xs
xsm
sm
md
lg

สามัญชนผู้ได้เล่นดนตรีถวายในหลวง "ลุงปราสาท ปราชญ์เมืองแพร่"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดใจ “ลุงปราสาท” ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดแพร่ กับประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิต ที่ไม่เพียงได้ใกล้ชิดในหลวงแบบเหนือความคาดฝัน หากแต่ยังได้เล่นดนตรีถวายพระองค์ท่านยาวนานถึงสองชั่วโมง
“ปราสาท ประเทศรัตน์” หรือ “ลุงปราสาท” วัย 61 ปี ได้รับการยอมรับในฐานะปราชญ์ชาวบ้าน จังหวัดแพร่ ที่สมัยหนุ่มๆ มีความสนใจในดนตรี เดิมทีเคยไปแสดงอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะได้รับคำแนะนำจาก “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2534 ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง “เหมืองแร่” คุณอาจินต์แนะนำลุงปราสาทว่า ถ้าสนใจดนตรีจริงๆ ก็น่าจะไปตั้งวง และนั่นก็เป็นที่มาของวง “แบนโจแมน” ที่ลุงปราสาทกับเพื่อนๆ ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมา

โดยไม่เคยนึกไม่เคยฝันมาก่อนเลยว่าจะมีโอกาสได้เข้าเฝ้าในหลวง ไม่เคยคิดว่าจะได้บรรเลงเพลงรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่มีวันลืมไปได้เด็ดขาด ก็เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2532 เมื่อกรมชลประทานได้ติดต่อวงแบนโจแมนให้ไปช่วยเล่นที่สันเขื่อนแม่งัด อ.ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

“ตอนนั้น คนมาติดต่อก็ไม่บอกลุงว่าจะให้ไปเล่นให้ใครฟัง แต่พอไปถึงที่งานก็แปลกใจเหมือนกันว่าทำไมถึงมีข้าราชการผู้ใหญ่แต่งตัวด้วยเครื่องแบบติดชั้นยศ สีขาวติดยศ เต็มไปหมดเลย เวลาชาวบ้านเห็นก็ต้องนึกว่าจะมีงานพระราชพิธีอะไรหรือไม่

“เราก็ไม่รู้ว่างานนั้นคืองานอะไร ทางเจ้าหน้าที่กรมชลประทานบอกแค่ว่าให้เราและคณะเล่นดนตรีให้ดีที่สุด ก็ยังไม่ทราบนะว่าทำไมวันนั้นถึงมีการกำชับว่าขอให้เล่นให้ดีที่สุดเท่าที่จะเล่นได้ ในใจก็ยังคิดว่าเป็นงานของกรมชลประทาน

“แต่พอถึงเวลาช่วงเย็น ปรากฏว่า ขณะที่กำลังเล่นดนตรีแล้วก็มองออกไปไกลๆ เห็นว่ามีผู้ชายท่านหนึ่งเดินมา ตอนนั้นก็ยังนึกว่าเป็นสามัญชนปกติ แต่สังเกตไปมา เห็นว่าทำไมมีทหารเดินตาม ถึงได้รู้ว่าเป็นพระองค์ท่านในหลวงเสด็จมา

“ผมพยายามบอกกับคนที่จะให้เราไปเล่นว่ามีวงแจ๊สที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ผมเล่นแป๊บเดียว เดี๋ยวในหลวงท่านก็ฟังวงใหญ่นู่นแล้ว เขาก็ตอบกลับมาเลยว่าไม่ใช่ นี่เป็นภารกิจเธอ เพราะในหลวงทรงงานนานมาก ทรงงานหนักมาก ภารกิจนี้คือทำให้ในหลวงวางงานให้ได้ ไม่ต้องไปสนใจ วงนั้นไม่เล่นหรอก เขาเล่นมานานแล้ว ท่านเคยได้ยินมานานแล้ว วงนี้แหละ วงแบนโจแมน

“ทีนี้ พวกเราก็เล่นเต็มที่เลยครับ เล่นแบบ Non-Stop วงนั้นไม่ได้เล่นเลยนะงานนั้น”

ลุงปราสาทเผยความรู้สึกโดยขอใช้ภาษาสามัญเพื่อให้เข้าใจจุดประสงค์ เช่นเดียวกับภาพความมุ่งมั่นตั้งใจ ภาพในหลวงจะทรงถือแผนที่แล้วก็กล้องประจำพระองค์ทำพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านที่เรามักเห็นในทีวีเสมอมา ในปี พ.ศ.2532 ดวงตาของลุงปราสาทเห็นก็ประจักษ์เห็นเป็นเหมือนกันเช่นนั้น...

“เราก็เล่นไปเรื่อยๆ ข้าราชการเจ้าหน้าที่ก็บอกให้เล่นไปเรื่อยๆ เพราะคืออยากให้ในหลวงท่านหายเครียดหลังจากที่ท่านทรงงานมามาอย่างหนัก จนกระทั่งพระองค์ท่านเดินเข้ามาและตรัสกับพวกเราสมาชิกวงว่า “เล่นเก่งดีนะ เล่นดนตรี 2 ชั่วโมง ไม่พัก ไม่เหนื่อยบ้างหรือไม่”

“วินาทีนั้น พวกเราไม่กล้าตอบกลับ ได้แต่ยิ้ม หลังจากนั้น ด้วยความที่เป็นสามัญชน ก็ไม่รู้ว่าจะถวายอะไรในหลวง ก็เลยถวายเทปคาสเซ็ตต์ เพราะเวลาปกติ เล่นเปิดวงดนตรีตัวเอง มักจะอักเทปคาสเซ็ตต์ติดวงไว้ด้วย ก็เลยหยิบเทปคาสเซ็ตต์วงดนตรีของตัวเองส่งให้กับพระองค์ท่าน ตอนนั้นตัวเองก็ไม่ได้นึกว่าจริงๆ แล้วเวลาจะถวายอะไรในหลวง เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน อาจจะต้องมีขั้นตอน

“แต่ด้วยความที่ดีใจมากที่เจอในหลวง ณ ตอนนั้น หยิบเทปคาสเซ็ตต์ส่งให้พระองค์ท่าน และพระองค์ท่านก็รับแล้วเก็บใส่กระเป๋าเสื้อสูทของพระองค์ท่าน เป็นความทรงจำที่ลุงบอกไม่เคยลืมตลอดชีวิต”

และนี่คือความทรงจำและภาพที่มีค่าที่สุดหาที่เปรียบได้ ที่เกิดขึ้นในปี 2532

“อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนั้น คิดว่าคงไม่มีใครถ่ายรูปให้เราแน่ๆ แต่จู่ๆ หลังจากนั้นไม่นาน สำนักพระราชวังก็ส่งรูปถ่ายที่คุณลุงอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ท่านกลับมาให้ ยังรู้สึกตื้นตันใจมาจนทุกวันนี้

“และ ณ วันนี้ ทันทีที่ทราบข่าวว่าพระองค์ท่านสวรรคต รู้สึกว่านี่เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่กับคนไทยที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ บทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงทุกบทเพลง หรือแม้แต่ภาพถ่ายของพระองค์ท่านกับนักดนตรีสำคัญๆ ของโลก ลุงเสาะหาเก็บเอาไว้หมด เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน ในวันที่พระองค์ท่านไม่ได้อยู่แล้ว”

** ขอบคุณข้อมูล : รายการทุบโต๊ะข่าว อัมรินทร์ทีวี ช่อง 34


กำลังโหลดความคิดเห็น