พบเจ้าหน้าที่ดับเพลิงบางเขน โชว์การจับงูที่เลื้อยเข้ามาในบริเวณรั้วบ้าน พบติดกับกระถาง ก่อนเอาออกมาอย่างง่ายดาย
เฟซบุ๊ก Bunnita Patchana ได้โพสต์วิดีโอคลิปขณะที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงบางเขน กรุงเทพมหานคร รายหนึ่งเข้าไปทำการจับงูเห่า หลังได้รับแจ้งจากหมายเลข 199 ว่า มีงูเห่าเข้าบ้าน ในซอยรามอินทรา 19 แยก 3 พบเห็นงูเห่าตัวเขื่องซ่อนตัวอยู่ในกำแพง ติดอยู่กับกระถาง จึงตัดสินใจทุบกระถาง แล้วทำการจ้องตาไปที่ตัวงู ก่อนทำการจับงูด้วยความง่ายดาย จนคนถ่ายคลิปถึงกับไม่น่าเชื่อ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงคนดังกล่าวจะระบุว่า “มีอะไรก็แจ้งมาที่หมายเลข 199 ไม่ว่าจะเป็นงูทุกชนิด สัตว์เลื้อยคลานที่สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน จะดำเนินการให้”
อย่างไรก็ตาม วิธีจับงูด้วยมือเปล่านั้นไม่ควรทำด้วยตัวเอง ควรเรียกเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการฝึกด้วยความชำนาญจะดีกว่า
ข้อมูลจากเว็บไซต์สถานีดับเพลิงสามเสน ระบุว่า งูเป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง ไม่มีขา ไม่มีเปลือกตา มีเกล็ดปกคลุมผิวหนังทั่ว ทั้งลำตัว ลักษณะลำตัวยาวซึ่ง โดยขนาดของความยาวนั้น จะขึ้นอยู่กับชนิดของงูปราดเปรียวและว่องไวในการเคลื่อนที่ มีลิ้นสองแฉกเพื่อใช้สำหรับรับความ รู้สึกทางกลิ่น จัดอยู่ในชั้น Reptilia, ตระกูล Squamata, ตระกูลย่อย Serpentes
โดยทั่วไปแล้วงูจะกลัวและไม่กัดนอกเสียจาก ถูกรบกวน หรือบุกรุก จะเลื้อยหลบหนีเมื่อมีสิ่งใดเข้ามาใกล้บริเวณที่อยู่ ออกล่าเหยื่อเมื่อรู้สึกหิว โดยกินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเป็นอาหารหลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมบ้านมีตั้งหลายหลัง แต่ทำไมเจ้างูต้องเข้ามาอยู่ในบ้านเราด้วยหรือจะเป็นคราวเคราะห์จริงๆ ซึ่งอันที่จริง
สาเหตที่งูเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน
1. บ้าน หรือสถานที่นั้นเป็นแหล่ง “อาหาร” ที่อุดมสมบูรณ์ เช่น บ้านที่มีหนูชุกชุมเพราะรกรุงรัง หรือมีบ่อน้ำสระน้ำที่มีปลาเยอะ หรือมีการเลี้ยงนกเลี้ยงไก่ไว้ ฯลฯ ยิ่งบ้านที่ขาดการจัดให้เป็นระเบียบ บ้านที่จัดพื้นที่ สวนแต่ปล่อยให้รก ทั้งนี้เพราะงูทุกชนิดเป็นสัตว์นักล่า กินเหยื่อเป็นสัตว์ด้วยกัน
2. ลักษณะบ้านเป็นที่ “ปลอดภัย” สำหรับงู ไม่มีศัตรูก่อความรำคาญ หรือทำร้ายจนถึงชีวิต เช่น ไม่มีหมาคอยไล่เห่าไม่มีห่านไล่งับหรือไม่มีสัตว์คู่อริ เช่น พังพอน หรือเมื่อมีน้ำท่วมขังงูก็จะหนีน้ำขึ้นไปอาศัยบนที่สูง
3. บ้านมี “ที่อยู่” เหมาะสม เพียงพอ ได้แก่ มีที่หลบซ่อนตัว หลับนอน หลบภัย วางไข่ เช่น ใต้ถุนบ้าน บ้านที่มีฝ้าเพดาน ฯลฯ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับงู นับแต่อุณหภูมิอบอุ่นจากดินหรือแสงแดด พื้นผิวที่ไม่ระคายเคือง ไม่มีกลิ่นและเสียงรบกวน (ซึ่งมากับความสั่นสะเทือน) ฯลฯ
วิธีป้องกันงูเข้าบ้านคุณ
การป้องกันงูเข้าบ้านนั้นสามารถป้องกันได้โดยแก้จากเหตุจูงใจให้งูอยากเข้าบ้านโดย
1. อย่า ให้บ้านเราเป็นแหล่งรวมอาหารของงู เช่น กำจัดหนูโดยการดัก เบื่อ และจัดบ้านให้สะอาด เป็นระบียบเรียบร้อยไม่รกรุงรัง
2. ทิ้งขยะให้เป็นที่และมิดชิดเพื่อไม่ให้หนูกิน เมื่อประชากรหนูลดลง งูก็จะลดลงตามไปด้วย
3. ท่านใดที่ชอบเลี้ยงสัตว์ก็ควรเลี้ยงสัตว์ที่เป็นศัตรูกับงูเพื่อไว้ไล่งู เช่น เลี้ยงหมา แมว ห่าน เป็นต้น ฯลฯ
4. ลดแหล่งที่อยู่ จัดสภาพแวดล้อมให้ยากและไม่เหมาะสมแก่งูที่จะเข้ามาอาศัยอยู่ หรือทำรังวางไข่ อย่าทิ้งพื้นที่ให้รกซึ่งจะเป็นแหล่งให้งูสามารถหลบซ่อนได้ เช่น การอุดรู ใส่ตะแกรงท่อระบายน้ำ หรือทุกเส้นทางที่จะเข้าไปในตัวบ้าน (โดยเฉพาะโพรงใต้บ้าน) กลบหลุมหรือโพรงที่มีตามสนามหรือขอบรั้ว กำแพง ตัดกิ่งไม้ที่พาดหรือใกล้ชายคาตัวบ้านหรือรั้ว กำแพง ฯลฯ
ข้อควรปฏิบัติเมื่องูเข้ามาอยู่ในบ้านแล้ว
1. สังเกตและแยกแยะประเภทของงูว่าเป็นงูมีพิษหรือไม่มี โดยสังเกตง่าย ๆ ที่หัว หากลักษณะเป็นสามเหลี่ยมนั้นคืองูมีพิษ แต่หากมีลักษณะมนกลมงูไม่มีพิษ ซึ่งบ้านเรามีอยู่ชัด ๆ เจอบ่อยๆ 2 พวกคือ งูเหลือม งูหลาม กับงูเห่า ซึ่งแยกค่อนข้างชัด โดยที่งูเหลือมงูหลามเป็นงูไม่มีพิษแต่มีอันตรายโดยการรัดเหยื่อ ส่วนงูเห่ามีแม่เบี้ยแผ่ให้เห็นชัดเจน ทำร้ายโดยการกัดและปล่อยพิษ ฉะนั้นการหลบหลีก หรือจับก็จะแตกต่างกันและต้องได้รับการฝึกฝนเป็นการเฉพาะ
2. ไม่ควรใช้วิธีไล่งูเพราะถึงคุณจะไล่ได้ในวันนี้วันอื่นๆมันก็จะกลับมาเหมือนเดิม งูจะพุ่งฉกหรือกัดเหยื่อที่เคลื่อนไหวฉะนั้นหากเผชิญกับงูให้อยู่นิ่งๆแล้วเคลื่อนไหว หรือถอยฉากหนีอย่างช้าๆ โดยจับตาดูการเคลื่อนไหวของงูไว้เพื่อหลบหลีกและควรอยู่ในระยะที่ปลอดภัย
3. เฝ้าสังเกตว่างูยังอยู่ที่เดิมหรือมีทิศทางการเคลื่อนที่ไปในทิศทางใด เพื่อกันการหลบหนี
4. กันสมาชิกในบ้านให้อยู่ห่างมันไว้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งหมาเอาไว้ให้ห่างเพราะอาจโดนฉกหรือทำร้ายได้ และอาจจะเป็นการไล่งู ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะไปถึง
5. เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน เพราะมนุษย์นั้นไม่ใช่เหยื่อโดยธรรมชาติของงู หากเราไม่ทำร้ายงูก่อน งูก็จะหลีกเลี่ยงไม่ทำร้ายมนุษย์เช่นกัน
6. โทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือ ที่ 199 ดับเพลิงและกู้ภัย