xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-15 ต.ค.2559

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(บนขวา) ขบวนอัญเชิญพระบรมศพจาก รพ.ศิริราช ไปยังพระบรมมหาราชวัง (กลางขวา) สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงร่วมอยู่ในขบวนอัญเชิญพระบรมศพ (ล่าง) ประชาชนรอส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้วยความเศร้าโศก
คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.คนไทยทั้งแผ่นดินร่ำไห้ “ในหลวง” ร.9 สวรรคต ด้านรัฐบาลประกาศไว้ทุกข์ 1 ปี-ลดธงครึ่งเสา 30 วัน ผู้นำทั่วโลกเสียใจสุดซึ้ง!

เมื่อวันที่ 13 ต.ค. เวลา 18.45 น. สำนักพระราชวังได้ออกประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต ความว่า ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ต.ค.2557 แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับถึงวันพฤหัสบดีที่ 13 ต.ค.2559 เวลา 15.52 น. เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี

ทั้งนี้ แถลงการณ์สำนักพระราชวังฉบับสุดท้ายเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีขึ้นเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ความว่า คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ความดันพระโลหิตต่ำลงอีก พระชีพจรเร็วขึ้น ร่วมกับภาวะพระโลหิตมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นอีก ผลของการถวายตรวจพระโลหิต บ่งชี้ว่า มีภาวะการติดเชื้อและการทำงานของพระยกนะ (ตับ) ผิดปรกติ คณะแพทย์ฯ ได้ถวายพระโอสถควบคุมความดันพระโลหิตเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งถวายเครื่องช่วยหายพระทัย (Ventillator) และถวายการรักษาด้วยวิธีทดแทนไต (CRRT) พระอาการประชวรโดยรวมยังไม่คงที่ ต้องควบคุมด้วยพระโอสถ คณะแพทย์ฯ ได้เฝ้าติดตามพระอาการและถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด

หลังสำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ดังกล่าว ประชาชนและหลายภาคส่วน ต่างสวดมนต์เพื่อถวายพระพรให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหายจากพระอาการประชวร ขณะที่ประชาชนจำนวนมากไปเฝ้าติดตามพระอาการที่โรงพยาบาลศิริราช กระทั่งได้ทราบจากประกาศสำนักพระราชวังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ส่งผลให้ประชาชนทั้งที่โรงพยาบาลศิริราชและทั่วประเทศต่างพากันร้องไห้เศร้าโศกเสียใจอย่างหนักกับการสูญเสียครั้งใหญ่ของคนไทยในครั้งนี้

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยในช่วงค่ำวันเดียวกันถึงการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า รัฐบาลได้รับทราบด้วยความโทมนัสอย่างยิ่ง พร้อมประกาศให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ และสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.2559 เป็นต้นไป , ให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ทุกข์มีกำหนด 1 ปี สำหรับประชาชนทั่วไป ขอให้พิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นการสูญเสียและความวิปโยคยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ นับแต่การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2489 และว่า วันที่ 13 ต.ค.จะเป็นวันที่อยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทยตลอดไปนานแสนนาน ดุจวัน “ปิยมหาราช” 23 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้เป็นที่รัก เทิดทูน ทรงเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ นับเป็น 70 ปีที่ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามโดยแท้ พร้อมขอให้ทุกคนช่วยกันทำความดีถวายอย่างไม่หยุดยั้ง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ภารกิจสำคัญที่รัฐบาลต้องดำเนินการมี 2 ประการ คือ การดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและตามกฏมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 ตลอดจนตามราชประเพณีให้สอดคล้องต้องกัน เพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจะแจ้งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาองค์รัชทายาทตามกฏมณเทียรบาลไว้แล้ว เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2515 ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนอีกประการหนึ่ง รัฐบาลจะเตรียมงามพระบรมศพในส่วนของรัฐบาลและประชาชนให้สมพระเกียรติยศและสมกับความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

พล.อ.ประยุทธ์แถลงหลังประชุมร่วมกับ ครม.-คสช.-สนช.ด้วยว่า “เมื่อค่ำวันที่ 13 ต.ค.ผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงรับสั่งไว้ว่า พระองค์ท่านทรงรับพระราชทานเป็นองค์รัชทายาทอยู่แล้วอยู่ในปัจจุบัน แต่พระองค์จะทรงขอเวลาแสดงความเสียใจร่วมกับประชาชนทั้งประเทศไปก่อนในระยะเวลานี้ ส่วนกระบวนการทางกฎหมายในการอัญเชิญสืบพระราชสมบัตินั้น ให้รอเวลาที่เหมาะสม คือหลังจากที่พระองค์ทรงทำพระทัยแสดงความเสียใจร่วมกับประชาชนและทรงนึกถึงพระราชบิดา”

ทั้งนี้ หลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้นำประเทศต่างๆ ได้แสดงความอาลัยและเสียใจอย่างสุดซึ้ง อาทิ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า ทรงรับทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยความเสียพระราชหฤทัยอย่างสุดซึ้ง พร้อมกันนี้ สมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชบิดา และพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมคณะสงฆ์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล รวมถึงชุมชนคนไทยในภูฏานได้ร่วมกันจุดดวงประทีป 1,000 ดวง พร้อมสวดมนต์เพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ขณะที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวญี่ปุ่น และจะระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะผู้ที่เปี่ยมด้วยพรสวรรค์และความเป็นสุภาพบุรุษ นายอาเบะยังยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยว่า ทรงนำการพัฒนาและการยกระดับความเป็นอยู่ของชีวิตประชาชนไทยให้ดีขึ้น

ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ได้แสดงความเสียใจอย่างหาที่สุดมิได้ พร้อมระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักสู้ผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการพัฒนาประเทศ และทรงแสดงให้เห็นถึงการอุทิศตนอย่างไม่ย่อท้อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยด้วยจิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์และพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรมของพระองค์ ทรงคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเป็นที่ยกย่องชื่นชมของคนทั้งโลก ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้ส่งสาส์นแสดงความเสียใจมายังประชาชนชาวไทยในการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของคนทั้งชาติ พร้อมระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำความสำเร็จมาสู่เศรษฐกิจ สร้างความแข็งแกร่งของไทยในต่างแดนให้เพิ่มมากขึ้น และพระองค์ทรงได้รับการยอมรับอยู่ในหัวใจทุกผู้ของปวงชนชาวไทยโดยแท้จริงและเป็นที่ยอมรับนับถือในต่างประเทศ ฯลฯ

2.กรธ.ส่งมอบร่าง รธน.ฉบับสมบูรณ์ให้นายกฯ แล้ว ด้าน “พล.อ.ประยุทธ์” ขอเวลาตรวจทาน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน!

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติแล้ว
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติและแก้ไขให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป

ทั้งนี้ นายมีชัยให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าพบนายกฯ ว่า รู้สึกตื่นเต้น เพราะเราทำงานด้วยความยากลำบากแทบตาย และว่า หลังจากที่ส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้นายกฯ แล้ว ถือว่างานในส่วนที่ กรธ.รับผิดชอบได้เสร็จสิ้นแล้ว แต่สิ่งที่กังวลคือ จะทำงานในช่วงต่อไปไม่ทัน

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวหลังได้รับร่างรัฐธรรมนูญจาก กรธ.ว่า ได้รับร่างรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว ต้องตรวจทานก่อน จะใช้เวลา 30 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ขณะที่นายมีชัยเผยอีกครั้งหลังส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้นายกฯ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความเห็นใจ เพราะ กรธ.ทำงานเหนื่อยยาก พร้อมขอให้ กรธ.อดทน เพราะทุกคนต่างโดนเล่นงานกันไม่มากก็น้อย แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้แสดงความเป็นห่วงใดๆ ต่อการทำงาน และว่า กรธ.ยังไม่ได้ร้องขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือในการทำงานแต่อย่างใด หากมีอะไรที่ขาดเหลือต้องบอกรัฐบาล “ตอนนี้ กรธ.มีเวลาน้อย หากมีเวลาสักวันละ 30 ชั่วโมงจะดีขึ้น ระหว่างเข้าพบ นายกฯ เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลกำลังมุ่งหน้าเดินเพื่อให้สอดคล้องกับโรดแมปและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ต้องเร่งทำกฎหมายที่ฝ่ายรัฐบาลต้องรับผิดชอบ ซึ่งอาจมีนับร้อยฉบับ เพราะตามรัฐธรรมนูญต้องออกกฎหมายจำนวนมาก และกฎหมายบางฉบับกำหนดระยะเวลาค่อนข้างสั้น ดังนั้น ต้องทำกันแบบตะลุมบอน ทำให้ทุกฝ่ายมีงานต้องทำกันเยอะ”

นายมีชัยยังบอกด้วยว่า ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดตายตัวว่า จะเลือกตั้งเมื่อใด เพียงแต่พูดคร่าวๆ ว่า ภายในปี 2560 ตอนนี้ยังไม่สามารถพูดได้ว่าการเลือกตั้งจะหลุดจากปี 2560 หรือไม่ การทำงานของ กรธ.พยายามทำให้อยู่ในกรอบเวลา 2560 แต่ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อถึงเวลาแล้ว ฝ่ายอื่นๆ พร้อมหรือไม่ เพราะหลังจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับออกมา ก็จะเริ่มนับหนึ่งทันที

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ถึงกรณีที่ กรธ.ส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้นายกฯ แล้วว่า ถือว่ากระบวนการทำงานของรัฐบาลได้นับหนึ่งแล้ว และต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายในวันที่ 9 พ.ย. ถือว่าไม่ยากอะไร เพราะเขียนแค่คำปรารภและบทเฉพาะกาล ส่วนเนื้อหาไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว คาดว่าใช้เวลาไม่นาน และที่สำคัญอย่าไปเขียน เพราะหากเขียนผิด ต้องปรับกระดาษออก แล้วปะเข้าไปใหม่ “รัฐบาลมีเวลา 30 วัน นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่เข้าใจว่าคงเสร็จภายในกำหนดวันที่ 9 พ.ย. ส่วนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อไร ต้องปรึกษากับสำนักราชเลขาธิการอีกครั้ง และเมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้ว ตามพระราชอำนาจก็ทรงมีเวลาพิจารณา 90 วัน แล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ ลงมาเมื่อไร”

3.ศาลถอนประกัน “จตุพร” หลังทำผิดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวคดีก่อการร้าย ด้าน “วีระการต์-ณัฐวุฒิ-นพ.เหวง-นิสิต” รอด!

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ศาลอาญา ได้นัดอ่านคำสั่งที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ประกอบด้วย นายวีระ หรือวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ. เหวง โตจิราการ และ นายนิสิต สินธุไพร ซึ่งเป็นจำเลยที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ในศาลอาญา

ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 5 คนพร้อมด้วยทีมทนายความได้เดินทางมาศาลตามนัด โดยนายจตุพร ให้สัมภาษณ์ก่อนฟังคำสั่งศาลว่า ก่อนหน้านี้ อัยการโจทก์ได้ยื่นหลักฐานใหม่เป็นวีซีดี ต่อศาล ซึ่งทีมทนายเห็นว่า เป็นหลักฐานใหม่ จึงขอศาลตรวจสอบซีดีดังกล่าว และได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนพยานเพิ่มเติม คือตัวจำเลยทั้ง 5 คนและทีมทนายความ แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าจะมีคำสั่งอย่างไร

เป็นที่น่าสังเกตว่า นายจตุพร ได้เตรียมของใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าเป้มาด้วย โดยระบุว่า ไม่ใช่การแก้เคล็ดหรือลางบอกเหตุ แต่ตนเองเคยต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำมาถึง 2 ครั้ง จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม แม้เอารองเท้าผ้าใบมา แต่ก็ไม่เอาถุงเท้ามาเด็ดขาด

สำหรับคำร้องของพนักงานอัยการที่ยื่นศาลเพื่อขอให้พิจารณาถอนประกัน 5 แกนนำ นปช.ระบุเหตุผลว่า นายจตุพร จำเลยที่ 2 พูดในทางเสียดสี ประชดประชัน ตำหนิการทำงานของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) บิดเบือนการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี กล่าวหาหน่วยงานของรัฐกระทำการโดยมิชอบ คุกคาม กดดันการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ พูดโจมตีบุคคลต่างๆ ในลักษณะดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทผู้อื่น พูดยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนในบ้านเมืองผ่านรายการโทรทัศน์ PEACE TV เว็บไซค์ ยูทูบ และสื่อสาธารณะอื่น ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลที่กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวไว้

คดีนี้ จำเลยที่ 1-4 และ 8 ให้การยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไขศาล แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นการตรวจสอบการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐและรัฐบาล ซึ่งหากมีการพาดพิงหรือดูหมิ่นบุคคลใดก็สามารถใช้สิทธิทางกฎหมายได้อยู่แล้ว

ขณะที่ทนายจำเลยทั้งห้า ได้แถลงต่อศาลขอไต่สวนพยานประกอบคำให้การของจำเลย ด้านศาลเห็นว่าจำเลยได้แถลงยอมรับข้อเท็จจริงว่าได้ไปออกรายการต่างๆ และมีการให้สัมภาษณ์จริง แต่ไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไขศาล และอัยการโจทก์ยังมีหนังสือพิมพ์ สื่อสาธารณะอื่น รวมถึงบันทึกถ้อยคำจากแผ่นวีซีดีที่เป็นพยานหลักฐานพอวินิจฉัยได้ เมื่อจำเลยรับข้อเท็จจริงแล้ว ประกอบกับโจทก์มีพยานหลักฐานพอวินิจฉัยได้ ศาลจึงงดการไต่สวนพยานจำเลย พร้อมยกคำร้องทนายจำเลยที่ 2 และ 4 ที่แถลงต่อศาลคัดค้านการอ่านคำสั่งในวันดังกล่าว

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลักประกันอิสรภาพตามสิทธิมนุษยชน เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกคุมขังนานเกินจำเป็น สำหรับคดีนี้ศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยกำหนดเงื่อนไขไว้ เพื่อควบคุมหรือป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสถานการณ์ขณะนั้นมีวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองสูง ซึ่งจำเลยเป็นแกนนำในการปราศรัยโจมตีรัฐบาลและนัดชุมนุม จนเป็นเหตุให้ถูกจับกุมและดำเนินคดี แต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 คสช. เข้ายึดอำนาจ สถานการณ์ภายในจึงสงบเรียบร้อยลง และมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จตามกำหนด โดยกำหนดให้มีการลงประชามติวันที่ 7 ส.ค. 59 ซึ่งจำเลยที่ 1-4 และ 8 ได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำได้แต่ต้องอยู่ในขอบเขตและไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของศาล อีกทั้งกรณีวิจารณ์การทำงาน หรือการคอร์รัปชั่นก็ย่อมมีสิทธิกระทำได้ แต่ต้องไม่กระทบสิทธิและเกียรติยศบุคคลอื่น

เมื่อพิจารณาแผ่นวีซีดีของอัยการโจทก์แล้วเห็นว่า บทสนทนาบางตอนจำเลยที่ 2 กล่าวพาดพิงบุคคลอื่นด้วยถ้อยคำค่อนข้างรุนแรงหรืออาจกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนที่ได้รับทราบข้อความดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลที่ถูกพาดพิงและกระทบสิทธิและเกียรติยศ แม้ผู้เสียหายจะใช้สิทธิตามกฎหมายได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ ศาลได้กำหนดเงื่อนไขไว้ก่อนแล้วเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น การที่จำเลยที่ 2 ได้กล่าวโดยระบุชื่อและกล่าวในลักษณะส่อในทางดูหมิ่นกระทบต่อสิทธิและชื่อเสียงเกียรติยศ ถือเป็นการกระทำผิดเงื่อนไข ส่วนจำเลยที่ 1, 3, 4 และ 8 ศาลเห็นว่าเป็นการติชมโดยสุจริตเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนทั่วไป ยังไม่ถึงกับดูหมิ่นหรือกระทบสิทธิ เกียรติยศหรือชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น อันเป็นการยั่วยุหรือกระทำผิดเงื่อนไขการประกันอื่นตามที่ศาลได้กำหนดไว้ ศาลจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุพร จำเลยที่ 2 และยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนประกันในส่วนของจำเลยที่ 1, 3, 4 และ 8

หลังฟังคำสั่งศาล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่า ถือเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของ นปช.ถึงแม้ไม่ใช่การเสียชีวิต แต่เป็นการสูญเสียอิสรภาพ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนายจตุพร แต่เรายังเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ตรวจสอบการคอร์รัปชั่นต่อไป ซึ่งนายจตุพรยังได้ฝากให้กำลังใจประชาชนให้ยึดมั่นแนวทางของ นปช.ต่อไป และในวันนี้นายจตุพรได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสง่างาม ถือเป็นความภาคภูมิในฐานะประธาน นปช. พวกเราจะยืนหยัดจนกว่านายจตุพรจะกลับมา ครั้งนี้คงเป็นบททดสอบ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะยืนอยู่ที่เดิม และจะปรึกษาฝ่ายกฎหมายเรื่องการยื่นขอประกันตัวนายจตุพรใหม่อีกครั้ง เพราะแม้ศาลจะเพิกถอนประกัน แต่ก็ไม่ได้ตัดสิทธิในการยื่นประกันใหม่แต่อย่างใด

4.โปรดเกล้าฯ 33 สนช.ใหม่แล้ว ด้านประธาน สนช.ชี้รายชื่อส่วนใหญ่เป็นทหาร ไม่มีปัญหา ขณะที่อดีต ส.ส.เพื่อไทย เหน็บตั้งเพื่อตบรางวัลมากกว่า!

สนช.ใหม่ ขณะเข้ารายงานตัว (บนซ้าย) พล.ต.ธรรมนูญ วิถี (บนขวา) พล.ต.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ (ล่างซ้าย) พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร (ล่างขวา) นายวิทยา ผิวผ่อง
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศความว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่มเติม ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2559 ดังต่อไปนี้ 1.พล.ท.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา 2.พล.อ.ท.จิรวัฒน์ มูลศาสตร์ 3.นายเจน นําชัยศิริ 4.พล.ต.เจริญชัย หินเธาว์ 5.นายเจริญศักดิ์ ศาลากิจ 6.พล.ต.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ 7.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน 8.พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช 9.พล.อ.อ.ชูชาติ บุญชัย 10.พล.ต.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ 11.พล.ท.ณัฐพล นาคพาณิชย์ 12.พล.ร.อ.ทวีชัย บุญอนันต์

13.พล.อ.ธนดล สุรารักษ์ 14.พล.ต.ธรรมนูญ วิถี 15.พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ 16.นายปรีดี ดาวฉาย 17.พล.ร.อ.พลเดช เจริญพูล 18.พล.ต.พัลลภ เฟื่องฟู 19.พล.ร.ท.รัตนะ วงษาโรจน์ 20.พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ 21.นายวิทยา ผิวผ่อง 22.พล.ต.วุฒิชัย นาควานิช 23. พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร 24.พล.ท.ศิริชัย เทศนา 25.พล.อ.ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์ 26.พล.อ.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล 27.พล.ท.สรรชัย อจลานนท์ 28.พล.ต.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ 29.นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข 30.พล.ร.อ.สุชีพ หวังไมตรี 31.พล.อ.อ.สุทธิพงษ์ อินทรียงค์ 32.พล.ท.สุรใจ จิตต์แจ้ง 33.พล.อ.อ.สุรศักดิ์ ทุ่งทอง ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงการตั้ง สนช.ใหม่ 33 คนโดยยืนยันว่า มีความเหมาะสมกับช่วงเวลาที่ต้องพิจารณากฎหมายจำนวนมาก ทั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า สนช.ใหม่มีสัดส่วนของทหารมากกว่าพลเรือนนั้น นายพรเพชรกล่าวว่า แม้ สนช.ใหม่อาจจะไม่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่ก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะสมาชิก สนช.เดิมก็มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายอยู่มากพอสมควร อีกทั้งในทางการเมืองไม่ได้มีแค่เรื่องของกฎหมาย แต่ยังต้องศึกษาเรื่องความมั่นคงและการปฏิรูปประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมายเท่านั้น และว่า จากการได้ร่วมงานกับ สนช.ในสัดส่วนทหารที่ผ่านมา ก็สามารถปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี “ที่พูดว่ามีความเหมาะสม เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่บ้านเมืองต้องการความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง เพื่อดูแลให้บ้านเมืองเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง อีกทั้งในโครงสร้างของประชากรไทยก็มีความเคารพและเชื่อถือในเจ้าหน้าที่ทหาร ดังนั้นเมื่อทหารทำหน้าที่เป็น สนช.ก็สามารถทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และนำปัญหาของประชาชนมาแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบได้จึงขออย่ามองว่าทหารไม่เป็นประโยชน์ทางด้านนิติบัญญัติ แต่หากมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ขอเวลาอีก 1 ปี เพื่อเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง บุคคลเหล่านี้จะไม่ถูกวางตัวเป็น ส.ว.ในช่วงเปลี่ยนผ่าน”

ขณะที่นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย วิจารณ์รายชื่อ สนช.ใหม่ 33 คนที่ส่วนใหญ่เป็นทหารว่า แสดงว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยพูดไว้ว่า ตั้งคนเหล่านี้มาเพื่อคัดกรองกฎหมายต่างๆ ตั้งแบบนี้เป็นการตั้งเพื่อความมั่นคงของรัฐบาลเอง และว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สนช.ออกกฎหมายมาตลอดเป็นร้อยๆ ฉบับ ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย การบอกว่าตั้ง สนช.เพิ่ม 33 คนเพื่อให้มาดูเรื่องกฎหมาย เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะดูรายชื่อแล้ว เป็นข้าราชการแทบทั้งหมด การตั้งแบบนี้เป็นการให้รางวัลแก่คนทำงานให้ท่านหรือไม่ เพราะถ้าจะตั้งมาเพื่อช่วยด้านกฎหมาย ทำไมไม่ตั้งนักกฎหมายเข้ามา แบบนี้เป็นการโกหกประชาชนหรือไม่

5.ตำรวจ-ทหารเพิ่มความเข้มเฝ้าระวังคาร์บอมบ์ หลังทูตออสเตรเลียเตือน ขณะที่การข่าวพบเตรียมก่อเหตุ กทม.-ปริมณฑล 25-30 ต.ค.!

พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น.นำทีมตำรวจและทหาร ร่วมปิดล้อมตรวจค้นอาคารไมมูณา การ์เด้นโฮม ซ.ราษฎร์อุทิศ 258 ซึ่งเคยเป็นจุดที่คนร้ายคดีระเบิดราชประสงค์มาพักอาศัย
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เป็นประธานประชุมด้านความมั่นคง โดยมีตำรวจหลายหน่วยเข้าร่วม หลังประชุม พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากช่วงเช้าวันเดียวกัน นายพอล โฟลีย์ เอกอัครราชทูตด้านการต่อต้านการก่อการร้ายสหพันธ์ออสเตรเลีย และนายพอล โรเบิล ริยาร์ด เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ซึ่งมีความร่วมมือเรื่องการก่อการร้ายได้สอบถามความคืบหน้าการเฝ้าระวังการก่อการร้ายในไทย จึงได้เรียกประชุมและกำชับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ยอมรับว่า มีการข่าวเรื่องกลุ่มผู้ไม่หวังดีเตรียมก่อเหตุคาร์บอมบ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนการข่าวมีการแจ้งเตือนว่าวันที่ 25-30 ต.ค.นี้จะมีการก่อเหตุนั้น พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า การข่าวลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตามได้กำชับไปยังพื้นที่ให้กวดขัน จับกุม ตรวจค้นรถต้องสงสัย การเดินทางของกลุ่มคนร้าย และการปิดล้อมตรวจค้นแล้ว และว่า ไม่ได้เฝ้าระวังจุดใดเป็นพิเศษ แต่มีการเพิ่มความเข้มตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ สถานทูต จุดล่อแหลม และสถานที่เชิงสัญลักษณ์

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่า คนร้ายใช้รถยนต์ 1 คัน รถปิกอัพ 1 คัน และอีก 1 คันยังไม่เปิดเผย ทั้งหมดเป็นรถสีดำ ติดแผ่นป้ายทะเบียนปลอม หลบหนีจากด่านตรวจท่าสาป อ.เมืองยะลา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ต.ค. โดยสันนิษฐานว่า เตรียมเข้ามาก่อเหตุในพื้นที่ภาคกลาง

วันต่อมา(11 ต.ค.) พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้นำทีมตำรวจและทหาร ร่วมปิดล้อมตรวจค้นอาคารไมมูณา การ์เด้นโฮม ซ.ราษฎร์อุทิศ 25/8 ซึ่งเคยเป็นจุดที่คนร้ายคดีระเบิดราชประสงค์มาพักอาศัย และอู่ซ่อมรถไม่มีชื่อ ซ.ราษฎร์อุทิศ 25 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กทม.ซึ่งเคยเกิดเหตุระเบิดเมื่อปี 2557 จนมีผู้เสียชีวิต 2 ศพ โดย พล.ต.ท.ศานิตย์เผยผลตรวจสอบทั้ง 2 จุดว่า ไม่พบสิ่งผิดปกติ

รายงานข่าวแจ้งว่า ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยข้อมูลรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมในพื้นที่ภาคใต้ ที่อาจถูกนำไปใช้ก่อเหตุไม่สงบหรือคาร์บอมบ์ในพื้นที่ต่างๆ ส่วนใหญ่พบว่า เป็นรถปิกอัพและรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่หายไปจากพื้นที่ตั้งแต่ปี 2555-2559 รวมทั้งหมด 30 คัน ประกอบด้วย ในพื้นที่ จ.นราธิวาส 10 คัน จ.ปัตตานี 12 คัน และ จ.สงขลา 8 คัน นอกจากนี้ยังมีการแจ้งเตือนรถยนต์ เฝ้าระวังพิเศษในพื้นที่ สภ.เมืองยะลา 2 คัน คือ รถปิกอัพยี่ห้อมิตซูบิชิ ไทรทัน สีดำ ทะเบียน บต 3597 ยะลา และรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า สีดำ ทะเบียน วฐ 1563 กรุงเทพมหานคร จากการสืบสวนทราบว่า รถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถที่ใช้ขนส่งคนร้ายที่ก่อเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้เมื่อวันที่ 10-12 ส.ค. คาดว่าคนร้ายจะนำรถยนต์ไปประกอบเป็นรถยนต์คาร์บอมบ์เพื่อก่อเหตุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ วันเดียวกัน(11 ต.ค.) ตำรวจและทหารได้สนธิกำลังกันบุกตรวจค้นตามหมายค้นและหมายจับในพื้นที่หัวหมากและวังทองหลางหลายจุด โดยค้นอาคารร่มเกล้าแมนชั่น ใน ซ.รามคำแหง 65/1 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ หลังตรวจค้นได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 8 คนไปสอบสวนที่ สน.หัวหมาก

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รรท.ผบก.สปพ.เผยว่า การเข้าค้นดังกล่าวเป็นการขยายผลมาจากการที่ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องหาพร้อมของกลางเป็นปืน 400 กระบอก ในพื้นที่ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจค้นที่ร่มเกล้าแมนชั่น ในพื้นที่หัวหมาก และเอส.เค อพาร์ทเม้นท์ พื้นที่วังทองหลาง จับกุมผู้ต้องหาได้หลายคน ส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดประเภทที่ 5 (กระท่อม) ไม่พบความผิดเกี่ยวกับเครื่องกระสุนอาวุธปืน หรือผู้ต้องหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ

นอกจากนี้วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองทหารและเจ้าหน้าที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทหาร ยังได้สนธิกำลังกับตำรวจเข้าตรวจค้นอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่งใน ซ.อักษรลักษณ์ ต.ปากน้ำ อ.เมืองสมุทรปราการ หลังตรวจค้น ได้ควบคุมตัวนายปรีชา สะมะลี อายุ 39 ปี อาชีพช่างซ่อมโทรศัพท์ ภายในห้องพบกล่องพัสดุไปรษณีย์จำนวนมาก และอุปกรณ์โทรศัพท์ที่มีการดัดแปลงเข้าข่ายต้องสงสัย แต่จะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้จุดระเบิดหรือไม่ อยู่ระหว่างรอเจ้าหน้าที่อีโอดีตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด

ส่วนที่ จ.สงขลา ได้มีการเฝ้าระวังป้องกันพื้นที่ เนื่องจากมีวันสำคัญเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบหลายวัน เช่น วันที่ 12 ต.ค. เป็นวันสถาปนาธรรมนูญพูโลใหม่ วันที่ 25 ต.ค. เป็นวันครบรอบ 12 ปี เหตุการณ์ตากใบ ซึ่งล่าสุด มีการเน้นตรวจสกัดรถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด สีดำหรือเขียว 1 คัน และฮอนด้า ซีวิคอีก 1 คัน ซึ่งเป็นรถต้องสงสัยที่ประกอบระเบิดและอาจจะลอบเข้าไปก่อเหตุในพื้นที่ โดยมีการตั้งรางวัลนำจับรถดังกล่าว 1 แสนบาท ด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า จากการตรวจสอบ ยังไม่พบว่า รถยนต์ต้องสงสัย 2 คันถูกนำเข้ามาในพื้นที่ กทม.แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ผลจากการเฝ้าระวังการก่อวินาศกรรมและลอบวางระเบิดสถานที่เชิงสัญลักษณ์และสถานที่ท่องเที่ยว ตามที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวัง ปรากฏว่า หลายภาคส่วนได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท.ได้เพิ่มความเข้มงวดมาตรการรักษาความปลอดภัยในสนามบินทั้ง 6 แห่งของไทยที่ ทอท.ดูแลอยู่ โดยขณะนี้ใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยระดับ 3 ขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้สั่งให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น