เอเจนซีส์ /MGR online – ผลการศึกษาล่าสุดซึ่งมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวันจันทร์ (18 เม.ย.) ระบุ สภาพอากาศที่เลวร้ายแบบสุดขั้วที่เป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีแนวโน้มจะเกิดขึ้น และโจมตีดินแดนต่างๆทั่วโลกมากขึ้น
รายงานซึ่งมีการตีพิมพ์ลงในวารสาร “American Journal of Tropical Medicine” ได้อ้างกรณีศึกษาเมื่อครั้งที่ประเทศหมู่เกาะโซโลมอนในมหาสมุทรแปซิฟิกต้องเผชิญกับการพัดถล่มของพายุไซโคลน “อิตา” ในปี 2014 ซึ่งนอกจากพายุลูกนี้จะคร่าชีวิตผู้คนในหมู่เกาะแห่งนี้ไปอย่างน้อย 31 รายแล้ว ยังก่อให้เกิดวิกฤตด้านสุขภาพครั้งเลวร้ายจากผลพวงของฝนที่ตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในกรุงโฮนีอาราที่เป็นเมืองหลวง และเป็นบ้านของประชากรราว 64,000 ชีวิต
ไอลีน นาทุซซี ศัลยแพทย์และนักวิจัยด้านสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยซานดิเอโก สเตท ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำในการวิจัยครั้งนี้ระบุว่า ไม่เพียงแต่หมู่เกาะโซโลมอนและดินแดนหมู่เกาะอื่นๆในมหาสมุทรแปซิฟิกเท่านั้น ที่มีความเสี่ยงจะถูกโจมตีจากสภาพอากาศที่เลวร้ายแบบสุดขั้วบ่อยและถี่มากขึ้น แต่เมืองที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลทั่วโลกต่างมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบนี้เช่นเดียวกัน
ทีมวิจัยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกที่เป็นผลพวงมาจากกิจกรรมของมนุษย์กำลังย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์ในระดับที่รุนแรงและน่าวิตก โดยนอกเหนือจากการเกิดพายุ ภาวะฝนตกหนัก และน้ำท่วมแล้ว การเกิดโรคระบาดหลังภัยพิบัติทางธรรมชาติ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คุกคามชีวิตของมนุษยชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีมากที่สุดอีกด้วย
“เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงศักยภาพของชุมชนในการรับมือกับผลพวงที่ตามมาจากสภาพอากาศที่เลวร้ายสุดขั้วได้ และการค้นพบของเราจากกรณีศึกษาที่หมู่เกาะโซโลมอน น่าจะมีส่วนช่วยให้รัฐบาลของประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงหน่วยงานจัดหาความช่วยเหลือต่างๆ ได้ปรับปรุงและเตรียมความพร้อมได้มากขึ้นเพื่อปกป้องชีวิตของผู้คน ” นาทุซซี กล่าว