึ่งมีเพียงไม่กี่เส้นทาง
โดยเฉพาะสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ ก่อนหน้านี้ได้นำรถตู้ที่อยู่บริเวณใต้ทางด่วนบางซื่อ ตรงข้ามหมอชิต 2 เข้ามาภายในชานชาลา 2 และ 3
กระทั่งรถตู้ที่มาจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถูกย้ายมากระจุกตัวที่นี่ แม้จะมีการแบ่งพื้นที่ตามเกาะที่ย้ายมา เช่น เกาะพหลโยธิน เกาะดินแดง เกาะพญาไท ใต้ทางด่วน ฯลฯ แต่ทำเลรถตู้ก็อยู่ใกล้กัน
ที่หนักกว่านั้นคือสถานีขนส่งสายใต้ ปิ่นเกล้า รถตู้ที่อยู่ในเส้นทางเดียวกัน เช่น นครปฐม 4-5 เจ้า สุพรรณบุรี 3-4 เจ้า เส้นทางเพชรเกษม ราชบุรี 2-3 เจ้า เพชรบุรี 2 เจ้า ชะอำ 2 เจ้า หัวหิน 2 เจ้า ปราณบุรี 2 เจ้า ประจวบคีรีขันธ์ 3-4 เจ้า ฯลฯ
กลับให้ช่องขายตั๋วอยู่ติดกัน หรือใกล้กัน
ผลก็คือ เกิดปัญหาการ “แย่งผู้โดยสาร” ตามมา เสี่ยงถึงขั้นเลือดตกยางออก
จากการสอบถามแหล่งข่าวซึ่งเป็นคนขับรถตู้รายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ต้นทุนในการเดินรถตู้ต่อวันเฉลี่ยคันละ 1,650 บาทโดยประมาณ
ประกอบด้วย ค่าแก๊สเอ็นจีวี 800 บาท ค่าใบลงเวลา 110-190 บาท แล้วแต่หมวดรถ ค่าคนขับรถ ฯลฯ
ซึ่งหากจะให้คุ้มทุน คิดจากค่าโดยสารประมาณ 150-200 บาท ผู้โดยสารขาหนึ่ง (ขาไปหรือขากลับ) จะต้องให้ได้เต็มที่นั่ง (14 คน)
และอีกขาหนึ่งจะต้องให้ได้ผู้โดยสาร 6-7 คน จึงจะคุ้มทุนในแต่ละเที่ยว
ปัญหาที่สำคัญหลังการจัดระเบียบรถตู้ก็คือ เมื่อปลายทางไม่ได้ไปถึงอนุสาวรีย์ชัยเหมือนแต่ก่อน
หากจะบอกว่าไปถึงสถานีขนส่งสายใต้ ปิ่นเกล้า ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะไม่ขึ้น เพราะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง แล้วไม่รู้ว่าจะเชื่อมต่อไปทางไหน
เพราะฉะนั้นจึงใช้วิธีถามผู้โดยสารว่าจะไปที่ไหน เพื่อที่จะได้เลือกเส้นทางรถตู้อย่างเหมาะสม
เช่น หากบอกว่าจะไปเซ็นทรัลพระราม 2 ก็จะเปลี่ยนถ่ายคนให้ไปนั่งรถเส้นทางหมอชิตใหม่แทน เพราะเป็นทางผ่าน
แหล่งข่าวกล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการย้ายรถตู้เส้นทางภาคตะวันตก ไปยังสถานีขนส่งสายใต้ ปิ่นเกล้า แน่นอนว่าเมื่อลูกค้าขาประจำส่วนใหญ่ได้หายไป รายได้ย่อมลดลง
คนขับรถตู้ต่างคืนกุญแจเถ้าแก่ไปแล้วนับสิบราย
หนำซ้ำยังเกิดปัญหาใหม่ตามมา ด้วยการเปิดศึกแย่งชิงผู้โดยสาร
จากการจัดระเบียบรถตู้ในช่วงแรก ผู้ประกอบการรถตู้เส้นทางเดียวกัน เช่น รถตู้สายเพชรบุรี ชะอำ ปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อยู่ในช่องจำหน่ายตั๋วติดกัน ก็จะมีปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบในการชิงผู้โดยสาร
แม้ทางทหารจะสั่งห้ามไม่ให้นายท่าหรือคนขับรถเรียกผู้โดยสาร แต่ส่วนใหญ่เมื่อผู้โดยสารเอ่ยปากบอกว่าจะไปไหน นายท่าหรือคนขับรถโดยสารก็จะเชื้อเชิญให้ไปขึ้นรถของคน
ทำเอาผู้ประกอบการรายอื่นโกรธเคืองกันไปด้วย
ที่หนักกว่านั้น คือ เมื่อมีการแย่งผู้โดยสารไปแล้ว นายท่าหรือคนขับรถรายอื่นร้องเรียนไปก็ทำอะไรไม่ได้
จึงใช้วิธีจดจำเบอร์คนขับรถตู้ที่แย่งผู้โดยสาร แล้วขับรถตามไปเคลียร์กันกลางทาง
เบาหน่อยก็ทะเลาะวิวาท ขู่ว่าอย่าทำเช่นนั้นอีก หรือหากหนักกว่านี้ก็ถึงกับทำร้ายร่างกายกันเลือดตกยางออก
แหล่งข่าวระบุว่า “หากแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ เร็วๆ นี้อาจจะได้เห็นข่าวคนขับรถตู้ฆ่ากันตายตามมา”
นอกจากนี้ ปัญหาผู้มีอิทธิพล ที่เป็นเจ้าของสัมปทานรถตู้ยังไม่หมดไป
“ขาใหญ่” รายหนึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานรถตู้สายหนึ่ง แน่นอนว่าเจ้าของรถตู้สายอื่นที่อยู่บนเส้นทางเดียวกันต่างก็เกรงใจ
ระหว่างเส้นทางขึ้นไปยังกรุงเทพมหานคร มักจะมีปัญหาการแย่งชิงผู้โดยสารกลางทาง
แม้คนขับรถที่อยู่ด้านหน้าจะไม่รู้ว่ามีรถตู้“ขาใหญ่” ตามหลังกันมาก็ตาม
หากเคลียร์กันได้ก็ดีไป แต่ถ้าเคลียร์ไม่ได้ ก็เลือดตกยางออกกลางทาง
ย้อนกลับไปเมื่อก่อน หากเป็นเส้นทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในอดีต แทบจะไม่มีปัญหาเลย เพราะต่างคนต่างก็ได้ผู้โดยสารมาจากต้นทางแบบเต็มแล้วออกอยู่แล้ว
แต่เมื่อยุบเส้นทางอนุสาวรีย์ชัยออกไป ก็ต้องมาแย่งชิงผู้โดยสาร “เส้นทางเดียวกัน” เพียงอย่างเดียวแทน
ปัญหาที่ตามมาจากการจัดระเบียบรถตู้ สะท้อนถึงความล้มเหลวของ คสช. ที่นอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาจราจรโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอย่างแท้จริงแล้ว ยังสร้างปัญหาใหม่ตามมา
เป็นโจทย์ที่ดูเหมือนว่า คสช. จะต้องแก้ไขปัญหาแบบ “ลิงแก้แห” ไม่รู้จักจบสิ้น.
วิธีต่อรถตู้ไปอนุสาวรีย์ชัย-รถไฟฟ้าบีทีเอส
เป็นที่ทราบกันดีว่า อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถือเป็นทางผ่านสำคัญของรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่เมื่อมีการจัดระเบียบรถตู้ ทำให้จุดจอดรถอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากเส้นทางต่างจังหวัดนั้นไม่มีอีกต่อไป จึงขอแนะนำวิธีต่อรถตู้ดังนี้
เส้นทางภาคเหนือ – รถตู้บางเส้นทางมีบริการส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต แต่หากไม่เข้าสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หมอชิต ให้ลงรถที่ห้างฟิวเจอร์พาร์ครังสิต แล้วต่อรถตู้ไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ระบุด้วยว่าขึ้นโทลล์เวย์)
เส้นทางภาคตะวันออก – ลงรถที่ปลายทางสถานีขนส่งเอกมัย ต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สถานีเอกมัย หรือหากไม่อยากทนรถติด ลงรถที่ป้ายอุดมสุข แล้วต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สถานีอุดมสุข
เส้นทางภาคตะวันตก – เนื่องจากไม่มีรถประจำทางวิ่งผ่านไปยังบีทีเอสบางหว้าโดยตรง ให้ใช้วิธีลงรถที่ฝั่งตรงข้ามสถานีขนส่งสายใต้ ตลิ่งชัน แล้วต่อรถแท็กซี่ ค่าโดยสารประมาณ 81-100 บาท ขึ้นอยู่กับการจราจร
หากต้องการไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในกรณีที่ไม่มีชัทเทิลบัส ให้นั่งสาย 28 แต่จะอ้อมไปทางถนนจรัญสนิทวงศ์ ถ้าต้องการความเร็วให้ลงรถที่ปากทางถนนชัยพฤกษ์ แล้วต่อรถประจำทาง เช่น สาย 515 หรือสาย 539
เส้นทางภาคใต้ - สำหรับจังหวัดสมุทรสงคราม และราชบุรี มีรถตู้เข้าตลาดมหาชัย จ.สมุทรสาคร ลงจากรถแล้วเดินขึ้นรถตู้สาย ต.127A จาก จ.สมุทรสาคร ไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้ที่จุดจอดรถตู้ ด้านข้างวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร
ส่วนเส้นทางอื่น ๆ ให้ลงรถที่สะพานลอยบางกระดี่ (ก่อนถึงถนนกาญจนภิเษก) ต่อรถประจำทางสายใดก็ได้ ลงป้ายการเคหะธนบุรี (ฝั่งห้างบิ๊กซี) แล้วเดินขึ้นรถตู้สาย ต.71A จากการเคหะธนบุรี ไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
แนะนำให้ขึ้นรถตู้ให้ได้ก่อนเวลา 06.30 น. เนื่องจากการจราจรบนทางด่วนดาวคะนองจะติดขัดอย่างมาก และบางวันท้ายแถวลามไปถึงถนนพระราม 2 เสียเวลาจากเดิม 45 นาที เป็นกว่า 2 ชั่วโมง